ข่าว

คปภ. ประกาศให้บริษัทประกันภัยเริ่มใช้สัญญาประกันภัยสุขภาพมาตรฐานใหม่ สำหรับการขายให้ลูกค้ารายใหม่ ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564

< >
วันที่เผยแพร่: 
12 November 2564

คปภ. ประกาศให้บริษัทประกันภัยเริ่มใช้สัญญาประกันภัยสุขภาพมาตรฐานใหม่ สำหรับการขายให้ลูกค้ารายใหม่ ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ส่วนกรมธรรม์แบบเดิม ให้ขายได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565

 
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงาน คปภ. ได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 14/2564 เรื่อง หลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบแบบและข้อความสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพ ประเภทสามัญ แบบมาตรฐาน สำหรับบริษัทประกันชีวิต และคำสั่งนายทะเบียนที่ 15/2564 เรื่อง หลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบแบบและข้อความกรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพ แบบมาตรฐาน สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 เพื่อกำหนดแบบและข้อความสัญญาประกันภัยสุขภาพ ที่เสนอขายโดยบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย ให้มีมาตรฐานเดียวกัน และมีเงื่อนไขความคุ้มครองที่สอดคล้องกับเทคโนโลยี วิธีการรักษาทางการแพทย์และวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลงไป มีความยั่งยืน เป็นธรรม รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการปฏิรูประบบสาธารณสุข ตลอดจนมีการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมจ่าย (Copayment) เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงของระบบการประกันภัยสุขภาพให้เกิดความยั่งยืน
 
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเกี่ยวกับสาระสำคัญของคำสั่งนายทะเบียนทั้งสองฉบับ ซึ่งได้ปรับปรุงเพิ่มเติมโดยสรุปดังนี้
 
1. กำหนดคำนิยามให้ครอบคลุมกับวิวัฒนาการทางการแพทย์ เช่น การผ่าตัดใหญ่ การผ่าตัดเล็ก และการผ่าตัดใหญ่ที่ไม่ต้องเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน (Day Surgery) เป็นต้น
 
2. กำหนดผลประโยชน์ เป็นหมวดมาตรฐาน 13 หมวด ได้แก่ ผลประโยชน์กรณีผู้ป่วยใน หมวดที่ 1 ค่าห้องและค่าอาหาร หมวดที่ 2 ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย หมวดที่ 3 ค่าผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หมวดที่ 4 ค่ารักษาพยาบาล โดยการผ่าตัดและหัตถการ หมวดที่ 5 การผ่าตัดใหญ่ที่ไม่ต้องเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน และผลประโยชน์กรณีไม่ต้องเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน หมวดที่ 6 ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยที่เกี่ยวข้องโดยตรงก่อนและหลังการพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน หมวดที่ 7 ค่ารักษาพยาบาลการบาดเจ็บ กรณีผู้ป่วยนอก ของการเกิดอุบัติเหตุ หมวดที่ 8 ค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟู หลังการเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน หมวดที่ 9 ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาโรคไตวายเรื้อรัง หมวดที่ 10 ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง โดยรังสีรักษา หมวดที่ 11 ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง โดยเคมีบำบัด หมวดที่ 12 ค่าบริการรถพยาบาลฉุกเฉิน และหมวดที่ 13 ค่ารักษาพยาบาล โดยการผ่าตัดเล็ก
 
3. กำหนดเงื่อนไขการต่ออายุกรณีครบรอบปีกรมธรรม์ (Renewal) ขั้นต่ำจนถึงอายุ 69 ปี พร้อมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ให้สามารถนำเงื่อนไขมีค่าใช้จ่ายร่วม (Copayment) สูงสุด 30% และการให้ส่วนลดเบี้ยประกันภัยจากการมีค่าใช้จ่ายร่วม
 
4. กำหนดเงื่อนไขให้บริษัทไม่สามารถปฏิเสธการต่ออายุกรณีครบรอบปีกรมธรรม์ได้ ยกเว้น 3 กรณีเท่านั้น ซึ่งได้แก่ กรณีไม่แถลงข้อความจริงตามใบคำขอเอาประกันภัย กรณีเรียกร้องผลประโยชน์โดยไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และกรณีเรียกร้องผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันรวมกันทุกบริษัทเกินกว่ารายได้ที่แท้จริง
 
