1. ก่อนซื้อกรมธรรม์ Unit Linked ลูกค้าต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวมอะไรบ้าง
1.1) เข้าใจว่ากองทุนรวมคืออะไร การลงทุนผ่านกองทุนรวมคือการนำเงินของผู้ลงทุนหลายๆ รายที่ซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมนั้นไปให้ผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพบริหาร โดยผู้เชี่ยวชาญจะต้องลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารทางการเงิน ตามกรอบการลงทุนที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้า การนำเงินมารวมกันลงทุนผ่านกองทุนรวมจะทำให้ผู้ที่มีเงินน้อยสามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมได้ นอกจากนี้ กองทุนรวมซึ่งมีเงินจำนวนมากก็จะลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารหลายประเภทของหลายบริษัท หรือที่เรียกว่าเป็นการกระจายการลงทุนซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนที่กระจุกตัวในหลักทรัพย์หรือตราสารใดตราสารหนึ่งได้ด้วย
1.2) เข้าใจประเภทของกองทุนรวมและติดตามภาวะตลาดทุน ประเภทของกองทุนรวมถูกจัดตามหลักทรัพย์หรือตราสารที่กองทุนนำเงินไปลงทุน เช่น กองทุนรวมตราสารทุนก็จะลงทุนในหุ้น ซึ่งมีมูลค่าของกองทุนดังกล่าวจะเคลื่อนไหวตามภาวะตลาดทุน เช่น กองทุนรวมตราสารทุนก็จะลงทุนในหุ้น ซึ่งมูลค่าของกองทุนดังกล่าวจะเคลื่อนไหวตามภาวะตลาดทุน หากตลาดทุนอยู่ในช่วงตกต่ำมูลค่าของกองทุนก็จะลดลงด้วย เพราะผู้บริหารของกองทุนยังคงต้องลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารตามกรอบที่ตกลงกันล่วงหน้า และอาจทำให้มูลค่าเงินลงทุนของผู้ซื้อกรมธรรม์ Unit Linked ลดลงจนน้อยกว่าเงินที่ลงทุนเริ่มต้นได้ ดังนั้น ผู้ซื้อกรมธรรม์ Unit Linked จึงต้องเข้าใจประเภทของกองทุนรวม ซึ่งสามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ในหัวข้อ ความรู้สำหรับผู้ลงทุน นอกจากนี้ ก็ต้องติดตามภาวะตลาดเพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อขายหรือเปลี่ยนประเภทกองทุนด้วย
1.3) ศึกษาข้อมูลกองทุนรวมจากหนังสือชี้ชวน หรือขอคำแนะนำจากตัวแทนขายกรมธรรม์ Unit Linked ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงาน คปภ. เรื่องที่ต้องศึกษาเช่น นโยบายการลงทุนว่าไปลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารประเภทใด มีความเสี่ยงเพียงใด ประวัติการดำเนินงานของบริษัทจัดการ ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายที่บริษัทจัดการเรียกเก็บ และเงื่อนไขต่างๆ โดยอาจศึกษาในเชิงเปรียบเทียบระหว่างกองทุนรวมอื่นประเภทเดียวกันก็ได้
2. ข้อมูลใดบ้างที่บริษัทต้องเปิดเผยให้ลูกค้าทราบ
1. ค่าธรรมเนียมและผลตอบแทนที่ผู้เอาประกันภัยได้รับหรือสูญเสียจากการซื้อขายหรือขายคืนหน่วยลงทุนนั้น และข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับกองทุนรวม
2. ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ รวมทั้งเงื่อนไขสำคัญต่างๆในกรมธรรม์
3. ทุกครั้งที่ตัวแทนเสนอขายกรมธรรม์ Unit Linked ต้องปฏิบัติอย่างไร
1. ตัวแทนขายต้องเปิดเผยข้อมูลดังต่อไปนี้
1.1 ชื่อบริษัท แสดงบัตร
1.2 สิทธิของผู้ลงทุนที่จะแสดงเจตนาว่าไม่ต้องการรับการติดต่อ
1.3 สิทธิของผู้ลงทุนที่จะยกเลิกการทำกรมธรรม์ในเวลาที่กำหนด
2. ข้อห้ามสำหรับตัวแทนขายในการติดต่อกับผู้ขอเอาประกันภัย เพื่อเสนอขายกรมธรรม์ Unit Linked
2.1 ห้ามเร่งรัดให้ผู้ขอเอาประกันภัยตัดสินใจซื้อ
2.2 ห้ามติดต่อกับผู้ที่มีรายชื่อในบัญชีรายชื่อที่ไม่ต้องการรับการติดต่อภายในระยะเวลา 2 ปี
2.3 บริษัทจัดการให้สิทธิผู้เอาประกันภัยยกเลิกการซื้อโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม เมื่ออยู่ภายในระยะเวลาที่กำหนด
2.4 ห้ามเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่นนอกเหนือจากที่กรมธรรม์หรือหนังสือชี้ชวนกำหนด
4. คำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงในการซื้อกรมธรรม์ Unit Linked คืออะไร
โดยทั่วไป บริษัทจะมีการแจ้งคำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงในการซื้อกรมธรรม์ Unit Linked เพื่อให้ผู้ขอเอาประกันภัยรับทราบ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
1. ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีข้อความที่เป็นคำเตือนว่า “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน” ซึ่งเป็นไปตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 10/2558 เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการโฆษณาและการส่งเสริมการขายสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ส่วนที่ 2 คำเตือนประกอบการโฆษณา ข้อ 12 ในการโฆษณาผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนทุกประเภท
2. การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้เอาประกันภัยอาจได้รับเงินคืนมากกว่าหรือน้อยกว่ามูลค่าเบี้ยประกันภัยทั้งสิ้นที่ถูกจัดสรรเข้ากองทุนรวม โดยหากผลการดำเนินงานของกองทุนรวมดี ผู้เอาประกันภัยก็จะได้ผลตอบแทนสูง แต่หากผลการดำเนินงานของกองทุนรวมไม่ดี ผู้เอาประกันภัยจะได้ผลตอบแทนต่ำหรือบางกรณีอาจขาดทุน
3. กรมธรรม์ควบกองทุนรวมนี้ เหมาะสำหรับการออมเงินระยะยาว เนื่องจากผู้เอาประกันภัยอาจจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมหากยกเลิกกรมธรรม์ก่อนกำหนด
4. ผู้ขอเอาประกันภัยควรศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการลงทุนในกองทุนรวมในหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวมด้วย
5. กองทุนรวมเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากบริษัทประกันชีวิตและบริษัทจัดการ ดังนั้นบริษัทประกันชีวิตและบริษัทจัดการจึงไม่มีภาระผูกพันในการชดเชยผลขาดทุนของกองทุนรวมควบรวมกรมธรรม์ และจะไม่สามารถนำทรัพย์สินของกองทุนรวมไปใช้ประโยชน์เพื่อการชำระหนี้ของตนเอง
6. ผลการดำเนินงานของกองทุนรวมควบกรมธรรม์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินหรือผลการดำเนินงานของบริษัทประกันชีวิตและบริษัทจัดการ
5. บริษัทประกันชีวิตและบริษัทจัดการมีภาระในการชดเชยผลขาดทุนของกองทุนรวมหรือไม่
ไม่มี เนื่องจากกองทุนรวมเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากบริษัทประกันชีวิตและบริษัทจัดการ
6. การซื้อกรมธรรม์ Unit Linked มีความเสี่ยงหรือไม่
มี เพราะการซื้อกรมธรรม์ Unit Linked นั้น ส่วนหนึ่งก็คือการซื้อหน่วยลงทุน ซึ่งผู้ซื้อหน่วยลงทุนย่อมได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขึ้นหรือลงของราคาของหน่วยลงทุน ผู้เอาประกันภัยอาจได้รับเงินคืนมากกว่าหรือน้อยกว่ามูลค่าเบี้ยประกันภัยส่วนที่จัดสรรเข้ากองทุนรวม
7. หากลูกค้าไม่ต้องการให้ตัวแทนติดต่อขายกรมธรรม์ Unit Linked อีก ต้องทำอย่างไร
ลูกค้าสามารถแสดงเจตนาว่าไม่ต้องการรับการติดต่อขายกรมธรรม์จากตัวแทนอีก ถ้าตัวแทนจากบริษัทเดิมยังคงมาขายกรมธรรม์ Unit Linked กับลูกค้าอีก ถือเป็นความผิดของบริษัท ลูกค้าสามารถร้องเรียนได้ที่บริษัทประกันชีวิตต้นสังกัดของตัวแทน หากไม่ได้รับความพึงพอใจสามารถร้องเรียนเพิ่มเติมได้ที่บริษัทจัดการ และหากยังไม่ได้รับความพึงพอใจสามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงาน คปภ. หรือสำนักงาน ก.ล.ต. แล้วแต่ความสะดวกในการติดต่อ
8. ในการเสนอขายให้ลูกค้าซื้อกรมธรรม์ Unit Linked ตัวแทนขายจะต้องมอบหรือให้ข้อมูลและเอกสารอะไรบ้างแก่ลูกค้า
1. หนังสือชี้ชวนหรือ Fund Fact Sheet ซึ่งสรุปข้อมูลสำคัญของกองทุนรวมต่างๆที่บริษัทเสนอขายควบคู่กับกรมธรรม์ Unit Linked
2. เอกสารเสนอขายที่ได้รับความเห็นชอบจากบริษัทประกันชีวิตและสำนักงาน คปภ.
