หลักการและเหตุผล :
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่กำกับดูแล ส่งเสริม และพัฒนาการประกอบธุรกิจประกันภัยให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ตลอดจนพัฒนาบุคลากรประกันภัยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และตามแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๕๙-๒๕๖๓) ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัย เพื่อสร้างและส่งเสริมศักยภาพบุคลากรทั้งในและนอกระบบประกันภัยให้มีความรู้ด้านการประกันภัย และพร้อมรองรับการเปิดเสรีธุรกิจประกันภัยในอนาคต
ปัจจุบัน การบริการด้านการประกันภัยมีบทบาทที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วอันเนื่องมาจากรูปแบบของธุรกิจ ความคาดหวังจากผู้บริโภคและเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทำให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย และการบริการด้านการประกันภัยมีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลให้มิติของการกำกับดูแลไม่สามารถดำเนินการแต่เพียงลำพังเพียงหน่วยงานเดียว แต่จำเป็นต้องบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้จำเป็นที่หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับระบบประกันภัย และความรู้อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
สำนักงาน คปภ. ได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในเรื่องดังกล่าว จึงได้จัด “โครงการศึกษาอบรมหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) (Thailand Insurance Leadership Program) รุ่นที่ ๗ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๐” ขึ้น เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงจากภาคส่วนต่างๆ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบประกันภัย ทั้งการประกันชีวิต การประกันวินาศภัย การประกันภัยรถภาคบังคับ การบริหารจัดการความเสี่ยงภัยในด้านต่างๆ พัฒนาการของระบบประกันภัย ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเสริมสร้างการเป็นผู้นำที่มีคุณธรรมจริยธรรม และการบริหารจัดการเชิงสร้างสรรค์นำองค์กรไปสู่ความสำเร็จโดยสอดคล้องกับสภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของโลก เพื่อจะได้ระดมความคิดเห็นจากประสบการณ์ที่หลากหลายช่วยให้ข้อเสนอแนะและพัฒนาระบบประกันภัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
วัตถุประสงค์ :
๑. เพื่อสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจด้านการประกันชีวิต การประกันวินาศภัย การบริหารจัดการความเสี่ยงภัยต่างๆ ให้แก่ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน
๒. เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในกฎเกณฑ์การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจประกันภัยที่มีการเปลี่ยนแปลงและส่งผลต่อการบริหารธุรกิจประกันภัย
๓. เพื่อเสริมสร้างทักษะ และพัฒนาผู้บริหารให้บริหารงานเชิงกลยุทธ์อย่างสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๔. เพื่อพัฒนาให้ผู้บริหารมีภาวะความเป็นผู้นำที่เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม และวิสัยทัศน์ในการบริหารงานองค์กร และพัฒนาระบบประกันภัยให้มีความเจริญก้าวหน้า สามารถแข่งขันในระดับโลก
๕. เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นจากมุมมองและประสบการณ์ที่แตกต่าง ในการพัฒนาระบบประกันภัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน
ขอบเขตการศึกษาอบรม
หลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน รวมจำนวน ๑๕๔ ชั่วโมง ดังนี้
ส่วนที่ ๑ กิจกรรมทั่วไป จำนวน ๑๘ ชั่วโมง ประกอบด้วย
- พิธีเปิด – พิธีปิดการศึกษาอบรม
- ปฐมนิเทศ
- กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์
ส่วนที่ ๒ กิจกรรมการศึกษาอบรม จำนวน ๕๑ ชั่วโมง แบ่งออกเป็น ๘ หมวด คือ
หมวดที่ ๑ : ประกันภัยกับการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงรุกในระดับประเทศและในเวทีระหว่างประเทศ
