ข่าว

รับสมัครลูกจ้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จำนวน 2 อัตรา (ด้านกฎหมาย และด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย)

รับสมัครบุคคลภายนอกเพื่อช่วยปฏิบัติงานสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ประจำปี ๒๕๖๕ จำนวน ๑๐ อัตรา

ประกาศรับสมัครงาน

คปภ. เปิดเกมรุกใหม่นำระบบประกันภัยให้ความคุ้มครองในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ผนึกพลัง “สกพอ.-หอการค้าไทย-สภาอุตสาหกรรม” ลงนาม MoU เติมเต็มองค์ความรู้ ด้านประกันภัยแบบครบวงจร

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
18 March 2566

คปภ. เปิดเกมรุกใหม่นำระบบประกันภัยให้ความคุ้มครองในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ผนึกพลัง “สกพอ.-หอการค้าไทย-สภาอุตสาหกรรม” ลงนาม MoU เติมเต็มองค์ความรู้ ด้านประกันภัยแบบครบวงจร

 

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) พร้อมด้วย ดร.ธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ปฏิบัติการแทนเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นายปรัชญา สมะลาภา รองประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย ดร.สาโรจน์ วสุวานิช ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) เรื่องการบูรณาการองค์ความรู้และการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านประกันภัยในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ระหว่าง 4 หน่วยงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก โดยได้รับเกียรติจาก นายนิติ วิวัฒน์วานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี คณะผู้บริหารระดับสูงของทั้ง 4 หน่วยงาน นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายสุนทร ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 ประธานหอการค้าจังหวัด ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ EEC (ชลบุรี ระยอง และ ฉะเชิงเทรา) ผู้บริหารภาครัฐและเอกชน รวมถึงสื่อมวลชนร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ศูนย์ปฏิบัติการโรงแรมเทาทอง มหาวิทยาลัยบูรพา อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี 

 

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ระหว่าง 4 หน่วยงาน ในครั้งนี้เกิดจากสำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการโครงการและกิจกรรมที่เกี่ยวกับนโยบาย EEC ไปก่อนหน้านี้ อาทิ 

การจัดทำโครงการประเมินโอกาสและศักยภาพของอุตสาหกรรมประกันภัยจากโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นโครงการนำร่อง Pilot Project เพื่อศึกษาโอกาสที่ธุรกิจประกันภัยไทยจะเข้าไปรองรับความต้องการและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกการทำประกันภัยของกลุ่มธุรกิจและผู้บริโภค รวมทั้งได้มีการจัดอบรมสัมมนาเรื่อง โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับโอกาสของธุรกิจประกันภัย เพื่อเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมประกันภัยไทยในการให้บริการ สร้าง Value Proposition และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่กลุ่มธุรกิจและประชาชน ตลอดจนการตั้งศูนย์ EEC สำนักงาน คปภ. ภาค 6 (ชลบุรี) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (InsurEEC) โดยศูนย์ดังกล่าวมีคณะทำงานบูรณาการด้านประกันภัย ซึ่งได้เข้าร่วมประชุมสภาอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ EEC ในฐานะที่ปรึกษาเพื่อให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมิติด้านประกันภัยและนำเสนอรูปแบบการประกันภัยที่เหมาะสมและสอดคล้องกับลักษณะความเสี่ยงของการประกอบธุรกิจ และการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนในพื้นที่ EEC ผ่านการบริหารจัดการความเสี่ยงและลดภาระด้านการเงิน พร้อมทั้งสร้างความยั่งยืนให้ผู้ประกอบการและสภาพแวดล้อมรอบข้างโดยให้ระบบประกันภัยเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการ EEC ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยในอนาคต 

 

ทั้งนี้ จากการที่สำนักงาน คปภ. ได้จัดทำ Pilot Project โครงการประเมินโอกาสและศักยภาพของอุตสาหกรรมประกันภัยจากโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อศึกษาโอกาสที่ธุรกิจประกันภัยไทยจะเข้าไปรองรับความต้องการและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกการทำประกันภัยของกลุ่มธุรกิจและผู้บริโภค พบว่า ผลประมาณการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) (ปี 2563-2580) ที่มีการลงทุนของภาครัฐ และส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญทางเศรษฐกิจที่ช่วยให้ภาคธุรกิจประกันภัยเติบโตมากขึ้น โดยจะมีการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งภาคสาธารณะ อาทิ โครงข่ายระบบราง ท่าเรือ รวมถึงภาคเอกชน เช่น อาคารสำนักงาน โรงงาน เป็นต้น และการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ อาทิ การซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์ อีกทั้งยังทำให้เกิดการจ้างงานจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุปสงค์ต่อการประกันวินาศภัยเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ นโยบาย EEC ยังมีผลทางอ้อมที่ทำให้เศรษฐกิจพัฒนาและเติบโตมากขึ้น และประชากรมีระดับรายได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อุปสงค์ของทั้งการประกันชีวิตและประกันวินาศภัยเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.5 ต่อปี และมีมูลค่า 2.0 ล้านล้านบาท ในปี 2580 โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์การประกันวินาศภัยจะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10.4 ต่อปี และการประกันชีวิตที่มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงเติบโตเป็นร้อยละ 4.3 ต่อปี โดยคาดการณ์ความต้องการของกลุ่มผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัย ได้แก่ การประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิดและการประกันภัยทรัพย์สิน ร้อยละ 15.5 ต่อปี และการประกันภัยอุบัติเหตุ ร้อยละ 12.9 ต่อปี การประกันอัคคีภัย ร้อยละ 4.8 ต่อปี การประกันภัยรถยนต์ ร้อยละ 4.7 ต่อปี การประกันภัยสุขภาพร้อยละ 3.4 ต่อปี และการประกันภัยทางทะเลและขนส่ง 3.1 ต่อปี ส่วนความต้องการผลิตภัณฑ์ประกันภัยของอุตสาหกรรม S-Curve ที่มีเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมการบินและขนส่ง และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อาทิ กลุ่ม Digital Group มีความต้องการความคุ้มครองใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น อาทิ ความบกพร่องของ AI, Cyber Attack และความเสียหายจากผู้ผลิตชิ้นส่วนสำหรับ Automation & Robotics เป็นต้น กลุ่ม BIO Group มีความต้องการความคุ้มครองใหม่ ๆ อาทิ ความเสียหายหรือแพ้จากการใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ความผิดพลาดจากการปนเปื้อน ผลเสียของการใช้สารเคมีที่มีอันตราย และความเสียหายจากห้องแล็บ Clinical Trial  กลุ่ม Tourism & Wellness Group มีความต้องการความคุ้มครองใหม่ ๆ อาทิ การคุ้มครองการเดินทางเพื่อพักผ่อนแบบ luxurious ความผิดพลาดจากการรักษา ความผิดพลาดของภัตตาคารและผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว ความผิดพลาดจากการใช้เทคโนโลยีเกี่ยวกับการแพทย์ ความคุ้มครองความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนใหม่ และความคุ้มครองจากการดำเนินงาน เป็นต้น ในขณะเดียวกันความต้องการผลิตภัณฑ์ประกันภัยของผู้บริโภค ภายหลังจากมีโครงการ EEC มีความต้องการทำประกันภัยสุขภาพเพิ่มขึ้น ตามด้วยการประกันภัยรถยนต์ การประกันภัยอุบัติเหตุ การประกันอัคคีภัยบ้าน และการประกันชีวิต   ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อต่อยอดโครงการและกิจกรรมที่ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยพิธีลงนามดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงาน ซึ่งนับเป็นก้าวแรกของความร่วมมือเชิง Collaboration โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการประสานความร่วมมือและจัดให้มีกลไกที่ทั้ง 4 หน่วยงานจะสามารถปฏิบัติร่วมกันได้ในการเสริมสร้างองค์ความรู้ การแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลและนโยบาย รวมถึงประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการความเสี่ยง ด้วยระบบประกันภัยอย่างยั่งยืน 