5. กำหนดหลักเกณฑ์การปรับเบี้ยประกันภัย โดยพิจารณาจากอายุ และชั้นอาชีพของแต่ละบุคคล และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น หรือจากประสบการณ์การจ่ายค่าสินไหมทดแทนโดยรวมของพอร์ตโฟลิโอ
 
6. กำหนดให้ส่วนลดประวัติดี กรณีไม่เรียกร้องค่าสินไหมทดแทน หรือเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเล็กน้อย สูงสุด 30%
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ รวมถึงภาคธุรกิจประกันภัย ทำให้การเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะการดำเนินการของระบบภายในของบริษัทประกันภัย เช่น ระบบการรับประกันภัย การออกกรมธรรม์ประกันภัย และการจัดทำอัตราเบี้ยประกันภัย ไม่สามารถดำเนินการให้รองรับกับการใช้สัญญาประกันภัยสุขภาพมาตรฐานใหม่ได้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในคำสั่งฯ อีกทั้ง ยังมีบางประเด็นได้แก่ 1) การกำหนดหลักเกณฑ์กลาง ในการพิจารณากำหนดรายการกลุ่มโรคป่วยเล็กน้อยทั่วไป (Simple Diseases) เพื่อกำหนดเป็นเงื่อนไขการพิจารณาต่ออายุสัญญาแบบมีค่าใช้จ่ายร่วม (Copayment) และ 2) การจัดทำใบเสร็จรายการค่ารักษาพยาบาล ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชนิดหรือประเภทของการรักษาพยาบาล ยาและเวชภัณฑ์ การบริการทางการแพทย์ หรือการบริการอื่นของสถานพยาบาล      และสิทธิของผู้ป่วย ซึ่งผู้รับอนุญาตจะต้องแสดงตามมาตรา 32 (3) พ.ศ. 2561 ซึ่งรายการตามใบเสร็จดังกล่าวจะต้องสัมพันธ์กับหมวดความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยสุขภาพมาตรฐาน ซึ่งจำเป็นต้องหารือร่วมกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เช่น กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านการประกันภัยที่สะดวก และรวดเร็วขึ้น ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้กำหนดแนวทางการใช้สัญญาประกันภัยสุขภาพ ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 - 30 มิถุนายน 2565 เป็น 2 กรณี ดังนี้
 
กรณีที่ 1 กรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพ แบบมาตรฐาน และสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพ แบบมาตรฐาน ให้บริษัทประกันภัยสามารถเสนอขายกับลูกค้ารายใหม่ได้ ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป
 
กรณีที่ 2 กรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพ แบบเดิม และสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพ แบบเดิม ที่ไม่ใช่แบบมาตรฐาน และได้รับความเห็นชอบก่อนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ผ่อนผันให้บริษัทประกันภัยสามารถเสนอขายให้กับลูกค้ารายใหม่ได้ แต่ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2565 โดยให้บริษัททำหนังสือแจ้งความประสงค์ขอผ่อนผันต่อนายทะเบียน พร้อมเหตุผลความจำเป็น และให้รับรองว่าได้มีกระบวนบริหารจัดการ เรื่อง การเสนอขายที่ชัดเจน เพื่อป้องกันข้อร้องเรียน กรณีที่ลูกค้าไม่ทราบว่าเป็นสัญญาประกันภัยสุขภาพที่ใช้เงื่อนไขแบบเดิม
 