9. ลูกค้าสามารถยกเลิกกรมธรรม์ได้หรือไม่
ลูกค้าสามารถยกเลิกกรมธรรม์ได้ โดยลูกค้าจะได้รับเงินคืนจากการยกเลิกกรมธรรม์แตกต่างกันตามเงื่อนไขกรมธรรม์ ซึ่งแบ่งเป็น 2 กรณีดังนี้
1. การยกเลิกกรมธรรม์ภายใน 15 วันทำการนับตั้งแต่วันถัดจากวันแรกที่ได้รับกรมธรรม์ Unit Linked (Free look period)
ลูกค้าจะได้รับมูลค่ารับซื้อคืนหน่วยลงทุนและค่าธรรมเนียมภายใต้กรมธรรม์ที่บริษัทได้หักไปแล้วคืน แต่บริษัทอาจจะหักค่าใช้จ่ายฉบับละ 500 บาทและค่าตรวจสุขภาพตามจริงที่จ่ายไว้ ทั้งนี้หากกรมธรรม์มีหนี้สินใดๆ บริษัทมีสิทธิหักออกจากจำนวนเงินที่พึงจ่ายก่อน โดยบางบริษัทอาจมีเงื่อนไขเพิ่มเติมได้ เช่น ไม่อนุญาตให้ยกเลิกกรมธรรม์ภายใน 15 วัน หากผู้เอาประกันภัยได้เรียกร้องค่าสินไหมไปแล้ว หรือมีการขอถอนเงินจากกรมธรรม์ไปแล้ว
2. การยกเลิกกรมธรรม์หลังจาก 15 วันทำการนับตั้งแต่วันถัดจากวันแรกที่ได้รับกรมธรรม์ Unit Linked
ลูกค้าต้องทำการเวนคืนกรมธรรม์ ซึ่งเงินที่ได้คืนคือมูลค่ารับซื้อคืนหน่วยลงทุนหักด้วยค่าธรรมเนียมการเวนคืนกรมธรรม์ (ถ้ามี)
ทั้ง 2 กรณีข้างต้นลูกค้าอาจได้รับเงินคืนน้อยกว่าหรือมากกว่าส่วนที่จ่ายไปในการซื้อกรมธรรม์ เนื่องจากราคาตลาดที่เปลี่ยนไปของกองทุนรวมที่ลูกค้าซื้อ โดยการยกเลิกกรมธรรม์ย่อมมีผลทำให้ความคุ้มครองสิ้นสุดลง
10. บริษัทจะจัดการอย่างไรหากมีการยกเลิกกรมธรรม์ Unit Linked
หากมีการยกเลิกกรมธรรม์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากกรณีที่ผู้เอาประกันภัยใช้สิทธิในการขอยกเลิกกรมธรรม์ กรณีที่ผู้ขอเอาประกันภัยตรวจสุขภาพแล้วไม่ผ่าน หรือกรณีที่ผู้เอาประกันภัยแถลงข้อความเท็จและถูกบริษัทประกันชีวิตบอกเลิกกรมธรรม์ บริษัทจัดการและบริษัทประกันชีวิตจะต้องตกลงกันว่าจะไถ่ถอนหน่วยลงทุนให้แก่ผู้เอาประกันภัยเมื่อไร หรือจะเปิดโอกาสให้ผู้เอาประกันภัยถือหน่วยลงทุนต่อไปได้
11. หากยกเลิกกรมธรรม์ Unit Linked ไปแล้ว ลูกค้ายังสามารถลงทุนในกองทุนรวมได้หรือไม่
ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของบริษัทประกันชีวิตและบริษัทจัดการว่าจะเปิดโอกาสให้ลูกค้าลงทุนในกองทุนรวมต่อไปหรือไม่ ซึ่งหากยอมให้ผู้เอาประกันภัยถือหน่วยลงทุนต่อไป บริษัทประกันชีวิตจะต้องประสานงานให้ผู้เอาประกันภัยติดต่อกับบริษัทจัดการหรือตัวแทนขายหน่วยลงทุนโดยตรง
12. กรมธรรม์ Unit Linked สามารถสิ้นผลบังคับ (Lapse) แม้ไม่มีการบอกเลิกได้หรือไม่
