ธรรมาภิบาลและจริยธรรม
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ในฐานะหน่วยงานของรัฐ ที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลและส่งเสริมพัฒนาธุรกิจประกันภัยให้มีประสิทธิภาพ และคุ้มครองประชาชนให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากการประกันภัยอย่างครบถ้วน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของธรรมาภิบาล (Good Corporate Governance) เพื่อนำองค์กรไปสู่การเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งยังเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย รวมถึงจะต้องแสดงให้เห็นถึงการมีระบบการบริหารจัดการและการใช้อำนาจหน้าที่ด้วยความโปร่งใส น่าเชื่อถือ โดยได้อ้างอิงมาจากหลักธรรมาภิบาลตามมาตรฐานสากลขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development : OECD) และมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย (Insurance Core Principles : ICPs) ซึ่งกำหนดโดยสมาคมผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยนานาชาติ (International Association of Insurance Supervisors : IAIS)
ประกอบกับพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องมีมาตรฐานทางจริยธรรม เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และการจัดทำประมวลจริยธรรมของหน่วยงานของรัฐ เพื่อเป็นหลักในการปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เกี่ยวกับสภาพคุณงามความดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องยึดถือสำหรับการปฏิบัติงาน การตัดสินความถูกผิด การปฏิบัติที่ควรกระทำหรือไม่ควรกระทำ ตลอดจนการดำรงตนในการกระทำความดีและ ละเว้นความชั่ว ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งประกอบด้วย
(๑) ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(๒) ซื่อสัตย์สุจริตมีจิตสำนึกที่ดี และรับผิดชอบต่อหน้าที่
(๓) กล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม
(๔) คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว และมีจิตสาธารณะ
(๕) มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน
(๖) ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ
(๗) ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ
Attachment | Size |
---|---|
![]() | 632.05 KB |
![]() | 998.13 KB |