 

 

สำหรับกรอบแนวทางความร่วมมือที่ทั้ง 4 หน่วยงาน จะขับเคลื่อนร่วมกันมี 4 ด้านหลัก ๆ คือ ด้านแรก เกี่ยวกับงานวิชาการ โดยจะมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลทางวิชาการ ด้านที่ 2 เป็นการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย ด้านที่ 3 การประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านประกันภัยและด้านที่เกี่ยวข้องผ่านสื่อต่าง ๆ และด้านที่ 4 เป็นการจัดกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม รวมถึงประชาชนในเขตพื้นที่ EEC เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อบรรเทาความสูญเสียหรือความเสียหาย ซึ่งจะช่วยให้การประกอบธุรกิจสามารถดำเนินการไปด้วยความราบรื่น และช่วยเสริมศักยภาพรวมถึงขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

 

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า สำนักงาน คปภ. ได้กำหนดแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 4 (พ.ศ.2564-2568) โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่ให้ระบบประกันภัยมีบทบาทในการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน โดยใช้แนวทางการผลักดันให้นำประกันภัยไปใช้ในการบริหารความเสี่ยงของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐมากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น การลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทที่อยู่ในพื้นที่ EEC โดยสำนักงาน คปภ. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนของบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยให้สามารถลงทุนในหน่วยลงทุนที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน โดยขยายสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนดังกล่าวจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 30 ของสินทรัพย์ลงทุน เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอีกด้วย

การลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงานในครั้งนี้ทำให้เกิดการ Collaboration ที่เป็นรูปธรรมอย่างครบวงจร ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทุกภาคส่วนจะได้ร่วมกันให้ระบบประกันภัยเข้ามามีส่วนในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศและสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนได้แบบยั่งยืนอย่างแท้จริงเลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

หมวดหมู่ข่าว: 

“สำนักงาน คปภ. – กรมการปกครอง” บูรณาการทำงานเชิงรุกร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนทำประกันภัย พ.ร.บ. ทั่วประเทศ

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
17 March 2566

“สำนักงาน คปภ. – กรมการปกครอง” บูรณาการทำงานเชิงรุกร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนทำประกันภัย พ.ร.บ. ทั่วประเทศ

 

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ฝ่ายความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมการปกครอง ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU)ว่าด้วยการบูรณาการส่งเสริมความรู้การประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ระหว่างกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) โดยมีคณะผู้บริหารของทั้งสองหน่วยงานและสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง ชั้น 2 สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ

 

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างสำนักงาน คปภ. และ กรมการปกครอง ในครั้งนี้ มีความประสงค์หลัก ๆ คือ การประสานความร่วมมือเพื่อรณรงค์และให้การสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ในการส่งเสริมการจัดทำประกันภัย และการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการประกันภัย พ.ร.บ. และการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูล และแผนการปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงาน โดยใช้กลไกของหน่วยงานระดับพื้นที่ในส่วนภูมิภาค ร่วมกันขับเคลื่อนและรณรงค์ให้ประชาชนเจ้าของรถตระหนักถึงความสำคัญ ในการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. และรับรู้ถึงหน้าที่และสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. อย่างทั่วถึงและมีการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการนำระบบประกันภัยเข้าไป เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ จากการรวบรวมสถิติข้อมูลรถจดทะเบียนสะสมของกรมการขนส่งทางบก และข้อมูลการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. ที่มีผลใช้บังคับ ในปี 2565 พบว่า การจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. สำหรับรถยนต์ มีสัดส่วนร้อยละ 90 ส่วนการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. สำหรับรถจักรยานยนต์ มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 64 ซึ่งถือเป็นอัตราส่วนที่ต่ำ ดังนั้นเมื่อมีประชาชนไม่จัดทำประกันภัย พ.ร.บ. เป็นจำนวนมาก ย่อมส่งผลให้ประชาชนเสียสิทธิประโยชน์ในการได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ด้วยเช่นกัน โดยผู้ประสบภัยจากรถที่ไม่ได้ทำประกันภัย พ.ร.บ. ก็จะมาขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน คปภ. ที่มีภารกิจในการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถที่ไม่ได้รับความคุ้มครองจากการประกันภัย พ.ร.บ. ซึ่งปัจจุบันกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยมีแนวโน้มการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นที่เพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2565 กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถเป็นจำนวน 8,024 ราย รวมเป็นจำนวนเงินกว่า 157 ล้านบาท 

