หลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง” (วปส.) รุ่นที่ ๖ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๙
หลักการและเหตุผล :
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่กำกับดูแล ส่งเสริม และพัฒนาการประกอบธุรกิจประกันภัยให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ตลอดจนพัฒนาบุคลากรประกันภัยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และตามแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๕๙-๒๕๖๓) ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัย เพื่อสร้างและส่งเสริมศักยภาพบุคลากร ทั้งในและนอกระบบประกันภัยให้มีความรู้ด้านการประกันภัย และพร้อมรองรับการเปิดเสรีธุรกิจประกันภัยในอนาคต
ปัจจุบัน การแข่งขันการบริการด้านการประกันภัยเป็นไปอย่างเข้มข้น ประกอบกับการเจริญเติบโตของธุรกิจประกันภัย และการพัฒนาของเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่งผลให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย และการบริการด้านการประกันภัยมีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งประชาชนผู้บริโภคที่ใช้บริการด้านการประกันภัยอาจได้รับข้อมูล หรือมีความรู้ความเข้าใจไม่เพียงพอที่จะเลือกผลิตภัณฑ์ประกันภัยหรือบริการด้านการประกันภัยตามความเสี่ยงของตนเองได้อย่างเหมาะสม อาจก่อให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างผู้รับประกันภัย และผู้เอาประกันภัย ซึ่งอาจจะนำไปสู่ข้อพิพาทด้านการประกันภัย และส่งผลต่อภาพลักษณ์สร้างความเสียหายแก่ระบบประกันภัยในอนาคตได้
สำนักงาน คปภ. ได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในเรื่องดังกล่าว จึงมีแนวคิดที่จะให้ผู้บริหารระดับสูงจากภาคส่วนต่างๆ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบ และการดำเนินงานของการประกันชีวิต การประกันวินาศภัย การประกันภัยรถภาคบังคับ การบริหารจัดการความเสี่ยงภัยในด้านต่างๆ เพื่อจะนำความรู้ความเข้าใจไปประยุกต์ใช้ในการบริหารองค์กร ตลอดจนมีการเสริมสร้างการเป็นผู้นำที่มีคุณธรรมจริยธรรม และการบริหารจัดการเชิงสร้างสรรค์นำองค์กรไปสู่ความสำเร็จโดยสอดคล้องกับสภาวการณ์ การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของโลก โดยได้จัด “โครงการอบรมหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) (Thailand Insurance Leadership Program)” ขึ้น
วัตถุประสงค์ :
๑. เพื่อสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจด้านการประกันชีวิต การประกันวินาศภัย การบริหารจัดการความเสี่ยงภัยต่างๆ ให้แก่ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน
๒. เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในกฎเกณฑ์การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจประกันภัย ที่มีการเปลี่ยนแปลงและส่งผลต่อการบริหารธุรกิจประกันภัย
๓. เพื่อเสริมสร้างทักษะ และพัฒนาผู้บริหารให้บริหารงานเชิงกลยุทธ์อย่างสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๔. เพื่อพัฒนาให้ผู้บริหารมีภาวะความเป็นผู้นำที่เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม และวิสัยทัศน์ในการบริหารงานองค์กร และพัฒนาระบบประกันภัยให้มีความเจริญก้าวหน้า สามารถแข่งขันในระดับโลก
๕. เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการร่วมมือกันพัฒนาระบบประกันภัยให้มีความเข้มแข็งสำหรับการรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
ระยะเวลาอบรม : ระยะเวลาการศึกษาอบรมระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙ ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ กำหนดอบรมสัปดาห์ละ ๑ วัน ทุกวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา ๑๔.๐๐ น. - ๑๗.๓๐ น. หรือวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด
รายนามนักศึกษา วปส. :
เนื้อหาหลักสูตร :
หลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน รวมจำนวน ๑๔๔ ชั่วโมง ดังนี้
ส่วนที่ ๑ กิจกรรมทั่วไป จำนวน ๑๘ ชั่วโมง ประกอบด้วย
- พิธีเปิด – พิธีปิดการศึกษาอบรม ๖ ชั่วโมง
- ปฐมนิเทศ ๓ ชั่วโมง
- กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ ๙ ชั่วโมง
ส่วนที่ ๒ กิจกรรมการศึกษาอบรม จำนวน ๔๘ ชั่วโมง แบ่งออกเป็น ๗ หมวด คือ
หมวดที่ ๑ : ประกันภัยกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
๑.๑ บทบาทของประกันภัยกับการเจริญเติบโตของประเทศแบบยั่งยืน
๑.๒ ทิศทาง บทบาท ของสำนักงาน คปภ. และแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ ๓ ในการพัฒนาธุรกิจประกันภัยไทย
๑.๓ บทบาท หน้าที่ ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
- กฎหมายว่าด้วยการประกันภัยกับการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย
- การส่งเสริมความรู้และการบริการประชาชนด้านประกันภัยภูมิภาค
- การกำกับดูแลความมั่นคงของบริษัทประกันภัย
๑.๔ การบริหารความเสี่ยงสมัยใหม่โดยระบบประกันภัยภายใต้นโยบายรัฐบาล
๑.๕ การบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันภัย และการดำรงเงินกองทุน
ตามระดับความเสี่ยง (RBC)
หมวดที่ ๒ : ประกันวินาศภัยกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
๒.๑ ข้อควรรู้เกี่ยวกับการประกันวินาศภัยและบทบาทของการประกันวินาศภัยต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม
๒.๒ ธุรกิจประกันภัยรถยนต์กับการแข่งขันในภูมิภาคอาเซียน และกรณีศึกษาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์
๒.๓ การประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (พร้อมกรณีศึกษา)
๒.๔ การปฏิรูปการประกันภัยพืชผล
๒.๕ การประกันภัยเบ็ดเตล็ด และกรณีศึกษา
๒.๖ การประกันภัยความเสี่ยงไซเบอร์สำคัญกับองค์กรท่านอย่างไร ? (กรณีศึกษา)
๒.๗ สิทธิประโยชน์และการคุ้มครองผู้บริโภคผ่านระบบประกันภัย
หมวดที่ ๓ : นโยบายและแนวทางของรัฐในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
๓.๑ เทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology : Fintech) กับกระแสการเปลี่ยนแปลงระบบการเงินของโลก
๓.๒ การปรับตัวของสถาบันการเงินไทยในยุค Digital Economy
๓.๓ อนาคตธุรกิจไทยภายใต้บริบท AEC
๓.๔ ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี อนาคตประเทศไทย เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
๓.๕ เดินหน้าประเทศไทยกับความท้าทายการเปลี่ยนแปลงของโลกกับการปรับตัวของธุรกิจประกันภัย
หมวดที่ ๔ : การเงิน การคลัง และการลงทุน
๔.๑ นโยบายภาษีกับการพัฒนาสถาบันการเงินอย่างยั่งยืน
๔.๒ ภาษีกับความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย และธุรกิจประกันภัย
๔.๓ โอกาสของธุรกิจไทยและธุรกิจประกันภัยในการลงทุนต่างประเทศ
(ประเทศอาเซียน โดยเฉพาะ CLMV)
หมวดที่ ๕ : ประกันชีวิตกับบริบทของการเปลี่ยนของเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
๕.๑ ทิศทางของกฎหมายประกันภัยไทยในเศรษฐกิจยุคดิจิตอล
๕.๒ การประกันชีวิตกับความมั่นคงในชีวิตของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศในยุคสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)
๕.๓ การบริหารการลงทุนของบริษัทประกันชีวิต
๕.๔ ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตพร้อมรับสังคมผู้สูงอายุ
๕.๕ การประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit-Linked) สำคัญอย่างไรกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน
