หลักการและเหตุผล :
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เป็นหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่กำกับดูแล ส่งเสริม และพัฒนาการประกอบธุรกิจประกันภัยให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ตลอดจนพัฒนาบุคลากรประกันภัยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และตามแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๖๔-๒๕๖๘) ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัย เพื่อสร้างและส่งเสริมศักยภาพบุคลากร ทั้งในและนอกระบบประกันภัยให้มีความรู้ด้านการประกันภัย และพร้อมรองรับการเปิดเสรีธุรกิจประกันภัยในอนาคต
จากสถานการณ์ปัจจุบัน การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID–19) ส่งผลให้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในหลายประเทศเกิดการชะงักและชะลอตัวลง การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การจ้างงานล้วนมีแนวโน้มที่ถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง ปัญหาดังกล่าวประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แม้ว่าประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ปัญหาการถดถอยทางเศรษฐกิจยังคงดำเนินอยู่ ท่ามกลางวิกฤตดังกล่าวธุรกิจประกันภัยมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคและเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค และการให้บริการที่ทันสมัย สะดวก รวดเร็ว ส่งผลให้มิติของการกำกับดูแลไม่สามารถดำเนินการลำพังแต่เพียงหน่วยงานเดียวได้ แต่จำเป็นต้องบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจำเป็นที่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับระบบประกันภัย และความรู้อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศให้มีความมั่นคงยั่งยืน
สำนักงาน คปภ. ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในเรื่องดังกล่าว จึงได้จัด “การศึกษาอบรมหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) (Thailand Insurance Leadership Program) รุ่นที่ ๑๐ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๔” ขึ้น เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงจากภาคส่วนต่าง ๆ ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบประกันภัย ทั้งการประกันชีวิต การประกันวินาศภัย การบริหารจัดการความเสี่ยงภัยในด้านต่าง ๆ พัฒนาการของระบบประกันภัย ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเสริมสร้างการเป็นผู้นำที่มีคุณธรรม จริยธรรม และการบริหารจัดการเชิงสร้างสรรค์ นำองค์กรไปสู่ความสำเร็จโดยสอดคล้องกับสภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของโลก เพื่อจะได้ระดมความคิดเห็นจากประสบการณ์ที่หลากหลาย ช่วยให้ข้อเสนอแนะและพัฒนาระบบประกันภัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถทำหน้าที่เป็น Insurance Ambassador โดยเป็นผู้สื่อสารความรู้ความเข้าใจ และสร้างทัศนคติที่ถูกต้องในเรื่องของการประกันภัยให้สังคมและสาธารณชนได้
วัตถุประสงค์ :
๑. เพื่อสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจด้านการประกันชีวิต การประกันวินาศภัย การบริหารจัดการความเสี่ยงภัยต่าง ๆ ให้แก่ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน
๒. เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในกฎเกณฑ์การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจประกันภัย ที่มีการเปลี่ยนแปลงและส่งผลต่อการบริหารธุรกิจประกันภัย
๓. เพื่อเสริมสร้างทักษะ และพัฒนาผู้บริหารให้บริหารงานเชิงกลยุทธ์อย่างสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๔. เพื่อพัฒนาให้ผู้บริหารมีภาวะความเป็นผู้นำที่เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม และวิสัยทัศน์ในการบริหารงานองค์กร และพัฒนาระบบประกันภัยให้มีความเจริญก้าวหน้า สามารถแข่งขันในระดับโลก
๕. เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นจากมุมมองและประสบการณ์ที่แตกต่าง เพื่อพัฒนาระบบประกันภัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน
ระยะเวลาอบรม :
ระยะเวลาการศึกษาอบรมระหว่างเดือนภายในปี ๒๕๖๕ กำหนดการศึกษาอบรมสัปดาห์ละ ๑ วัน ทุกวันศุกร์ (หรือวันพฤหัสบดีกรณีจำเป็น) ตั้งแต่เวลา ๑๔.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. หรือวัน เวลาที่สถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูงกำหนด
คุณสมบัติผู้เข้ารับการอบรม :
๑ คุณสมบัติทั่วไป
๑.๑ สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี หรือเทียบเท่าตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือสำนักงาน ก.พ. รับรอง
๑.๒ มีอายุไม่ต่ำกว่า ๔๐ ปี ในวันที่ปิดรับสมัคร
๑.๓ ต้องไม่อยู่ระหว่างการเข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรใด ๆ ที่ตรงกับเวลาการศึกษาอบรมของหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) กำหนด และมีเวลาเข้ารับการศึกษาอบรมได้อย่างเต็มที่
๑.๔ เป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะเข้ารับการศึกษาอบรมอย่างแท้จริง ต้องสามารถเข้าร่วมกิจกรรมและยอมรับเงื่อนไขของการศึกษาอบรมตลอดหลักสูตรทุกประการ
๑.๕ สามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากหลักสูตรนี้ไปประยุกต์ใช้ในงาน/หน่วยงาน และสามารถนำไปถ่ายทอดให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อระบบประกันภัย
๒ คุณสมบัติเฉพาะ
ผู้ที่มีสิทธิเข้ารับการศึกษาอบรมในหลักสูตรต้องมีคุณสมบัติเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
๒.๑ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา
๒.๒ กรรมการขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
๒.๓ ตุลาการศาลยุติธรรม ตั้งแต่ชั้น ๓ ขั้นสูงขึ้นไป
๒.๔ ตุลาการศาลปกครอง ตั้งแต่รองอธิบดีศาลปกครองชั้นต้นหรือเทียบเท่าขึ้นไป
๒.๕ ข้าราชการอัยการ ตั้งแต่ชั้น ๕ ขึ้นไป
๒.๖ ผู้มีตำแหน่งทางวิชาการ ตั้งแต่ระดับรองศาสตราจารย์ขึ้นไป หรือเป็นอาจารย์ผู้สอนในสาขาวิชาการประกันภัย การบริหารความเสี่ยง การเงิน หรือสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยมีประสบการณ์ในการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี
๒.๗ ข้าราชการพลเรือนสามัญหรือข้าราชการประเภทอื่นซึ่งดำรงตำแหน่งสายงานบริหารระดับต้น หรือสายงานอำนวยการระดับสูง หรือสายงานวิชาการระดับเชี่ยวชาญขึ้นไป
๒.๘ ข้าราชการทหารชั้นยศพลตรี พลอากาศตรี หรือพลเรือตรีขึ้นไป
๒.๙ ข้าราชการตำรวจชั้นยศพลตำรวจตรีขึ้นไป
๒.๑๐ กรรมการหรือผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงิน องค์กร หรือสมาคมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน และประกันภัย
๒.๑๑ ผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจหรือภาคเอกชนหรือองค์กรพัฒนาภาคเอกชน
๒.๑๒ บรรณาธิการ หรือผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และมีประสบการณ์ในงานด้านสื่อมวลชนมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี
๒.๑๓ บุคคลที่คณะกรรมการสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูงพิจารณาให้เข้ารับการศึกษาอบรม