 

นอกจากนี้ ในการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย พบว่า จะมีการเรียกร้องจากกรณี รถไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. กว่าร้อยละ 80 ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการบูรณาการร่วมกับกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย ในครั้งนี้  ซึ่งกรมการปกครองมีบุคลากรเป็นจำนวนมากที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนทุกภูมิภาค ทั่วประเทศ รวมถึงให้การสนับสนุน ส่งเสริม อำนวยความสะดวก และอบรมชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจถึงสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานที่มีส่วนช่วยให้การใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนได้รับความคุ้มครองและมีความปลอดภัย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับภารกิจของสำนักงาน คปภ. โดยเฉพาะการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านประกันภัย พ.ร.บ. ให้แก่ประชาชนอย่างถูกต้อง ครบถ้วนและทั่วถึง

 

ด้าน นายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ฝ่ายความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การลงนามในบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตหมายอันดีในการเริ่มต้นความร่วมมือและการบูรณาการระหว่างกรมการปกครอง และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย โดยที่ผ่านมากรมการปกครองตระหนักและให้ความสำคัญกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุจาการใช้รถใช้ถนนของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และสอดรับกับภารกิจของกรมการปกครองในการประสานความร่วมมือกับ สำนักงาน คปภ. เพื่อให้การสนับสนุน อำนวยความสะดวกด้านการเชื่อมโยงข้อมูลงานด้านทะเบียนราษฎร และใช้กลไกหน่วยงานปกครองในระดับพื้นที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน เป็นต้น ในการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการประกันภัย พ.ร.บ. และให้บุคลากรของหน่วยงานปกครองในระดับพื้นที่เข้ารับการอบรมเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการประกันภัย พ.ร.บ. ตลอดจนมีการสำรวจการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. ของรถในพื้นที่ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเจ้าของรถทุกคันตระหนักถึงความสำคัญในการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. และรับรู้ถึงหน้าที่และสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. อย่างทั่วถึง รวมถึงรณรงค์เพื่อให้ประชาชนมีการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายเมื่อมีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากรถได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำประกันภัย พ.ร.บ. มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน โดยจะได้รับความคุ้มครองความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย อันเนื่องมาจากการประสบภัยจากรถ โดยผู้ประสบภัยจากรถจะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นเพื่อเยียวยาความเสียหายอย่างทันท่วงทีและไม่ต้องรอการพิสูจน์ความรับผิด รวมถึงค่าสินไหมทดแทนนอกเหนือจากค่าเสียหายเบื้องต้น สำหรับผู้ประสบภัยจากรถที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย  โดยความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. จะแบ่งเป็น 2 ส่วน หลัก ๆ คือ ส่วนแรก ค่าเสียหายเบื้องต้น เป็นการจ่ายโดยไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด โดยจ่ายให้กับผู้ประสบภัยจากรถทุกคน ซึ่งจ่ายภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับเอกสารครบถ้วน โดยจ่ายเป็น ค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 30,000 บาท ค่าปลงศพหรือค่าชดเชยกรณีสูญเสียอวัยวะ รายละ 35,000 บาท  รวมทั้ง กรณีที่ได้รับบาดเจ็บและต่อมาเสียชีวิตหรือสูญเสียอวัยวะจะได้รับสูงสุดไม่เกินรายละ 65,000 บาท ส่วนที่ 2 ค่าสินไหมทดแทน (ค่าเสียหายส่วนเกินค่าเสียหายเบื้องต้น) จ่ายให้ผู้ประสบภัยจากรถที่ไม่ได้เป็น      ฝ่ายก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งจะต้องมีการพิสูจน์ความรับผิดแล้ว โดยจ่ายกรณีบาดเจ็บจะได้รับความคุ้มครองสูงสุดตามกรมธรรม์ฯ ไม่เกิน 80,000 บาท (รวมค่าเสียหายเบื้องต้นแล้ว) กรณีสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพอย่างถาวร จะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ตั้งแต่ 200,000 – 500,000 บาท แล้วแต่กรณี (รวมค่าเสียหายเบื้องต้นแล้ว) กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จะได้รับความคุ้มครองสูงสุด 500,000 บาท (รวมค่าเสียหายเบื้องต้นแล้ว) และหากเข้ารักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล จะได้รับค่าชดเชยรายวันอีกวันละ 200 บาทไม่เกิน 20 วันอีกด้วย

 

  การลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน คปภ. กับ กรมการปกครอง ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญอย่างยิ่งในการบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกันของทั้งสองหน่วยงาน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุดในการเสริมสร้างความรู้และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย ... ของประชาชนเจ้าของรถในทุกภูมิภาคทั่วประเทศเลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

หมวดหมู่ข่าว: 

เลขาธิการ คปภ. เปิดตัวโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ “ประกันภัยโรคมะเร็งท่อน้ำดี” ณ จังหวัดนครพนม

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
16 March 2566

เลขาธิการ คปภ. เปิดตัวโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ “ประกันภัยโรคมะเร็งท่อน้ำดี” ณ จังหวัดนครพนม พร้อมนำทีม Mobile Insurance Unit ลงพื้นที่เรณูนคร เรียนรู้วิถีชีวิต   ชาวชุมชนภูไท ถอดบทเรียนประกันภัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลด้านประกันภัยแก่ชุมชน

 

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดเวทีเสวนาตามโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ ในหัวข้อ “ปรับเปลี่ยนวิถี ไม่กินปลาดิบ วางแผนชีวิต 

