การประกันอัคคีภัย (Fire Insurance)

การประกันอัคคีภัย (Fire Insurance)

การประกันอัคคีภัย เป็นการประกันวินาศภัยประเภทหนึ่ง โดยเป็นการประกันภัยทรัพย์สินที่ให้ความคุ้มครองแบบ “ระบุภัย (Named Peril)” กล่าวคือ ให้ความคุ้มครองความสูญเสียหรือเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอันเนื่อง มาจากภัยที่ระบุไว้เท่านั้น

ผู้เอาประกันภัยจะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีทรัพย์สินที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้ และอาจจะครอบคลุมสาเหตุอื่นๆ อีกตามแต่ที่จะกำหนดในกรมธรรม์ ซึ่งผู้ที่จะซื้อกรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัยได้จะ ต้องเป็นเจ้าของหรือผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างที่ทำประกันภัยเท่านั้น

 

ทรัพย์สินที่สามารถเอาประกันได้

-

  • บ้านอยู่อาศัย
  • อาคาร ร้านค้า สำนักงาน โรงแรม โรงเรียน โรงพยาบาล โรงงาน โกดัง ฯลฯ
  • ทรัพย์สินภายในอาคาร เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องจักร สต็อกสินค้า ฯลฯ

ทรัพย์สินที่ไม่รวมอยู่ในการประกันภัย (เว้นแต่ได้ระบุในกรมธรรม์โดยชัดเจน)

-

  • สินค้าที่อยู่ในการดูแลรักษาของผู้เอาประกันภัยในฐานะผู้รับฝากทรัพย์
  • เงินแท่ง หรือเงินรูปพรรณ หรือทองคำแท่ง หรือทองรูปพรรณ หรืออัญมณี
  • โบราณวัตถุหรือวัตถุสำหรับความเสียหายรวมส่วนที่เกินกว่า 10,000 บาท
  • ต้นฉบับหรือสำเนาเอกสาร แบบแปลน แผนผัง ภาพเขียน รูปออกแบบ ลวดลายแบบ หรือแบบพิมพ์ หรือแม่พิมพ์
  • หลักประกันหนี้สิน หลักทรัพย์ เอกสารสำคัญต่างๆ ไปรษณียากร อากรแสตมป์ เงินตรา ธนบัตร เช็ค สมุดบัญชี หรือสมุดหนังสือเกี่ยวกับธุรกิจใด ๆ
  • วัตถุระเบิด ไดนาโม หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้า มอเตอร์ไฟฟ้า แผงควบคุมไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ซึ่งได้รับความเสียหายเนื่องจาก หรือเพราะการเดินเครื่องเกินกำลัง หรือได้รับกระแสไฟฟ้า เกินกำลัง หรือไฟฟ้าลัดวงจร รวมถึงไฟฟ้าลัดวงจรเนื่องจากฟ้าผ่า เฉพาะเครื่องที่เกิดการเสียหายในกรณีดังกล่าว

ประเภทของการประกันอัคคีภัย

เพื่อตอบสนองความเสี่ยงภัยของผู้เอาประกันภัยที่แตกต่างกัน จึงแบ่งประเภทของการประกันอัคคีภัย ออกเป็น 2 ประเภท ประกอบด้วย

การประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย
การประกันอัคคีภัยสำหรับสถานประกอบธุรกิจ

ประเภทความคุ้มครอง

+

การประกันอัคคีภัย เป็นการตกลงทำสัญญากันระหว่างผู้รับประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยว่า หากทรัพย์สินที่เอาประกันภัยหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยต้องสูญเสียหรือเสียหายระหว่างระยะเวลาที่ทำประกันภัยไว้ ผู้รับประกันภัยจะรับผิดชอบซ่อมแซม หรือจัดหาสิ่งทดแทน หรือจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริงของทรัพย์สิน แต่ไม่เกินกว่าจำนวนเงินที่เอาประกันภัยไว้

ความคุ้มครองพื้นฐานของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย จากภัยต่างๆ ประกอบด้วย

