ข่าว

คปภ. ลงพื้นที่ทันที เพื่อช่วยเหลือด้านประกันภัยกรณีอุบัติเหตุรถยนต์ BMW ข้ามเกาะไปชนรถยนต์ซูซูกิ เสียชีวิต 3 ราย ที่จังหวัดเพชรบูรณ์

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
16 June 2564

คปภ. ลงพื้นที่ทันที เพื่อช่วยเหลือด้านประกันภัยกรณีอุบัติเหตุรถยนต์ BMW ข้ามเกาะไปชนรถยนต์ซูซูกิ เสียชีวิต 3 ราย ที่จังหวัดเพชรบูรณ์

 
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีอุบัติเหตุรถยนต์เก๋งยี่ห้อ BMW ทะเบียน 3กก 7558 กทม. ข้ามเกาะกลางถนนไปเฉี่ยวชนรถยนต์เก๋งยี่ห้อซูซูกิ ทะเบียน 1ขฐ 9316 กทม. ที่หลักกิโลเมตรที่ 180-181 หมู่ที่ 7 ตำบลห้วยโป่ง อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บ 1 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2564 นั้น เบื้องต้น ได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 2 (นครสวรรค์) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดเพชรบูรณ์ ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบการทำประกันภัยพร้อมเร่งอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัย ตลอดจนติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัยและครอบครัว เพื่อใช้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
 
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. จังหวัดเพชรบูรณ์ ว่ารถยนต์เก๋งที่ประสบอุบัติเหตุในครั้งนี้ ได้ทำประกันภัยรองรับ ไว้ดังนี้ 
1. รถยนต์เก๋งยี่ห้อ BMW ทะเบียน 3กก 7558 กทม. ได้ทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ NCMI9008333262 เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 สิ้นสุดวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุด ไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000 - 500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน 
2. รถยนต์เก๋งยี่ห้อซูซูกิ ทะเบียน 1ขฐ 9316 กทม. ได้ทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ SMD/VVC/20-C6883089 เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 3 กันยายน 2563 สิ้นสุดวันที่ 3 กันยายน 2564 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุด ไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000-500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน และประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประเภท 1) กรมธรรม์เลขที่ SMD/VV1/20-11591276 เริ่มคุ้มครองวันที่ 3 กันยายน 2563 สิ้นสุดวันที่ 3 กันยายน 2564 โดยคุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย อนามัยของบุคคลภายนอก 500,000 บาทต่อคน แต่ไม่เกิน 10,000,000 บาทต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง ทรัพย์สินของบุคคลภายนอก 5,000,000 บาท ความเสียหายต่อรถยนต์ 490,000 บาทต่อครั้ง และคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลกรณีสูญเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ของผู้ขับขี่/ผู้โดยสาร (5 คน) 200,000 บาทต่อคน ค่ารักษาพยาบาล 200,000 บาทต่อคน และประกันตัวผู้ขับขี่ 200,000 บาท 
สำหรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียชีวิตทั้ง 3 ราย บริษัทประกันภัยดังกล่าวพร้อมจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับทายาทผู้เสียชีวิตโดยทันที หากได้ยื่นหลักฐานครบถ้วนแล้ว ในส่วนผู้บาดเจ็บขณะนี้นอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ได้ประสานกับบริษัทประกันภัยเข้าไปอำนวยความสะดวกและรับรองสิทธิค่ารักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลโดยตรง โดยผู้บาดเจ็บไม่ต้องสำรองจ่าย    
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. จะได้บูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่าผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บในอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่ หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก ก็จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้อีกด้วย
 
"ผมขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและมีความห่วงใยต่อผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุครั้งนี้ พร้อมจะดูแลในด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาและกับทุกคน เพื่อความอุ่นใจควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยเฉพาะการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) การประกันภัยรถภาคสมัครใจ และการประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัย สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
หมวดหมู่ข่าว: 

ประกาศ เรื่อง การรับสมัครสอบคัดเลือกเพื่อรับทุนการศึกษาสำหรับบุคคลภายนอก ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ประจำปี 2564

ประกาศสำนักงาน คปภ. เรื่อง การประกวดผลงานนักเรียนตามโครงการอัจฉริยะยุวชนประกันภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564

คปภ. ร่วมบูรณาการลงพื้นที่ช่วยเหลือด้านการประกันภัย กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานทินเนอร์และโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า ย่านบางขุนเทียน