ด้วยประกันภัยโรคมะเร็งท่อน้ำดี” โดยมีนายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานเครือข่ายที่ให้ความรู้ ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์อรรถพล ติตะปัญ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศมะเร็งท่อน้ำดี โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และกรรมการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี (CARI) นางสาวดาเนตร วันทนีย์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานกำกับผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัย สำนักงาน คปภ. นายไพบูลย์  ทรงแสงฤทธิ์ ผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดี และนายแพทย์สมบัติ แทนประเสริฐสุข ที่ปรึกษาแผนกสินไหมสุขภาพบริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งมีการกิจกรรมจัดบูธประชาสัมพันธ์และส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยของสำนักงาน คปภ. กองทุนประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัย กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย โรงพยาบาลนครพนม มูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น หน่วยงานเครือข่าย และ OTOP จำนวน 24 แห่ง ตลอดจนการจัดกิจกรรมตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับโดยสถาบันวิจัยโรคมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมภายในงาน “ฟรี” โดยมีกลุ่มเป้าหมายทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กลุ่มเกษตรกร และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 150 คน เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 ณ ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม โรงแรมฟอร์จูน ริเวอร์วิว นครพนม จังหวัดนครพนม   เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า  สำนักงาน คปภ. ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย 

 

โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ประกันภัยประเภท Tailor-made ที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะรายในราคาที่เหมาะสม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่จำเป็นในการรองรับความเสี่ยงในมิติต่าง ๆ 

เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ ได้จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการและความเสี่ยงของประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ 

โดยมุ่งเน้นที่จะพัฒนาและส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่รองรับลักษณะการใช้ชีวิตของประชาชนในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยให้กับประชาชนได้เข้าถึงระบบประกันภัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่น

แก่ประชาชนและสามารถนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงในชีวิตได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน โดยสำนักงาน คปภ.ภาค 3 (ขอนแก่น) ซึ่งรับผิดชอบกำกับดูแลพื้นที่ภาคอีสาน จำนวน 11 จังหวัด ได้สำรวจข้อมูลในพื้นที่พบว่า ประชากรในเขตภาคอีสาน มักมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารในกลุ่มปลาน้ำจืดแบบมีเกล็ด โดยวิธีการปรุงแบบสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ก้อยปลา ปลาหมกไฟ ปลาร้า ที่เป็นกลุ่มปลาตะเพียน ปลาซิว ปลาสร้อย ปลาขาว ทำให้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ และหลังจากติดเชื้อประมาณ 20-30 ปี ก็จะป่วยเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีและเสียชีวิตภายใน 1 ปี ประกอบกับข้อมูลของสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี พบว่า ประชากรในภาคอีสานมีสถิติป่วย เป็นโรคนี้สูงที่สุดในประเทศไทยและสูงที่สุดในโลก โดยคาดการณ์ว่ามีผู้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับประมาณ 6 ล้านคน และในจำนวนนี้พัฒนาเป็นมะเร็งท่อน้ำดีประมาณปีละ 10,000 - 20,000 ราย โดยผู้ป่วยที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าครอบครัวที่มีอยู่อายุระหว่าง 40-60 ปี นับเป็นการสูญเสียชีวิตในช่วงวัยแรงงาน ส่งผลให้เกิดปัญหาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาประเทศตามมา 

 

ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแบบ “กรมธรรม์ประกันภัยมะเร็งท่อน้ำดี” เพื่อนำระบบประกันภัยเข้าไปรองรับความเสี่ยงดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือหรือทางเลือกหนึ่งให้กับประชาชนในการบริหารความเสี่ยงในชีวิต โดยเฉพาะการประกันภัยสุขภาพที่สามารถรองรับภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น หรือการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคที่เกิดจากวิถีการใช้ชีวิตหรือวัฒนธรรมการบริโภคของประชาชน ทั้งนี้กรมธรรม์ประกันภัยมะเร็งท่อน้ำดี ให้ความคุ้มครองผู้ทำประกันภัยที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยครั้งแรกว่าเป็นมะเร็งท่อน้ำดี โดยมีหลักฐานรายงานการตรวจวินิจฉัย X-RAY ช่องท้องด้วยคอมพิวเตอร์ (CT SCAN) หรือ รายงานการตรวจวินิจฉัยช่องท่องด้วยเครื่องแม่เหล็ก (MRI หรือ MRCT) บริษัทประกันภัยจะจ่ายเงินผลประโยชน์ให้กับผู้เอาประกันภัย ขึ้นอยู่กับวงเงินความคุ้มครองที่ซื้อไว้ อัตราเบี้ยประกันภัยที่ไม่แพง โดยจะแบ่งตามช่วงอายุผู้ทำประกันภัย จากนั้นในวันที่ 14 มีนาคม 2566 เลขาธิการ คปภ. ได้นำคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ผู้ไกล่เกลี่ยของสำนักงาน คปภ. ผู้แทนสมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย กองทุนประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัย พร้อมด้วยผู้บริหารของบริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย ลงพื้นที่ชุมชนภูไท อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม โดยมี นายปณิธิ  ป้องสนาม ปลัดอาวุโส อำเภอเรณูนคร และนางรัตนาภรณ์  คงพราหมณ์ นายกเทศมนตรีตำบลเรณูนคร ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ตามโครงการ คปภ. เพื่อชุมชนปี 6 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเชิงรุกให้กับประชาชนในชุมชน ในรูปแบบ Mobile Insurance Unit หรือศูนย์บริการประชาชนด้านการประกันภัยเคลื่อนที่แบบครบวงจร เผยแพร่ประชาสัมพันธ์บทบาทหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. และให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ให้ความช่วยเหลือ และรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย ผ่าน “Mobile Complaint Unit” หรือศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยเคลื่อนที่ รวมถึงการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “ประกันภัยน่ารู้ สู่ชุมชน” พร้อมถ่ายทำรายการ “คปภ. เพื่อชุมชน” เพื่อเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์อมรินทร์ทีวี ช่อง 34 และสื่อออนไลน์ 

ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. พร้อมคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ได้เคาะประตูบ้านประชาชนเพื่อเยี่ยมและพูดคุยกับชาวชุมชน รวมทั้งรับฟังสภาพปัญหา และความต้องการด้านประกันภัย เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนได้อย่างแท้จริง รวมทั้งถอดบทเรียนจากประสบการณ์จริงของชาวชุมชน กรณีประสบอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำที่จังหวัดขอนแก่น เป็นเหตุให้เสียชีวิต ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้ให้การช่วยเหลือในการอำนวยความสะดวกและประสานงานบริษัทประกันภัย จนเป็นผลให้ทายาทของชาวชุมชนรายนี้ได้รับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างเป็นธรรม และต่อมาภายหลังสำนักงาน คปภ. ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วย ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้ช่วยประสานงานให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้ทุกประการเรียบร้อยแล้ว

