ข่าว

คปภ. ร่วมบูรณาการลงพื้นที่ช่วยเหลือด้านการประกันภัย กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ ย่านชุมชนวอล์กกิ้งสตรีท พัทยาใต้

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
13 September 2564

คปภ. ร่วมบูรณาการลงพื้นที่ช่วยเหลือด้านการประกันภัย กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ ย่านชุมชนวอล์กกิ้งสตรีท พัทยาใต้

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ ร้านเดอะนัชชา เลขที่ 147/1 ถนนวอล์กกิ้งสตรีท พัทยาใต้ ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นร้านอาหารและผับ ดำเนินกิจการโดยบริษัท คาสเซิล กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และเพลิงได้ลุกลามไปยังอาคารข้างเคียงกว่า 10 คูหา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2564 ในเบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงาน คปภ. ภาค 6 (ชลบุรี) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดชลบุรี เร่งช่วยเหลือและสำรวจความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยสำนักงาน คปภ. ภาค 6 (ชลบุรี) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดชลบุรี ได้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการประกันภัยให้กับผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์เพลิงไหม้แล้ว รวมทั้งติดตามและตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัยของโรงงานดังกล่าว เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ได้รับความเสียหายอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
 
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. จังหวัดชลบุรี ว่าบริษัท คาสเซิล กรุ๊ปอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้จัดทำประกันภัยไว้กับบริษัท ชับบ์สามัคคีประกันภัย จำกัด (มหาชน) ดังนี้
1. การประกันภัยอัคคีภัย 2 กรมธรรม์ ได้แก่ กรมธรรม์เลขที่ 401-21-11-104-00016 (ร้านร้านเดอะนัชชา) เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 8 เมษายน 2564 สิ้นสุดวันที่ 8 เมษายน 2565 จำนวนเงินเอาประกันภัย 120,000,000 บาท และกรมธรรม์เลขที่ 401-20-11-109-00015 (ร้านอาหาร ฟุซเบกิสถาน) เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 23 กันยายน 2563 สิ้นสุดวันที่ 23 กันยายน 2564 จำนวนเงินเอาประกันภัย 70,000,000 บาท ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย คือ สิ่งปลูกสร้างตัวอาคาร (ไม่รวมฐานราก) และส่วนปรับปรุงอาคาร เฟอร์นิเจอร์ สิ่งตกแต่งติดตั้งตรึงตราและอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงสต๊อกสินค้า 
2. การประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ตามกรมธรรม์เลขที่ CPL0020902 เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 25 ธันวาคม 2563 สิ้นสุดวันที่ 25 ธันวาคม 2564 ให้ความคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัย หรือลูกจ้างของผู้เอาประกันภัย ต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีของบุคคลภายนอก อันเกิดขึ้นจากการละเมิด หรือประมาทเลินเล่อของผู้เอาประกันภัย หรือลูกจ้าง จำนวนเงินจำกัดความรับผิดไม่เกิน 5,000,000 บาทต่อเหตุการณ์และตลอดระยะความคุ้มครอง
สำหรับการติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัย โดยบริษัทประกันภัยดังกล่าวได้ลงพื้นที่เพื่อติดตาม และเร่งสำรวจภัยเพื่อประเมินความเสียหายแล้ว ทั้งนี้ ได้สั่งการให้สำนักงาน คปภ. จังหวัดชลบุรี เข้าร่วมบูรณาการเพื่อให้การจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยเป็นไปโดยเร็วและเป็นธรรม
 
"สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจกับผู้ประกอบการและประชาชนที่ประสบเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเช่นนี้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ จึงฝากเตือนมายังผู้ประกอบการและประชาชนควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยควรทำประกันอัคคีภัย หรือการประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ที่ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินต่าง ๆ ภายในอาคารหรือสถานที่ประกอบการให้ครอบคลุมและเต็มมูลค่าของทรัพย์สินนั้น ๆ รวมทั้งการทำประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักที่ให้ความคุ้มครองค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากกรณีที่ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ตามระยะเวลาและรายได้ที่ขาดหายไป ในระหว่างที่กำลังซ่อมแซม ตลอดจนการประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ที่ให้ความคุ้มครองกรณีที่ผู้ประกอบการมีความรับผิดต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลอื่น และการประกันภัยประเภทอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับลักษณะความเสี่ยงของผู้ประกอบการ เพื่อที่ระบบประกันภัยจะได้เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยด้านประกันภัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ Line Chatbot@Oicconnect ข้อมูลอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
 
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. ถือฤกษ์เปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนประกันภัยโควิด-19 ออฟไลน์-ออนไลน์ เพื่อดูแลสิทธิประโยชน์ของประชาชน เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา 14 ปี

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
09 September 2564

คปภ. ถือฤกษ์เปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนประกันภัยโควิด-19 ออฟไลน์-ออนไลน์ เพื่อดูแลสิทธิประโยชน์ของประชาชน เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา 14 ปี

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนประกันภัยโควิด-19 สำนักงาน คปภ. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้เอาประกันภัย ที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบกรณีบริษัทประกันภัยจ่ายเคลมประกันภัยโควิด-19 ล่าช้า โดยมีคณะผู้บริหาร คปภ. พนักงานและลูกจ้าง สำนักงาน คปภ. ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เข้าร่วมเปิดศูนย์ฯ ผ่านระบบ Microsoft Team 
  