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
06 June 2564

คปภ. ร่วมบูรณาการลงพื้นที่ช่วยเหลือด้านการประกันภัย กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานทินเนอร์และโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า ย่านบางขุนเทียน

 
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ บริษัท เซี่ยงไฮ้เพ้นท์แอนด์ฮาร์ดแวร์ จำกัด เลขที่ 45 ซอยท่าข้าม 14 ถนนท่าข้าม แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโรงงานผสมสี และได้ลุกลามไปติดโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าและฉีดพลาสติก ดำเนินกิจการโดย บริษัท กำจรอุตสาหกรรม จำกัด ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกันได้รับความเสียหายด้วย เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครเข้าไปช่วยดับเพลิงได้รับบาดเจ็บ 1 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิต แต่อย่างใด ในเบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ เร่งช่วยเหลือและสำรวจความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ ได้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการประกันภัยให้กับผู้ได้รับความเสียหาย จากเหตุการณ์เพลิงไหม้อย่างใกล้ชิดแล้ว รวมทั้งติดตามและตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัยของโรงงานดังกล่าว เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ได้รับความเสียหายอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
 
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ ว่า บริษัท เซี่ยงไฮ้เพ้นท์แอนด์ฮาร์ดแวร์ จำกัด และบริษัทกำจรอุตสาหกรรม จำกัด ได้ทำประกันภัยไว้ ดังนี้ 
1. บริษัท เซี่ยงไฮ้เพ้นท์แอนด์ฮาร์ดแวร์ จำกัด เลขที่ 45 ซอยท่าข้าม ถนนพระราม 2 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ได้ทำประกันอัคคีภัยไว้กับ บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันภัย จำกัด (มหาชน) 2 ฉบับ ได้แก่ กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยเลขที่ 015-FR-2021-0000261 เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 19 มีนาคม 2564 สิ้นสุดวันที่ 19 มีนาคม 2565 ซึ่งได้ขยายความคุ้มครองรวมถึงภัยลมพายุ ภัยน้ำท่วม ภัยแผ่นดินไหว ภัยลูกเห็บ ภัยเนื่องจากน้ำ และภัยจากการระเบิด จำนวนเงินเอาประกันภัย 4,613,000 บาท ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย คือ สิ่งปลูกสร้างรวมส่วนปรับปรุงต่อเติมอาคาร (ไม่รวมฐานราก) และกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัยเลขที่ 001-FR-2019-0084338 เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 25 ธันวาคม 2562 สิ้นสุดวันที่ 25 ธันวาคม 2565 จำนวนเงินเอาประกันภัย 1,022,720 บาท ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย คือ ตัวอาคารสำหรับบ้านพักคนงาน และโรงจอดรถ (ไม่รวมรากฐาน) 
2. บริษัท กำจรอุตสาหกรรม จำกัด เลขที่ 47 ซอยท่าข้าม ถนนพระราม 2 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ได้ทำประกันอัคคีภัยไว้กับ บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยเลขที่ 30-21-00010016 เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 สิ้นสุดวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 จำนวนเงินเอาประกันภัย 46,706,000 บาท ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย คือ คือ สิ่งปลูกสร้าง (ไม่รวมฐานราก) 26,500,000 บาท เฟอร์นิเจอร์ สิ่งตกแต่งติดตั้งตรึงตราและของใช้ต่าง ๆ 8,337,000 บาท สต๊อกสินค้า 1,300,000 บาท และเครื่องจักรและเครื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ 10,569,000 บาท 
สำหรับการติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัย โดยบริษัทประกันภัยดังกล่าวได้ลงพื้นที่เพื่อติดตาม และเร่งสำรวจภัยเพื่อประเมินความเสียหายแล้ว ทั้งนี้ ได้สั่งการให้สำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ เข้าร่วมบูรณาการเพื่อให้การจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยเป็นไปโดยเร็วและเป็นธรรม
 
"สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจกับผู้ประกอบการที่ประสบเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเช่นนี้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ จึงฝากเตือนมายังผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัย เพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยควรทำประกันอัคคีภัย หรือการประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ที่ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินต่าง ๆ ภายในโรงงานหรือสถานที่ประกอบการให้ครอบคลุมและเต็มมูลค่าของทรัพย์สินนั้น ๆ รวมถึงการประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก เพื่อที่ระบบประกันภัยจะได้เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยด้านประกันภัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. เร่งช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัย กรณีเพลิงไหม้ชุมชนรัชดาภิเษก 36 เขตจตุจักร

