การประกันภัยความรับผิดต่อสาธารณะ

การประกันภัยความรับผิดต่อสาธารณะ

การประกันภัยความรับผิดต่อสาธารณะ (Public Liability Insurance)
การประกันภัยความรับผิดต่อสาธารณะ หรือ การประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อสาธารณชน จัดเป็นการประกันวินาศภัยประเภทหนึ่ง ซึ่งให้ความคุ้มครองต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบุคคลภายนอก ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือความบาดเจ็บทางร่างกาย ตลอดจนกระทั่งการเสียชีวิตของบุคคลภายนอกซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชดใช้ตามกฎหมาย แต่ไม่ให้ความคุ้มครองต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยตรงต่อทรัพย์สินหรือร่างกายของผู้เอาประกันภัย

ประเภทการประกันภัยความรับผิดต่อสาธารณะ

-

1. การประกันภัยความรับผิดต่อสาธารณชนส่วนบุคคล ประกอบด้วย

1.1 ความรับผิดของแพทย์ ศัลยแพทย์ และทันตแพทย์ต่อคนไข้ การประกันภัยนี้ให้ความคุ้มครองแก่แพทย์ ศัลยแพทย์ และทันตแพทย์ ซึ่งรวมทั้งพยาบาลและผู้ช่วยแพทย์ที่ทำตามคำสั่งแพทย์ ในกรณีที่เกิดความเสียหายแก่คนไข้ เนื่องมาจากความบกพร่องพลั้งพลาดในการรักษาพยาบาล ไม่ว่าการปฏิบัติจะอยู่ต่อหน้าแพทย์หรือไม่ก็ตาม รวมถึงความเสียหายที่ทำให้คนไข้ต้องสูญเสียรายได้ระหว่างการรักษาด้วย
ข้อยกเว้นที่สำคัญ คือ ผู้รับประกันจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น เนื่องจากการกระทำของแพทย์ พยาบาล หรือผู้ช่วยพยาบาลในขณะที่เมาสุราหรือติดยาเสพติด

1.2 ความรับผิดของเภสัชกรต่อผู้ซื้อยา (Druggist’s Liability) ให้ความคุ้มครองแก่เภสัชกร เมื่อผู้ซื้อยาได้รับความเสียหาย เนื่องจากรับประทานยาที่ผสมผิดส่วนหรือผู้ขายยาหยิบยาให้ผิดประเภท ไม่ว่าจะเกิดขึ้นทันทีหรือภายหลังจากใช้ยานั้นต่อเนื่องมาเป็นเวลานานก็ตาม แต่ต้องเกิดขึ้นระหว่างสัญญามีผลใช้บังคับ
ข้อยกเว้นที่สำคัญ คือ ผู้รับประกันภัยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหาย อันเนื่องมาจากการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายขายยา

1.3 ความรับผิดของโรงพยาบาลต่อคนไข้ (Hospital Liability) ให้ความคุ้มครองโรงพยาบาลในการดูแลรักษาคนไข้ รวมถึงการให้อาหารสำหรับคนไข้ อันเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่อของแพทย์ พยาบาล หรือคนงานประจำโรงพยาบาลหรือคลินิก ไม่ว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกโรงพยาบาลก็ตาม
ข้อยกเว้นที่สำคัญ คือ ผู้รับประกันภัยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายเนื่องมาจากการกระทำอันเป็นอาชญากรรม

1.4 ความรับผิดของจักษุแพทย์ต่อคนไข้ (Optometrist’s Liability) ให้ความคุ้มครองความบกพร่อง ประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ของจักษุแพทย์เท่านั้น ไม่รวมถึงการกระทำของลูกจ้างในโรงพยาบาลหรือคลินิก

1.5 ความรับผิดของร้านเสริมสวยต่อลูกค้า (Beauty Parlor Liability) ให้ความคุ้มครองในความประมาทเลินเล่อของร้านเสริมสวย หรือความเสียหายบาดเจ็บที่เกิดแก่ลูกค้า ในการใช้หรือบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ซื้อจากร้านเสริมสวย
ข้อยกเว้นที่สำคัญ คือ ผู้รับประกันภัยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายเนื่องมาจากการตบแต่งอันมิชอบด้วยกฎหมาย