  • ไฟไหม้
  • ฟ้าผ่า
  • แรงระเบิดของแก๊สที่ใช้สำหรับทำแสงสว่างหรือประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัยเท่านั้น (ไม่รวมถึงความเสียหายจากการระเบิดของแก๊สจากแผ่นดินไหว)
  • ความเสียหายเนื่องจากภัยเพิ่มพิเศษ ที่ได้ระบุไว้ชัดเจนในกรมธรรม์ประกันภัย

หากผู้เอาประกันภัยต้องการความคุ้มครองเพิ่มเติมจากความคุ้มครองพื้นฐานดังกล่าวข้างต้น สามารถซื้อเพิ่มเติมได้โดยต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยเพิ่ม ภัยที่ขอซื้อเพิ่มเติมได้มีดังนี้ ภัยลมพายุ, ภัยจากลูกเห็บ, ภัยระเบิด, ภัยอากาศยาน, ภัยจากยวดยานพาหนะ, ภัยจากควัน, ภัยแผ่นดินไหว, ภัยน้ำท่วม, ภัยเนื่องจากน้ำ (เช่น ท่อน้ำรั่ว ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย เป็นต้น), ภัยจลาจลและนัดหยุดงาน, ภัยจากการกระทำอย่างป่าเถื่อนหรือการกระทำอันมีเจตนาร้าย ภัยเกิดขึ้นเองตามปกติวิสัย มีการลุกไหม้หรือระเบิด, ภัยเกิดขึ้นเองตามปกติวิสัย และ/หรือ ไม่มีการลุกไหม้หรือระเบิด, ภัยต่อเครื่องไฟฟ้า

แม้ว่าความเสียหายบางประเภทจะไม่ได้เกิดขึ้นโดยตรงจากอัคคีภัยก็ตาม แต่ยังคงได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ซึ่งจัดอยู่ในประเภท “ความคุ้มครองความเสียหายที่สืบเนื่องจากอัคคีภัย” ประกอบด้วย

  • ความเสียหายที่เกิดจากน้ำในการดับไฟ หรือสารดับเพลิงอื่นๆ ที่ใช้ในการดับไฟ เช่น ทรัพย์สินที่อยู่ใกล้เคียงต้องถูกฉีดน้ำ ทำให้เปียกและเสียหาย เป็นต้น
  • ความเสียหายอันเกิดจากเจ้าหน้าที่ดับเพลิง เช่น เจ้าหน้าที่ต้องทุบกระจก เพื่อกรุยทางเข้าไปดับเพลิง หรือเจ้าหน้าที่ดับเพลิงขึ้นไปยืนบนดาดฟ้าของอาคารที่ยังไม่ถูกเพลิงไหม้ เพื่อฉีดน้ำเข้าไปในตัวอาคารที่ถูกเพลิงไหม้ทำให้กระเบื้องแตก เป็นต้น
  • ความเสียหายที่ถูกระเบิด เพื่อป้องกันมิให้ไฟลุกลามขยายตัวต่อไป
  • ความเสียหายที่เกิดจากควันไฟ หรือการถูกลนจนเกรียมด้วยความร้อนของไฟ
  • ความเสียหายที่เกิดจากสิ่งที่พังของกำแพง ตัวอาคาร หรือการหล่นลงมาของชิ้นส่วนอาคารที่ถูกเพลิงไหม้ เช่น เพลิงไหม้กำแพงข้างอาคารแล้วหล่นลงมาทับทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเสียหาย เป็นต้น
  • ทรัพย์สินสูญหายขณะเกิดเพลิงไหม้หรือหลังจากเกิดเพลิงไหม้