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
03 June 2564
คปภ. เร่งช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัย กรณีเพลิงไหม้ชุมชนรัชดาภิเษก 36 เขตจตุจักร
 
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในชุมชนซอยรัชดาภิเษก 36 แยก 9-3-2-1 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นชุมชนที่มีบ้านเรือนประชาชนปลูกติดกันหลายหลังคาเรือน ส่งผลให้เพลิงลุกไหม้อย่างรวดเร็วบ้านเรือนได้เสียหาย 7 หลัง เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 ซึ่งในช่วงเวลาที่เกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนและมีผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงพักอาศัยอยู่ไม่สามารถหนีออกมาได้ทำให้เสียชีวิต 3 ราย ในเบื้องต้น ได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์และสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ เร่งช่วยเหลือและสำรวจความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ ได้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวก  ด้านการประกันภัยให้กับประชาชนที่ได้รับความสูญเสียหรือเสียหายจากเหตุการณ์เพลิงไหม้อย่างใกล้ชิดแล้ว รวมทั้งติดตามและตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัยของผู้เสียชีวิตและบ้านเรือน เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทา เยียวยาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ได้รับความสูญเสียหรือเสียหายอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น ไม่พบว่าบ้านเรือนที่เสียหายทั้ง 7 หลัง ได้ทำประกันภัยไว้แต่อย่างใด และในส่วนของผู้เสียชีวิตทั้ง 3 ราย อยู่ในระหว่างเร่งตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัย
 
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวเนื่องกับไฟไหม้ อาทิ กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย และกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) ที่จะให้ความคุ้มครองกว้างกว่าอัคคีภัย เช่น ไฟไหม้ ฟ้าผ่า ระเบิด ภัยจากยวดยานพาหนะ ภัยน้ำท่วม ภัยแผ่นดินไหว ภัยลมพายุ ภัยลูกเห็บ การโจรกรรมและอุบัติเหตุจากสาเหตุที่ไม่ได้ระบุไว้ในข้อยกเว้น เป็นต้น ทั้งนี้ ประชาชนและผู้ประกอบการ สามารถเลือกซื้อการประกันภัยที่เหมาะสมกับสภาพความเสี่ยงของตนเองได้ โดยขอให้พิจารณาจากสถานที่ตั้ง และลักษณะการใช้อาคารของตนเอง รวมทั้งความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัยด้วย
นอกจากนี้ ยังมีกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยแบบประหยัดสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ซึ่งมีเบี้ยประกันภัยเพียง 400 บาทต่อปี ให้ความคุ้มครองสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่อยู่อาศัยถึง 3 ภัย คือ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า การระเบิด อีกทั้งคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติอีก 4 ภัย ได้แก่ ภัยลมพายุ ภัยแผ่นดินไหว และภัยลูกเห็บ และหากเกิดความเสียหายจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ จำเป็นต้องจัดหาที่พักชั่วคราวก็จะได้รับความคุ้มครองอีกไม่เกินวันละ 300 บาท ไม่เกิน 30 วัน 
 
“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ โดยอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และเมื่อเกิดขึ้นแล้วอาจก่อให้เกิดความสูญเสียหรือเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ดังนั้น จึงฝากเตือนมายังประชาชนควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัย เพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด จากสถานการณ์ปัจจุบัน สภาพอากาศแห้ง ความชื้นต่ำ ซึ่งง่ายต่อการเกิดอัคคีภัย สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยประชาชนทุกครัวเรือน ขอให้ป้องกันและระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดเหตุอัคคีภัย หมั่นตรวจสอบระบบสายไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย ไม่ชำรุด เพื่อลดความเสี่ยงภัยดังกล่าว และควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยด้วยเช่นกัน เพื่อให้การประกันภัยเข้ามาช่วยบรรเทา เยียวยาความสูญเสียหรือเสียหายต่าง ๆ ได้ ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. ลงพื้นที่ช่วยเหลือด้านการประกันภัย กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ห้างขายปลีก-ขายส่งเครื่องใช้สำนักงานและเครื่องเขียน ที่จังหวัดหนองคาย พร้อมบูรณาการประกันภัยจ่ายสินไหมทดแทน เยียวยาความเสียหายอย่างเป็นธรรม

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
03 June 2564

คปภ. ลงพื้นที่ช่วยเหลือด้านการประกันภัย กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ห้างขายปลีก-ขายส่งเครื่องใช้สำนักงานและเครื่องเขียน ที่จังหวัดหนองคาย พร้อมบูรณาการประกันภัยจ่ายสินไหมทดแทน เยียวยาความเสียหายอย่างเป็นธรรม

