การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยผู้ชำนาญการ

ข้อมูลทั่วไป

           การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยผู้ชำนาญการ เป็นกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกอีกช่องทางหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองอย่าง “สะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง โปร่งใส ประหยัด และเป็นธรรม” โดยในปี ๒๕๕๙ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เปิด “ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านประกันภัย (Insurance Mediation Center) แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งถือว่าเป็นมิติใหม่ของการระงับข้อพิพาทด้านประกันภัยโดยนำวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมาใช้ในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องเรียนกับบริษัทประกันภัย และประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งก่อนที่จะมีการเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ ได้มีการออกระเบียบสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัย พ.ศ. ๒๕๕๙ โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติในการระงับข้อพิพาทด้านการประกันภัยไว้อย่างชัดเจน ทำให้ประชาชนที่มาร้องเรียนสามารถมีทางเลือกในการระงับข้อพิพาท ดังนี้ 

          (๑) เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้วจะต้องตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น และประสานงานบริษัทที่ถูกร้องเรียนเพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริง รวมถึงชี้แจงทำความเข้าใจกับคู่กรณี หากในขั้นตอนนี้สามารถตกลงกันได้ก็จะมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน

          (๒) หากตกลงกันไม่ได้ คู่กรณีก็สามารถเลือกใช้วิธีการไกล่เกลี่ย ซึ่งมีกระบวนตามระเบียบฯ ดังกล่าวรับรองอีกชั้นหนึ่ง โดยเมื่อคู่กรณีแจ้งความประสงค์เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย เจ้าหน้าที่จะนำเสนอเลขาธิการ เพื่อพิจารณาแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ยจากผู้ที่ขึ้นทะเบียนรายชื่อ โดยคำนึงถึงลักษณะของข้อร้องเรียนและความเหมาะสมของผู้ไกล่เกลี่ย เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดต่อไป

          (๓) คู่กรณีอาจคัดค้านผู้ไกล่เกลี่ยได้ หากปรากฏข้อเท็จจริงซึ่งเป็นเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางของผู้ไกล่เกลี่ย

          (๔) เมื่อมีการแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ยในข้อพิพาทแล้ว ให้สำนักงานประสานงานผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อจัดให้มีการเริ่มไกล่เกลี่ยภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่สำนักงานแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ย

          (๕) ผู้ไกล่เกลี่ยจะต้องดำเนินการไกล่เกลี่ยให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่เริ่มกระบวนการไกล่เกลี่ย หากผู้ไกล่เกลี่ยเห็นสมควรหรือคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ ผู้ไกล่เกลี่ยอาจขยายระยะเวลาในการดำเนินการไกล่เกลี่ยออกไปอีกก็ได้ ถ้าการขยายระยะเวลาดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ของคู่กรณีทุกฝ่าย และมิได้ทำให้การพิจารณาข้อพิพาทล่าช้าเกินสมควร ทั้งนี้ ให้ขยายระยะเวลาได้ไม่เกินสิบห้าวันและขยายได้ไม่เกินสองครั้ง โดยให้ขอขยายระยะเวลาก่อนครบกำหนด อย่างน้อยห้าวันทำการ

          (๖) หากคู่กรณีตกลงยุติข้อพิพาทได้ ให้ทำบันทึกความตกลงประนีประนอมยอมความ

          (๗) หากคู่กรณีไม่สามารถตกลงยุติข้อพิพาทได้ ให้เจ้าหน้าที่แจ้งคู่กรณีว่าสามารถนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการได้ต่อไป

 

Link ที่น่าสนใจ

 

เอกสารเผยแพร่

ขั้นตอนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัย

 

ระเบียบ/กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ระเบียบสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัย พ.ศ. ๒๕๕๙

 

สถิติการไกล่เกลี่ย

 

ติดต่อหน่วยงาน

ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านประกันภัย (Insurance Mediation Center)

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

๒๒/๗๙ ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ๑๐๙๐๐

โทรศัพท์ ๐-๒๕๑๕-๓๙๙๙ ต่อ ๗๖๕๓,๗๒๐๒ และ ๓๒๐๗

 

สถานะข้อมูล: 
ใช้งาน
ประกาศ ณ วันที่: 
Monday, June 4, 2561