ได้ เนื่องกรมธรรม์ Unit Linked จะมีผลบังคับได้ตราบใดที่มูลค่าบัญชีกรมธรรม์เพียงพอที่จะชำระค่าธรรมเนียมกรมธรรม์ในแต่ละเดือน ถึงแม้ว่าลูกค้ามีการชำระเบี้ยประกันภัยอย่างต่อเนื่องและครบถ้วน แต่มูลค่าบัญชีกรมธรรม์ก็มีโอกาสไม่เพียงพอในการชำระค่าธรรมเนียมกรมธรรม์ เนื่องจากเหตุการณ์ต่างๆ เช่น ความผันผวนของราคากองทุนรวมที่เลือกซื้อ การถอนเงินบางส่วนจากกรมธรรม์ หรือการเลือกสัดส่วนของจำนวนเงินเอาประกันภัยต่อเบี้ยประกันภัยที่สูงมากๆ เป็นต้น
13. ในกรณีที่กรมธรรม์ Unit Linked ขาดอายุ ลูกค้าจะสามารถขอต่ออายุกรมธรรม์ได้หรือไม่
ขึ้นอยู่กับแต่ละรูปแบบกรมธรรม์ของแต่ละบริษัทประกันชีวิต บริษัทสามารถออกแบบกรมธรรม์ให้มีการต่ออายุหรือไม่มีก็ได้
14. ลูกค้าจะได้รับผลประโยชน์ทางด้านภาษีจากการซื้อกรมธรรม์ Unit Linked หรือไม่
ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิหักลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันภัยเฉพาะส่วนที่ไม่ได้นำไปลงทุนในกองทุนรวม ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับกรมธรรม์ที่มีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ในกรณีที่มีการจ่ายผลตอบแทนในรูปเงินปันผลจากกองทุนรวม ผู้ลงทุนจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% ของเงินปันผลที่กองทุนจ่ายให้
15. บริษัทประกันชีวิตจะดำเนินการอย่างไร หากลูกค้าประสงค์ที่จะสับเปลี่ยนกองทุนรวม
เมื่อผู้เอาประกันภัยกรอกใบคำร้องขอสับเปลี่ยนกองทุนไปยังบริษัทประกันชีวิต บริษัทจะต้องประสานงานกับบริษัทจัดการว่าจะไถ่ถอนหน่วยลงทุนกองทุนรวมเดิมเพื่อไปซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมใหม่ตามคำสั่งของผู้เอาประกันภัย ณ วันใด โดยบริษัทประกันชีวิตจะส่งมอบเอกสารหลักฐานให้แก่ผู้เอาประกันภัยทราบ ซึ่งบริษัทประกันชีวิตอาจคิดค่าธรรมเนียมการสับเปลี่ยนกองทุนรวม (ถ้ามี) ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์
16. มีการปฏิบัติอย่างไรในการขอมติของผู้เอาประกันภัยที่ถือกรมธรรม์ Unit Linked (ผู้ถือหน่วยลงทุน)
ในกรณีที่มีการขอมติจากผู้ถือหน่วยลงทุน บริษัทจัดการและบริษัทประกันชีวิตจะต้องประสานงานกันในด้านระยะเวลาการดำเนินการ โดยจะต้องมีการจัดส่งประเด็นในการขอมติให้แก่บริษัทประกันชีวิต และให้บริษัทประกันชีวิตส่งต่อให้แก่ผู้เอาประกันภัย และหลังจากที่บริษัทประกันชีวิตได้รวบรวมคำตอบของผู้เอาประกันภัยแล้ว บริษัทประกันชีวิตจะต้องนับมติและแจ้งผลให้บริษัทจัดการทราบภายในระยะเวลาตามที่ตกลงกัน
17. หากลูกค้ามีเรื่องต้องการร้องเรียน ควรดำเนินการอย่างไร
แจ้งต่อบริษัทประกันชีวิตที่ออกกรมธรรม์ Unit Linked ให้ลูกค้า หรือติดต่อสำนักงาน คปภ.