 
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ห้างหุ้นส่วนจำกัด เออีซี ซุปเปอร์ เลขที่ 380 หมู่ 6 ตำบลหนองกอมเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นห้างขายปลีก-ขายส่งเครื่องใช้สำนักงานและเครื่องเขียนขนาดใหญ่ ลักษณะอาคารชั้นเดียวเป็นคลังเก็บอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานและเครื่องเขียนที่ผลิตมาจากพลาสติก เป็นเหตุให้เพลิงลุกไหม้อย่างรวดเร็วทำให้ตัวอาคารที่เป็นห้างและคลังเก็บสินค้าไฟไหม้เสียหายทั้งหลัง โดยเบื้องต้นประเมินความเสียหายประมาณ 50 ล้านบาท เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บแต่อย่างใด ในเบื้องต้น ได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงาน คปภ. ภาค 3 (ขอนแก่น) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดหนองคาย เร่งช่วยเหลือและสำรวจความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยสำนักงาน คปภ. จังหวัดหนองคาย ได้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการประกันภัยให้กับผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์เพลิงไหม้อย่างใกล้ชิดแล้ว รวมทั้งติดตามและตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัยของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทา เยียวยาความเดือดร้อนให้กับผู้ได้รับความเสียหายอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
 
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. จังหวัดหนองคาย ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด เออีซี ซุปเปอร์ เลขที่ 380 หมู่ 6 ตำบลหนองกอมเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ได้ทำประกันอัคคีภัยซึ่งได้ขยายความคุ้มครองถึงภัยลมพายุและภัยจากการระเบิดไว้กับบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 521-01112-4565 เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 21 พฤษภาคม 2564  สิ้นสุดความคุ้มครอง วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 จำนวนเงินเอาประกันภัย 48,700,000 บาท ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย คือ สิ่งปลูกสร้างตัวอาคาร (ไม่รวมฐานราก) เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ 8,700,000 บาท และสต๊อกสินค้า 40,000,000 บาท
สำหรับการติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัย โดยบริษัทประกันภัยดังกล่าวได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามและเร่งสำรวจภัยเพื่อประเมินความเสียหายแล้ว ทั้งนี้ ได้สั่งการให้สำนักงาน คปภ. จังหวัดหนองคาย เข้าร่วมบูรณาการเพื่อให้การจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยเป็นไปโดยเร็วและเป็นธรรม
 
"สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจกับผู้ประกอบการที่ประสบเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเช่นนี้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ จึงฝากเตือนมายังผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยควรทำประกันอัคคีภัย หรือการประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินที่ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินต่าง ๆ ภายในอาคารหรือสถานที่ประกอบการ รวมถึงการประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก เพื่อที่ระบบประกันภัยจะได้เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
 
หมวดหมู่ข่าว: 

ทันสถานการณ์! เลขาธิการ คปภ. ออกคำสั่งให้ประกันภัยการแพ้วัคซีนโควิด-19 คุ้มครองไปถึงกรณีฉีดวัคซีนโควิด ณ จุดบริการนอกโรงพยาบาลฯ ด้วย เพื่อให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองด้านประกันภัยเต็มที่

< >
วันที่เผยแพร่: 
01 June 2564
ทันสถานการณ์! เลขาธิการ คปภ. ออกคำสั่งให้ประกันภัยการแพ้วัคซีนโควิด-19 คุ้มครองไปถึงกรณีฉีดวัคซีนโควิด ณ จุดบริการนอกโรงพยาบาลฯ ด้วย เพื่อให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองด้านประกันภัยเต็มที่
 