“คำสั่งนายทะเบียนฯ ดังกล่าว ซึ่งได้ปรับเพิ่มเติมนั้น เป็นมาตรการระยะสั้นเพื่อช่วยลดประเด็นข้อโต้แย้งของสัญญาประกันภัยสุขภาพ เนื่องจากการพัฒนากฎหมายประกันภัยสุขภาพ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องใช้ระยะเวลา โดยสำนักงาน คปภ. หวังว่าการประกันภัยสุขภาพจะเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัยให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง รวมทั้งจะช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนจากการฉ้อฉล อันจะส่งผลให้ระบบประกันภัยสุขภาพมีการเติบโตได้อย่างยั่งยืน และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้ โดยเฉพาะการการันตีการต่ออายุและการเปรียบเทียบผลประโยชน์ของแบบประกันทำได้ง่ายขึ้น อีกทั้ง จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ได้ว่าในยามเจ็บป่วยหรือเมื่อสูงอายุก็ยังคงมีหลักประกันสุขภาพที่มั่นคง ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186 หรือ หรือ Add Line Official @oicconnect” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. จัดพิธีถวายพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2564 ณ วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
09 November 2564
คปภ. จัดพิธีถวายพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2564 ณ วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานผ้าพระกฐินให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เพื่อน้อมนำไปถวายแด่พระสงฆ์จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส ณ วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ในวันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2564 โดยมี ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานในพิธี อัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2564 ถวายแด่พระสงฆ์ พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร พนักงาน ลูกจ้าง ของสำนักงาน คปภ. ตลอดจนผู้บริหารจากภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ตัวแทนของคณะนักศึกษา Super วปส. นักศึกษา วปส.รุ่นต่าง ๆ และประชาชนผู้มีจิตศรัทธา ร่วมพิธี โดยมีนายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี รักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ให้เกียรติร่วมพิธีดังกล่าว 
 
เลขาธิการ คปภ. กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน สำนักงาน คปภ. ประจำปี 2564 วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ว่า สำนักงาน คปภ. ได้ถวายปัจจัยเพื่อสมทบองค์ผ้าพระกฐิน เป็นจำนวนเงิน 5,990,517.68 บาท (ห้าล้านเก้าแสนเก้าหมื่นห้าร้อยสิบเจ็ดบาทหกสิบแปดสตางค์) และเปิดโอกาสให้ผู้มีจิตศรัทธาทั้งคณะผู้บริหาร พนักงาน ลูกจ้างของสำนักงาน คปภ. ภาค/จังหวัดทั่วประเทศ ภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ตัวแทนของคณะนักศึกษา Super วปส. นักศึกษา วปส. รุ่นต่าง ๆ รวมถึงประชาชนทั่วไป ร่วมถวายปัจจัยเพื่อสมทบองค์ผ้าพระกฐิน เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามให้มั่นคงถาวร พร้อมสืบทอดเจตนารมณ์ในการเป็นหน่วยงานของรัฐที่ดูแลระบบประกันภัย       ของไทยที่ให้ความสำคัญในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีไทยให้เจริญรุ่งเรือง และเกิดความเป็นสิริมงคลแก่ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมต่อไป 
ในโอกาสนี้ สำนักงาน คปภ. ได้จัดทำหนังสือที่ระลึกพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ซึ่งมีเนื้อหาประกอบด้วยประวัติของวัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร ซึ่งเป็นพระอารามหลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการปฏิสังขรณ์หลายครั้งตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันเป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญยิ่งอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรีและสอดแทรกเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการประกันภัยอย่างครบถ้วน อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในด้านวิชาการประกันภัย เพื่อศึกษาและนำระบบประกันภัยมาใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงภัยให้กับตนเองและครอบครัวอย่างครบวงจร นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้รวมพลังภาคอุตสาหกรรมประกันภัยและนักศึกษา วปส. จัดกิจกรรม “สำนักงาน คปภ. รวมพลังภาคประกันภัย รวมใจเพื่อการศึกษา” โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน เพื่อให้ภาคธุรกิจประกันภัยได้รวมใจเป็นน้ำหนึ่งเดียวกัน ส่งมอบอุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬา และสิ่งของจำเป็น เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนของโรงเรียน รวมถึงเสริมสร้างความแข็งแรงด้านทักษะกีฬาให้กับนักเรียนซึ่งเป็นเยาวชนของชาติ สำหรับสิ่งของที่บริจาคประกอบด้วย คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ จำนวน 40 เครื่อง พัดลม จำนวน 70 เครื่อง Projector พร้อมฉากฉายภาพ จำนวน 2 เครื่อง อุปกรณ์กีฬา ได้แก่ ลูกฟุตบอล จำนวน 30 ลูก ลูกวอลเล่ย์บอล จำนวน 30 ลูก ไม้แบดมินตัน ลูกตะกร้อ ลูกบาส จำนวน 8 กล่อง รวมทั้ง อุปกรณ์การเรียน ได้แก่ ชุดเครื่องเขียน 1,000 ชุด สมุด 700 เล่ม กระเป๋าเป้ 700 ใบ กระเป๋าผ้า 700 ใบ และอุปกรณ์ของใช้อื่น ๆ ที่จำเป็น รวมทั้งได้มอบเงินบริจาคบำรุงวิทยาลัยสงฆ์เพชรบุรี จำนวน 10,000 บาท และบำรุงโรงเรียนภายใต้การอุปถัมภ์ของวัดวัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร จำนวน 8 โรงเรียน ๆ ละ 10,000 บาท รวมเป็นเงิน 90,000 บาท ได้แก่ โรงเรียนเทศบาล 1 วัดแก่นเหล็ก (รัตนกะลัสอนุสรณ์) โรงเรียนเทศบาล 2 วัดพระทรง (สุทธิวิเทศอุปถัมภ์) โรงเรียนเทศบาล 3 ชุมชน วัดจันทราวาส โรงเรียนเทศบาล 4 วัดไชยสุรินทร์ โรงเรียน วัดดอนไก่เตี้ย โรงเรียนบางจานวิทยา โรงเรียนวัดดอนผิงแดด (ผลสิริราษฎร์รังสรรค์) และโรงเรียนสุวรรณ เพื่อช่วยเหลือเติมเต็มโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยกิจกรรมดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของสำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัยในด้านการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และการศึกษา
 
