คปภ. ส่งมอบของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนอุ่นใจด้วยความคุ้มครองด้านประกันภัย • เปิดตัว 2 กรมธรรม์ใหม่ “ประกันภัยกลุ่มปีใหม่เที่ยวไทยปลอดภัย (ไมโครอินชัวรันส์) ระยะเวลา 30 วัน คุ้มครองอุบัติเหตุสูงสุด 100,000 บาท และ “ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยปีใหม่สุขใจบ้านปลอดภัย (ไมโครอินชัวรันส์)” ระยะเวลา 30 วัน คุ้มครองสูงสุด 30,000 บาท พร้อมจัดกิจกรรมต้นแบบ “ขึ้นเหนือ ล่องใต้ ไปอีสาน ไปทะเลตะวันตก” สแกน QR Code เพื่อลงทะเบียนรับกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มปีใหม่เที่ยวไทยปลอดภัย (ไมโครอินชัวรันส์) ฟรี..! ทั้งนี้หากมีปัญหาด้านประกันภัยช่วง 7 วันอันตราย สายด่วน คปภ. 1186 เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิด “โครงการรณรงค์ความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ประจำปี 2566” และงานแถลงข่าวเปิดตัว “กรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มปีใหม่เที่ยวไทยปลอดภัยและกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยปีใหม่สุขใจบ้านปลอดภัย (ไมโครอินชัวรันส์)” ณ อาคารสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง ชั้น 1-2 สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิด “รถพร้อม คนพร้อม ประกันพร้อม” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างกระแสให้เกิดการรับรู้ ปลูกฝังและกระตุ้นจิตสำนึกในการขับขี่และการโดยสารปลอดภัยในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว รวมถึงรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงให้กับชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เริ่มคลี่คลายมากขึ้นและเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตในวิถีถัดไป
(Next Normal) สำนักงาน คปภ. จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์เชิงรุกด้วยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในรูปแบบ Hybrid ทั้งการจัดงานในพื้นที่ (on-ground) และการจัดงานคู่ขนานในรูปแบบ online เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารได้อย่างทั่วถึง โดยมี ประธานสภาธุรกิจประกันภัยไทย นายกสมาคมประกันชีวิตไทย นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน นายกสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย นายกสมาคมการค้าผู้สำรวจภัยไทย ผู้แทนจากสมาคมประกันวินาศภัยไทย ผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ร่วมเปิดโครงการฯ โดยมีสำนักงาน คปภ. ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ รวมถึงภาคธุรกิจประกันภัยและประชาชน เข้าร่วมการจัดกิจกรรมรณรงค์ความปลอดภัยทางถนนพร้อมกันทั่วประเทศ ผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ PR OIC
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวเปิดโครงการ ในตอนหนึ่งว่า สำนักงาน คปภ. ในฐานะเป็นหนึ่งในคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ซึ่งได้บูรณาการการทำงานเชิงรุกโดยร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนมาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการขับขี่ ร่วมกับสำนักงาน คปภ. ภาค สำนักงาน คปภ. จังหวัด ทั่วประเทศ รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจประกันภัย และในปีนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการในหลายส่วนเพื่อร่วมรณรงค์ความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยมีกิจกรรมสำคัญ ๆ อาทิ กิจกรรมแถลงข่าวความร่วมมือระหว่างสำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัยในการขับเคลื่อนการรณรงค์ความปลอดภัยทางถนนตามนโยบายรัฐบาล ในรูปแบบ Hybrid (Online & On-ground) กิจกรรมมอบของสนับสนุนโครงการความปลอดภัยทางถนนของภาคอุตสาหกรรมประกันภัยเพื่อสาธารณประโยชน์ ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้รับความร่วมมือจากบริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัยร่วมรณรงค์โครงการ เพื่อให้องค์กรเครือข่ายหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้นำไปใช้ประกอบการจัดกิจกรรมให้เกิดประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและการเปลี่ยนหลอดไฟสำหรับรถจักรยานยนต์ ณ สำนักงาน คปภ. ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนในการร่วมสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว รวมทั้งกิจกรรมการให้บริการประชาชนด้านการประกันภัยตลอด 24 ชั่วโมง ในช่วง