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันยังส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง การฉีดวัคซีนโควิด-19 จึงมีความจำเป็นอย่างมากในการป้องกันการแพร่ระบาด และลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการติดเชื้อ ซึ่งภาครัฐได้กำหนดแผนการเร่งฉีดวัคซีนตามแนวทางการขยายหน่วยบริการ โดยสนับสนุนให้องค์กร หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการฉีดวัคซีน ณ จุดบริการนอกโรงพยาบาล/สถานพยาบาลเวชกรรม เช่น จุดบริการในห้างสรรพสินค้า หรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและการเข้าถึงวัคซีนของประชาชน รวมทั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการฉีดวัคซีนให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และทั่วถึง ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยการแพ้วัคซีนโควิด-19 เพื่อเป็นเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงและสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนที่เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยการประกันภัยแพ้วัคซีนโควิด-19 จะให้ความคุ้มครอง หากผู้เอาประกันภัยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่ามีอาการแพ้หรือผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19  ซึ่งในปัจจุบันมีผลประโยชน์ความคุ้มครองหลายรูปแบบให้ประชาชนสามารถเลือกซื้อได้ อาทิ เช่น ผลประโยชน์การเกิดเจ็บป่วยระยะสุดท้าย และ/หรือภาวะโคม่า และ/หรือภาวะสมองตายและระบบประสาทล้มเหลว ผลประโยชน์การรักษาพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน และผลประโยชน์เงินชดเชยรายวันจากการเป็นผู้ป่วยใน เป็นต้น โดยบริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขผลประโยชน์ที่ระบุไว้ และโดยปกติจะเป็นการฉีดวัคซีนในโรงพยาบาลทั่วไป
 
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อรองรับนโยบายของภาครัฐและสนับสนุนแผนดำเนินการของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ในการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยง รวมทั้งเพื่อให้ผู้เอาประกันภัยที่ซื้อความคุ้มครองผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ยังคงได้รับความคุ้มครองเช่นเดิมตามเงื่อนไขทั่วไปของกรมธรรม์ประกันภัย ดังนั้น ตนในฐานะนายทะเบียนจึงได้ออกคำสั่ง   นายทะเบียนที่ 26/2564 เรื่อง การให้ความคุ้มครองกรณีได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือสัญญาเพิ่มเติม สําหรับบริษัทประกันชีวิต และคำสั่งนายทะเบียนที่ 27/2564 เรื่อง การให้ความคุ้มครองกรณีได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือเอกสารแนบท้าย สําหรับบริษัทประกันวินาศภัย ซึ่งคำสั่งนายทะเบียนทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว กำหนดให้บริษัทประกันภัยให้ความคุ้มครองผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่กระทำการโดยแพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรที่ได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่ว่าจะดําเนินการ ณ สถานที่ใดก็ตาม ผู้เอาประกันภัยจะยังได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย เช่นเดียวกับการฉีดวัคซีนในโรงพยาบาลทั่วไป 
 
จากข้อมูล ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2564 มีบริษัทประกันภัยได้รับความเห็นชอบกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 25 บริษัท และมี 10 บริษัทที่จำหน่ายแก่บุคคลทั่วไปแล้ว โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน - 15 พฤษภาคม 2564 มียอดซื้อประกันภัยรวมทั้งสิ้น 800,269 ฉบับ เบี้ยประกันภัย 96,931,810 บาท และมียอดการจ่ายค่าสินไหมทดแทน 105,190 บาท  
 
“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงขยายวงกว้าง และเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ๆ ในหลายพื้นที่ รวมถึงมีการติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นสายพันธุ์ใหม่ๆ ด้วย ดังนั้น ทุกคนต้องระมัดระวังและช่วยกันป้องกันการแพร่ระบาด อีกทั้งเตรียมความพร้อมในการเข้ารับฉีดวัคซีน ในขณะเดียวกันเมื่อได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ระบบประกันภัยก็พร้อมเข้าไปช่วยเยียวยาได้อย่างเต็มที่ในทุกมิติ จึงหวังว่าการออกคำสั่งนายทะเบียนทั้งสองฉบับนี้จะช่วยลดข้อโต้แย้ง และเป็นการดูแลประชาชนผู้ทำประกันภัยแพ้วัคซีนโควิด-19 มีความมั่นใจยิ่งขึ้นว่า เมื่อเกิดอาการไม่พึ่งประสงค์จากการแพ้วัคซีนที่มีการฉีดในสถานที่ใด ๆ ที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง ก็จะได้รับความคุ้มครองจากสัญญาประกันภัยที่ทำไว้ทุกประการ โดยสำนักงาน คปภ. พร้อมที่จะดูแลด้านการประกันภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ Add Line Official @oicconnect” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ไฟล์ต่างๆ: 
AttachmentSize
Image icon s_32710993.jpg139.93 KB
หมวดหมู่ข่าว: 

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยี มาสนับสนุนการให้บริการสำหรับธุรกิจประกันภัย (Insurance Regulatory Sandbox) พ.ศ. 2564

คปภ. ลงพื้นที่ช่วยเหลือด้านการประกันภัย กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานพลาสติก ย่านสายไหม พร้อมบูรณาการประกันภัยจ่ายสินไหมทดแทน เยียวยาความเสียหายอย่างเป็นธรรม

