กฎหมายที่ประชาชนควรรู้

กฎหมายที่ประชาชนควรรู้

กฎหมายที่ประชาชนควรรู้ เป็นข้อบังคับที่หน่วยงานภาครัฐกำหนดขึ้นมา เพื่อใช้บังคับและควบคุมผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจประกันภัยให้ปฏิบัติตาม หากมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดและได้รับโทษตามที่กำหนดไว้

กฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย ประกอบด้วย

1. พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535

 

การประกอบธุรกิจประกันชีวิตถือเป็นการประกอบกิจการที่มีการระดมเงินจากประชาชนในลักษณะที่คล้ายคลึงกับการประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน จึงต้องมีแนวทางการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับการกำกับดูแลสถาบันการเงินและตามหลักเกณฑ์สากลของการประกันภัย

พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 ใช้ในการกำกับและดูแลการประกอบธุรกิจการประกันชีวิต และการดำเนินงานของบริษัทประกันชีวิต และตัวแทน/นายหน้าประกันชีวิต

บทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 ตัวอย่างเช่น

  • บริษัทประกันที่ดำเนินธุรกิจโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2 - 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 - 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละ 20,000 บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
  • การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต กรณี
    1) บริษัทมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน
    2) ฝ่าฝืนบทบัญญัติของ พ.ร.บ. ประกันชีวิต
    3) หยุดประกอบกิจการโดยไม่มีเหตุอันควร
    4) ประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยโดยไม่มีเหตุอันควร และ
    5) ถ้าประกอบธุรกิจประกันชีวิตต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยและประชาชน หากบริษัทฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และปรับอีกวันละ 20,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
  • การเปิดสาขาและย้ายสาขา บริษัทจะต้องยื่นคำขออนุญาตต่อนายทะเบียนและได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนก่อน ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 20,000 – 200,000 บาท และทำผิดต่อเนื่องปรับอีกวันละ 10,000 บาท
  • ห้ามไม่ให้บริษัทประกันภัยโฆษณาจูงใจผู้บริโภคด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 500,000 บาท และปรับอีกวันละ 20,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
  • ตัวแทน/นายหน้าประกันชีวิต หากขายประกันโดยที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันชีวิต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ตัวแทน/นายหน้าประกันชีวิต หากทำสัญญาประกันชีวิตโดยไม่ได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือจากทางบริษัทประกันภัย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • การเพิกถอนใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันชีวิต กรณี
    1) ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย
    2) ฝ่าฝืนบทบัญญัติ พ.ร.บ. ประกันชีวิต และ
    3) ขาดคุณสมบัติการเป็นตัวแทน/นายหน้าประกันชีวิต
  • ผู้เอาประกันภัยต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงให้ผู้รับประกันภัยทราบ เช่น เป็นโรคร้ายแรง หรืออยู่ในสถานะที่เสี่ยงต่อชีวิต หากไม่บอกให้ผู้รับประกันภัยทราบ แล้วผู้รับประกันภัยมาทราบในภายหลังทำให้มีสิทธิที่จะบอกยกเลิกสัญญาประกันภัยได้

 

พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 PDF 12.00 MB

2. พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535

 

การประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับความมั่นคง และมีผลกระทบต่อประชาชนหรือภาคธุรกิจอื่นๆ เป็นอย่างมาก จึงต้องมีแนวทางการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแกประชาชน เช่น กรณีบริษัทประกันภัยไมจ่ายค่าสินไหมทดแทน หรือประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนและสังคมในวงกว้าง ฯลฯ จึงได้มีการตรากฎหมายพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 เพื่อใช้ในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจการประกันวินาศภัยในส่วนการดำเนินงานของบริษัทประกันวินาศภัย และตัวแทน/นายหน้าประกันวินาศภัย

บทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ตัวอย่างเช่น

  • ผู้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยจะต้องเป็นนิติบุคคลเท่านั้น ส่วนผู้รับประกันภัยจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ และผู้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยจะดำเนินธุรกิจประกันวินาศภัยได้ต้องได้รับใบอนุญาตฯ เท่านั้น หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกตั้งแต่ 2 - 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 - 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละ 20,000 บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
  • การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย กรณี
    1) บริษัทมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สินหรือมีฐานะการเงินไม่มั่นคง
    2) ฝ่าฝืนบทบัญญัติของ พ.ร.บ. ประกันวินาศภัย
    3) หยุดประกอบกิจการโดยไม่มีเหตุอันควร
    4) ประวิงการจ่ายค่าสินไหม/การคืนเบี้ยประกันภัยโดยไม่มีเหตุอันควร และ
    5) ถ้าประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน
  • บริษัทประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยที่ต้องจ่ายคืนแก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์โดยไม่มีเหตุอันควร มีโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และปรับอีกวันละ 20,000 บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
  • ตัวแทน/นายหน้าประกันวินาศภัย หากขายประกันโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันวินาศภัย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ตัวแทน/นายหน้าประกันวินาศภัย หากทำสัญญาประกันวินาศภัยโดยไม่ได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือจากทางบริษัทประกันภัย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ตัวแทน/นายหน้าประกันวินาศภัย หากไม่แสดงใบอนุญาตเมื่อชี้ช่องหรือจัดการให้ทำสัญญา หรือไม่แสดงหนังสือมอบอำนาจเมื่อรับเบี้ยประกัน หรือไม่ออกเอกสารการรับเงินของบริษัท มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
  • การเพิกถอนใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันวินาศภัย กรณี
    1) ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย
    2) ฝ่าฝืนบทบัญญัติ พ.ร.บ. ประกันวินาศภัย และ
    3) ขาดคุณสมบัติการเป็นตัวแทน/นายหน้าประกันวินาศภัย

 

พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 PDF 03.80 MB

3. พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535

 

พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 หรือที่เรียกกันว่า พ.ร.บ. เป็น “ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ” (Compulsory Third Party Insurance) ที่กฎหมายบังคับให้รถทุกคันต้องมี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

  • คุ้มครองและให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ประสบภัยจากรถที่ได้รับบาดเจ็บ/เสียชีวิต โดยให้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงทีในกรณีบาดเจ็บ หรือช่วยเป็นค่าปลงศพกรณีเสียชีวิต
  • เป็นหลักประกันให้กับโรงพยาบาล/สถานพยาบาลว่าจะได้รับค่ารักษาพยาบาลในการรับรักษาพยาบาลผู้ประสบภัยจากรถ
  • เป็นสวัสดิการสงเคราะห์ที่รัฐมอบให้แก่ประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย เพราะเหตุประสบภัยจากรถ
  • ส่งเสริมและสนับสนุนให้การประกันภัยเข้ามามีส่วนร่วมในการบรรเทาความเดือนร้อนแก่ผู้ประสบภัยและครอบครัว

ความคุ้มครองเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.

ผู้ประสบภัยจากรถจะได้รับความคุ้มครองในความเสียหายที่เกิดขึ้นเบื้องต้น หรือที่เรียกว่า “ค่าเสียหายเบื้องต้น” ประกอบด้วยค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บ และค่าปลงศพในกรณีเสียชีวิต โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด บริษัทจะชดใช้ให้แก่ผู้ประสบภัย/ทายาทของผู้ประสบภัย ภายใน 7 วัน นับแต่บริษัทได้รับคำร้องขอค่าเสียหายเบื้องต้น โดยมีจำนวนเงิน ดังนี้

  • กรณีบาดเจ็บ ได้รับการชดใช้เป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท
  • กรณีเสียชีวิต ได้รับการชดใช้เป็นค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพ จำนวน 35,000 บาท
  • กรณีบาดเจ็บ และเสียชีวิตรวมกัน ไม่เกิน 65,000 บาท
  • จำนวนเงินค่าเสียหายส่วนที่เกินกว่าค่าเสียหายเบื้องต้น ผู้ประสบภัย/ทายาทของผู้ประสบภัยจะได้รับภายหลังจากการพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เป็นฝ่ายที่จะต้องรับผิดตามกฎหมาย (กรณีเป็นฝ่ายถูก) โดยบริษัทประกันภัยรถที่เป็นฝ่ายผิด ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ประสบภัย/ทายาทของผู้ประสบภัย ดังนี้
    • (1) กรณีบาดเจ็บ ค่ารักษาพยาบาลจ่ายตามจริง แต่ไม่เกิน 80,000 บาท
    • (2) กรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวร ได้รับเงินชดใช้จำนวน 300,000 บาท
    • (3) กรณีสูญเสียอวัยวะ ได้รับเงินชดใช้จำนวน 20,000 – 30,000 บาท
    • (4) กรณีเข้ารักษาในฐานะผู้ป่วยใน ชดเชยรายวัน วันละ 200 บาท สูงสุด 20 วัน

บทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ตัวอย่างเช่น

  • เจ้าของรถหรือผู้เช่าซื้อรถ ไม่มีกรมธรรม์ พ.ร.บ. มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
  • กรณีปลอมแปลงเอกสาร พ.ร.บ. มีโทษจำคุก 6 เดือน – 5 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท
  • เจ้าของรถหรือผู้เช่าซื้อรถ ไม่ติดเครื่องหมายแสดงว่ามีการประกันภัยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
  • บริษัทประกันวินาศภัยที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการรับประกันภัยรถ หากฝ่าฝืนไม่ยอมรับประกันภัยรถตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ มีโทษปรับตั้งแต่ 50,000 – 250,000 บาท
  • เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถ หากบริษัทประกันไม่จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัย (หรือทายาท) ให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 50,000 บาท
  • ผู้ประสบภัยที่ยื่นคำขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นโดยทุจริตหรือแสดงหลักฐานเท็จเพื่อขอรับค่าเสียหายเบื้องต้น มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 PDF 02.00 MB

4. พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522

 

ในกรณีที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับการประกันภัย หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคโดยตรงคือ สำนักงาน คปภ. แต่หากเกิดกรณีจำเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงไม่ได้ดำเนินการแก้ไขหรือดำเนินการไม่ครบถ้วนตามขั้นตอนของกฎหมาย ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถร้องเรียนต่อ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ช่วยเหลือดำเนินการแก้ไขแทนได้ เพราะสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหน่วยงานคุ้มครองด้านการบริโภคสินค้าและบริการทั่วไป มีอำนาจดำเนินการภายใต้ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะไม่ซ้ำซ้อนหรือขัดกับอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. แต่อย่างใด

พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ได้บัญญัติสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย 5 ประการ ดังนี้

1) สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภค รวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้องและเพียงพอที่จะไม่หลงผิดในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม
2) สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยความสมัครใจของผู้บริโภคและปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม
3) สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัยมีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว
4) สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ
5) สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดใช้ค่าเสียหายเมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามข้อ 1, 2, 3 และ 4 ดังกล่าว

บทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ตัวอย่างเช่น การที่บริษัทประกันชีวิตใช้ข้อความโฆษณาว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพ อาจเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 22 (1) ระบุว่าการโฆษณาต้องไม่เป็นข้อความเท็จ เกินจริง ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญของกรมธรรม์ประกันภัย รวมทั้งต้องเขียนข้อความที่โฆษณาไว้ในกรมธรรม์ด้วย แต่ไม่พบว่ามีบริษัทใดดำเนินการดังกล่าว ถือว่ามีความผิดในการเสนอขาย มีโทษจำคุก 3 เดือน ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และ พ.ศ. 2541 PDF 15.40 MB