กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการประกันภัยชี้แจงให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการประกันชีวิต เน้นบทบาททั้งให้ความคุ้มครองและการออมทรัพย์ ซึ่งแตกต่างจากการฝากเงินไว้กับธนาคารที่เป็นการออมทรัพย์เพียงอย่างเดียว ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงว่า ปัจจุบันมีคำถามอยู่เสมอว่า การประกันชีวิตกับการฝากเงินไว้กับธนาคารเหมือนกันหรือไม่ ซึ่งประเด็นปัญหาเกิดจากการเสนอขายของตัวแทนบางคนที่ไม่ให้ข้อมูลที่ครบถ้วนแก่ประชาชน โดยบอกเพียงว่า ถ้าทำประกันชีวิตแล้วจะได้รับดอกเบี้ยร้อยละ 4-6 เป็นต้น ทำให้เกิดความสับสน ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว การทำประกันชีวิตเป็นการซื้อความคุ้มครอง ถ้าหากผู้เอาประกันชีวิตตาย หรือเกิดเหตุการณ์ตามที่ระบุเป็นความคุ้มครองไว้ในกรมธรรม์ บริษัทก็จะจ่ายเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามจำนวนที่กำหนดไว้ แต่เนื่องจากรูปแบบของการประกันชีวิตมีหลายลักษณะเช่นเดียวกับสินค้าทั่วไป บางแบบนอกจากจะเป็นการซื้อความคุ้มครองอย่างเดียวแล้ว ยังมีส่วนของการออมทรัยพ์จำนวนหนึ่งในกรมธรรม์ด้วย ซึ่งบริษัทจะนำไปลงทุนหาดอกผลและค่อย ๆ สะสมเพิ่มขึ้นรวมเป็นจำนวนเงินเอาประกันภัยไว้จ่ายให้แก่ผู้เอาประกันชีวิตตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์เช่น จ่ายคืนทุก 3 ปี หรือ 5 ปี เป็นจำนวน 10% หรือ 20% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย เป็นต้น จากลักษณะดังกล่าว จะเห็นได้ว่า การประกันชีวิตมีส่วนแตกต่างที่ชัดเจนกับการฝากเงินตรงประเด็นความคล่องตัวของการถอนเงิน เพราะการฝากเงินกับธนาคารสามารถถอนเงินได้ทุกเวลาที่ต้องการและได้รับดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้ ในขณะที่การประกันชีวิตเป็นสัญญาระยะยาว หากยกเลิกสัญญาในปีแรก จะไม่มีเงินเหลือคืนให้ผู้เอาประกันชีวิตเลยเนื่องจากเบี้ยประกันชีวิตปีแรกจะเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัท อาทิ ค่าบำเหน็จตัวแทนนายหน้า ค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพ เป็นต้น แต่ในปีต่อ ๆ ไปจะมีเงินเหลือคืนและเพิ่มขึ้นทุกปี หากยกเลิกกรมธรรม์จะมีเงินเหลือคืนแต่เป็นจำนวนที่น้อยกว่าเบี้ยประกันชีวิตที่ชำระไปแล้ว แต่ส่วนหนึ่งที่ผู้เอาประกันชีวิตได้รับและการฝากเงินกับสถาบันการเงินอื่นไม่มี คือ ความคุ้มครอง เช่น ทำประกันชีวิตแบบคุ้มครองการตายเป็นเวลา 10 ปี (แบบชั่วระยะเวลา) หากเสียชีวิตในปีใดปีหนึ่ง เช่น ปีที่ 3 ก็จะได้รับเงินเอาประกันภัยเต็มตามจำนวนที่ระบุไว้ซึ่งมากกว่าจำนวนเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายไปแล้ว และหากเพิ่มการออมทรัพย์ ซึ่งขยายความคุ้มครองรวมไปถึงการได้รับเงินเอาประกันภัยคืนหากผู้เอาประกันชีวิตมีอยู่ยืนจนถึงครบกำหนดอายุกรมธรรม์ด้วย ดังนั้น จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งหากผู้ทำประกันชีวิตทุกคนรักษากรมธรรม์ไว้จนครบอายุสัญญา เพราะเป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงให้แก่ตนเองและบุคคลในครอบครัว ข้อแตกต่างที่สำคัญประการอื่น ๆ ยังมีอีกดังนี้ 1.ดอกเบี้ยที่บริษัทจ่ายไม่ได้คิดจากจำนวนเบี้ยประกันทั้งหมด แต่คิดจากส่วนของเงินออมทรัพย์เท่านั้น อาทิ ผู้เอาประกันจ่ายค่าประกันปีละ 100,000 บาท อาจจะมีส่วนเงินออมเพียง 20,000 บาท ดังนั้น ดอกเบี้ยร้อยละ 4-6 จึงคิดจากยอดเงินออม 20,000 บาท 2.บริษัทประกันชีวิตไม่ได้รับฝากเงิน เฉพาะธนาคารเท่านั้นที่รับฝากเงินได้ บริษัทประกันชีวิตเพียงแต่ดูและเงินออมของผู้เอาประกัน 3.สำหรับบุคคลซึ่งสามารถออมเงินได้ด้วยตนเองสม่ำเสมอ เช่น เดือนละ 3,000 บาท อาจใช้วิธีเก็บเงินออม และฝากธนาคารไว้เองโดยตรง เฉพาะหากออมได้เป็นระยะเวลานาน อาทิ 8-10 ปีขึ้นไป ผลตอบแทนจะมากกว่าการซื้อประกันชีวิต เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายและดอกเบี้ยธนาคารก็คิดจากเงินออมทั้งจำนวน