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวเปิดศูนย์ฯ ในตอนหนึ่งว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ยังคงส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อประชาชนและภาคธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบกรณีบริษัทประกันภัยจ่ายเคลมประกันภัยโควิด-19 ล่าช้า สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย ได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนจากผลกระทบในกรณีดังกล่าวของประชาชนผู้เอาประกันภัย โดยได้ออก 7 มาตรการเร่งด่วนเพื่อกำกับดูแลบริษัทประกันภัยที่เสนอขายประกันภัยโควิด-19 อย่างใกล้ชิดไปแล้ว ดังนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกเพิ่มเติมให้กับประชาชนผู้เอาประกันภัยควบคู่กับการดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วนดังกล่าว จึงตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนประกันภัยโควิด-19 โดยเฉพาะขึ้น โดยถือฤกษ์เปิดให้บริการในวันนี้ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงาน คปภ. ครบ 14 ปี โดยศูนย์ฯ แห่งนี้จะรับเรื่องร้องเรียนกรณีบริษัทประกันภัยจ่ายเคลมประกันภัยโควิด-19 ล่าช้า ซึ่งแยกจากช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนปกติ โดยจะบูรณาการร่วมกับคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านประกันภัยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และคณะทำงานชุดย่อยทั้ง 4 ชุด ของสำนักงาน คปภ. ที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้จะจัดทีมรับเรื่องร้องเรียนดังนี้ ทีมรับเรื่องเจอจ่ายจบ ทีมรับเรื่องค่าชดเชยรายวัน ทีมรับเรื่องค่ารักษาพยาบาล และทีมรับเรื่องเกี่ยวกับประเด็นอื่น ๆ เพื่อให้บริการแบบครบวงจร One Stop Service และครอบคลุมในทุกมิติความคุ้มครองของการประกันภัยโควิด-19  นอกจากนี้ ผู้เอาประกันภัยยังสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนและติดตามความคืบหน้าผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งได้เปิดช่องทางสำหรับประกันภัยโควิด-19 โดยเฉพาะ ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยไม่สะดวกเดินทางมายื่นเรื่องร้องเรียนที่ศูนย์ฯ   
ทั้งนี้ มีสถิติเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ข้อมูล ณ วันที่ 3 กันยายน 2564 โดยมีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 3,145 เรื่อง และประเด็นเรื่องร้องเรียนที่พบมากสุด คือ บริษัทประกันภัยยังไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบเจอจ่ายจบ  
 
“ผมหวังว่าการเปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนประกันภัยโควิด-19 โดยเฉพาะขึ้น ทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้เอาประกันภัยได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สำนักงาน คปภ. พร้อมจะดำเนินการ ในทุกมาตรการเร่งด่วนเพื่อให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยทุกคนได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 จึงเชื่อว่าผลกระทบจากกรณีปัญหาการจ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้าจะคลี่คลายโดยเร็ว ทั้งนี้ หากต้องการร้องเรียนกรณีดังกล่าวหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนประกันภัยโควิด-19 สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก หรือ www.oic.or.th หรือสายด่วน คปภ.1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
 
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. เพิ่ม 4 มาตรการเร่งด่วน เร่งแก้ปัญหาบริษัทประกันจ่ายค่าเคลมประกันโควิดล่าช้า เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยแก่ประชาชน

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
07 September 2564

คปภ. เพิ่ม 4 มาตรการเร่งด่วน เร่งแก้ปัญหาบริษัทประกันจ่ายค่าเคลมประกันโควิดล่าช้า เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยแก่ประชาชน

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 ได้มีผู้เอาประกันภัยหลายรายมายื่นเรื่องร้องเรียนที่สำนักงาน คปภ. กรณีบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง ปฏิเสธและปิดช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนประกันภัยโควิด-19 โดยสำนักงาน คปภ. ได้อำนวยความสะดวกและรับเรื่องร้องเรียนของผู้เอาประกันภัยไว้ทุกราย เพื่อช่วยติดตามและสั่งการให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามคำสั่งสำนักงาน คปภ. เรื่อง ให้แก้ไขเพิ่มเติมคู่มือ ระบบงาน และกระบวนการดำเนินการพิจารณาและจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2564 โดยเคร่งครัด 

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ที่มีบริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันภัยโควิดล่าช้า สำนักงาน คปภ. ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ด้วยความห่วงใยและตระหนักถึงความเดือดร้อนของผู้เอาประกันภัยเป็นอย่างยิ่ง โดยได้ส่งทีมงานจากสายตรวจสอบ ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์และติดตาม การปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และในวันนี้ ได้มีการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านประกันภัยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และคณะทำงานชุดย่อยทั้ง 4 ชุด ของสำนักงาน คปภ. เพื่อหารือเกี่ยวกับการบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนและดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายกับบริษัท    ที่มีเจตนาประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 โดยได้เชิญผู้บริหารบริษัทประกันภัย มาให้ข้อมูลและชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีที่บริษัทฯ ปฏิเสธและปิดช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนของผู้เอาประกันภัยที่เข้าร้องเรียนและติดตามทวงถามการจ่ายเคลมประกันโควิด-19 รวมถึงกรณีที่ไม่สื่อสารที่สร้างความเข้าใจให้กับผู้เอาประกันภัย ตลอดจน  ได้แจ้งมาตรการทางกฎหมายที่จะดำเนินการ หากยังคงฝ่าฝืนคำสั่งฯ และประกาศฯ ที่เกี่ยวข้อง 
ทั้งนี้ สำนักงานฯ ได้กำหนดมาตรการเร่งด่วน 4 มาตรการเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้   
1. เร่งดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย กรณีบริษัทกระทำการเข้าข่ายเป็นความผิดฐานประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งมีบทลงโทษตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน หรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2549 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 20,000 บาท โดยจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ ในวันอังคารที่ 14 กันยายน 2564 และหากพบว่าบริษัทประกันภัยแห่งใด จงใจฝ่าฝืนมาตรการดังกล่าว ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน ก็จะยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยฯ 
2. ให้บริษัทฯ เร่งรัดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันภัยโควิด-19 ให้แล้วเสร็จ โดยในสัปดาห์หน้าจะเชิญผู้เกี่ยวข้องของบริษัทฯ มาชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องที่มีการร้องเรียนในแต่ละกรณีเพื่อให้สามารถยุติเรื่องร้องเรียนโดยเร็ว
3. ให้บริษัทฯ ปรับปรุงหน่วยงานรองรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนและเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับประกันภัยโควิด-19 โดยเพิ่มบุคลากรให้เพียงพอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ผู้เอาประกันภัย และให้นำระบบออนไลน์มาใช้ในการบริหารจัดการการรับเรื่องร้องเรียนและการติดตามความคืบหน้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เอาประกันภัย และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาที่บริษัทฯ รวมทั้งลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของผู้เอาประกันภัย 
4. ให้บริษัทฯ เร่งปรับปรุงและเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้เอาประกันภัยให้ถูกต้องและชัดเจน 
 