7 วัน อันตราย (ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2565 - 4 มกราคม 2566) ผ่านช่องทางสายด่วน คปภ. 1186 รวมทั้งการแถลงข่าวเปิดตัว “กรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มปีใหม่เที่ยวไทยปลอดภัย และกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยปีใหม่สุขใจ บ้านปลอดภัย (ไมโครอินชัวรันส์)” ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยดังกล่าวให้มีความพิเศษกว่าทุก ๆ ปี เพื่อให้ครอบคลุมทั้งการเดินทางและที่อยู่อาศัย และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนมากที่สุด
โดยกรมธรรม์แรก คือ กรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มปีใหม่เที่ยวไทยปลอดภัย (ไมโครอินชัวรันส์) ความคุ้มครองหลัก ได้แก่ กรณีเสียชีวิต สูญเสียมือ เท้า สูญเสียสายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง เนื่องจากอุบัติเหตุ ไม่รวมการถูกฆาตกรรมลอบทำร้ายร่างกายและ/หรือ อุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท กรณีเสียชีวิต สูญเสียมือ เท้า สูญเสียสายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จากการถูกฆาตกรรมลอบทำร้ายร่างกาย และ/หรืออุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จำนวนเงินเอาประกันภัย 50,000 บาท ในส่วนของผลประโยชน์ค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย (ยกเว้นกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 14 วันแรก นับจากวันเริ่มต้นระยะเวลาประกันภัย) จำนวนเงินเอาประกันภัย 5,000 บาท สำหรับผลประโยชน์ค่ารักษาพยาบาลเนื่องจากอุบัติเหตุตามจำนวนที่จ่ายจริง ไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการจ้างพยาบาลพิเศษ อุปกรณ์ค้ำยันต่าง ๆ (ยกเว้นไม้ค้ำยัน) รถเข็นผู้ป่วยอวัยวะเทียมภายนอกร่างกาย ค่ารักษาพยาบาลโดยแพทย์ทางเลือก (Alternative medicine) การฝังเข็ม จำนวนเงินเอาประกันภัย 5,000 บาท
กรมธรรม์ที่สอง คือ กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยปีใหม่สุขใจบ้านปลอดภัย (ไมโครอินชัวรันส์) มีรายละเอียดความคุ้มครอง ได้แก่ กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายจาก ไฟไหม้ /ฟ้าผ่า/ระเบิด ความคุ้มครองขึ้นอยู่กับสิ่งปลูกสร้าง ได้แก่ สิ่งปลูกสร้างเป็นคอนกรีต (มีผนังก่ออิฐถือปูนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ผนังทั้งหมด) ได้รับความคุ้มครอง 30,000 บาท สิ่งปลูกสร้างเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ (มีผนังก่ออิฐถือปูน ร้อยละ 50 - 80 ของพื้นที่ผนังทั้งหมด) ได้รับความคุ้มครอง 15,000 บาท สิ่งปลูกสร้างเป็นอาคารที่ไม่ใช่ตึกหรือครึ่งตึกครึ่งไม้และไม่เป็นห้องแถวไม้ (มีผนังเป็นวัสดุอื่น ๆ เช่น ไม้ สังกะสี กระเบื้องแผ่นเรียบมากกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ผนังทั้งหมด) ได้รับความคุ้มครอง 10,000 บาท สิ่งปลูกสร้างเป็นห้องแถวไม้ ได้รับความคุ้มครอง 5,000 บาท กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายจาก ลมพายุ /น้ำท่วม/แผ่นดินไหว/ภูเขาไฟระเบิด/คลื่นใต้น้ำ/สึนามิ/ลูกเห็บ ทุกภัยรวมกันได้รับความคุ้มครองไม่เกิน 1,000 บาท การขยายความคุ้มครองค่าเช่าที่อยู่อาศัยชั่วคราว จำนวนเงินไม่เกินวันละ 300 บาท และรวมแล้วไม่เกิน 30 วัน ตลอดระยะเวลาเอาประกันภัย รวมทั้ง การประกันภัยโจรกรรม คุ้มครองการลักทรัพย์ที่ปรากฏร่องรอยงัดแงะ การชิงทรัพย์ การปล้นทรัพย์
ที่อยู่อาศัยปัจจุบันของผู้เอาประกันภัย ความเสียหายต่อทรัพย์สินภายในสิ่งปลูกสร้างที่ระบุร่องรอย ความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้างและ/หรือค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนล็อคประตูหน้าต่าง จำนวนเงินเอาประกันภัยไม่เกิน 5,000 บาท
