ข่าว

คปภ. มอบรางวัลผู้ชนะเลิศสุดยอดบอร์ดเกมด้านประกันภัยครั้งแรกของประเทศไทย พร้อมต่อยอดสู่บอร์ดเกมเสมือนจริง (Sandbox virtual table boardgame)

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
30 September 2564

คปภ. มอบรางวัลผู้ชนะเลิศสุดยอดบอร์ดเกมด้านประกันภัยครั้งแรกของประเทศไทย พร้อมต่อยอดสู่บอร์ดเกมเสมือนจริง (Sandbox virtual table boardgame)    

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลการประกวดนวัตกรรมบอร์ดเกมด้านประกันภัย (OIC Board Game Innovation) ภายใต้แนวคิด “ความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัย” (Insurance Literacy) พร้อมเปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. เห็นความสำคัญในการพัฒนา    สื่อเรียนรู้ด้านประกันภัยที่สอดรับกับรูปแบบการเรียนรู้ของกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยมุ่งใช้บอร์ดเกมที่ผสมผสานสาระการเรียนรู้และสอดแทรกความเพลิดเพลินไว้ด้วยกันในการเสริมสร้างการเรียนรู้ด้านประกันภัย สร้างทักษะและประสบการณ์และช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีทั้งในกลุ่มเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวได้ โครงการในปีนี้ได้รับการตอบรับที่ดี โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมกิจกรรมถึง 92 ทีม จากหลากหลายสาขาอาชีพทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา นักออกแบบบอร์ดเกมกลุ่ม Startup คนรุ่นใหม่ รวมถึงเจ้าของธุรกิจส่วนตัว 
 
ทั้งนี้ การประกวดนวัตกรรมบอร์ดเกมด้านการประกันภัยในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของวงการประกันภัยไทย ที่เปิดโอกาส ให้ผู้เล่นได้รับความรู้ด้านประกันภัยที่สอดแทรกอยู่ในเนื้อหาของบอร์ดเกม ซึ่งนับเป็นสุดยอดการเรียนรู้ที่ผู้เล่นจะได้ทั้งความรู้และความสนุกสนาน แบบไม่ยัดเยียด และเป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง จึงนับเป็นสื่อกลางด้านประกันภัยที่สมบูรณ์แบบ และสาเหตุที่สำนักงาน คปภ. ยังให้ความสำคัญกับบอร์ดเกมกระดาน สวนทางกับความคิดที่ว่า “ในโลกดิจิทัลขณะนี้ที่มองไปทางไหนก็มีแต่คนเล่นเกมออนไลน์ แต่เมื่อมองให้ชัดเจนที่จริงแล้ว ตลาดดั้งเดิมของบอร์ดเกมยังคงมีอยู่ และผู้คนก็ยังคงให้ความสนใจอยู่ไม่หายไปจากโลก นั่นเป็นเพราะบอร์ดเกมมีพัฒนาการมายาวนานและสามารถนำมาเล่นในระบบออนไลน์ได้ รวมทั้งบอร์ดเกมเป็นเกมที่จับต้องได้ในโลกแห่งความจริง” ดังนั้น บอร์ดเกม จึงเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่ออนาคตให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ เป็นการวางรากฐาน การสร้างความรู้สึกมั่นคงให้กับเยาวชน และตั้งเป้าไปที่การสร้าง Insurance Literacy ซึ่งก็คือ ความรู้ความเข้าใจด้านประกันภัยให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง
 
การประกวดนวัตกรรมบอร์ดเกมด้านการประกันภัย (OIC Board Game Innovation) ครั้งนี้เปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไปทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าร่วมประกวดได้ และได้รับการตอบรับอย่างดียิ่ง โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญได้คัดเลือกผลงานรอบแรกให้เหลือ 20 ทีม เพื่อเข้าสู่กระบวนการติวเข้มในรูปแบบ Special Workshop จากโค้ชผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันภัยและบอร์ดเกม เพื่อนำองค์ความรู้และใช้เทคนิคพิเศษต่าง ๆ เฉพาะตัวของแต่ละทีมไปพัฒนาต่อยอดผลงานให้มีความสมบูรณ์และพิเศษมากยิ่งขึ้น ก่อนที่จะผลิตออกมาเป็น prototype ส่งให้คณะกรรมการพิจารณาในรอบ 10 ทีมสุดท้าย และนำไปทดสอบเล่นจริงกับกลุ่มตัวอย่าง เพื่อนำคะแนนส่วนหนึ่งมารวมกับคะแนนจากคณะกรรมการตัดสินในรอบสุดท้ายอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลงาน    ที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศมีความสมบูรณ์และมีความสอดคล้องทั้งในด้าน Knowledge และด้าน Game Play  
 
โดยการตัดสินรอบสุดท้ายในวันนี้ (วันที่ 29 กันยายน 2564) เลขาธิการ คปภ. และคณะผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน คปภ. ร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญด้านบอร์ดเกมระดับประเทศ ได้แก่ ดร.เดชรัต สุขกำหนด ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ คุณวรุตม์ นิมิตยนต์ อุปนายกสมาคมบอร์ดเกม คุณปิติ คุณกฤตยาการ ผู้ก่อตั้งอินสติ๊งค์ เลิร์นนิ่ง และคุณพีรัช ษรานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นคณะกรรมการตัดสินโดยใช้เกณฑ์การพิจารณาตัดสิน  3 ส่วน คือ 1) Game Score พิจารณาจากความสนุก ความสมบูรณ์ ความลื่นไหล และความสมดุลของเกม 2) Knowledge Score พิจารณาจากเนื้อหาด้านการประกันภัย และความสอดคล้องระหว่างกลไกเกมกับผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เล่น 3) การทดลองเล่นโดยกลุ่มตัวอย่าง (Play Test) พิจารณาจากความพึงพอใจจากการเล่นเกม 
 