“สำนักงาน คปภ. ขอให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนว่าจะดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัยอย่างเต็มที่และเต็มความสามารถ โดยจะใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดกับทุกบริษัทที่ฝ่าฝืนกฎหมาย พร้อมทั้งจะติดตามและดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วนอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เพื่อกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้บริหารจัดการการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนจะบูรณาการเพื่อแก้ไขกรณีการจ่ายเคลมประกันภัยโควิด-19 ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ   ที่เกี่ยวข้อง จึงเชื่อว่าปัญหาการจ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้าจะคลี่คลายโดยเร็ว ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องประกันภัย ติดต่อได้ที่สายด่วน คปภ.1186 หรือ Add Line Official@oicconnect หรือ website คปภ. www.oic.or.th” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
 
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. เร่งรัดบริษัทประกันภัยกรณีจ่ายเคลมประกันโควิดล่าช้า พร้อมเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
03 September 2564

คปภ. เร่งรัดบริษัทประกันภัยกรณีจ่ายเคลมประกันโควิดล่าช้า พร้อมเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีผู้เอาประกันภัยหลายรายเข้าติดตามทวงถามเกี่ยวกับเคลมประกันภัยโควิด-19 ที่สำนักงานของบริษัทประกันวินาศภัยบางแห่งนั้น สำนักงาน คปภ. ได้ติดตามสถานการณ์ด้วยความห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง โดยได้ออก 3 มาตรการเร่งด่วนเพื่อกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วยมาตรการเข้าตรวจสอบข้อมูลบริษัทในเชิงลึก เพื่อติดตามสภาพปัญหาและกำชับการดำเนินการ มาตรการออกคำสั่งซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564          และมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเรื่องร้องเรียน ทั้งในส่วนเรื่องร้องเรียนที่ยื่นมายังสำนักงาน คปภ. และที่ยื่นที่บริษัทประกันภัยโดยตรง ตามที่ได้เสนอข่าวไปก่อนหน้าแล้ว 
 
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากสำนักงาน คปภ. ได้ออก 3 มาตรการเร่งด่วนดังกล่าวแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ได้มีการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านประกันภัยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ของสำนักงาน คปภ. เพื่อหารือเกี่ยวกับการขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวและการดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายกับบริษัทที่มีเจตนาประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการของสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์และสายกฎหมายและคดี โดยสำนักงาน คปภ. จะบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังได้ออกคำสั่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพิ่มอีก 4 ชุด เพื่อช่วยกลั่นกรองและพิจารณาเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย กรณีที่มีปัญหาข้อโต้แย้ง อีกทั้งได้หารือเกี่ยวกับปัญหาข้อโต้แย้งต่าง ๆ ในทางปฏิบัติที่ทำให้การจ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้า โดยขั้นตอนต่อไปจะหารือร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น กระทรวงสาธารณสุข แพทยสภา สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สภาองค์กรผู้บริโภค สมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ภายในวันที่ 15 กันยายน 2564 เพื่อให้เกิดความชัดเจนและใช้เป็นแนวทางปฏิบัติให้ตรงกันต่อไป
ในส่วนของทีมตรวจสอบ ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยจากการเข้าตรวจสอบพบว่า บริษัทประกันวินาศภัยดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 เพื่อให้สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และอยู่ระหว่างแจ้งผู้เอาประกันภัยเพื่อนัดจ่ายค่าสินไหมทดแทนแล้ว อย่างไรก็ตาม คำสั่งสำนักงาน คปภ. เรื่อง ให้แก้ไขเพิ่มเติมคู่มือ ระบบงาน และกระบวนการดำเนินการพิจารณาและจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2564 กำหนดให้บริษัทต้องจัดตั้งหน่วยงานรับเรื่องเรียกร้องเคลมประกันภัยโควิด-19 เป็นการเฉพาะขึ้น และให้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานประกอบการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนให้เสร็จใน 3 วัน หากเอกสารหลักฐานครบถ้วน ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนภายใน 15 วัน แต่หากพบว่าเอกสารหลักฐานประกอบไม่ครบถ้วน ต้องแจ้งผู้เอาประกันภัย ภายในวันเดียวกับที่ตรวจพบ และให้จ่ายสินไหมทดแทนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับเอกสารหลักฐานครบถ้วนแล้ว ส่วนในกรณีมีปัญหาการตีความและหาข้อยุติไม่ได้ ให้บริษัทเสนอความเห็นต่อสำนักงาน คปภ. ภายใน 7 วัน พร้อมทั้งรายงานผลทุก 15 วัน เพื่อให้คณะทำงานเฉพาะกิจฯ ดำเนินการต่อไป ซึ่งคำสั่งนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันโควิด-19 ของบริษัทฯ และจะช่วยให้สำนักงาน คปภ. สามารถเข้าไปดูแลปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ใกล้ชิดและเป็นธรรม
 
“ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ายอดเคลมประกันภัยโควิด-19 มีจำนวนมาก จากการเข้าตรวจสอบข้อมูลของบริษัทฯ พบว่ามีปริมาณกว่า 1,000 รายต่อวัน ทำให้ประเด็นหลักคือปัญหาการดำเนินการจ่ายสินไหมทดแทนล่าช้า มิใช่การเบี้ยวที่จะไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทน ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะเข้าไปดำเนินการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดในทุกมิติเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างต่าง ๆ ขึ้น พร้อมทั้งจะบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายโดยเคร่งครัด เพื่อให้ประชาชนได้รับสิทธิประโยชน์          ตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นธรรม จึงเชื่อว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
 
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. ตั้งศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือด้านประกันภัย กรณีน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่จังหวัดชลบุรี สมุทรปราการ และระยอง

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
31 August 2564

คปภ. ตั้งศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือด้านประกันภัย กรณีน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่จังหวัดชลบุรี สมุทรปราการ และระยอง 

พบรถยนต์เสียหายที่มีประกันภัยคุ้มครอง ประเมินมูลค่าเบื้องต้นกว่า 12 ล้านบาท  

 