๑.๑ ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ นโยบายภาครัฐกับบทบาทประกันภัยในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ โดย ประธานกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
๑.๒ นโยบายของสำนักงาน คปภ. กับความท้าทายในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในเศรษฐกิจยุคดิจิทัล
๑.๓ Thai Insurance Industry – Challenges and Reforms
๑.๔ การประเมิน FSAP สู่ความเป็นมาตรฐานสากลของอุตสาหกรรมประกันภัยไทย
๑.๕ กลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงของธุรกิจกับการประกันภัย
หมวดที่ ๒ : นโยบายการเงิน การลงทุน ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และโอกาสของธุรกิจไทยในอาเซียน
๒.๑ การเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจโลกกับทิศทางอนาคตประเทศไทย
๒.๒ การปรับตัวของสถาบันการเงินไทยในยุค Digital Economy
๒.๓ การเตรียมพร้อมรับนโยบายภาษีในยุคดิจิทัล
๒.๔ บทบาท และโอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในเวทีอาเซียน
๒.๕ รู้เขารู้เรา ก่อนการลงทุนใน CLMV
๒.๖ โอกาสของ Healthcare และธุรกิจประกันภัยไทยใน CLMV
หมวดที่ ๓ : ยกระดับการประกันวินาศภัยไทยสู่การขับเคลื่อนภารกิจเพื่อชาติ
๓.๑ บทบาทของการประกันวินาศภัยกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย
๓.๒ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัยในบริบทสังคมไทยยุคใหม่
๓.๒.๑ Motor Insurance
๓.๒.๒ Non Motor Insurance (การประกันภัยทรัพย์สิน)
๓.๒.๓ บทบาทของการประกันวินาศภัยกับการบริหารความเสี่ยงและการบริหารงบประมาณของภาครัฐ
๓.๓ New Trends In Agriculture and Catastrophe Insurance
๓.๔ เจาะลึกธุรกิจการขนส่งทางทะเล กับกฎหมายประกันภัยทางทะเลฉบับแรกของประเทศไทย
หมวดที่ ๔ : นวัตกรรมประกันภัยในยุคดิจิทัล ( FinTech & InsurTech)
๔.๑ New Era of Thailand Digital Economy
๔.๒ Effective Strategies and Opportunities Arising from InsurTech and Artificial Intelligence
๔.๓ การใช้ Big Data วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคในอุตสาหกรรมประกันภัย
๔.๔ Insurance Challenges of Regulations in the Digital Age
๔.๕ ความเสี่ยงจากการโจมตีทางไซเบอร์กับการประกันภัยความเสี่ยงทางไซเบอร์ (Cyber Risk Insurance) – กรณีศึกษา
หมวดที่ ๕ : ความท้าทายของอุตสาหกรรมประกันชีวิตกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย
๕.๑ ทิศทางของธุรกิจประกันชีวิตภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ และสังคมไทย
๕.๒ รูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตสำหรับสังคมผู้สูงอายุ (New Products Development for Aging Society)
๕.๓ Life Insurance : Ownership and Investment Considerations
๕.๔ ประกันชีวิตกับการวางแผนภาษีมรดก
๕.๕ ธุรกิจประกันชีวิตกับโอกาสและวิกฤตในสังคมไทย
๕.๖ อนาคตและทิศทางของ Reverse Mortgage ในประเทศไทย
หมวดที่ ๖ : การสร้างกลยุทธ์ และวิสัยทัศน์ผู้นำยุคดิจิทัล
๖.๑ บริบทของการเป็นผู้นำองค์กรในการพัฒนาประเทศ (Leadership for Thailand 4.0)
๖.๒ ธรรมะสำหรับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารยุคใหม่ (Change Innovation Idealism Freedom)
๖.๓ เทคนิคการเจรจาและระงับข้อขัดแย้งทางธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพพร้อมกรณีศึกษา
๖.๔ Creativity Thinking In New Era
หมวดที่ ๗ : การสร้างบรรษัทภิบาลกับการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล
๗.๑ เจาะลึกการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (Anti Money Laundering: AML) ในธุรกิจประกันภัย
๗.๒ CSR (Corporate Social Responsibility) VS CSV (Creating Shared Value)
๗.๓ การนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติในการบริหารธุรกิจในยุคดิจิทัล
๗.๔ Anti – Corruption and Ethical Leadership
๗.๕ เจาะลึกบทบาทคนกลางประกันภัยกับพฤติกรรมทางการตลาดในยุคดิจิทัล