โดยผลจากการพิจารณาปรากฏว่าทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ซึ่งได้รับโล่รางวัล ประกาศนียบัตร และเงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท ได้แก่ “ทีม Over The Moon” ในผลงานเกม Over The Moon มาพร้อมกับจุดเด่นที่แตกต่างออกไปจากทีมอื่น คือใช้วิธีการเล่นแบบ Roll and Write เข้ามาผสมกับเนื้อหาของการประกันภัย ซึ่งผู้เล่นเกมต้องสวมบทบาทเป็นกระต่ายที่มาสร้างอาณานิคมบนดวงจันทร์ ต้องปฏิบัติภารกิจที่ต้องพบเจอภัยพิบัติต่าง ๆ มีแครอทเป็นทรัพยากรที่ต้องบริหารให้ดีว่าจะนำไปใช้เป็นแต้มเพื่อชนะเกม หรือนำไปใช้จ่ายค่าประกันเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยที่เกิดขึ้น ตัวเกมเน้นให้ผู้เล่นเข้าถึงหัวใจของการประกันภัย ด้วยกลไกที่เหมาะทั้งกับผู้เล่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายเยาวชนอายุ 11-16 ปี ที่สามารถเข้าใจเรื่องการประกันภัยผ่านเนื้อหาเกมและได้รับ        ความสนุกสนานควบคู่ไปด้วย
 
สำหรับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้รับโล่รางวัล ประกาศนียบัตร และเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท ได้แก่ “ทีม FonCher” ในผลงานเกม Smart Life Insurance โดยจุดเด่นของทีมคือการนำเอารูปแบบเกม Working Placement ที่กำลังได้รับความนิยมในแวดวงนักออกแบบบอร์ดเกม มาผสมผสานกับเรื่องราวของการประกันภัย โดยผู้เล่นจะต้องบริหารทรัพยากรคนให้เกิดเป็นเงิน เพื่อนำไปใช้สะสมแต้มความสุข และซื้อประกันเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการทำกิจกรรมเพื่อสะสมแต้มความสุข เนื้อหาของเกมเข้าใจง่าย และสื่อสารเรื่องราวของการประกันได้ดี 
และรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้รับโล่รางวัล ประกาศนียบัตร และเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท ได้แก่ “ทีม Done Box” ในผลงานเกม Dice Insurance ที่นำเสนอเกมกระดานแบบใช้ลูกเต๋าหลายลูกมาเทียบเคียงกับความเสี่ยงต่าง ๆ ผู้เล่นต้องสวมบทบาทจำลองตัวเองเป็นคนในแต่ละช่วงอายุ มีปณิธานในการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันไป  เพิ่มความตื่นเต้นด้วยความเสี่ยงที่เกิดขึ้น และเชื่อมต่อเรื่องราวของการประกันภัยต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างสนุกและเหมาะสม นอกจากนี้ ทีม Done Box ยังออกแบบบอร์ดเกมโดยจำลองมาจากกรรมธรรม์ที่มีอยู่จริง นับได้ว่าเป็นเกมที่มีจุดเด่นทั้งในเรื่องของการเลือกอุปกรณ์เปรียบเทียบกับความเสี่ยงที่เข้าใจง่าย และมีเนื้อหาด้านประกันภัยที่สอดแทรกได้เป็นอย่างดี
 
นอกจากนี้ ยังมีรางวัลความคิดสร้างสรรค์ ได้รับประกาศนียบัตร และเงินรางวัลมูลค่า 5,000 บาท ได้แก่ “ทีมมันสำปะหลัง” และที่เหลืออีก 7 ทีมจะได้รับรางวัลชมเชย ได้รับประกาศนียบัตร และเงินรางวัลมูลค่า 5,000 บาท เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการพัฒนาและสร้างสรรค์ผลงานในโอกาสต่อไป
สำหรับก้าวต่อไปของกิจกรรมนี้ สำนักงาน คปภ. จะบูรณาการกับสมาคมบอร์ดเกมที่เป็นเครือข่ายของผู้คนที่สนใจบอร์ดเกม ร่วมกันขับเคลื่อนและผลักดันให้การนำบอร์ดเกมไปใช้ในการสร้างการเรียนรู้ด้านการประกันภัย โดยจะนำผลงานบอร์ดเกมที่แต่ละทีมได้ใช้เวลาในการพัฒนาร่วมกันมาตลอดระยะเวลาโครงการไปพัฒนาร่วมกับทีมที่ปรึกษาด้านบอร์ดเกม เพื่อผลิตในรูปแบบ Box set เป็นบอร์ดเกมประกันภัย เกมแรกของประเทศไทย และจะนำไปเผยแพร่สู่กลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศผ่านเครือข่ายอัจฉริยะยุวชนประกันภัย นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. จะต่อยอดพัฒนานำเข้าสู่ระบบบอร์ดเกมเสมือนจริง (Sandbox virtual table boardgame) เพื่อให้สามารถเล่นได้จริงในระบบออนไลน์เพิ่มช่องทางเข้าถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ง่าย และไร้ข้อจำกัดในสังคมปัจจุบันที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม
 
 
“ผมขอชื่นชมทุกทีมที่ได้สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ทำให้โครงการนี้สำเร็จสิ้นเสร็จได้ดีเกินคาดหมาย จากการจัดประกวดเป็นปีแรกของสำนักงาน คปภ. ขอแสดงความยินดีกับทุกทีมที่ได้รับรางวัล และขอเป็นกำลังใจให้กับทีมนักสร้างสรรค์ที่ยังไม่ได้รับรางวัลจากการประกวดในครั้งนี้ โดยสำนักงาน คปภ. จะยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการฯ เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้รังสรรค์สุดยอดผลงานกันโอกาสต่อไป และหวังว่าทุกทีมที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดตามโครงการฯ จะร่วมเป็นเครือข่ายสำคัญ ในการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัย เพื่อให้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือที่สามารถสร้างหลักประกันที่มั่นคงในชีวิต และทรัพย์สิน โดยสามารถชมผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศ อันดับ 1 และ 2 ได้ในงาน “Thailand InsurTech Fair 2021” ซึ่งเป็นงานที่เปิดศักราชความยิ่งใหญ่ของสุดยอดนวัตกรรมเทคโนโลยีประกันภัยครั้งแรกของประเทศไทย โดยในงานจะ delivery การประกันภัย ความรู้ด้านการประกันภัย เทคโนโลยีด้านการประกันภัยในรูปแบบใหม่ให้ถึงมือประชาชนในราคาที่ลดพิเศษ และผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ  ในระหว่างวันที่ 26-30 ตุลาคม 2564 สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ www.tif2021.com” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. ตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านประกันภัย เพื่อช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบกรณีน้ำท่วมอย่างเต็มที่