โดยกรมธรรม์ทั้ง 2 ประเภท เป็นกรมธรรม์ที่มีระยะเวลาความคุ้มครอง 30 วัน ผู้เอาประกันภัยต้องมีอายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์ ถึง 70 ปีบริบูรณ์ ณ วันที่ทำประกันภัย ทั้งนี้ ผู้เอาประกันภัยแต่ละรายมีสิทธิได้รับกรมธรรม์ประกันภัยจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 1 กรมธรรม์ต่อผู้ประกอบการ 1 ราย เท่านั้น ผู้สนใจสามารถรับสิทธิ ได้จากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ซึ่งได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 หรือท่านสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.oic.or.th สายด่วน คปภ. 1186 และ Line Official : @oicconnect
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า การจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยทั้ง 2 ประเภทในช่วงเทศกาลปีใหม่ ถือเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนคนไทย โดยได้นำผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีราคาถูกมาพัฒนาต่อยอด เพื่อขยายฐานการประกันภัยให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น โดยสำนักงาน คปภ. ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ในการส่งเสริมให้ทำประกันภัยรายย่อยอย่างแพร่หลายและขยายตัวในวงกว้าง โดยจัดทำ 3 กิจกรรมต้นแบบเพื่อนำร่องในปีนี้ ได้แก่ กิจกรรมต้นแบบแรก ไม่ว่าจะขึ้นเหนือ ล่องใต้ ไปอีสาน ไปทะเลตะวันตก ประชาชนที่เดินทางไปพักโรงแรม/ที่พักในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น และชลบุรี สามารถสแกน QR Code เพื่อลงทะเบียนรับกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มปีใหม่เที่ยวไทยปลอดภัย (ไมโครอินชัวรันส์) ได้ฟรี กิจกรรมต้นแบบที่ 2 สำนักงาน คปภ. ภาค 1 (เชียงใหม่) ประสานงานผู้ประกอบการในพื้นที่มอบกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มปีใหม่เที่ยวไทยปลอดภัย (ไมโครอินชัวรันส์) ฟรี ให้กับนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยว เช่น ฟินิกซ์ แอดเวนเจอร์ พาร์ค, โป่งแยง จังเกิ้ล, โคสเตอร์&ซิปไลน์, ปางช้างแม่แตง อุทยานหลวงราชพฤกษ์, สวนสัตว์เชียงใหม่ และเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เป็นต้น
กิจกรรมต้นแบบที่ 3 สำนักงาน คปภ. ร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มอบกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มปีใหม่เที่ยวไทยปลอดภัย (ไมโครอินชัวรันส์) ฟรี ให้กับ เศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) เพื่อเป็นต้นแบบของผู้แทนเกษตรกรที่ใช้ระบบการประกันภัยในการบริหารความเสี่ยงให้กับตนเอง ครอบครัว และเกษตรกรรม สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ในปีนี้มีหลากหลายธุรกิจ เช่น ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ร้านกาแฟ ปั้มน้ำมัน และบริษัทนายหน้าประกันภัยนิติบุคคล เป็นต้น ที่มีสถานบริการเครือข่ายทั่วประเทศ โดยมีจำนวนลูกค้ารวมทุกผู้ประกอบการมากกว่า 50 ล้านคน
“ผมขอส่งความห่วงใยและความปรารถนาดีไปยังพี่น้องประชาชนทุกคน ขอให้เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือเดินทางเพื่อท่องเที่ยว ด้วยความปลอดภัย และก่อนออกจากบ้านอย่าลืมตรวจความพร้อมของสภาพร่างกาย ตรวจความพร้อมของสภาพรถ ตรวจความพร้อมของประกันภัย พ.ร.บ. และประกันภาคภัยสมัครใจ เพื่อความอุ่นใจในการเดินทาง และขอฝากให้พี่น้องประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัดโดยขับขี่รถด้วยความไม่ประมาท คาดเข็มขัดนิรภัยหรือสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง ทั้งนี้ หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดในระหว่างการเดินทางในช่วง 7 วันอันตราย สำนักงาน คปภ. ได้เปิดให้บริการรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการประกันภัยตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านช่องทางสายด่วน คปภ. 1186 ช่องทางไลน์ Official @oicconnect และช่องทางเว็บไซต์สำนักงาน คปภ. www.oic.or.th” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
เลขาธิการ คปภ. นำคณะผู้บริหาร สำนักงาน คปภ. ทูลเกล้าฯถวายแจกันดอกไม้และลงนามถวายพระพร
คปภ. เพิ่มภูมิคุ้มกันความเสี่ยงให้ผู้ประกอบการ SMEs นำร่องลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
รายชื่อผู้เข้ารับการอบรมโครงการส่งเสริมให้ความรู้ด้านการประกันภัยแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ในหัวข้อ "ประกันภัยถูกทาง สร้างเกราะให้ SME"
วันอังคารที่ 13 ธันวาคม 2565 เวลา 08.30 - 16.00 น.
ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ท จังหวัดภูเก็ต
ไทยประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม
สำนักงาน คปภ. ก้าวสู่ผู้นำการให้บริการดิจิทัลภาครัฐ คว้ารางวัลในงานรัฐบาลดิจิทัล ประจำปี 2565 “DG Awards 2022” ประเภท “หน่วยงานคุณภาพด้านการใช้ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data Governance)” ด้วยคะแนนรวมจัดอยู่ในกลุ่ม Very High
คปภ. เปิดเวทีสัมมนาวิชาการด้านประกันภัย “Thailand Insurance Symposium 2022” • ชูผลงานทางวิชาการเรื่อง “ประกันภัยและการบริหารความเสี่ยงด้านไซเบอร์ของหน่วยงานภาครัฐ” เป็นผลงานดีเด่นแห่งปี เผยเล็งนำไปต่อยอดเพื่อขยายผลในทางปฏิบัติต่อไป
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดเวทีสัมมนาวิชาการด้านการประกันภัย ประจำปี พ.ศ. 2565 หรือ “Thailand Insurance Symposium 2022” ภายใต้แนวคิด “Thai Insurance Industry at Crossroads: Digitalization, Cyber Risk and Sustainable Growth” จัดโดยสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงาน คปภ. เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งจัดในรูปแบบ hybrid มีผู้เข้าร่วมประชุม ณ ห้องเลอ คองคอร์ด บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพฯ รัชดา คู่ขนานกับผู้เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ online โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการประกันภัย ผลิตภัณฑ์ประกันภัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ตลอดถึงการบริหารความเสี่ยงต่าง ๆ จากสภาวการณ์ของธุรกิจประกันภัยในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ซึ่งในการสัมมนามีการนำเสนอผลงานทางวิชาการที่ได้รับรางวัลของนักศึกษาหลักสูตร วปส. 10 และการบรรยายจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิชั้นนำจากหลากหลายวงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ และให้ข้อเสนอแนะระหว่างกัน เพื่อสร้างสรรค์ความร่วมมือและนำองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยและประยุกต์ใช้ในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับบริบทโลกที่ท้าทายภายใต้ความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ไม่ว่า ด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด การเชื่อมต่อฐานข้อมูลในโลกไร้พรมแดน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติ และความเสี่ยงอุบัติใหม่ (Emerging Risks) ก่อนหน้านี้คำว่า VUCA WORLD ถูกพูดถึงอย่างมาก แต่โลกหลังวิกฤติโควิด-19 เรากำลังเข้าสู่ยุค BANI WORLD ซึ่งเป็นมากว่า “สถานการณ์” ผันผวน,ไม่แน่นอน,ซับซ้อน,คลุมเครือ ที่ถูกพูดถึงใน VUCA แต่จะเป็นการมองไปถึง “ผลกระทบด้านอารมณ์ของคน" ด้วย BANI WORLD ประกอบด้วย B คือ Brittle เปรียบเสมือนโลกที่เปราะบาง ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นและหายไปอย่างรวดเร็ว สิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีหรือรูปแบบการดำเนินธุรกิจอาจถูก Disrupt ได้ตลอดเวลา A คือ Anxious เปรียบเสมือนโลกที่เต็มไปด้วยความกังวล อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความกังวลตลอดไป แม้จะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตัดสินใจก็ตาม N คือ Nonlinear เป็นโลกที่ความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นเส้นตรง ในขณะที่โลกดำเนินไปจะมีปัจจัยแทรกซ้อนหรือสถานการณ์อื่น ๆ เข้ามาส่งผลกระทบแบบที่เราไม่รู้มาก่อน การคาดเดาจึงเกิดขึ้นได้ยาก เราจึงไม่สามารถมองเห็นแนวโน้มที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ และ I คือ Incomprehensible เป็นโลกที่เข้าใจได้ยาก ทุกสิ่งทุกอย่างจะไม่มีความชัดเจน