หมวดที่ ๘ : ประเด็นร่วมสมัย
๘.๑ การเดินหน้าประเทศไทยกับโครงการ East Economic Corridor : EEC ในบริบทต่อภาคการเงิน
๘.๒ Blockchain to Enable Streamlined Insurance Operations
ส่วนที่ ๓ กิจกรรมวิชาการ จำนวน ๘๕ ชั่วโมง ประกอบด้วย
- ชี้แจงและจัดทำรายงานการศึกษากลุ่ม ๑ ชั่วโมง
- ปรึกษาและหารือกับที่ปรึกษา ๑๒ ชั่วโมง
- การนำเสนอรายงานการศึกษากลุ่ม ๖ ชั่วโมง
- การศึกษาดูงานภายในประเทศ ๒๔ ชั่วโมง
- การศึกษาดูงานในต่างประเทศ ๓๐ ชั่วโมง
- กิจกรรมเสริมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม ๑๒ ชั่วโมง
วิธีการดำเนินการศึกษาอบรม
๑ บรรยาย สัมมนาและอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยเน้นการเรียนรู้แบบผู้บริหารและการมีส่วนร่วม
๒ การจัดทำรายงานการศึกษากลุ่ม
๓ การศึกษาดูงานในประเทศและในต่างประเทศ
สถานที่ดำเนินการศึกษาอบรม
อาคารสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ถนนรัชดาภิเษก และสถานที่ศึกษาดูงานตามที่สถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูงกำหนด
ระยะเวลาศึกษาอบรม
ระยะเวลาการศึกษาอบรมระหว่างเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๑ กำหนดอบรมสัปดาห์ละ ๑ วัน ทุกวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา ๑๔.๐๐ น. - ๑๗.๓๐ น. หรือวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด
คุณสมบัติผู้เข้ารับการอบรม :
คุณสมบัติทั่วไป
๑. สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี หรือเทียบเท่าตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือสำนักงาน ก.พ. รับรอง
๒. มีอายุไม่ต่ำกว่า ๔๐ ปี ในวันที่ปิดรับสมัคร
๓. เป็นผู้ไม่อยู่ระหว่างการอบรมหลักสูตร วปอ./วปรอ./ปปร./นบส./สจว./วตท./ พตส./บรอ./TEPCOT/วพน./นบปส. หรือหลักสูตรอื่นในระดับเดียวกันหรือเทียบเท่า
๔. เป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะเข้ารับการอบรมอย่างแท้จริง ต้องสามารถเข้าร่วมกิจกรรมและยอมรับเงื่อนไขของการศึกษาอบรมตลอดหลักสูตรทุกประการ
๕. สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาอบรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับหน่วยงานและระบบเศรษฐกิจ การเงิน และการประกันภัย
คุณสมบัติเฉพาะ
ผู้ที่มีสิทธิเข้ารับการศึกษาอบรมในหลักสูตรต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
๑. สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
๒. อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรืออดีตสมาชิกวุฒิสภา
๓. กรรมการขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
๔. ตุลาการศาลยุติธรรม ตั้งแต่ชั้น ๓ ขั้นสูงขึ้นไป
๕. ตุลาการศาลปกครอง ตั้งแต่รองอธิบดีศาลปกครองชั้นต้นหรือเทียบเท่าขึ้นไป
๖. ข้าราชการอัยการ ตั้งแต่ชั้น ๕ ขึ้นไป
๗. ผู้มีตำแหน่งทางวิชาการ ตั้งแต่ระดับรองศาสตราจารย์ขึ้นไป หรือเป็นอาจารย์ผู้สอนในสาขาวิชาการประกันภัย การบริหารความเสี่ยง การเงิน หรือสาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้องโดยมีประสบการณ์ในการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี
๘. ข้าราชการพลเรือนสามัญหรือข้าราชการประเภทอื่นซึ่งดำรงตำแหน่งสายงานบริหารระดับต้น หรือสายงานอำนวยการระดับสูง หรือสายงานวิชาการระดับเชี่ยวชาญขึ้นไป
๙. ข้าราชการทหารชั้นยศพลตรี พลอากาศตรี หรือพลเรือตรีขึ้นไป
๑๐. ข้าราชการตำรวจชั้นยศพลตำรวจตรีขึ้นไป
๑๑. กรรมการหรือผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงิน องค์กร หรือสมาคมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน และประกันภัย
๑๒. ผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจหรือภาคเอกชนหรือองค์กรพัฒนาภาคเอกชน
๑๓. บรรณาธิการ หรือผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และมีประสบการณ์ในงานด้านสื่อมวลชนมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี
๑๔. บุคคลที่คณะกรรมการสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูงพิจารณาให้เข้ารับการศึกษาอบรม