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
28 September 2564

คปภ. ตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านประกันภัย เพื่อช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบกรณีน้ำท่วมอย่างเต็มที่

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศในประเทศไทยมีฝนตกชุกและในหลายพื้นที่มีน้ำท่วมฉับพลัน ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และพืชผลทางการเกษตร ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเป็นอย่างมากและได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด โดยได้สั่งการให้สำนักงาน คปภ. ภาค 1-4 ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัย พร้อมทั้งติดตามและรายงานความเสียหาย เพื่อพร้อมความในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยให้สำนักงาน คปภ. ภาค ภาค 1-4 ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมด้านประกันภัย ณ สำนักงาน คปภ. ภาค/จังหวัด ในส่วนของสำนักงาน คปภ. ภาค ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบได้กำชับให้เฝ้าระวัง เพื่อพร้อมความเตรียม และให้บูรณาการร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้แก่ประชาชนอย่างเต็มที่  
 
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน คปภ. ได้มีหนังสือถึงนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย และนายกสมาคมประกันชีวิตไทย ให้แจ้งบริษัทสมาชิก ได้ติดตามสถานการณ์และกำหนดมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนด้านประกันภัย พร้อมทั้งเข้าตรวจสอบความเสียหายเพื่อเตรียมพร้อมในการพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม นอกจากนี้ ได้สั่งการให้สำนักงาน คปภ.ภาค/จังหวัด เร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประสบภัยรีบสำรวจความเสียหายของบ้านเรือนและทรัพย์สิน โดยเฉพาะรถยนต์ที่มักจะได้รับความเสียหายเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม โดยให้ยึดถือแนวปฏิบัติตามมาตรฐานการซ่อมรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ระดับ A น้ำท่วมถึงพื้นรถยนต์ ประเมินค่าซ่อม 8,000-10,000 บาท ระดับ B น้ำท่วมถึงเบาะนั่ง ประเมินค่าซ่อม 15,000-20,000 บาท ระดับ C น้ำท่วมถึงส่วนล่างของคอนโซลหน้า ประเมินค่าซ่อม 25,000-30,000 บาท ระดับ D น้ำท่วมถึงส่วนบนของคอนโซลหน้า ประเมินค่าซ่อมเริ่มต้นที่ 30,000 บาทขึ้นไป และระดับ E รถยนต์จมน้ำทั้งคัน ซึ่งในกรณีนี้บริษัทจะคืนทุนประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัย
ทั้งนี้ ขอให้ผู้เอาประกันภัยแสดงรายละเอียดของความสูญเสียและมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นของทรัพย์สิน ส่วนกรณีเสียชีวิตให้แสดงหลักฐานสำเนาใบมรณบัตร และสำเนาบันทึกประจำวันตำรวจ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นขอให้ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ซื้อไว้ว่าให้ความคุ้มครองภัยน้ำท่วมหรือไม่ อย่างไร โดยกรมธรรม์ประกันภัย       ที่ให้ความคุ้มครองถึงภัยน้ำท่วม อาทิ เช่น การประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 การประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินและการประกันอัคคีภัยที่ซื้อความคุ้มครองน้ำท่วมเพิ่มเติม การประกันภัยพืชผลทางการเกษตร เช่น ประกันภัยข้าวนาปี ประกันภัยข้าวโพด ประกันภัยทุเรียน เป็นต้น การประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย ซึ่งให้ความคุ้มครองกลุ่มภัยธรรมชาติอีก 4 ภัย (น้ำท่วม ลมพายุ แผ่นดินไหวและลูกเห็บ) รวม 20,000 บาทต่อปี และการประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ซึ่งให้ความคุ้มครองกลุ่มภัยธรรมชาติ 4 ภัย (น้ำท่วม ลมพายุ แผ่นดินไหวและลูกเห็บ) รวม 10,000 บาทต่อปี
 
“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความห่วงใยและขอส่งกำลังใจไปยังผู้ประสบภัยน้ำท่วมในทุกพื้นที่ และขอให้พี่น้องประชาชนได้ตระหนักว่าปัจจุบันภัยธรรมชาติได้สร้างความสูญเสียหรือความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอยู่บ่อยครั้ง และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากประชาชนทำประกันภัยไว้ก็จะเป็นการช่วยบรรเทา เยียวยาความเดือดร้อนและความเสียหายทางการเงินที่จะเกิดขึ้นภายหลังได้ ไม่ว่าจะเป็นการประกันชีวิต หรือการประกันภัยทรัพย์สินต่าง ๆ โดยสำนักงาน คปภ. จะดูแลเพื่อให้ระบบประกันภัยเยียวยาความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้อย่างเต็มที ทั้งนี้ หากมี    ข้อสงสัยหรือมีปัญหาไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านประกันภัย สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186 หรือติดต่อได้โดยตรง ณ สำนักงาน คปภ. ภาค/จังหวัด ทั่วประเทศ” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. ส่งพนักงานเจ้าหน้าที่คุมเข้ม “เอเชียประกันภัย” ควบคุมการจ่ายเงินและเร่งจ่ายเคลมประกัน เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชน

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
28 September 2564

คปภ. ส่งพนักงานเจ้าหน้าที่คุมเข้ม “เอเชียประกันภัย” ควบคุมการจ่ายเงินและเร่งจ่ายเคลมประกัน เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชน

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2564 เป็นต้นไป ในการนี้ ตนในฐานะนายทะเบียนจึงได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 51/2564 เรื่อง ให้บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) แก้ไขฐานะและการดำเนินการตามที่นายทะเบียนกำหนดและหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว และประกาศนายทะเบียน เรื่อง กำหนดการจ่ายเงินอื่นของบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) ที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว พ.ศ. 2564 โดยมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปประจำที่บริษัท เพื่อควบคุมดูแลให้บริษัทดำเนินการตามเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดแล้ว
 
เลขาธิการ คปภ. ได้แจ้งความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์และสายตรวจสอบ บูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยได้มอบหมายให้นายชัยยุทธ มังศรี ผู้ช่วยเลขาธิการสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และ ดร. อายุศรี คำบรรลือ ผู้ช่วยเลขาธิการสายตรวจสอบ นำคณะพนักงานเจ้าหน้าที่ประกอบด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่จากสายงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าไปประจำ ณ ที่ทำการบริษัท เพื่อควบคุมและให้ความเห็นชอบการจ่ายเงินเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ประกาศนายทะเบียนกำหนด ซึ่งการเข้าควบคุมการจ่ายเงินของบริษัทเป็นไปตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งกำหนดให้ในกรณีที่บริษัทถูกสั่งหยุดรับประกันภัยวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ห้ามมิให้กรรมการ พนักงาน และลูกจ้างของบริษัทสั่งจ่ายเงินของบริษัท หรือทำการเคลื่อนย้าย หรือจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัท เว้นแต่ เป็นการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างแก่พนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทตามปกติ หรือเป็นการจ่ายเงินตามที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนประกาศกำหนด ทั้งนี้ ประกาศนายทะเบียนดังกล่าวได้กำหนดการจ่ายเงินโดยความเห็นชอบของนายทะเบียนหรือ
ผู้ได้รับมอบหมายจากนายทะเบียน ในกรณีดังนี้
1. การจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย ฯลฯ
2. การจ่ายเงินคืนค่าเบี้ยประกันภัยแก่ผู้เอาประกันภัย
3. การจ่ายค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า เป็นต้น
4. การจ่ายค่าสื่อสาร เช่น ค่าไปรษณีย์ ค่าโทรศัพท์ ค่าโทรสาร อินเตอร์เน็ต เป็นต้น
5. การจ่ายค่าภาษี ค่าอากร หรือค่าภาษีอากร ตามที่กฎหมายกำหนด
6. การจ่ายเงินตามคำสั่งศาล เช่น ค่าสินไหมทดแทน ค่าปรับ ค่าธรรมเนียม เป็นต้น
7. การจ่ายค่าธรรมเนียม ค่าปรับ เงินจ่ายหรือเงินสมทบตามที่กฎหมายกำหนด
8. การจ่ายเงินหรือค่าใช้จ่ายอื่นตามความจำเป็นเพื่อเร่งรัดติดตามหรือเรียกคืนหนี้สินค้างจ่ายของบริษัท
โดยการเบิกจ่ายเงินในกรณีที่จำเป็นนอกเหนือจากนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน โดยมีเหตุผลความจำเป็นพร้อมเอกสารหลักฐานที่ชัดเจน 
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้มีการจัดทำแผนการบริหารจัดการการจ่ายค่าสินไหมทดแทน โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจสอบค่าสินไหมทดแทนที่ค้างจ่าย โดยให้บริษัทแยกประเภทตามแบบกรมธรรม์และพิจารณาจากลำดับการยื่นเรื่องเข้ามา 
หากพบว่ารายใดมีเอกสารครบถ้วนก็จะเร่งดำเนินการอนุมัติการจ่ายและแจ้งให้บริษัทจ่ายค่าสินไหมทดแทนโดยเร็ว เบื้องต้นเคลมที่ใช้เวลาในการตรวจสอบเอกสารไม่มากจะเป็นประเภท เจอ จ่าย จบ ส่วนเรื่องที่เอกสารไม่ครบถ้วนจะเร่งให้บริษัทประสานผู้เอาประกันภัยเพื่อนำส่งเอกสารเพิ่มเติมโดยเร็ว
 
“การออกประกาศนายทะเบียนดังกล่าว เป็นการรองรับและมอบอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่ เข้าไปประจำ ณ ที่ทำการบริษัท เพื่อดำเนินการควบคุมการเบิกจ่ายเงินตามที่จำเป็น และเร่งเคลียร์ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยและเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยเป็นอันดับแรก ดังนั้น ทรัพย์สินของบริษัทที่มีอยู่จะมีการบริหารจัดการเพื่อดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์   ของประชาชนอย่างเต็มที่ จึงขอให้ประชาชนไม่ต้องวิตกกังวล สำนักงาน คปภ. จะดำเนินการในทุกมาตรการอย่างเต็มที่และเต็มความสามารถ และขอให้มั่นใจในระบบประกันภัยว่าสามารถเข้ามาช่วยเหลือ เยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนได้ในทุกสถานการณ์  และทุกมิติของความเสี่ยงภัย แม้แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ก็ตาม ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ติดต่อสายด่วน คปภ. 1186 หรือ www.oic.or.th”
 
หมวดหมู่ข่าว: 

บอร์ด คปภ. เห็นชอบให้นายทะเบียนสั่ง “เอเชียประกันภัย” หยุดรับประกันภัยชั่วคราว คุมเข้มห้ามรับลูกค้ารายใหม่ ต้องจ่ายเคลมลูกค้ารายเดิมตามปกติ • เลขาธิการ คปภ. สั่งมาตรการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนเต็มพิกัด

