แนวทางธรรมาภิบาล ของสำนักงาน คปภ.
สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานของรัฐ ที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลและส่งเสริมพัฒนาธุรกิจประกันภัยให้มีประสิทธิภาพ และคุ้มครองประชาชนให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากการประกันภัยอย่างครบถ้วน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของธรรมาภิบาล (Good Corporate Governance) และการปฏิบัติตามแนวทางธรรมาภิบาลที่เป็นสากล เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่น โปร่งใส เป็นธรรมและความน่าเชื่อถือต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย และนำพาองค์กรไปสู่การเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน
แนวทางธรรมาภิบาลของสำนักงาน คปภ. ได้จัดทำขึ้นตามหลักการและแนวทางปฏิบัติที่ดีตามมาตรฐานสากล และมีความเข้มงวดไม่น้อยไปกว่ามาตรฐานธรรมาภิบาล ที่ได้กำหนดให้ผู้อยู่ใต้การกำกับดูแลถือปฏิบัติ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ คปภ. จากการประชุม ครั้งที่ ๖/๒๕๕๖ เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๖ และเพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการทบทวนและปรับปรุงแนวทางธรรมาภิบาล และแนวปฏิบัติตามธรรมาภิบาลสำหรับคณะกรรมการ คปภ. โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ คปภ. เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๙
หลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติตามธรรมาภิบาลสำหรับคณะกรรมการ คปภ.
ภายใต้แนวทางธรรมาภิบาลของสำนักงาน คปภ. ที่ประชุมคณะกรรมการ คปภ. เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๙ และวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๙ ได้ให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติตามธรรมาภิบาลสำหรับคณะกรรมการ คปภ. ฉบับปรับปรุงครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๕๙ จำนวน ๔ เรื่อง สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
๑. จรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของกรรมการในคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ให้เกิดความเที่ยงธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ ผดุงเกียรติ และศักดิ์ศรีอันควรแก่ความไว้วางใจ และเชื่อมั่นของประชาชน ตลอดจนดำรงตน ตั้งมั่นเป็นแบบอย่างที่ดีงาม อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเสริมสร้างระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี การกำหนดจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการฯ ได้อ้างอิงจากค่านิยมหลักของมาตรฐานจริยธรรมสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ๙ ประการ ที่กำหนดโดยสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และมีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับส่วนได้เสียของกรรมการที่พึงหลีกเลี่ยงการกระทำที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และมีกระบวนการและแนวทางปฏิบัติในกรณีมีส่วนได้เสียเพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ สนับสนุนให้เกิดความโปร่งใสและความอิสระในการตัดสินใจ
๒. แนวทางปฏิบัติการประชุมคณะกรรมการ คปภ. มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการประชุมสำหรับคณะกรรมการตามภารกิจในการกำกับและติดตามการดำเนินงานของสำนักงาน ครอบคลุมถึงการกำหนดตารางการประชุมล่วงหน้า ประชุมสม่ำเสมออย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง มีการจัดเตรียมระเบียบวาระการประชุมอย่างเหมาะสมทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ จัดส่งวาระการประชุมล่วงหน้า เพื่อให้กรรมการมีเวลาเพียงพอที่จะพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ รวมทั้งจัดทำรายงานการประชุมที่มีเนื้อหาสาระครบถ้วนและจัดเก็บด้วยความรัดกุม
๓. การรายงานเพื่อการจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเสริมสร้างระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ สนับสนุนให้เกิดความโปร่งใส และความเป็นอิสระในการตัดสินใจ รวมทั้งเป็นแบบอย่างที่ดีในการผลักดัน เสริมสร้างและปลูกฝังให้ทุกคนในองค์กรปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้องโดยยึดหลักธรรมาภิบาล เพื่อสร้างรากฐานและรักษาภาพลักษณ์ของสำนักงานให้เป็นองค์กรที่มีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และส่วนได้เสียที่ต้องรายงานเป็นไปตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการมีส่วนได้เสียของกรรมการในจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของกรรมการในคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
๔. การประเมินผลคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยวัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการปฏิบัติงานซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี นอกจากนี้ ยังเป็นข้อมูลสำหรับการปรับปรุงพัฒนาสำนักงาน คปภ. สำหรับหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินประกอบด้วย นโยบายคณะกรรมการ การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ โครงสร้างของคณะกรรมการ แนวปฏิบัติของคณะกรรมการ การจัดเตรียมและดำเนินการประชุมคณะกรรมการ และคุณลักษณะของกรรมการ
ฝ่ายพัฒนากลยุทธ์และบริหารยุทธศาสตร์ โทร. 0-2515-3995-9 ต่อ 8319, 8208