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีฝนตกหนักในหลายจังหวัดทางภาคตะวันออกของประเทศไทยและเกิดน้ำท่วมฉับพลัน จนสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน บ้านเรือน และรถยนต์ ของประชาชนเป็นจำนวนมากในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2564 ในเบื้องต้น ได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 6 (ชลบุรี) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดชลบุรี สำนักงาน คปภ. จังหวัดสมุทรปราการ และสำนักงาน คปภ. จังหวัดระยอง เร่งให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัยและสำรวจความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ได้รับความเสียหาย รวมทั้งติดตามและตรวจสอบข้อมูลด้วยว่าบ้านเรือน รถยนต์ และทรัพย์สินอื่น ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุน้ำท่วมในครั้งนี้ มีการทำประกันภัยรองรับไว้ หรือไม่

  

ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. จังหวัดในพื้นที่ที่ได้ตรวจสอบข้อมูลความเสียหายและข้อมูลการทำประกันภัย วันที่ 30 สิงหาคม 2564 พบว่า มีรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วม เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และมีประกันภัยคุ้มครอง รวมประเมินมูลค่าความเสียหายเบื้องต้น 6,642,800 บาท กับ 12 บริษัท ดังนี้ 1) บมจ. วิริยะประกันภัย 3,038,000 บาท 2) บมจ. กรุงเทพประกันภัย 243,300 บาท 3) บมจ. ทิพยประกันภัย 158,500 บาท 4) บมจ. ธนชาตประกันภัย อยู่ระหว่างประเมินความเสียหาย 5) บมจ. โตเกียวมารีนประกันภัย 1,770,000 บาท 6) บมจ. เทเวศประกันภัย 18,000 บาท 7) บมจ. แอกซ่าประกันภัย 1,110,000 บาท 8) บมจ. ไอโออิ กรุงเทพ ประกันภัย 115,000 บาท 9) บมจ. เมืองไทยประกันภัย 40,000 บาท 10) บมจ. แอลเอ็มจี ประกันภัย 90,000 บาท 11) บมจ. กรุงไทยพานิชประกันภัย 30,000 บาท และ 12) บมจ. ไทยศรีประกันภัย  30,000 บาท 

สำหรับรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ และมีประกันภัยคุ้มครอง รวมประเมินมูลค่าความเสียหายเบื้องต้น 2,970,100 บาท กับ 5 บริษัท ดังนี้ 1) บมจ. ทิพยประกันภัย 244,400 บาท 2) บมจ. ไอโออิ กรุงเทพ ประกันภัย 154,000 บาท 3) บมจ. อาคเนย์ประกันภัย 2,497,000 บาท 4) บมจ. กรุงเทพประกันภัย 74,700 บาท และ 5) บมจ. แอลเอ็มจี ประกันภัย อยู่ระหว่างประเมินความเสียหาย 

 

 

ในส่วนของรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดระยอง และมีประกันภัยคุ้มครอง รวมประเมินมูลค่าความเสียหายเบื้องต้น 2,425,000 บาท กับ 5 บริษัท ดังนี้ 1) บมจ. วิริยะประกันภัย 2,150,000 บาท 2) บมจ. ธนชาตประกันภัย 180,000 บาท 3) บมจ.ทิพยประกันภัย 40,000 บาท 4) บมจ. เทเวศประกันภัย 50,000 บาท และ 5) บมจ. นำสินประกันภัย 5,000 บาท

ทั้งนี้ ในส่วนของความเสียหายที่เกี่ยวกับบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย พืชผลทางการเกษตร และทรัพย์สินอื่น ประชาชนอยู่ระหว่างตรวจสอบความเสียหายและข้อมูลการทำประกันภัย โดยมอบหมายให้สำนักงาน คปภ. ภาค 6 (ชลบุรี) ตั้งศูนย์เฉพาะกิจด้านประกันภัยในพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในการเคลมประกันน้ำท่วม มีผู้อำนวยการภาคอาวุโส สำนักงาน คปภ. ภาค 6 (ชลบุรี) เป็นหัวหน้าศูนย์เฉพาะกิจฯ หมายเลขโทรศัพท์ 093-129-9462 สำหรับในส่วนเสียหายของรถยนต์ที่มีประกันภัยคุ้มครองและแจ้งเคลมความเสียหายกับบริษัทประกันภัยแล้ว จะติดตามเพื่อให้การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยเป็นไปโดยเร็วและเป็นธรรม 

 

การตั้งศูนย์เฉพาะกิจฯ ในครั้งนี้ หวังว่าพี่น้องประชาชนจะได้รับความสะดวก รวดเร็ว ในการเคลมประกันน้ำท่วมมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ภัยธรรมชาติและภัยพิบัติรูปแบบต่าง ที่เกิดขึ้น ได้สร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก จึงขอให้พี่น้องประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญและทำประกันภัยให้มากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการรองรับความเสี่ยงภัยต่าง ให้กับตนเอง ครอบครัว รวมทั้งทรัพย์สินต่าง ด้วย หากมีข้อสงสัยด้านประกันภัยสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ Add Line Official@oicconnectเลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. ออก 3 มาตรการเร่งด่วนเฉพาะกิจกับบริษัทประกันภัยที่ขายประกันภัยโควิด-19 เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค กรณีเรื่องร้องเรียนการจ่ายเคลมประกันโควิด-19

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
30 August 2564

คปภ. ออก 3 มาตรการเร่งด่วนเฉพาะกิจกับบริษัทประกันภัยที่ขายประกันภัยโควิด-19 เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค กรณีเรื่องร้องเรียนการจ่ายเคลมประกันโควิด-19 

 
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีประชาชนจำนวนหนึ่งร้องเรียนกรณีบริษัทประกันภัยบางแห่งจ่ายเคลมประกันภัยโควิด-19 “แบบเจอจ่ายจบ” ล่าช้า โดยได้ยื่นเรื่องร้องเรียนทั้งที่สำนักงาน คปภ. และบริษัทประกันภัยโดยตรง รวมทั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งกรณีเรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้น สำนักงาน คปภ. ไม่ได้นิ่งนอนใจและมีความห่วงใยต่อประชาชนผู้เอาประกันภัย ได้กำชับให้บริษัทประกันภัยดำเนินการในเรื่องดังกล่าวโดยเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยได้รับความคุ้มครองตามสิทธิประโยชน์อันพึงจะได้รับตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย และไม่เป็นการซ้ำเติมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน
 
เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน คปภ. ได้หารือร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย เพื่อกำหนดมาตรการและแนวทางต่าง ๆ พร้อมทั้งได้ติดตามและประสานกับบริษัทประกันภัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรับทราบว่าปริมาณเรื่องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของผู้เอาประกันภัยที่ยื่นต่อบริษัทต่อวันมีจำนวนมาก ทำให้บริษัทประกันภัยไม่สามารถบริหารจัดการการจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้อย่างทันท่วงที ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขเรื่องร้องเรียนกรณีดังกล่าว สำนักงาน คปภ. ได้ออก 3 มาตรการเร่งด่วนเป็นการเฉพาะกิจ ดังนี้ 
1. มาตรการเข้าตรวจสอบบริษัท เพื่อประเมินความเสี่ยงของบริษัทและการดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย โดยเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 สำนักงาน คปภ. ได้เร่งจัดทีมเฉพาะกิจซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจากสายตรวจสอบ สายวิเคราะห์ธุรกิจประกันภัยและสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ เข้าตรวจสอบ ณ ที่ทำการของบริษัทที่รับประกันภัยโควิด-19 จำนวน 4 บริษัท เพื่อประเมินความเสี่ยงของบริษัทและกำกับการดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย จากกรณีที่มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับความล่าช้าในการจ่ายผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย รวมถึงกระบวนการจัดการสินไหมทดแทน ของกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ของบริษัททั้งระบบ จำนวนเรื่องที่คงค้างพิจารณาของบริษัท พร้อมทั้งเชิญผู้บริหารของบริษัทเข้าชี้แจงต่อสำนักงาน คปภ. ผ่านการประชุมทางจอภาพ ในประเด็นเกี่ยวกับฐานะการเงินและความมั่นคงของบริษัท ตลอดจน ติดตามการปฏิบัติตามกฎหมายในกระบวนการจ่ายผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แต่ละบริษัทด้วย  
 ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. กำชับให้ปรับปรุงวิธีการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอดจนชี้แจงให้บริษัทเข้าใจถึงมาตรการทางกฎหมายในการกำกับการดำเนินการของบริษัทให้เหมาะสมกับสภาพการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยได้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น 
2.  มาตรการทางกฎหมาย สำนักงาน คปภ. ได้ออกคำสั่งสำนักงาน คปภ. เรื่อง ให้แก้ไขเพิ่มเติมคู่มือ ระบบงาน และกระบวนการดำเนินการพิจารณาและจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2564 ซึ่งคำสั่งฯ ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 ให้บริษัทประกันวินาศภัยที่มีปัญหาการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ตั้งแต่ 100 เรื่องขึ้นไป ให้มีระบบงาน กระบวนการการดำเนินการพิจารณา และจ่ายค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับประกันภัยโควิด-19 ดังนี้  
• ให้บริษัทจัดให้มีหน่วยงานรับเรื่องการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนและเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับประกันภัยโควิด-19 เป็นการเฉพาะขึ้นภายในบริษัท 
• ให้บริษัทดำเนินการพิจารณาและจ่ายค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับประกันภัยโควิด-19 ตามหลักเกณฑ์ดังนี้ 1) ตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสารหลักฐานประกอบการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนให้แล้วเสร็จ ภายใน 3 วันนับแต่วันที่ได้รับเอกสารหลักฐาน 2) กรณีผู้เอาประกันภัยยื่นเอกสารหลักฐานประกอบการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนครบถ้วน ให้บริษัทดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ภายใน 15 วัน และ 3) กรณีผู้เอาประกันภัยยื่นเอกสารหลักฐานประกอบการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไม่ครบถ้วน ให้แจ้งผู้เอาประกันภัยในวันเดียวกับที่ตรวจพบ และให้จ่ายค่าสินไหมทดแทน ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้ยื่นเอกสารหลักฐานครบถ้วนแล้ว 
• ในกรณีที่มีปัญหาการตีความหรือโต้แย้งเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 และยังหาข้อยุติไม่ได้ ให้บริษัทเสนอ ความเห็นต่อสำนักงาน คปภ. ภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับเอกสารหลักฐานประกอบการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน เพื่อดำเนินการต่อไป
• ให้บริษัทรายงานข้อมูลเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับประกันภัยโควิด-19 และผลการดำเนินการต่อสำนักงาน คปภ. ทุก 15 วัน
การออกมาตรการทางกฎหมายเพิ่มเติมดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินการพิจารณาและจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 มีประสิทธิภาพ คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนให้ได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยอย่างสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการด้านสินไหมทดแทนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ประกอบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องออกคำสั่ง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประชาชนในวงกว้าง และส่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของระบบประกันภัย สำหรับมาตรการบังคับใช้กฎหมาย สำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาการประวิงจ่ายค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัย หากปรากฏเอกสารหลักฐานว่ามีเจตนาประวิงการจ่ายสินไหมทดแทน จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป 
3. มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเรื่องร้องเรียน โดยใช้กลไกของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านประกันภัยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างสายงานที่เกี่ยวข้องในสำนักงาน คปภ. จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยอดเคลมประกันภัยโควิด-19 แบบเจอจ่ายจบ มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้การจ่ายค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัยเป็นไปด้วยความล่าช้า คณะทำงานฯ จึงได้จัดทำแผนบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนทั้งระบบ ซึ่งครอบคลุม ทั้งในส่วนเรื่องร้องเรียนที่ได้ยื่นมายังสำนักงาน คปภ. และเรื่องร้องเรียนที่ยื่นกับบริษัทประกันภัยโดยตรง โดยในแผนดังกล่าวได้กำหนดให้บริษัทต้องรายงานยอดการเรียกร้องและการจ่ายค่าสินไหมทดแทนต่อคณะทำงานฯ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งรายงานสภาพปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นเพื่อคณะทำงานฯ จะได้กำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที 
ในส่วนเรื่องร้องเรียนที่ยื่นมายังสำนักงาน คปภ. จะได้ดำเนินการแยกเรื่องร้องเรียนออกเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการพิจารณาเร่งแก้ไขเรื่องร้องเรียน โดยเรื่องร้องเรียนที่ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานการในการเคลม ก็จะแจ้งให้บริษัทดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยโดยเร็ว ภายใน 3 วัน พร้อมทั้งรายงานผลต่อคณะทำงานฯ ทราบ กรณีเรื่องร้องเรียนที่ยังมีประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณา สำนักงาน คปภ. ได้เสริมเขี้ยวเล็บให้แก่คณะทำงานฯ ชุดดังกล่าว โดยมีการตั้งทีมย่อยอีก 4 ชุด ประกอบด้วยผู้แทนจากสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สายกฎหมายและคดี และสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย ทำหน้าที่ช่วยในการกลั่นกรองเสนอความเห็น รวมทั้งตีความเงื่อนไขกรมธรรม์ที่มีปัญหาก่อนเสนอความเห็นต่อคณะทำงานฯ เพื่อพิจารณาต่อไป นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มเจ้าหน้าที่เพื่อรองรับในการให้บริการข้อมูลด้านประกันภัยผ่านสายด่วน คปภ. 1186 และติดตั้งระบบการจัดลำดับสายที่โทรเข้ามา รวมทั้งระบบเสียงแจ้งสถานะการรอสาย เป็นต้น
 