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
23 September 2564

บอร์ด คปภ. เห็นชอบให้นายทะเบียนสั่ง “เอเชียประกันภัย” หยุดรับประกันภัยชั่วคราว คุมเข้มห้ามรับลูกค้ารายใหม่ ต้องจ่ายเคลมลูกค้ารายเดิมตามปกติ 

• เลขาธิการ คปภ. สั่งมาตรการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนเต็มพิกัด
 
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ครั้งที่ 10/2564 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2564 เป็นต้นไป
 
ทั้งนี้ จากปรากฏพฤติการณ์และหลักฐานต่อนายทะเบียนว่า บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) มีฐานะการเงินไม่มั่นคง โดยมีประมาณการหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน มีสภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน และปรากฏว่าอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนอาจจะต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ทำให้ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าบริษัท    มีความสามารถในการชำระหนี้ตามภาระผูกพันที่มีต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนได้ มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้า อันเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย และยังคงมีจำนวนค่าสินไหมทดแทนค้างจ่ายจำนวนมากจนส่งผลกระทบต่อฐานะและการดำเนินการของบริษัท ตลอดจนชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของธุรกิจประกันภัย มีการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย โดยเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยไม่เป็นไปตามแบบและข้อความที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน 
จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏหลักฐานดังกล่าว นายทะเบียนจึงเห็นว่า บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) มีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน เพื่อให้การกำกับดูแล        และติดตามการแก้ไขปัญหาฐานะและการดำเนินการของบริษัทให้เป็นไปอย่างรอบด้าน ครอบคลุมทั้งการติดตามความมั่นคงทางการเงินและธุรกรรมการดำเนินงานที่ถูกต้องโปร่งใส อันจะทำให้บริษัทดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน รวมถึงป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชนในอนาคต 
โดยคณะกรรมการ คปภ. พิจารณาจากพฤติการณ์และหลักฐานต่าง ๆ ดังกล่าวโดยละเอียดแล้ว เห็นชอบให้นายทะเบียนใช้อำนาจตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม โดยสั่งให้บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ห้ามเคลื่อนย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สิน และให้บริษัทเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาฐานะการเงินและการดำเนินงาน โดยกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ให้บริษัทดำเนินการ ดังนี้ 
1. เพิ่มทุนหรือแก้ไขฐานะการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพัน และให้มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนเพียงพอตามที่กฎหมายกำหนดภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับคำสั่ง ให้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการทุก 7 วัน
2. จัดทำรายงานสรุปรายละเอียดของกรมธรรม์ประกันภัยที่บริษัทจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย เช่น หมายเลขกรมธรรม์ประกันภัย ชื่อผู้เอาประกันภัย จำนวนเงินที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และจัดส่งรายงานให้สำนักงาน คปภ. ทุกวันทำการนับแต่วันที่รับทราบคำสั่ง และให้บันทึกรายการในสมุดทะเบียน สมุดบัญชี คำนวณและดำรงเงินสำรองประกันภัย  ให้ถูกต้อง ครบถ้วนตามกฎหมาย
3. บันทึกรายการทางทะเบียนแสดงรายการค่าสินไหมทดแทนให้ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด
4. เร่งรัดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
 
“การออกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวจะช่วยให้สำนักงาน คปภ. สามารถคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนได้เต็มที่โดยสามารถเข้าไปควบคุมบริษัทฯ ได้เต็มพิกัด และจัดการเคลียร์ปัญหาการจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยได้สั่งการไปยังสายตรวจสอบและสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ตลอดจนสำนักงาน คปภ. ทั่วประเทศ ตรวจสอบสาขา/สำนักงานตัวแทนของบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ และให้ดำเนินการแจ้งการสั่งหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัท/ตัวแทน/นายหน้าประกันภัยขายกรมธรรม์รายใหม่ในระหว่างการหยุดรับประกันภัย พร้อมทั้ง ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะเจ้าหน้าที่เข้าไปประจำที่บริษัท เพื่อควบคุมดูแลให้บริษัทดำเนินการตามเงื่อนไข          ที่นายทะเบียนกำหนดแล้ว สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการและผู้บริหารของบริษัทฯ สำนักงาน คปภ. จะตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป หากพบว่า มีการกระทำความผิด จะดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด จึงขอให้ประชาชนไม่ต้องวิตกกังวล เนื่องจากบริษัทยังต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามปกติ และอุตสาหกรรมประกันภัยโดยภาพรวมไม่มีความเสี่ยง              ในเชิงระบบ ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ติดต่อสายด่วน คปภ. 1186 หรือ www.oic.or.th”
 
หมวดหมู่ข่าว: 

ประกาศนายทะเบียน เรื่อง กำหนดการจ่ายเงินอื่นของบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) ที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว พ.ศ.2564

< >
วันที่เผยแพร่: 
23 September 2564
หมวดหมู่ข่าว: 

คำสั่งนายทะเบียนที่ 51/2564 เรื่อง ให้บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) แก้ไขฐานะและดำเนินการตามที่นายทะเบียนกำหนดและหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว

< >
วันที่เผยแพร่: 
23 September 2564
ไฟล์ต่างๆ: 
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. ออก 7 มาตรการผ่อนผัน สำหรับบริษัทประกันที่มีเคลมประกันโควิด เพื่อเสริมสภาพคล่องจ่ายค่าเคลมประกันให้กับประชาชน

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
23 September 2564

คปภ. ออก 7 มาตรการผ่อนผัน สำหรับบริษัทประกันที่มีเคลมประกันโควิด เพื่อเสริมสภาพคล่องจ่ายค่าเคลมประกันให้กับประชาชน

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ครั้งที่ 9/2564 เมื่อวันที่ 
16 กันยายน 2564 ได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง มาตรการสำหรับบริษัทประกันวินาศภัยที่มีค่าสินไหมทดแทน COVID-19 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. 2564 และประธานบอร์ด คปภ. ได้ลงนามประกาศ คปภ. ดังกล่าวแล้ว ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2564 
 