 

“การลงพื้นที่ชุมชนของสำนักงาน คปภ. ครั้งนี้เป็นการบูรณาการโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ประกันภัย กับโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน  เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการและความเสี่ยงของประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยให้กลุ่มเป้าหมายและประชาชนในท้องถิ่นสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยได้ตรงกับความต้องการและสามารถนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

 

หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. พลิกประวัติศาสตร์การเรียนรู้ด้านการประกันภัยโฉมใหม่ผ่านการประกวดบอร์ดเกมภายใต้แนวคิด “ประกันภัยสุขภาพ”

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
10 March 2566

คปภ. พลิกประวัติศาสตร์การเรียนรู้ด้านการประกันภัยโฉมใหม่ผ่านการประกวดบอร์ดเกมภายใต้แนวคิด “ประกันภัยสุขภาพ”

 
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานแถลงข่าว “การประกวดนวัตกรรมบอร์ดเกมด้านการประกันภัยปีที่ 2” 
OIC BoardGame Innovation ภายใต้แนวคิด “การประกันภัยสุขภาพ : Health Insurance” ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารสถาบันวิทยาการระดับสูง สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ โดยมี คุณพีรัช  ษรานุรักษ์ ผู้แทนจากสมาคมบอร์ดเกมแห่งประเทศไทย และคุณภัคพงศ์  ศรีเจริญ และคุณธนกฤต  สวนสัน ตัวแทนทีมผู้ชนะการประกวดนวัตกรรมบอร์ดเกมด้านการประกันภัยปีที่ 1 ร่วมพูดคุยเพื่อเปิดมุมมองเกี่ยวกับการผสมผสานองค์ความรู้ด้านการประกันภัยสุขภาพกับรูปแบบกระบวนการสร้างการเรียนรู้ในรูปแบบบอร์ดเกม
 
เลขาธิการ คปภ. กล่าวถึงการประกวดนวัตกรรมบอร์ดเกมด้านการประกันภัยปีที่ 2 ว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ไม่ใช่การประกวดบอร์ดเกมที่มุ่งเน้นเพียงความสนุกสนาน หรือการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยประเภทต่าง ๆ เท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาสื่อที่สอดรับกับรูปแบบการเรียนรู้ของกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ และเปิดโอกาสให้ผู้คนในสังคมมีส่วนร่วมในการออกแบบสื่อด้านการประกันภัยในรูปแบบใหม่ และเป็นการยกระดับการประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับการประกันภัยให้สามารถเข้าถึงประชาชนในวงกว้าง รวมทั้งสามารถสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งการจัดการประกวดในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2  โดยครั้งแรก (ปี 2564) สำนักงาน คปภ. จัดการประกวดนวัตกรรมบอร์ดเกมด้านการประกันภัย (OIC Board Game Innovation) ภายใต้ แนวคิด “ความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัย” (Insurance Literacy) ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และในส่วนของเกมส์ออนไลน์ ทางสำนักงาน คปภ. โดยศูนย์ Center of InsurTech, Thailand หรือ ศูนย์ CIT ก็ได้มีการจัดทำ Application Online Social Game “OIC Risk Protector” ขึ้นมาในปีที่ผ่านมาเพื่อเป็นสื่อเรียนรู้ด้านการประกันภัยสำหรับเยาวชน จึงกล่าวได้ว่า สำนักงาน คปภ. มีการดำเนินการที่ครอบคลุมทั้งเกมออนไลน์ และโลกของเกมออฟไลน์อย่างบอร์ดเกม
 
สำหรับการประกวดนวัตกรรมบอร์ดเกมด้านการประกันภัยปีที่ 2 มีไฮไลต์อยู่ที่การนำ “ประกันภัยสุขภาพ : Health Insurance” มาตั้งเป็นโจทย์เพื่อออกแบบบอร์ดเกม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา รวมไปถึงประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society ทำให้ประชาชนให้ความสนใจในการทำประกันภัยสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับการประกันภัยสุขภาพมีอัตราการเติบโตมาโดยตลอด และคาดว่าการประกันภัยสุขภาพจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงในอนาคต ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงเห็นว่า หากพัฒนาบอร์ดเกมจากการตั้งโจทย์ประกันภัยสุขภาพจะช่วยเติมเต็มในการสร้างความตระหนักรู้ ความรู้ความเข้าใจด้านประกันภัยสุขภาพให้แก่ประชาชนเพื่อใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการเงินและได้รับประโยชน์สูงสุดจากการทำประกันภัยสุขภาพ ในการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตต่อไป
 
อย่างไรก็ตาม การประกวดนวัตกรรมบอร์ดเกมด้านการประกันภัยปีที่ 2 มีความพิเศษแตกต่างจากการประกวดฯ
ในปีแรกอยู่ 3 ประเด็นหลัก ๆ คือ ประเด็นแรก การประกวดครั้งนี้ไม่ใช่เพียงมุ่งหาผู้ชนะ แต่ต้องการที่จะเสริมสร้างทักษะและพัฒนาเครือข่ายนักสื่อสารประกันภัยซึ่งเป็นกลุ่มผู้ที่สมัครเข้าร่วมประกวด โดยสำนักงาน คปภ. จะมีการจัดอบรม 1 วัน เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประกันภัยสุขภาพและบอร์ดเกม เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการส่งผลงานเข้าประกวด และหลังจากนั้นในรอบ 20 ทีม และรอบชิงชนะเลิศ ก็จะมีการเติมความรู้อีกไม่น้อยกว่า 14 ครั้ง เรียกได้ว่าเป็นการประกวดบอร์ดเกมที่มีการเสริมทักษะความรู้มากที่สุดก็ว่าได้ 
 