ส่วนภัยที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ได้แก่

  1. ความเสียหายซึ่งเกิดจากสงคราม การรุกราน การกระทำที่มุ่งร้ายของศัตรูต่างชาติ หรือการกระทำที่มุ่งร้ายคล้ายสงคราม ไม่ว่าจะมีการประกาศสงครามหรือไม่ก็ตาม หรือสงครามกลางเมือง การแข็งข้อ การกบฏ การจลาจล การนัดหยุดงาน การก่อความวุ่นวาย การกระทำของผู้ก่อการร้าย การปฏิวัติ การรัฐประหาร การประกาศกฎอัยการศึก หรือเหตุการณ์ใดๆ ซึ่งจะเป็นเหตุให้มีการประกาศหรือคงไว้ซึ่งกฎอัยการศึก
  2. ความเสียหายที่เป็นผลโดยตรง หรือโดยอ้อมจากสาเหตุดังนี้
    • การแผ่รังสี หรือการแพร่กัมมันตภาพรังสีจากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์หรือจากกากนิวเคลียร์ใด ๆ อันเนื่องมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงนิวเคลียร์
    • การระเบิดของกัมมันตรังสี หรือส่วนประกอบของนิวเคลียร์ หรือทรัพย์อันตรายอื่นใดที่อาจเกิดการระเบิดในกระบวนการนิวเคลียร์ได้
  3. ความเสียหายต่อทรัพย์สินซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่ผู้เอาประกันภัยสามารถเรียกร้องค่าเสียหายหรือมีสิทธิได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเล หรือกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่ง ยกเว้นความเสียหายส่วนเกินกว่าจำนวนเงิน ซึ่งจะได้รับการชดใช้จากกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวนั้น
  4. ความเสียหายต่อเนื่องใดๆ ทุกชนิด เว้นแต่การสูญเสียรายได้จากค่าเช่าที่ได้ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ว่าได้รับความคุ้มครอง
  5. ความเสียหายจากการเผาทรัพย์สิน โดยคำสั่งเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมาย

ขั้นตอนในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน

+

  1. ต้องแจ้งให้บริษัททราบทันที และต้องส่งหลักฐานและเอกสารให้บริษัทภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่เกิดความเสียหาย เว้นแต่ผู้เอาประกันภัยมีเหตุอันสมควรไม่อาจกระทำการดังกล่าวได้ภายในเวลาที่กำหนด โดยทำเป็นหนังสือ ด้วยค่าใช้จ่ายของผู้เอาประกันภัยเอง
  • คำเรียกร้องต้องทำเป็นหนังสือแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับความเสียหาย ซึ่งต้องแจ้งรายละเอียดของทรัพย์สินที่เสียหายและมูลค่าความเสียหายของทรัพย์สินนั้นโดยละเอียดเท่าที่จะทำได้ตามมูลค่าในเวลาเกิดความเสียหายซึ่งไม่ได้รวมกำไร
  • การประกันภัยอื่นๆ รวมทั้งการประกันภัยไว้กับบริษัทประกันภัยอื่นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินที่เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้
  1. ต้องแสดง หรือจัดหาพยานหลักฐานต่างๆ และรายการเพิ่มเติม เช่น แผนผัง รายการ สมุดบัญชี ใบสำคัญการบัญชี ใบกำกับสินค้า ต้นฉบับ คู่ฉบับ หรือสำเนาเอกสารนั้นๆ ข้อพิสูจน์และข้อความเกี่ยวกับการเรียกร้องและต้นเพลิง หรือสาเหตุที่ทำให้เกิดอัคคีภัย และพฤติการณ์ที่ทำให้เกิดความเสียหาย ตามที่บริษัทต้องการ ทั้งนี้ด้วยค่าใช้จ่ายของผู้เอาประกันภัยเอง
  2. จะต้องดำเนินการและยินยอมให้บริษัทหรือตัวแทนกระทำการใดๆ ที่เหมาะสมในการป้องกันความเสียหายอันอาจเพิ่มขึ้น บริษัทอาจไม่รับพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หากผู้เอาประกันภัยจงใจหรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเจตนาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้นแม้ว่าเพียงข้อหนึ่งข้อใดก็ตาม
  3. ต้องรักษาทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ถึงแม้หลังเกิดความเสียหายแล้วซากทรัพย์นั้นจะไม่มีมูลค่าเลยก็ตาม ผู้เอาประกันภัยก็ต้องรักษาซากทรัพย์นั้นไว้เพื่อเป็นหลักฐานแห่งความเสียหาย
การประกันอัคคีภัย   อ่านต่อ
องค์ประกอบเชิงวิศวกรรม และสถาปัตยกรรมในพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัย   อ่านต่อ
โปรแกรมตรวจสอบจำนวนเงินเอาประกันภัยทรัพย์สิน (อาคาร,สิ่งปลูกสร้าง)   อ่านต่อ