1.6 ความรับผิดของผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชีต่อผู้ว่าจ้าง (Accountant Liability) ให้ความคุ้มครองในความประมาทเลินเล่อของผู้ทำบัญชีหรือสอบบัญชี ในการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ว่าจ้าง
ข้อยกเว้นที่สำคัญ คือ ผู้รับประกันจะไม่รับผิดชอบต่อการกระทำของผู้ทำบัญชีหรือผู้สอบบัญชีที่ส่อเจตนาทุจริตหรือฉ้อโกง

2. การประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อสาธารณชน ของผู้ประกอบการหรือนิติบุคคล

2.1 การประกันความรับผิดต่อบุคคลภายนอกของเจ้าของ ผู้ให้เช่า และ ผู้เช่าสถานที่ (Owners’ Landlords’ and Tenants’ Liability) การประกันความรับผิดต่อบุคคลภายนอกอันเกิดจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นต่อบุคคลภายนอก อันเนื่องจากการบำรุงรักษาและการดูแลสถานที่ ยังผลให้เกิดความสูญเสียหรือเสียหายต่อทรัพย์สินและ/หรือความบาดเจ็บทางร่างกาย การประกันภัยประเภทนี้เหมาะสำหรับเจ้าของโรงงาน เจ้าของห้างสรรพสินค้า เจ้าของอาคารพาณิชย์ และผู้เช่าโรงงาน

2.2 การประกันความรับผิดของผู้ทำการผลิตและผู้รับเหมา (Manufacturers’ and Contractors’ Liability Insurance) การประกันความรับผิดที่เกิดขึ้นต่อบุคคลภายนอกอันเกิดจากอุบัติเหตุ เนื่องจากการปฏิบัติงานและยังผลให้เกิดความสูญเสียหรือเสียหายต่อทรัพย์สิน และ/หรือความบาดเจ็บทางร่างกาย การประกันภัยประเภทนี้เหมาะสำหรับผู้รับเหมางานก่อสร้างต่างๆ เช่น งานก่อสร้างทาง โครงการรถไฟฟ้า และผู้ประกอบการผลิต เป็นต้น

2.3 การประกันความรับผิดจากผลิตภัณฑ์ (Product Liability) การคุ้มครองผู้ผลิตสินค้าเมื่อมีการเสียหายเกิดขึ้นกับผู้บริโภคสินค้า

2.4 การประกันความรับผิดของนายจ้างต่อลูกจ้าง (Employer’s Liability) การคุ้มครองความรับผิดของนายจ้าง ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุแก่ลูกจ้าง แต่ลูกจ้างต้องสามารถพิสูจน์ได้ว่าเหตุที่เกิดขึ้นมาจากความประมาทเลินเล่อของนายจ้าง

2.5 การประกันความรับผิดตามสัญญา (Contractual Liability) การให้ความคุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากสัญญา เช่น บริษัท A ประกอบธุรกิจดูแลและบำรุงรักษาลิฟท์ ได้ทำสัญญากับผู้ว่าจ้าง ขณะเดียวกันได้ขอทำประกันภัยความรับผิดอันเกิดจากสัญญาว่าจ้างบำรุงรักษาดูแลลิฟท์ ว่าถ้าเกิดความเสียหายต่อผู้ใช้ลิฟท์ทั้งทางร่างกายและทรัพย์สิน บริษัทประกันภัยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ใช้ลิฟท์ภายใต้ความรับผิดตามสัญญานี้

2.6 การประกันความรับผิดอย่างกว้างขวางของผู้ประกอบธุรกิจต่อบุคคลอื่น (Comprehensive General Liability) การประกันประเภทนี้มีขอบเขตความคุ้มครองหลายประเภทภายในสถานประกอบการแห่งเดียว เช่น โรงแรม มีขอบเขตความรับผิดต่อผู้มาใช้บริการต่างๆ ภายในโรงแรม ไม่ว่าจะเป็นสระว่ายน้ำ บันไดเลื่อน ห้องอาหาร ห้องออกกำลังกาย สถานที่จอดรถ รวมถึงความเสียหายของทรัพย์สินในห้องพัก เป็นต้น

หลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าสินไหมทดแทน

-

  1. บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย หมายถึง บริษัทประกันภัยสามารถที่จะจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกผู้ได้รับความเสียหายได้โดยตรง แม้ว่าบริษัทประกันภัยจะไม่มีนิติสัมพันธ์ใดๆ กับผู้เสียหาย
  2. สาเหตุที่เกิดความรับผิดซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลภายนอกนั้น จะต้องเกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุ ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันและไม่ได้คาดคิดมาก่อน เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยเจตนา แต่เกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่อของผู้เอาประกันภัย
  3. บริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย หรือบุคคลภายนอกเฉพาะจำนวนเงินที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดตามกฎหมายเท่านั้น ถ้าเป็นความรับผิดอย่างอื่นที่ไม่มีกฎหมายรองรับ บริษัท ประกันภัยไม่มีความผูกพันจะต้องจ่าย
  4. บุคคลภายนอกผู้ได้รับความเสียหาย หมายถึง บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ไม่ใช่เป็นบุคคลในครอบครัว หรือบุคคลที่อยู่ด้วยกันกับผู้เอาประกันภัย ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงหรือโดยอ้อมกับกิจการของผู้เอาประกันภัย หรือลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยขณะอยู่ในระหว่างการจ้าง หรือบุคคลที่อยู่ในระหว่างการปฏิบัติงานให้ผู้เอาประกันภัยภายใต้สัญญาว่าจ้างหรือการฝึกงาน
  5. บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ภายในวงเงินที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ หรือเรียกว่า“จำนวนเงินจำกัดความรับผิด” (Limit of Liability)

ข้อยกเว้น

-

ผู้รับประกันภัยอาจปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้ หากความรับผิดนั้นเป็น

ความรับผิดของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อลูกจ้างภายใต้กฎหมายเรื่องกองทุนทดแทน (Workman’s Compensation) เช่น กรณีลูกจ้างได้รับอุบัติเหตุในงานที่ทำ ทำให้ได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต กรมธรรม์ความรับผิดตามกฎหมายต่อสาธารณชนจะไม่คุ้มครอง ผู้เอาประกันภัยต้องจัดทำการประกันภัยทดแทนแรงงานแยกต่างหาก
ความรับผิดของผู้เอาประกันภัยในฐานะที่เป็นนายจ้างจะต้องรับผิดต่อลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างต้องได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุในการทำงานให้แก่นายจ้าง ดังนั้น นายจ้างจะต้องจัดทำประกันภัยความรับผิดของนายจ้างต่อลูกจ้างแยกต่างหาก
ความรับผิดที่ผู้เอาประกันภัยยอมรับเอาเอง หมายถึง การที่ผู้เอาประกันภัยภัยทำสัญญาตกลงกับบุคคลอื่น ในการยอมรับผิดมากกว่าความรับผิดที่กฎหมายปกติกำหนดไว้ ซึ่งหากผู้เอาประกันภัยไม่ได้ทำสัญญาดังกล่าว ความรับผิดนั้นจะไม่เกิดขึ้น เช่น การรับผิดด้วยความสงสาร เป็นต้น
ความรับผิดในความเสียหายต่อทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
- ความเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัยเอง
- ความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลอื่นที่ผู้เอาประกันภัย หรือลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยครอบครองหรือเช่าอยู่ หรือกำลังใช้อยู่
- ความเสียหายต่อทรัพย์สินที่อยู่ในการครอบครองดูแลหรือควบคุมโดยผู้เอาประกันภัยหรือลูกจ้าง หรือตัวแทนของผู้เอาประกันภัย ทรัพย์สินที่อยู่ในการครอบครอง ดูแล และควบคุมของผู้เอาประกันภัยนี้ถือเสมือนเป็นทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัยเอง
- ความเสียหายต่อตัวผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจเกิดจากการชำรุดส่วนใดส่วนหนึ่งของตัวผลิตภัณฑ์
- ความเสียหายต่องานที่ได้ทำไปแล้ว ซึ่งทำโดยหรือทำในนามของผู้เอาประกันภัย
- ความเสียหายที่เกิดแก่สถานที่หรืออาคารที่ผู้เอาประกันภัยได้จำหน่ายขายหรือโอนให้บุคคลอื่นไปแล้ว
ความรับผิดอันเนื่องมาจากยวดยานพาหนะที่เดินด้วยเครื่องยนต์
ความรับผิดเนื่องจากภัยที่ให้ผลหายนะอย่างใหญ่หลวง เช่น ภัยสงคราม ภัยเนื่องจากพลังงานนิวเคลียร์ เป็นต้น
ความรับผิดเนื่องจากมลภาวะ (Pollution)
การประกันภัยความรับผิดต่อสาธารณะ   อ่านต่อ