อาจต้องใช้สัญชาตญาณช่วยในการหาคำตอบและทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ BANI World จึงเปรียบเสมือนเป็นการรวบรวมเอา VUCA World, Digital Disruption, สังคมสูงวัย และโรคอุบัติใหม่ ๆ เข้ามาไว้รวมกัน จนทำให้โลกของเราเป็นโลกที่เปราะบาง เต็มไปด้วยความกังวล เข้าใจได้ยาก และไม่สามารถคาดการณ์ได้ เราจะอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไร นั่นเป็นคำถามที่เราจะต้องหาคำตอบไปด้วยกัน และสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบประกันภัยเป็นกลไกในการบริหารความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบ และเป็นเหตุผลที่ธุรกิจประกันภัยอยู่บนทางแยกที่จะต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับความเสี่ยงใหม่นี้
สำหรับผลงานทางวิชาการของนักศึกษาหลักสูตร วปส. 10 ที่มีการนำเสนอในเวทีสัมมนาวิชาการครั้งนี้ คือ ผลงานที่ได้รับรางวัลระดับ “ดีเด่น” เรื่อง แนวทางการทำประกันภัยและการบริหารความเสี่ยงด้านไซเบอร์ของหน่วยงานภาครัฐ โดยผู้นำเสนอ คือ คุณกฤดา กฤติยาโชติปกรณ์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการสอบบัญชีภาษีอากร กรมสรรพากร และได้รับเกียรติจาก ดร.ปิยวดี โขวิฑูรกิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สายงานบริหารความเสี่ยงและการปฏิบัติตามกฎหมาย บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้วิพากษ์ผลงาน
นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลงานที่ได้รับรางวัลระดับ “ดี” โดยผู้นำเสนอ คือ คุณกฤตยา รามโกมุท ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารกิจการทั่วไป บริษัท โกลบอลเทคโนโลยี อินทิเกรเทด จำกัด, คุณนัทธกัญญ์ แซ่ก้วย ผู้อำนวยการอาวุโสเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ คุณทวีพงษ์ เกียรติธนะบำรุง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไพศาลกิจ (1995) จำกัด เรื่อง การพัฒนา Digital Game เพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านการประกันชีวิตให้กับประชาชน ซึ่งได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ณดา จันทร์สม อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นผู้วิพากษ์ผลงาน
ส่วนผลงานที่ได้รับรางวัลระดับ “ชมเชย” มี 2 รางวัล ได้แก่ เรื่อง การศึกษากระบวนการที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยใช้ผลิตภัณฑ์ประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ-จ่าย-จบเป็นกรณีศึกษา” และเรื่อง “ผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อเตรียมความพร้อมคนไทยสู่สังคมสูงวัย (Silver Smile) ซึ่งในโอกาสนี้ ได้มีการมอบรางวัลผลงานวิชาการทั้ง 4 รางวัลด้วย
นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยซึ่งเป็นผู้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงาน คปภ. ภายใต้โครงการ “โครงการ InsurTech แพลตฟอร์มส่งเสริมและตรวจสอบการซื้อขายการประกันภัยเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน” โดย ผศ.ดร.ณัฐกรณ์ ผิวชื่น มหาวิทยาลัยมหิดล โดยงานวิจัยดังกล่าว จะเป็นการสร้างนวัตกรรมแอปพลิเคชัน “คปภ. เคียงข้าง” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มส่งเสริมและตรวจสอบการซื้อขายประกันภัยเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน โดยตรวจสอบคำพูดระหว่างการซื้อขายกรมธรรม์ประกันภัยว่ามีแนวโน้มกระทำผิดกฎหมายหรือผิดจรรยาบรรณหรือไม่ ทั้งในกรณีผ่านระบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค เปรียบเสมือนมี คปภ. อยู่เคียงข้าง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาแอปพลิเคชัน โดยหวังว่างานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและอุตสาหกรรมประกันภัย ในขณะเดียวกันผลงานชิ้นนี้ยังมีความสอดคล้องและต่อยอดกับสิ่งที่สำนักงาน คปภ. กำลังดำเนินการเกี่ยวกับระบบรายงานพฤติกรรมการฉ้อฉลประกันภัย เพื่อให้เชื่อมกับฐานข้อมูลกลางด้านการประกันภัย (IBS) และเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ โดยจะนำ AI มาใช้ในการวิเคราะห์ ติดตาม และตรวจจับพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉล เพื่อดำเนินการกับกลุ่มมิจฉาชีพได้อย่างทันท่วงทีและลดโอกาสเกิดการฉ้อฉลประกันภัย
สำหรับการบรรยายพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิภายในประเทศและวิทยากรต่างประเทศ ได้แก่ หัวข้อ “Initiative to Promote Cyber Insurance Case Study of the Philippines” โดย Mr. Alexander Reyes, Ex-senior Vice President, National Reinsurance Corporation of the Philippines (NatRe) หัวข้อ “ESG recent development in Insurance Sector & What does matter to us here?” โดย Mr.Johann Dutoit, Chief Investment Officer, AIA Thailand และ Mr.Duncan Lee, Director, Investment Environmental, Social & Governance, Group Investment, AIA Group และ หัวข้อ “Insurance Reimagined by Showcasing Transformation with Digital Technologies” โดยคุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์, กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และ คุณวิไลพร ทวีลาภพันทอง, หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษาและหัวหน้ากลุ่มธุรกิจ บริการทางการเงิน บริษัท PwC (ประเทศไทย) จำกัด
“การจัดงานสัมมนาวิชาการด้านการประกันภัย ประจำปี พ.ศ. 2565 หรือ “Thailand Insurance Symposium 2022” ในครั้งนี้มีความโดดเด่นกว่าปีก่อน ๆ เนื่องจากหัวข้อที่มีการนำเสนอเป็นประเด็นที่ร่วมสมัย และสอดคล้องกับบริบทใหม่ของระบบประกันภัยของไทยที่จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมในการรองรับความเสี่ยงที่อุบัติใหม่ และเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาทั้งจากภาคธุรกิจประกันภัย ภาคธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ และภาคธุรกิจอื่น แลกเปลี่ยนมุมมองและเชื่อมต่อการทำงานผ่านการสร้างพันธมิตรในการประกอบธุรกิจซึ่งกันและกัน อันจะส่งผลให้เกิดการเติบโตแบบยั่งยืนของธุรกิจประกันภัยและเศรษฐกิจของประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันทั้งในภาคส่วนธุรกิจประกันภัยและธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกันนี้ต้องขอแสดงความยินดีกับผลงานวิชาการที่ได้รับรางวัลซึ่งจะมีการนำไปต่อยอดขยายผลในทางปฏิบัติต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
สำนักงาน คปภ. ได้รับสมัครบุคคลภายนอกเข้ารับการอบรมหลักสูตรสำหรับผู้ประสงค์จะสมัครขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้ชำนาญการ (บุคคลภายนอก) เพื่อทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัย ตามระเบียบสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัย พ.ศ. 2559 และคัดเลือกผู้เข้ารับการอบรมที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและได้รับคะแนนสูงสุดใน 80 ลำดับแรก เมื่อนำคะแนนทดสอบและสอบสัมภาษณ์มารวมกัน เพื่อขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้ชำนาญการเพื่อทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยแทนทะเบียนรายชื่อเดิม จึงประกาศทะเบียนรายชื่อผู้ชำนาญการ (บุคคลภายนอก) เพื่อทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัย จำนวน 80 ราย (เรียงลำดับตามตัวอักษร) ตามรายชื่อแนบท้ายประกาศนี้
เลขาธิการ คปภ. กำหนดเข็มทิศ 9 มาตรการ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยปี 2566