“หวังว่า 3 มาตรการเร่งด่วนเฉพาะกิจดังกล่าว จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของพี่น้องประชาชน กรณีการจ่ายสินไหมทดแทนเกี่ยวกับประกันภัยโควิด-19 ให้กับประชาชนผู้เอาประกันภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ยังมีผู้ติดเชื้อรายวันเป็นจำนวนมากและแนวโน้มยังคงมีความรุนแรง โดยการประกันภัยโควิด-19 ได้พัฒนาขึ้นเป็นการเฉพาะในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อหวังเป็นหลักประกันให้กับประชาชนในการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการติดเชื้อโควิด-19 และมีประชาชนจำนวนมากให้ความสนใจซื้อประกันภัยดังกล่าว สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับ จะดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัยอย่างเต็มที่ และกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้บริหารจัดการการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ถูกต้อง รวดเร็วและเป็นธรรม เพื่อให้ระบบประกันภัยเข้ามาเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนผู้เอาประกันภัยในสถานการณ์นี้ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้มีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องประกันภัยติดต่อได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ Add Line Official@oicconnect หรือ website คปภ. www.oic.or.th” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. ลงพื้นที่ช่วยเหลือด้านประกันภัยทันที กรณีเพลิงไหม้โชว์รูมรถจักรยานยนต์ ที่อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
29 August 2564

คปภ. ลงพื้นที่ช่วยเหลือด้านประกันภัยทันที กรณีเพลิงไหม้โชว์รูมรถจักรยานยนต์ ที่อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้โชว์รูมรถจักรยานยนต์นิยมการค้า 92 เลขที่ 194/1 ถนนพลับผือ ตำบลบ้านผือ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เป็นเหตุให้อาคารโชร์รูมและทรัพย์สินภายในอาคารได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น รถจักรยานยนต์กว่า 45 คัน รถยนต์จำนวน 4 คัน และสินค้าต่าง ๆ รวมถึงน้ำมันหล่อลื่นภายในร้านนิยมชินสโตร์ที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน เป็นต้น โดยไม่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บแต่อย่างใด เหตุเกิดเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 ในเบื้องต้น ได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 3 (ขอนแก่น) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดอุดรธานี เร่งช่วยเหลือและสำรวจความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยสำนักงาน คปภ. จังหวัดอุดรธานี ได้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ได้รับความเสียหาย รวมทั้งติดตามและตรวจสอบข้อมูลด้วยว่าตัวอาคารพาณิชย์ที่เป็นโชว์รูมและทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ ได้มีการทำประกันภัยรองรับไว้หรือไม่  
 
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. จังหวัดอุดรธานี ที่ได้ตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัยเบื้องต้น พบว่า อาคารพาณิชย์และทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ได้รับความเสียหาย ได้ทำประกันภัยไว้ ดังนี้  
1. อาคารพาณิชย์ เลขที่ 194/1 ถนนพลับผือ ตำบลบ้านผือ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ได้ทำประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตามกรมธรรม์เลขที่ 015-FR-2021-0000719 ซึ่งได้ขยายความคุ้มครองถึงภัยก่อการร้าย ภัยลมพายุ ภัยน้ำท่วม ภัยแผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟระเบิด ภัยจากลูกเห็บ และภัยจากการระเบิด เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 11 กรกฎาคม 2564 สิ้นสุดวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 จำนวนเงินเอาประกันภัย 32,300,000 บาท ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย คือ สิ่งปลูกสร้างตัวอาคาร (ไม่รวมฐานราก) และส่วนปรับปรุงต่อเติมอาคาร
2. ทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ได้รับความเสียหาย ได้แก่ รถยนต์จำนวน 4 คัน ได้ทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประเภท 1) ไว้ดังนี้ 1) รถยนต์หมายเลขทะเบียน กร 9292 อุดรธานี ได้ทำประกันภัยไว้กับบริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตามกรมธรรม์เลขที่ 001-21-2100-142445 เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 สิ้นสุดวันที่ 10 กรกฎาคม 2565 จำนวนเงินเอาประกันภัย 2,040,000 บาท 2) รถยนต์หมายเลขทะเบียน กข 9292 อุดรธานี ได้ทำประกันภัยไว้กับบริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตามกรมธรรม์เลขที่ 200001/M003078385 เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 สิ้นสุดวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 จำนวนเงินเอาประกันภัย 2,300,000 บาท 3) รถยนต์หมายเลขทะเบียน 84-4997 อุดรธานี ได้ทำประกันภัยไว้กับบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตามกรมธรรม์เลขที่ 720-01331-78175/1 73 เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 4 ธันวาคม 2563 สิ้นสุดวันที่ 4 ธันวาคม 2564 จำนวนเงินเอาประกันภัย 860,000 บาท และ 4) รถยนต์บรรทุกป้ายแดง ได้ทำประกันภัยไว้กับบริษัท คุ้มภัยโตกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ตามกรมธรรม์เลขที่ DS-70-63/001328 เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 สิ้นสุดวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 จำนวนเงินเอาประกันภัย 1,100,000 บาท
สำหรับการติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัย ได้มีการประสานงานบริษัทผู้รับประกันภัยลงพื้นที่เพื่อติดตามและเร่งสำรวจภัยเพื่อประเมินความเสียหายแล้ว ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จังหวัดอุดรธานี จะบูรณาการการทำงานเพื่อให้การจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยเป็นไปโดยเร็วและเป็นธรรม
 
"สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับผู้ประกอบการที่ประสบเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเช่นนี้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ จึงฝากเตือนมายังผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัย เพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยควรทำประกันอัคคีภัยหรือการประกันภัยทรัพย์สินประเภทอื่น และประกันภัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้น ๆ ให้สอดคล้องและครอบคลุม เพื่อที่ระบบประกันภัยจะได้เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ    ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ Add Line Official@oicconnect” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
 
หมวดหมู่ข่าว: 

สำนักงาน คปภ. คว้าระดับ AA รางวัลประกาศเกียรติคุณเชิดชูเกียรติ สูงสุดที่ 97.22 คะแนน ในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปี 2564

< >
วันที่เผยแพร่: 
28 August 2564

สำนักงาน คปภ. คว้าระดับ AA รางวัลประกาศเกียรติคุณเชิดชูเกียรติ สูงสุดที่ 97.22 คะแนน ในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปี 2564

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ประกาศผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยได้จำแนกหน่วยงานของรัฐออกเป็น 8 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 คือ หน่วยธุรการขององค์กรศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ และหน่วยงานในสังกัดรัฐสภา ประเภทที่ 2 คือ ส่วนราชการระดับกรม ประเภทที่ 3 คือ รัฐวิสาหกิจ ประเภทที่ 4 คือ องค์การมหาชน ประเภทที่ 5 คือ กองทุน และหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ ประเภทที่ 6 คือ สถาบันอุดมศึกษา ประเภทที่ 7 คือ จังหวัด เฉพาะส่วนราชการส่วนภูมิภาค และประเภทที่ 8 คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ซึ่งในการประเมิน ITA ในปีนี้ มีหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมรับการประเมินทั้งหมดกว่า 8,300 หน่วยงาน มีคะแนนภาพรวมระดับประเทศอยู่ที่ 81.25 คะแนน โดยในส่วนของสำนักงาน คปภ. ได้รับผลการประเมินอยู่ในระดับ AA ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ด้วยคะแนน 97.22 จัดเป็นอันดับที่ 4 จาก 27 หน่วยงานในกลุ่มประเภทที่ 5 กองทุนและหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ และอยู่ในลำดับที่ 83 ของหน่วยงานทั่วประเทศ โดยได้รับ 100 คะแนนเต็มจากตัวชี้วัด “การเปิดเผยข้อมูล” และ “การป้องกันการทุจริต” 
 
ทั้งนี้ การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment) หรือ “การประเมิน ITA” เป็นเครื่องมือสำคัญที่สำนักงาน ป.ป.ช. ใช้ในการประเมินสถานะและปัญหาในการดำเนินงานด้านคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ ถือเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560–2564) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 โดยในการประเมิน ITA ประกอบด้วยการเก็บข้อมูลผ่านเครื่องมือการวัดประเมินผลซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน และการประมวลผลคะแนนเป็นตัวชี้วัดทั้งหมด 10 ด้าน ดังนี้ 
1. แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (Internal Integrity and Transparency Assessment : IIT) ประกอบด้วยตัวชี้วัด 1) การปฏิบัติหน้าที่ 2) การใช้งบประมาณ 3) การใช้อำนาจ และ 4) การใช้ทรัพย์สินของราชการ
2. แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (External Integrity and Transparency Assessment : EIT) ประกอบด้วยตัวชี้วัด 5) การแก้ไขปัญหาการทุจริต 6) คุณภาพการดำเนินงาน และ 7) ประสิทธิภาพการสื่อสาร
3. แบบตรวจการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Open Data Integrity and Transparency Assessment: OIT) ประกอบด้วยตัวชี้วัด 8) การปรับปรุงระบบการทำงาน 9) การเปิดเผยข้อมูล และ 10) การป้องกันการทุจริต
สำนักงาน คปภ. ได้เข้าร่วมการประเมิน ITA ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน โดยได้นำผลและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประเมินมาปรับปรุงการดำเนินงานของสำนักงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภายใน  และภายนอก รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลบนหน้าเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. ที่จะต้องแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. ด้วยการจัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่ตรงตามความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย และมีช่องทางในการติดต่อและปฏิสัมพันธ์กับประชาชน โดยข้อมูลที่เปิดเผยบนหน้าเว็บไซต์นั้นมีสาระสำคัญเกี่ยวข้องกับทุกสายงานขององค์กร ซึ่งครอบคลุมถึงด้านของช่องทางการติดต่อผู้บริหาร การใช้จ่ายงบประมาณ การจัดการข้อร้องเรียน การป้องกันการทุจริต นโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคล และความโปร่งใสในกระบวนการให้บริการแก่ประชาชน ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของทุกคนในองค์กรที่จะร่วมกันยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน ทำให้ในปีนี้ สำนักงาน คปภ. ได้รับรางวัล “ประกาศเกียรติคุณเชิดชูเกียรติ” จาก ป.ป.ช. ซึ่งได้มอบให้สำหรับหน่วยงานที่มีผลคะแนนระดับ AA (คะแนนรวม 95 คะแนนขึ้นไป) นับเป็นรางวัลอันทรงคุณค่ายิ่ง ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของสำนักงาน คปภ. ที่นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนพันธกิจขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมแล้ว สำนักงาน คปภ. ยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง การดำเนินงานอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ในทุกกระบวนการ และการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรด้านคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน ของสำนักงาน คปภ. ด้วยการมุ่งเน้นที่การมีส่วนร่วมของบุคลากรทุกระดับ ผ่านการประกาศเจตจำนงสุจริต การกำหนดนโยบายและมาตรการด้านคุณธรรมและความโปร่งใส การจัดทำแนวปฏิบัติ การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และการแต่งตั้ง ITA Agent ประจำทุกสายงาน เพื่อสื่อสารและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการส่งเสริมคุณธรรมและความโปร่งใสขององค์กรอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง 
 