ประเด็นที่ 2 ปีนี้ผู้เข้าร่วมประกวดต้องออกแบบบอร์ดเกมให้สามารถดัดแปลงเผยแพร่ได้ 3 รูปแบบ คือ 
แบบกล่องสำเร็จ แบบออนไลน์ และแบบ Print and Play เพื่อเผยแพร่ผลงานในครั้งนี้ให้มีประสิทธิภาพตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการมากที่สุด
 
และประเด็นที่ 3 ปีนี้มีการแบ่งการประกวดออกเป็น 2 รุ่น คือ รุ่นมือใหม่ หรือรุ่น Rookie ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป ที่ยังไม่มีประสบการณ์ แต่สนใจอยากเริ่มต้นเรียนรู้ ดังนั้นโจทย์ที่มอบให้ คือ 
การออกแบบบอร์ดเกมสำหรับใช้ในห้องเรียน ส่วนรุ่นผู้เชี่ยวชาญ หรือรุ่น Pro ที่มีประสบการณ์นั้นจะเป็นการเปิดกว้างให้แสดงฝีมือความคิดสร้างสรรค์ได้เต็มที่
 
สำหรับรางวัลผู้ชนะการประกวดในกิจกรรมครั้งนี้จะได้รับทั้งโล่รางวัล ประกาศนียบัตรและเงินรางวัล โดยผู้ชนะเลิศในรุ่นผู้เชี่ยวชาญ หรือ รุ่น Pro ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และเกียรติบัตร รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และเกียรติบัตร รางวัลชมเชยจำนวน 2 อันดับได้รับเงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท และเกียรติบัตร
 
ส่วนผู้ชนะเลิศ รุ่น Rookie หรือ รุ่นมือใหม่ ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และเกียรติบัตร รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 25,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และเกียรติบัตร รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 15,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และเกียรติบัตร รางวัลชมเชยจำนวน 2 อันดับ ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 5,000 บาท และเกียรติบัตร ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดใบสมัครและส่งผลงานรอบคัดเลือกผ่านทางเว็บไซต์ สำนักงาน คปภ. www.oic.or.th หรือ Facebook สำนักงาน คปภ. www.facebook.com/PROIC 2012 และ facebook OIC Board Game Innovation : www.facebook.com/OIC.BoardGame ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม - 2 เมษายน 2566 โดยจะประกาศผลทีมที่เข้ารอบ 20 ทีม ในวันที่ 5 เมษายน 2566 และจะมีการคัดเลือกให้เหลือ 10 ทีม ซึ่งทั้ง 10 ทีมที่เข้ารอบจะเข้าร่วมกิจกรรม workshop online ด้านการออกแบบบอร์ดเกม จำนวน 6 ครั้ง ระหว่างวันที่ 8-24 เมษายน 2566 เพื่อพัฒนาผลงานต้นแบบกับผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันภัยและด้านการออกแบบบอร์ดเกมชั้นนำและวันที่ 25 เมษายน 2566 เป็นการนำเสนอผลงาน ต่อมาในวันที่ 27 เมษายน 2566 ประกาศรายชื่อ 10 ทีม และทั้ง 10 ทีม จะมีการอมรมเติมความรู้และปรึกษา mentor จำนวน 8 ครั้ง ระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 30 พฤษภาคม 2566 โดยกำหนดส่งผลงาน prototype ที่เสร็จเรียบร้อย ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ต่อจากนั้นจะเป็นการนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการตัดสินในรอบชิงชนะเลิศพร้อมประกาศผลและมอบรางวัล ในวันที่ 6 มิถุนายน 2566 
 
“ผมขอเชิญชวนผู้สนใจทุกท่านที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ สมัครและส่งผลงานได้ทั้งในนามบุคคลหรือเป็นทีม ๆ ละไม่เกิน 3 คนต่อผลงาน 1 ชิ้น ซึ่งปีนี้เปิดโอกาสให้ถึง 2 รุ่นด้วยกันคือรุ่นมือใหม่และรุ่นผู้เชี่ยวชาญ โดยนำเสนอแนวคิดการสื่อสารเนื้อหาด้านการประกันภัยสุขภาพ เป็นแกนหลักของเกม สอดแทรกด้วยความคิดการแก้ไขปัญหา และความสนุกสนาน โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่ (วันที่ 9 มีนาคม ถึง วันที่ 2 เมษายน 2566) โดยมีเงินรางวัลรวมกว่า 350,000 บาท และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประกวดนวัตกรรมบอร์ดเกมด้านการประกันภัยครั้งนี้ นอกจากจะมีความสนุกสนานแล้ว เป้าหมายสำคัญคือการสร้างนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้รูปแบบใหม่ของการประกันภัยแก่ประชาชน รวมทั้งเป็นการวางรากฐานการสร้าง “Insurance Literacy” ให้กับเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง ทั้งนี้หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/OIC.BoardGame หรือ 088-004-3507 หรือ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
................................................................
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. ลงพื้นที่ทันทีให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัย กรณี “รถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ชนรถกระบะ” เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย ที่จังหวัดพัทลุง

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
10 March 2566

คปภ. ลงพื้นที่ทันทีให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัย กรณี “รถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ชนรถกระบะ” เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย ที่จังหวัดพัทลุง

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ทะเบียน 81-0532 ตรัง (ส่วนหัว) ทะเบียน 81-0533 ตรัง (ส่วนหาง) บรรทุกตอไม้ เกิดเหตุยางล้อหน้าด้านขวาแตกเสียหลักพุ่งข้ามฝั่งถนนมาชนรถยนต์กระบะ ทะเบียน บฉ 4330 พัทลุง บริเวณถนนสายเอเชีย ฝั่งขาขึ้น หมู่ 3 ตำบลหนองธง อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง เป็นเหตุให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถยนต์กระบะเสียชีวิต จำนวน 5 ราย เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 นั้น เบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 9 (สงขลา) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดพัทลุง ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบการทำประกันภัย พร้อมทั้งติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับครอบครัวของผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
 
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. จังหวัดพัทลุง ซึ่งได้ลงพื้นที่ทันที โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า รถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ทะเบียน 81-0532 ตรัง (ส่วนหัว) ทำประกันภัยภาคสมัครใจ ประเภท 1 ไว้กับบริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 13 ตุลาคม 2565 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 13 ตุลาคม 2566 โดยกรมธรรม์ให้ความคุ้มครองต่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก จำนวน 500,000 บาทต่อคน 10,000,000 บาทต่อครั้ง ความรับผิดต่อทรัพย์สิน 600,000 บาทต่อครั้ง และความคุ้มครองรถยนต์คันเอาประกันภัย 1,200,000 บาทต่อครั้ง และให้ความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพของผู้ขับขี่จำนวน 100,000 บาท ผู้โดยสาร 100,000 บาทต่อคน และค่ารักษาพยาบาล จำนวน 100,000 บาทต่อคน โดยยังไม่พบข้อมูลการทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.)
 