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
18 May 2564

คปภ. ลงพื้นที่ช่วยเหลือด้านการประกันภัย กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานพลาสติก ย่านสายไหม พร้อมบูรณาการประกันภัยจ่ายสินไหมทดแทน เยียวยาความเสียหายอย่างเป็นธรรม

 
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ บริษัท เอมสเทรด จำกัด เลขที่ 17/7 ถนนสุขาภิบาล 5 ซอย 39 แขวงออเงิน เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกและโฟม และเป็นโกดังขนาดใหญ่สูง 2 ชั้น รวม 4 โกดัง บนเนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ เป็นเหตุให้สินค้าและวัตถุดิบ รวมถึงอาคารไฟไหม้เสียหายจำนวนมากและยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 โดยเหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บแต่อย่างใด ในเบื้องต้น ได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และสำนักงาน คปภ. เขตบางนา เร่งช่วยเหลือและสำรวจความเสียหายอย่างเร่งด่วน ผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยสำนักงาน คปภ. เขตบางนา ได้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการประกันภัยให้กับผู้ได้รับความเสียหาย จากเหตุการณ์เพลิงไหม้อย่างใกล้ชิดแล้ว รวมทั้งติดตามและตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัยของโรงงานดังกล่าว เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ได้รับความเสียหายอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
 
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. เขตบางนา ว่า บริษัท เอมสเทรด จำกัด และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทำประกันภัยไว้ ดังนี้ 
1. บริษัท เอมสเทรด จำกัด เลขที่ 17/7 ถนนสุขาภิบาล 5 ซอย 39 แขวงออเงิน เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร ได้ทำประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 07896-63181/POL/001419-051 เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 5 มิถุนายน 2563 สิ้นสุดวันที่ 5 มิถุนายน 2564 จำนวนเงินเอาประกันภัย 11,300,000 บาท  ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย คือ สิ่งปลูกสร้างตัวอาคาร (ไม่รวมฐานราก) 10,300,000 บาท และเฟอร์นิเจอร์ 1,000,000 บาท
2. บริษัท ป๊อปปูล่า อินเตอร์พลาส จำกัด เลขที่ 23 หมู่ที่ 2 ถนนกิ่งแก้ว ตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ (ผู้ให้เช่าอาคาร) ได้ทำประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 07896-63181/POL/001588-051 เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 5 มิถุนายน 2563 สิ้นสุดวันที่ 5 มิถุนายน 2564 จำนวนเงินเอาประกันภัย 60,157,000 บาท ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย คือ สต๊อกสินค้า 35,837,000 บาท เครื่องจักร 24,320,000 บาท และได้ทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินแบบพิเศษ ไว้กับบริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ IA030648-21NBK เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 7 เมษายน 2564 สิ้นสุดวันที่ 7 เมษายน 2565 จำนวนเงินเอาประกันภัย 90,657,000 บาท ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย คือ สต๊อกสินค้า 28,000,000 บาท เครื่องจักร 40,000,000 บาท และโซล่าร์เซลล์ 22,657,000 บาท
สำหรับการติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัย โดยบริษัทประกันภัยดังกล่าวได้ลงพื้นที่เพื่อติดตาม และเร่งสำรวจภัยเพื่อประเมินความเสียหายแล้ว ทั้งนี้ ได้สั่งการให้สำนักงาน คปภ. เขตบางนา เข้าร่วมบูรณาการเพื่อให้การจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยเป็นไปโดยเร็วและเป็นธรรม
 
"สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจกับผู้ประกอบการที่ประสบเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเช่นนี้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ จึงฝากเตือนมายังผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัย เพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยควรทำประกันอัคคีภัย หรือการประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ที่ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินต่าง ๆ ภายในโรงงานหรือสถานที่ประกอบการ รวมถึงการประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก เพื่อที่ระบบประกันภัยจะได้เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
หมวดหมู่ข่าว: 

เลขาธิการ คปภ. นำคณะผู้บริหาร สำนักงาน คปภ. บันทึกเทปถวายพระพรชัยมงคลสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
13 May 2564
เลขาธิการ คปภ. นำคณะผู้บริหาร สำนักงาน คปภ. บันทึกเทปถวายพระพรชัยมงคลสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี
 
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) นำคณะผู้บริหาร สำนักงาน คปภ. บันทึกเทปถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน 2564 เพื่อร่วมแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี ณ สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 MCOT HD เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564
 
หมวดหมู่ข่าว: 

Pages

Subscribe to RSS - ข่าว