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปัจจุบันที่มีความรุนแรงทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนมาก ส่งผลให้บริษัทประกันวินาศภัยจำนวนหนึ่งต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากกรณีดังกล่าวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างก้าวกระโดดในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพคล่องที่อาจเกิดขึ้นกับบริษัท รวมทั้งเพื่อให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการปรับฐานะการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติ และสามารถชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยได้อย่างรวดเร็ว คปภ. จึงได้ออกมาตรการเพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องในการดำเนินงานให้กับบริษัทประกันวินาศภัย  7 มาตรการ ดังนี้
1.  ยกเว้นการคำนวณเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงด้านการประกันภัยจากการรับประกันภัย COVID-19 
2.  ให้สามารถนับเงินกู้ยืมด้อยสิทธิ์ตามลักษณะที่กำหนดมาเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ได้ 
3.  ผ่อนผันการดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ขั้นต่ำ 
4.  ยกเว้นการนำค่าเผื่อความผันผวนที่เรียกว่า  provision of adverse deviation (PAD) มาคำนวณเงินกองทุน
5.  สามารถนำเบี้ยประกันภัยค้างรับที่มีระยะเวลาการค้างชำระไม่เกิน 30 วันมาใช้ในเป็นสินทรัพย์หนุนหลัง 
6.  สามารถนำเบี้ยประกันภัยค้างรับที่มีระยะเวลาการค้างชำระไม่เกิน 30 วันมาใช้ในการคำนวณเงินสำรอง 
7.  อนุญาตให้บริษัทมีสัดส่วนของเงินสดและเงินฝากธนาคารที่บริษัทใช้สำหรับการบริหารสภาพคล่องได้เกินร้อยละ 5 
ทั้ง 7 มาตรการ เป็นการสร้างความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจให้กับบริษัทประกันภัย ทำให้บริษัทประกันภัยมีสภาพคล่องทางการเงินที่จะนำมาจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยได้เพิ่มสูงขึ้น ด้วยการลดภาระด้านการดำรงเงินกองทุนของบริษัทประกันภัยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จาก Buffer ที่ตั้งไว้ ผ่อนผันให้บริษัทถือเงินสดในมือได้มากขึ้น และยังเพิ่มทางเลือกให้กับบริษัทในการจัดหาแหล่งเงินทุนอื่นที่บริษัทสามารถเข้าถึงได้รวดเร็วกว่าการเพิ่มทุน และลดภาระค่าธรรมเนียมในการฝากเงินกับสถาบันการเงินของบริษัท นอกจากนี้ ยังทำให้บริษัทประกันภัยมีเวลามากขึ้นในการดำเนินการปรับปรุงฐานะเงินกองทุนและสภาพคล่องของบริษัทให้เป็นไปตามอัตราที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ บริษัทสามารถยื่นคำขอใช้มาตรการผ่อนผันได้ โดยประกาศฯ ได้กำหนดลักษณะของบริษัทประกันวินาศภัยที่สามารถยื่นคำขอใช้มาตรการผ่อนผันไว้ 2 ประการ คือ
1. ต้องมีค่าสินไหมทดแทน COVID-19 เป็นจำนวนมากกว่า 500 ล้านบาทก่อนการยื่นขอผ่อนผัน และ
2. มีการประมาณการว่าอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนของบริษัทในระหว่างวันที่ 30 กันยายน 2564 ถึง 30 มิถุนายน 2565 อาจต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด 
นอกจากนี้ บริษัทจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่อไปนี้
1. มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน COVID-19 ไม่น้อยกว่า 75% ของเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ที่มีการยื่นต่อสำนักงาน คปภ. และ
2. มีเงินกองทุน และ/หรือสินทรัพย์สภาพคล่องเพียงพอสำหรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทน COVID-19 
บริษัทที่เข้าเกณฑ์ที่กำหนดข้างต้นสามารถยื่นคำขอผ่อนผันต่อนายทะเบียน โดยจะต้องจัดทำแผนการดำเนินการแก้ไขฐานะการเงินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 และต้องรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนต่อนายทะเบียนทุก 15 วัน และต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเพียงพอของเงินกองทุน กระบวนการในการบริหารเงินกองทุนของบริษัท และการประเมินความเพียงพอของเงินกองทุน รวมถึงการประเมินหนี้สินจากสัญญาประกันภัย โดยเปรียบเทียบข้อมูลก่อนและหลังใช้มาตรการผ่อนผันตามประกาศนี้ด้วย ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานรวม 3 ชุด เพื่อกำกับดูแล กลั่นกรองพิจารณาคำขอ และตรวจสอบติดตามการดำเนินงานของบริษัทที่ได้รับการผ่อนผัน ทั้งนี้ หากบริษัทไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด นายทะเบียนมีอำนาจยกเลิกมาตรการผ่อนผันได้ทันที
 
“มาตรการผ่อนผันดังกล่าวเป็นกลไกชั่วคราวที่มุ่งช่วยเหลือบริษัทประกันภัยที่ประสบปัญหาสภาพคล่องรายกรณี โดยจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัทประกันภัยที่รับประกันภัย COVID-19 ให้มีเงินเพียงพอต่อการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัย ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะกำกับดูแลและติดตาม ตรวจสอบฐานะการเงินและความมั่นคง รวมถึงสภาพคล่องของบริษัทอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยมาตรการผ่อนผันนี้ไม่ได้เป็นการยกเว้นกลไกของกฎหมายตามปกติ แม้บริษัทประกันภัยจะได้รับมาตรการผ่อนผัน แต่หากบริษัทไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด นายทะเบียนก็มีอำนาจยกเลิกการผ่อนผันได้ หรือหากมีการดำเนินการใด ๆ ที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย สำนักงาน คปภ. ก็พร้อมที่จะใช้มาตรการทางกฎหมายตามช่องทางปกติ เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย ซึ่งกลไกทางกฎหมายตามบทบัญญัติต่าง ๆ ที่สำนักงาน คปภ. จะสามารถเข้าไปควบคุมดูแลก็ยังคงอยู่ จึงขอให้มั่นใจว่าสำนักงาน คปภ. จะดูแลประชาชนอย่างเต็มที่และเต็มความสามารถ ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยด้านประกันภัยและไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องประกันภัยติดต่อสายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
หมวดหมู่ข่าว: 

