หลักการและเหตุผล :
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เป็นหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่กำกับดูแล ส่งเสริม และพัฒนาการประกอบธุรกิจประกันภัยให้มีความมั่นคงและ มีเสถียรภาพตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ตลอดจนพัฒนาบุคลากรประกันภัยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และตามแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๕๙-๒๕๖๓) ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัย เพื่อสร้างและส่งเสริมศักยภาพบุคลากร ทั้งในและนอกระบบประกันภัยให้มีความรู้ด้านการประกันภัย และพร้อมรองรับการเปิดเสรีธุรกิจประกันภัยในอนาคต
ปัจจุบัน การบริการด้านการประกันภัยมีบทบาทที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วอันเนื่องมาจากรูปแบบของธุรกิจ ความคาดหวังจากผู้บริโภคและเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทำให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย และการบริการด้านการประกันภัยมีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลให้มิติของการกำกับดูแลไม่สามารถดำเนินการแต่เพียงลำพังเพียงหน่วยงานเดียว แต่จำเป็นต้องบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้จำเป็นที่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับระบบประกันภัย และความรู้อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
สำนักงาน คปภ. ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในเรื่องดังกล่าว จึงได้จัด “การศึกษาอบรมหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) (Thailand Insurance Leadership Program) รุ่นที่ ๙ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒” ขึ้น เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงจากภาคส่วนต่างๆ ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบ ประกันภัย ทั้งการประกันชีวิต การประกันวินาศภัย การบริหารจัดการความเสี่ยงภัยในด้านต่างๆ พัฒนาการของระบบประกันภัย ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเสริมสร้างการเป็นผู้นำที่มีคุณธรรมจริยธรรม และการบริหารจัดการเชิงสร้างสรรค์ นำองค์กรไปสู่ความสำเร็จโดยสอดคล้องกับสภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของโลก เพื่อจะได้ระดมความคิดเห็นจากประสบการณ์ที่หลากหลายช่วยให้ข้อเสนอแนะและพัฒนาระบบประกันภัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
วัตถุประสงค์ :
๑ เพื่อสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจด้านการประกันชีวิต การประกันวินาศภัย การบริหารจัดการความเสี่ยงภัยต่างๆ ให้แก่ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน
๒ เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในกฎเกณฑ์การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจประกันภัย ที่มีการเปลี่ยนแปลงและส่งผลต่อการบริหารธุรกิจประกันภัย
๓ เพื่อเสริมสร้างทักษะ และพัฒนาผู้บริหารให้บริหารงานเชิงกลยุทธ์อย่างสร้างสรรค์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๔ เพื่อพัฒนาให้ผู้บริหารมีภาวะความเป็นผู้นำที่เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม และวิสัยทัศน์ในการบริหารงานองค์กร และพัฒนาระบบประกันภัยให้มีความเจริญก้าวหน้า สามารถแข่งขันในระดับโลก
๕ เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นจากมุมมองและประสบการณ์ที่แตกต่าง ซึ่งจะสามารถนำไปพัฒนาระบบประกันภัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันจะเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน
ระยะเวลาอบรม :
ระหว่างเดือนมิถุนายน ๒๕๖๒ ถึงเดือนธันวาคม ๒๕๖๒ กำหนดอบรมสัปดาห์ละ ๑ วัน ทุกวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา ๑๔.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. หรือวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด
คุณสมบัติผู้เข้ารับการศึกษาอบรม
๑. คุณสมบัติทั่วไป
๑ สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี หรือเทียบเท่าตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือสำนักงาน ก.พ. รับรอง
๒ มีอายุไม่ต่ำกว่า ๔๐ ปี ในวันที่ปิดรับสมัคร
๓ ไม่ควรอยู่ระหว่างการอบรมหลักสูตร วปอ./วปรอ./ปปร./นบส./สจว./วตท./พตส./ปรอ./TEPCOT/วพน./นยปส. หรือหลักสูตรอื่นในระดับเดียวกันหรือเทียบเท่า
๔ เป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะเข้ารับการอบรมอย่างแท้จริง ต้องสามารถเข้าร่วมกิจกรรมและยอมรับเงื่อนไขของการศึกษาอบรมตลอดหลักสูตรทุกประการ
๕ สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาอบรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับหน่วยงานและระบบเศรษฐกิจ การเงิน และการประกันภัย
๒. คุณสมบัติเฉพาะ
ผู้ที่มีสิทธิเข้ารับการศึกษาอบรมในหลักสูตรต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
๑ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรืออดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
๒ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรืออดีตสมาชิกวุฒิสภา
๓ กรรมการขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
๔ ตุลาการศาลยุติธรรม ตั้งแต่ชั้น ๓ ขั้นสูงขึ้นไป
๕ ตุลาการศาลปกครอง ตั้งแต่รองอธิบดีศาลปกครองชั้นต้นหรือเทียบเท่าขึ้นไป
๖ ข้าราชการอัยการ ตั้งแต่ชั้น ๕ ขึ้นไป
๗ ผู้มีตำแหน่งทางวิชาการ ตั้งแต่ระดับรองศาสตราจารย์ขึ้นไป หรือเป็นอาจารย์ผู้สอนในสาขาวิชาการประกันภัย การบริหารความเสี่ยง การเงิน หรือสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยมีประสบการณ์ในการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี
๘ ข้าราชการพลเรือนสามัญหรือข้าราชการประเภทอื่นซึ่งดำรงตำแหน่งสายงานบริหารระดับต้น หรือสายงานอำนวยการระดับสูง หรือสายงานวิชาการระดับเชี่ยวชาญขึ้นไป
๙ ข้าราชการทหารชั้นยศพลตรี พลอากาศตรี หรือพลเรือตรีขึ้นไป
๑๐ ข้าราชการตำรวจชั้นยศพลตำรวจตรีขึ้นไป
๑๑ กรรมการหรือผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงิน องค์กร หรือสมาคมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน และประกันภัย
๑๒ ผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจหรือภาคเอกชนหรือองค์กรพัฒนาภาคเอกชน
๑๓ บรรณาธิการ หรือผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และมีประสบการณ์ในงานด้านสื่อมวลชนมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี
๑๔ บุคคลที่คณะกรรมการสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูงพิจารณาให้เข้ารับการศึกษาอบรม