“ผลการประเมินดังกล่าวเป็นขวัญกำลังใจที่สำคัญให้กับคณะกรรมการ ผู้บริหาร และบุคลากรของสำนักงาน คปภ. ในการปฏิบัติภารกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต บนพื้นฐานของคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน และถือประโยชน์ขององค์กรและส่วนรวมเป็นสำคัญ รวมถึงจะมุ่งมั่นในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ เป็นธรรม ทั่วถึง และเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าสำนักงาน คปภ. เป็นหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย   
 
หมวดหมู่ข่าว: 

แถลงข่าวแนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน Sustainable Finance Initiatives for Thailand

< >
วันที่เผยแพร่: 
18 August 2564

แถลงข่าวร่วม

แนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน
ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของการเติบโตของเศรษฐกิจที่ยั่งยืน รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีของภาคธุรกิจและประชาชน โดยที่ผ่านมาได้ให้การรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติในปี 2558 เพื่อร่วมกันพัฒนาโลกให้มีความสมดุลและยั่งยืน และให้สัตยาบันต่อความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปีต่อมา ซึ่งให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20-25 จากกรณีฐาน (Business-as-usual) ภายในปี 2573  
ภาคการเงินในฐานะที่เป็นตัวกลางในการจัดสรรเงินทุนในระบบเศรษฐกิจ มีบทบาทสำคัญใน
การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของประเทศ โดยปัจจุบันหน่วยงานในภาคการเงินได้เริ่มนำแนวคิดการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) มาผนวกในกลยุทธ์การทำธุรกิจซึ่งคำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ในทุกกระบวนการอย่างจริงจัง 
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญนี้ หน่วยงานกำกับดูแลในภาคการเงินได้จัดตั้งคณะทำงานด้านความยั่งยืนในภาคการเงิน (Working Group on Sustainable Finance) ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อร่วมมือกันกำหนดทิศทางการดำเนินการด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนในภาคการเงินไทยที่ชัดเจนและสอดคล้องกัน 
ในวันนี้ (18 สิงหาคม 2564) Working Group on Sustainable Finance ได้ร่วมกันเผยแพร่แนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Initiatives for Thailand) ซึ่งเป็นหนึ่งในความร่วมมือสำคัญเพื่อกำหนดทิศทางและกรอบการดำเนินงานด้าน sustainable finance ในภาคการเงินไทย โดยได้ระบุแนวทางขับเคลื่อนสำคัญ 5 ข้อ รายละเอียดดังนี้
1) Developing a Practical Taxonomy: การกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่โครงการหรือกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นมาตรฐานเดียวกัน (Taxonomy) เพื่อให้ผู้กำกับดูแลใช้อ้างอิงในการออกนโยบายสนับสนุนการเงินที่ยั่งยืนให้สอดคล้องกัน และให้ผู้ประกอบธุรกิจการเงินนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์การขับเคลื่อนเป้าหมายด้านความยั่งยืน
2) Improving the Data Environment: การเปิดเผยข้อมูล ESG ที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการติดตาม วิเคราะห์ และตัดสินใจทางการเงิน รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์และนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ อีกทั้ง สามารถจำแนกประเภทการลงทุนและวัดความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่เกิดจากประเด็นด้าน ESG ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเพิ่มความโปร่งใสในการกำกับและตรวจสอบการดำเนินธุรกิจ  
3) Implementing Effective Incentives: การสร้างมาตรการจูงใจ (Incentives) เพื่อกระตุ้นให้เกิดตลาดและการลงทุนในผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืน โดยส่งเสริมให้ทั้งฝั่งผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนเห็นโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีด้วยความเสี่ยงที่ต่ำลง 
4) Creating Demand-led Products and Services: การสร้างสภาพแวดล้อมที่จะเอื้อให้ผู้เล่นในภาคการเงินสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางการเงินที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน ในขณะที่ปรับลดกฎเกณฑ์เพื่อลดภาระสำหรับการออกผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ 
5) Building Human Capital: การสร้างทรัพยากรบุคคลในภาคการเงินที่มีคุณภาพและมีองค์ความรู้ในการผลักดันงานด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนให้เห็นผลเป็นรูปธรรม
การดำเนินงานทั้ง 5 ข้อดังกล่าว จะเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยให้ภาคการเงินมีระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ที่เอื้อให้การจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืนและสร้างประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน
แม้ปัจจุบัน การรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการเป็นลำดับแรก แต่ประเด็น ESG เป็นเรื่องที่เราไม่ควรละเลย เพราะจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต โดยเมื่อภาคการเงินมีศักยภาพและความพร้อมในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่คำนึงถึงประเด็น ESG โดยเฉพาะปัญหา Climate change ได้อย่างตรงจุดด้วยต้นทุนที่เหมาะสม การระดมทุนและการลงทุนของภาคเอกชนเพื่อพัฒนาโครงการและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะส่งผลให้เศรษฐกิจและสังคมไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ท่านสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมของ Sustainable Finance Initiatives for Thailand ได้ที่ www.oic.or.th
 
หมวดหมู่ข่าว: 

เลขาธิการคปภ.นําคณะกรรมการสมาคมศิษยเ์ก่าสถาบันวทิ ยาการประกันภยั ระดับสูง บริจาคไซริ้งค์ให้กับศูนย์ฉีดวัคซีนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จํานวน 200,000 ชิ้น

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
12 August 2564
 เลขาธิการคปภ.นําคณะกรรมการสมาคมศิษย์เก่าสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง บริจาคไซริ้งค์ให้กับศูนย์ฉีดวัคซีนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จํานวน 200,000 ชิ้น
 
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ในฐานะนายกสมาคมศิษย์เก่าสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง (สวปส.) นําคณะกรรมการ สวปส. และศิษย์เก่า วปส. หลายรุ่นร่วมบริจาคไซร้ิงค์ให้กับศูนย์ฉีดวัคซีนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จํานวน 200,000 ชิ้น โดยมี พลอากาศตรี นายแพทย์สันติ ศรีเสริมโภค รองราชเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นผู้แทนรับมอบ เมอื่ วันพุธท่ี 11 สิงหาคม 2564 ณ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ถนนแจ้งวัฒนะ
หมวดหมู่ข่าว: 

Pages

Subscribe to RSS - ข่าว