ประกันภัยโควิดช่วยเยียวยาความเดือดร้อนแก่ประชาชนแล้วกว่า 9,428 ล้านบาท • คปภ. คุมเข้มบริษัทประกันภัย เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านประกันภัย

< >
วันที่เผยแพร่: 
21 September 2564

ประกันภัยโควิดช่วยเยียวยาความเดือดร้อนแก่ประชาชนแล้วกว่า 9,428 ล้านบาท

• คปภ. คุมเข้มบริษัทประกันภัย เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านประกันภัย
 
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่สูง ทำให้มีผู้เอาประกันภัยยื่นเรื่องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนปริมาณรายวันเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลสถิติการรับประกันภัยโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ถึงเดือนสิงหาคม 2564 พบว่ามียอดกรมธรรม์สะสมสูงถึง 39.86 ล้านฉบับ เบี้ยประกันภัยสะสม 11,250 ล้านบาท ขณะที่มียอดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสะสมถึง 9,428.63 ล้านบาท 
 
ทั้งนี้ อัตราการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อยู่ในอัตราคงที่ แต่นับจากเดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม 2564 มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีอัตราผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นและมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะมีการฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม โดยเริ่มจากเดือนเมษายน 2564 มียอดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสะสม 308.96 ล้านบาท เดือนพฤษภาคม 1,143.09 ล้านบาท เดือนมิถุนายน 2,050.49 ล้านบาท เดือนกรกฎาคม 3,996.22 ล้านบาท และเดือนสิงหาคมสูงถึง 9,428.63 ล้านบาท แม้อัตราการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจะมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น และมีผลกระทบต่อบางบริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยโควิด-19 แต่เบี้ยประกันภัยของอุตสาหกรรมประกันภัยตั้งแต่มีนาคม 2563- มิถุนายน 2564 มีเบี้ยประกันวินาศภัยทั้งระบบกว่า 340,230 ล้านบาท และเบี้ยประกันชีวิตกว่า 794,500 ล้านบาท โดยมีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งอุตสาหกรรมกว่า 1.1 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับเบี้ยประกันวินาศภัยทั้งระบบมีกว่า 340,230 ล้านบาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 3 ของเบี้ยประกันวินาศภัยทั้งระบบ ซึ่งจากการที่ทำการทดสอบภาวะวิกฤตล่าสุด ยังไม่พบความเสี่ยงในเชิงระบบ สำหรับบริษัทประกันภัยบางบริษัทที่มีปัญหาสภาพคล่อง สำนักงาน คปภ.   มีการกำกับดูแลฐานะทางการเงินและการดำเนินการของบริษัททั้งการกำกับดูแลนอกที่ทำการบริษัทและการเข้าตรวจสอบที่ทำการบริษัท ควบคู่กับการออกออกมาตรการเร่งด่วนระยะสั้นและระยะยาว เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย
 
“ณ เดือนสิงหาคม 2564 ประกันภัยโควิด-19 ได้เข้าไปเยียวยาประชาชนถึงกว่า 9,428 ล้านบาทแล้ว และคาดว่าจะมีการเยียวยาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงในเชิงระบบของธุรกิจประกันภัย ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดและจะติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยอย่างเต็มที่ หากมีการดำเนินการใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย พร้อมใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนอย่างเต็มที่ จึงขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนกกับบางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย 
 
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. เร่งติดตามกรณีบริษัทประกันภัยเลิกจ้างพนักงาน พร้อมเข้าตรวจสอบและควบคุมเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน

< >
วันที่เผยแพร่: 
19 September 2564

คปภ. เร่งติดตามกรณีบริษัทประกันภัยเลิกจ้างพนักงาน พร้อมเข้าตรวจสอบและควบคุมเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวว่าบริษัทประกันวินาศภัยแห่งหนึ่งได้แจ้งการเลิกจ้างพนักงานของบริษัทฯ โดยสำนักงาน คปภ. ได้ติดตามและตรวจสอบสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เบื้องต้นได้รับรายงานจากบริษัทแห่งนี้ว่า กรณีดังกล่าวบริษัทฯ ได้ดำเนินการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ให้สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยตามภาระผูกพันได้ และยังคงพนักงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนไว้  
 
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ตระหนักถึงความกังวลของประชาชนจากกรณีข่าวของบริษัทแห่งนี้ และเพื่อกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย พร้อมทั้งดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย ได้ดำเนินการและออกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ดังนี้ 
1. ส่งทีมตรวจสอบเข้าไปตรวจสอบและติดตามสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว โดยบูรณาการร่วมกับสายกฎหมายและคดี และสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ยังไม่พบการเลิกประกอบกิจการของบริษัท และยังไม่พบพฤติการณ์การยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินแต่อย่างใด ซึ่งมีกลไกทางกฎหมายในการป้องกันและควบคุมในส่วนนี้อยู่ อีกทั้ง ก็ยังไม่พบว่ามีบริษัทประกันภัยอื่นมีปัญหาในลักษณะดังกล่าว
ทั้งนี้ การเลิกประกอบกิจการ ต้องมีขั้นตอนการดำเนินการ โดยต้องยื่นขออนุญาตต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการยื่นเข้ามาแต่อย่างใด
2. จะเชิญคณะกรรมการและผู้บริหารบริษัทฯ เพื่อทราบเจตจำนงและชี้แจงในกรณีดังกล่าวเพิ่มเติม พร้อมทั้ง ให้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย 
3. ได้กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นไว้อย่างเป็นระบบและขั้นตอน โดยจะเริ่มจากมาตรการเบาไปหาหนัก ทั้งนี้ หากพบว่าบริษัทฯ มีพฤติการณ์ที่เป็นเหตุก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน จะเร่งใช้มาตรการทางกฎหมายโดยเคร่งครัดอย่างรวดเร็ว เพื่อมิให้ปัญหาลุกลามบานปลาย 
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ต้องมีสภาพคล่องเพียงพอเพื่อเร่งจ่ายเคลมประกันภัยโควิด-19 ให้เป็นไปตามคำสั่งสำนักงาน คปภ.  เรื่อง ให้แก้ไขเพิ่มเติมคู่มือ ระบบงาน และกระบวนการดำเนินการพิจารณาและจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2564 ซึ่งบริษัทฯ สามารถเข้าร่วมมาตรการผ่อนปรน ตามที่คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยได้เห็นชอบมาตรการสำหรับบริษัทประกันวินาศภัยที่มีค่าสินไหมทดแทน COVID-19 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว 
 