๕.๖ ความอยู่รอดของสวัสดิการรัฐ กับประโยชน์ของประชาชนด้านการรักษาพยาบาล
หมวดที่ ๖ : บรรษัทภิบาล
๖.๑ ธุรกรรมประกันภัยกับการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน
๖.๒ CSR (Corporate Social Responsibility) VS CSV (Creating Shared Value) กับการพัฒนาที่ยั่งยืนของธุรกิจ
๖.๓ จริยธรรม : จิตสำนึกหลักธรรมาภิบาลของธุรกิจ
หมวดที่ ๗ : การเสริมสร้างทักษะเชิงวิสัยทัศน์และการเป็นผู้นำ
๗.๑ คุณธรรมจริยธรรมของผู้บริหารในการพัฒนาประเทศ
๗.๒ แนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
๗.๓ เทคนิคการเจรจาและระงับข้อขัดแย้งทางธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพ พร้อมกรณีศึกษา
ส่วนที่ ๓ กิจกรรมวิชาการ จำนวน ๗๘ ชั่วโมง ประกอบด้วย
- ชี้แจงและจัดทำรายงานการศึกษากลุ่ม ๑ ชั่วโมง
- ปรึกษาและหารือกับอาจารย์ที่ปรึกษา ๕ ชั่วโมง
- การนำเสนอรายงานการศึกษากลุ่ม ๖ ชั่วโมง
- การศึกษาดูงานภายในประเทศ ๒๔ ชั่วโมง
- การศึกษาดูงานในต่างประเทศ ๓๐ ชั่วโมง
- กิจกรรมเสริมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม ๑๒ ชั่วโมง
คุณสมบัติผู้เข้ารับการอบรม :
๑ คุณสมบัติทั่วไป
๑.๑ สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี หรือเทียบเท่าตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือสำนักงาน ก.พ. รับรอง
๑.๒ มีอายุไม่ต่ำกว่า ๔๐ ปี ในวันที่ปิดรับสมัคร
๑.๓ เป็นผู้ไม่อยู่ระหว่างการอบรมหลักสูตร วปอ./วปรอ./ปปร./นบส./สจว./วตท./ พตส./บรอ./TEPCOT/วพน./นบปส. หรือหลักสูตรอื่นในระดับเดียวกันหรือเทียบเท่า
๑.๔ เป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะเข้ารับการอบรมอย่างแท้จริง ต้องสามารถเข้าร่วมกิจกรรมและยอมรับเงื่อนไขของการศึกษาอบรมตลอดหลักสูตรทุกประการ
๑.๕ สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาอบรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับหน่วยงานและระบบเศรษฐกิจ การเงิน การประกันภัย
๒ คุณสมบัติเฉพาะ
ผู้ที่มีสิทธิเข้ารับการศึกษาอบรมในหลักสูตรต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
๒.๑ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
๒.๒ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรืออดีตสมาชิกวุฒิสภา
๒.๓ กรรมการขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
๒.๔ ตุลาการศาลยุติธรรม ตั้งแต่ชั้น ๓ ขั้นสูงขึ้นไป
๒.๕ ตุลาการศาลปกครอง ตั้งแต่ รองอธิบดีศาลปกครองชั้นต้นหรือเทียบเท่าขึ้นไป
๒.๖ ข้าราชการอัยการ ตั้งแต่ชั้น ๕ ขึ้นไป
๒.๗ ผู้มีตำแหน่งทางวิชาการ ตั้งแต่ระดับรองศาสตราจารย์ขึ้นไป หรือเป็นอาจารย์ผู้สอนในสาขาวิชาการประกันภัย การบริหารความเสี่ยง การเงิน หรือสาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้องโดยมีประสบการณ์ในการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี
๒.๘ ข้าราชการพลเรือนสามัญหรือข้าราชการประเภทอื่นซึ่งดำรงตำแหน่งสายงานบริหารระดับต้น หรือสายงานอำนวยการระดับสูง หรือสายงานวิชาการระดับเชี่ยวชาญขึ้นไป
๒.๙ ข้าราชการทหารชั้นยศพลตรี พลอากาศตรี หรือพลเรือตรีขึ้นไป
๒.๑๐ ข้าราชการตำรวจชั้นยศพลตำรวจตรีขึ้นไป
๒.๑๑ กรรมการหรือผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงิน องค์กร หรือสมาคมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน และประกันภัย
๒.๑๒ ผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจหรือภาคเอกชนหรือองค์กรพัฒนาภาคเอกชน
๒.๑๓ บรรณาธิการ หรือผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และมีประสบการณ์ในงานด้านสื่อมวลชนมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี
๒.๑๔ บุคคลที่คณะกรรมการสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูงพิจารณาให้เข้ารับการศึกษาอบรม