สำหรับทะเบียน 81-0533 ตรัง (ส่วนหาง) ทำประกันภัยภาคสมัครใจ ประเภท 1 ไว้กับบริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 13 ตุลาคม 2565 สิ้นสุดวันที่ 13 ตุลาคม 2566 โดยกรมธรรม์ให้ความคุ้มครองต่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก จำนวน 500,000 บาทต่อคน 10,000,000 บาทต่อครั้ง ความรับผิดต่อทรัพย์สิน 600,000 บาทต่อครั้ง และความคุ้มครองรถยนต์คันเอาประกันภัย 450,000 บาทต่อครั้ง โดยยังไม่พบข้อมูลการทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.)
 
ด้านรถยนต์กระบะ ทะเบียน บฉ 4330 พัทลุง ได้ทำประกันภัยภาคบังคับกับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 26 มกราคม 2566 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 18 มกราคม 2567 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000-500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน โดยยังไม่พบข้อมูลการทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ
 
สำหรับการติดตามค่าสินไหมทดแทนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ เบื้องต้นพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีได้แจ้งข้อกล่าวหาผู้ขับขี่รถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ฐานความผิดขับขี่รถโดยประมาทเป็นเหตุทำให้ทรัพย์สินเกิดความเสียหายและทำให้มีผู้เสียชีวิต ทายาทโดยธรรมของผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่เสียชีวิตในรถยนต์กระบะทั้ง 5 ราย จะได้รับค่าสินไหมทดแทนรายละ 1,000,000 บาท จากการทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจประเภท 1 (ส่วนหัว) 500,000 บาท และจากการทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจประเภท 1 (ส่วนห่าง) 500,000 บาท โดยในวันที่ 9 มีนาคม 2566 สำนักงาน คปภ. จังหวัดพัทลุง ได้ประสานงานบริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) แล้ว ซึ่งบริษัทตกลงจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้ประสบภัยที่เสียชีวิตและได้มอบหมายให้พนักงานของบริษัทในพื้นที่ติดต่อทายาทผู้เสียชีวิตเพื่อรวบรวมเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วนและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยเร็ว ในส่วนของบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งรับประกันภัยรถยนต์กระบะภาคบังคับ บริษัทตกลงจ่ายค่าปลงศพเบื้องต้น รายละ 35,000 บาท ภายหลังได้รับเอกสารของทายาทครบถ้วน โดยสำนักงาน คปภ. จะช่วยประสานงาน อำนวยความสะดวกและติดตามอย่างใกล้ชิดให้บริษัทจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม
 
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. จะบูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่ หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกก็จะช่วยประสานงานให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้
 
“สำนักงาน คปภ.ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้ และพร้อมจะดูแลในด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาและกับทุกคน เพื่อความอุ่นใจ ควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยเฉพาะการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) การประกันภัยรถภาคสมัครใจ และการประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านประกันภัย ติดต่อสายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
 
....................................................
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. ลงพื้นที่ทันทีเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัย กรณี “รถกระบะชนรถเก๋ง” เสียชีวิต 6 ราย ที่อุบลราชธานี แล้ว

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
28 February 2566

คปภ. ลงพื้นที่ทันทีเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัย กรณี “รถกระบะชนรถเก๋ง” เสียชีวิต 6 ราย ที่อุบลราชธานี แล้ว

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน 3ฒต 6437 กรุงเทพมหานคร เฉี่ยวชนกับรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน กน 8528 อุบลราชธานี บริเวณสะพานห้วยตำแย ถนนเดชอุดม-แยกท่าโพธิ์ศรี บ้านแขมเจริญ ตำบลเมืองเดช อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 นั้น เบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 5 (อุบลราชธานี) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบการทำประกันภัย พร้อมทั้งติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับครอบครัวของผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
 
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้ลงพื้นที่ในวันเกิดเหตุ โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 3ฒต 6437 กรุงเทพมหานคร ได้ทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 26 ธันวาคม 2565 สิ้นสุดคุ้มครองวันที่ 26 ธันวาคม 2566 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000-500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน
นอกจากนี้ รถยนต์กระบะคันดังกล่าว ทำประกันภัยภาคสมัครใจ ประเภท 1 ไว้กับบริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มความคุ้มครองวันที่ 24 ธันวาคม 2565 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 24 ธันวาคม 2566 โดยกรมธรรม์ให้ความคุ้มครองต่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก จำนวน 500,000 ต่อคน 10,000,000 บาทต่อครั้ง ความรับผิดต่อทรัพย์สิน 5,000,000 บาทต่อครั้ง และความคุ้มครองรถยนต์คันเอาประกันภัย 360,000 บาทต่อครั้ง และให้ความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพของผู้ขับขี่จำนวน 300,000 บาท ผู้โดยสาร 300,000 บาทต่อคน และค่ารักษาพยาบาล จำนวน 300,000 บาทต่อคน
 
ด้านรถยนต์เก๋ง หมายเลขทะเบียน กน 8528 อุบลราชธานี ได้ทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มความคุ้มครองวันที่ 15 สิงหาคม 2565 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 15 สิงหาคม 2566 และประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มความคุ้มครองวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 โดยยังไม่พบข้อมูลการทำประกันภัยภาคสมัครใจ
 