“สำนักงาน คปภ. จะติดตามการดำเนินการของบริษัทฯ และบริษัทประกันภัยอื่น ๆ อย่างใกล้ชิดและทันที หากมีกรณีที่จะกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของประชาชน จะดำเนินการทุกมาตรการที่เกี่ยวข้องควบคู่กับมาตรการทางกฎหมาย เพื่อปกป้องอย่างเต็มความสามารถไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน พร้อมทั้งได้แจ้งเตือนไปยังบริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยโควิด-19               ให้ดำเนินการต่าง ๆ อย่างรอบคอบและระมัดระวัง โดยคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของประชาชน และคำถึงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนกกับสถานการณ์ดังกล่าว สำหรับบริษัทที่มีปัญหาด้านสภาพคล่อง สำนักงาน คปภ. ได้ออกมาตรการผ่อนปรนรองรับไว้แล้ว เพื่อดูแลและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนอย่างเต็มที่และเต็มความสามารถในทุกมิติ ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
 
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. “คว้า รางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริการ” ประจำปี 2564 จากผลงานประกันภัยเพื่อประชาชนภายใต้สถานการณ์โควิด-19

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
18 September 2564

คปภ. “คว้า รางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริการประจำปี 2564 จากผลงานประกันภัยเพื่อประชาชนภายใต้สถานการณ์โควิด-19

 

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เข้าร่วมรับมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลดังกล่าว ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้รับรางวัลบริการภาครัฐ ระดับดี ประเภทพัฒนาการบริการ จากผลงานประกันภัยเพื่อประชาชนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งเป็นรางวัลที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (...) พิจารณามอบให้กับหน่วยงานของรัฐที่มีผลการพัฒนาคุณภาพการให้บริการเพื่อประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นที่พึงพอใจ  

 

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า รางวัลบริการภาครัฐที่สำนักงาน คปภ. ได้รับในครั้งนี้ ถือเป็นความภาคภูมิใจและเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรของสำนักงาน คปภ. ที่ได้ทุ่มเททำงานให้บริการประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยสำนักงาน คปภ. ได้ผลักดันให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยคุ้มครองโรคโควิด-19 และออกนโยบายให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ประกันภัยดังกล่าวด้วยกระบวนการแบบรวดเร็ว โดยรอบคอบ เพื่อช่วยให้ประชาชนมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นการเฉพาะอย่างทันสถานการณ์ด้วยเบี้ยประกันภัยที่ไม่สูง รวมทั้ง ได้นำทีมภาคธุรกิจประกันภัยส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อให้ความคุ้มครองแก่บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนนำการประกันภัยนี้ไปต่อยอดเพื่อขยายการเข้าถึงประชาชนในวงกว้าง และยังจัดให้มีกระบวนการดูแลประชาชนอย่างครบวงจรเมื่อเกิดปัญหาไม่ได้รับความเป็นธรรมอีกด้วย ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ยังคงมุ่งมั่นและให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อให้บริการประชาชนและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมประกันภัยนำกลยุทธ์น่านน้ำสีคราม “Blue Ocean Strategy” เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตอบสนองความต้องการและการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงนำนวัตกรรมบริการเชิงสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มคุณค่าด้านการประกันภัยให้กับประชาชนได้ในทุกมิติของความเสี่ยงภัย ดังนี้ ในปีงบประมาณ 2564 สำนักงาน คปภ. ได้เริ่มใช้แผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 (.. 2564-2568) แผนยุทธศาสตร์ของสำนักงาน คปภ. ระยะ 3 ปี (.. 2564-2566) แผนการปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ SMART OIC แผนการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ฉบับที่ 3 (.. 2564-2568) และแผนกลยุทธ์ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ระยะ 3 ปี  เป็นปีแรก เพื่อรองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ด้วยการพัฒนากระบวนการทำงานภายใน รวมถึงพัฒนาการสื่อสารทั้งภายในและภายนอก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการ

 

รางวัลที่สำนักงาน คปภ. ได้รับในครั้งนี้ แสดงถึงความสำเร็จในระดับหน่วยงานที่พัฒนาคุณภาพการให้บริการ มีระบบการบริหารงานและการบริหารจัดการภายในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งต้องขอขอบคุณด้านกำกับ โดยเฉพาะทีมงานจากสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน ที่เป็นกำลังสำคัญทำให้สำนักงาน คปภ. สามารถคว้ารางวัลอันทรงเกียรตินี้ได้ โดยสำนักงาน คปภ. จะมุ่งมั่นทำงานและปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จะยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการให้บริการ รวมทั้งจะส่งเสริมและผลักดันให้ระบบประกันภัยมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนทุกระดับเพื่อช่วยพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นต่อไปเลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

หมวดหมู่ข่าว: 

Pages

Subscribe to RSS - ข่าว