สำหรับการติดตามค่าสินไหมทดแทนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ เบื้องต้นในกรณีที่รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 3ฒต 6437 กรุงเทพมหานคร (เป็นฝ่ายผิด) ผู้ขับขี่รถยนต์กระบะที่เสียชีวิตจะได้รับ
ค่าสินไหมทดแทน จำนวน 335,000 บาท จากการทำประกันภัย พ.ร.บ. ในส่วนที่เป็นค่าเสียหายเบื้องต้น 35,000 บาท และค่าสินไหมทดแทนจากความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ จำนวน 300,000 บาท ซึ่งในวันนี้ (วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566) บริษัท ธนชาตประกันภัยฯ ได้จ่ายส่วนของความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ให้แก่ทายาท จำนวน 300,000 บาท โดยโอนเงินเข้าบัญชี เรียบร้อยแล้ว 
 
ในส่วนของรถยนต์เก๋ง หมายเลขทะเบียน กน 8528 อุบลราชธานี (ถ้าเป็นฝ่ายถูก) ผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่เสียชีวิตในรถยนต์เก๋ง ทั้ง 5 ราย จะได้รับค่าสินไหมทดแทนรายละ 1,000,000 บาท จากการทำประกันภัย พ.ร.บ. รายละ 500,000 บาท และจากการทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจประเภท 1 รายละ 500,000 บาท 
อย่างไรก็ตาม ผลของคดีการเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้อยู่ในระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อพิสูจน์ทราบต่อไป โดยสำนักงาน คปภ. จะช่วยประสานงานและเร่งรัดให้มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างเป็นธรรม
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. จะบูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่ หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกก็จะช่วยประสานงานให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้
 
“สำนักงาน คปภ.ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้ และสำนักงาน คปภ. พร้อมจะดูแลในด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาและกับทุกคน และเพื่อความอุ่นใจ ควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยเฉพาะการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) 
การประกันภัยรถภาคสมัครใจ และการประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านประกันภัย ติดต่อสายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
 
....................................................
หมวดหมู่ข่าว: 

สำนักงาน คปภ. เกาะติดสถานการณ์บริษัทสินมั่นคงประกันภัยฯ กรณีเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย

< >
วันที่เผยแพร่: 
28 February 2566

สำนักงาน คปภ. เกาะติดสถานการณ์บริษัทสินมั่นคงประกันภัยฯ 

กรณีเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย
 
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ต่อมาศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้บริษัทฯ ฟื้นฟูกิจการ และแต่งตั้งบริษัทฯ เป็นผู้ทำแผน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ส่งผลให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัทฯ และบรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เว้นแต่สิทธิที่จะได้รับเงินปันผล ตกแก่บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ทำแผน โดยเจ้าหนี้ของบริษัทฯ สามารถยื่นขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในคดีนี้ภายในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 โดยเมื่อครบกำหนดยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้วบริษัทฯ ต้องรวบรวมเจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ และจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อเสนอต่อเจ้าหนี้และศาลฯ เพื่อพิจารณา
 
นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 สั่งให้บริษัทฯ แก้ไขฐานะและการดำเนินการหลายประการ เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยและประชาชน ตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 36/2565 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2565 เช่น ให้เพิ่มทุนและแก้ไขฐานะการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพันและให้มีอัตราส่วนของเงินกองทุนเพียงพอตามที่กฎหมายกำหนดภายใน 1 ปี และให้เปิดเผยข้อมูลทางการเงิน สินทรัพย์สภาพคล่อง และภาระหนี้สินตามสัญญาประกันภัย ในหน้าเว็บไซต์ของบริษัทฯ เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยและประชาชน ทราบถึงสถานะของบริษัทฯ ตลอดช่วงเวลาที่อยู่ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และให้ส่งข้อมูลดังกล่าวให้สำนักงาน คปภ. เพื่อจะได้เผยแพร่บนเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. รวมทั้งให้ขออนุญาตศาลล้มละลายกลางให้มีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทฯ ชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือคำพิพากษาของศาล สำหรับประเภทสัญญาประกันภัยที่บริษัทฯดำเนินการค้าตามปกติ ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้มีการติดตามการแก้ไขฐานะการเงินและการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด ตลอดจนดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ รวมทั้งกำชับให้บริษัทฯ ดำเนินการตามคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวให้ครบถ้วนและปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยประกันวินาศภัยอย่างเคร่งครัด
 
ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างดำเนินการตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย ซึ่งต้องมีการทำแผนการฟื้นฟูกิจการที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ ซึ่งในระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการ สำนักงาน คปภ. ได้กำชับและติดตามให้บริษัทฯ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับการค้าตามปกติ และเร่งหาผู้ร่วมทุน พร้อมทั้งแนะนำให้บริษัทฯ มีการสื่อสารทำความเข้าใจกับเจ้าหนี้อย่างชัดเจนและเป็นระบบ 
 
ประกอบกับเมื่อวันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ 2566 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ขึ้นเครื่องหมาย SP (Trading Suspension) ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงการห้ามซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนเป็นการชั่วคราว และ NP (Notice Pending) ซึ่งเป็นเครื่องหมายกรณีบริษัทจดทะเบียนมีข้อมูลที่ต้องรายงาน และ ตลท. อยู่ระหว่างรอข้อมูลจากบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) “SMK”  โดย ตลท. ให้เหตุผลในการขึ้นเครื่องหมายดังกล่าวว่าส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์และผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินปี 2565 ซึ่งสามารถติดตามข้อมูลในส่วนนี้จากเว็บไซต์ของ ตลท. (https://www.set.or.th)
 
 ทั้งนี้ ประชาชนควรพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนทำประกันภัย โดยสามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินของบริษัทฯ ได้ที่เว็บไซต์ของบริษัทฯ (https://www.smk.co.th/investor) เว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. (https://www.oic.or.th/th/consumer/sinmunkong) ส่วนเจ้าหนี้ของบริษัทฯ สามารถติดตามความคืบหน้าของคดีและรายละเอียดอื่น ๆ เพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์กรมบังคับคดี www.led.go.th หากมีข้อสงสัยเรื่องประกันภัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186 หรือ www.oic.or.th” 
 
..................................................
หมวดหมู่ข่าว: 

Pages

Subscribe to RSS - ข่าว