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ได้ส่งเสริมและผลักดันให้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริหารความเสี่ยง และสร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชน พร้อมให้ความสำคัญกับการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีไทยให้เจริญรุ่งเรือง ควบคู่กับการดำเนินกิจกรรม CSR เพื่อตอบแทนสังคม โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน และการปลูกฝังความเป็นจิตอาสาช่วยเหลือสังคมให้แก่บุคลากรในองค์กร เพื่อร่วมกันสร้างสังคมไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ การจัดพิธีดังกล่าวเป็นไปตามมติของมหาเถรสมาคม เรื่องการกำหนดมาตรการปฏิบัติในพิธีถวายผ้าพระกฐิน/กฐิน ตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และขออนุโมทนาบุญแก่ภาคธุรกิจประกันภัย บุคลากรของสำนักงาน คปภ. ตลอดจนผู้มีจิตกุศลทุกท่านที่ร่วมทำบุญใหญ่ครั้งนี้ ขอให้มีสุขภาพแข็งแรงและความสุขความเจริญยิ่งขึ้นไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. โชว์ผลตอบรับงาน TIF 2021 เกินคาด ดึงคนจากทั่วมุมโลกเข้าร่วมงานสำเร็จ ยอดซื้อประกันในงานทะลุเป้า เผยปีหน้าจัดยิ่งใหญ่กว่าเดิม

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
05 November 2564

คปภ. โชว์ผลตอบรับงาน TIF 2021 เกินคาด ดึงคนจากทั่วมุมโลกเข้าร่วมงานสำเร็จ ยอดซื้อประกันในงานทะลุเป้า เผยปีหน้าจัดยิ่งใหญ่กว่าเดิม 

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงาน คปภ. ได้จัดงาน “Thailand InsurTech Fair 2021” เมื่อวันที่ 26-30 ตุลาคม 2564 ภายใต้แนวคิด “InsurTech for all and for the next normal” โดยปีนี้ได้ปรับรูปแบบการจัดงาน “สัปดาห์ประกันภัย” ซึ่งได้ริเริ่มและบูรณาการร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย มาตั้งแต่ปี 2552 จากการจัดกิจกรรมออกบูธนิทรรศการ จำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านการประกันภัย การเงินและการลงทุน และการให้ความรู้ด้านการประกันภัยภายในงาน เป็นรูปแบบออนไลน์ Virtual 360° ครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลังของภาคอุตสาหกรรมประกันภัยที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจและการให้บริการประชาชน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมประกันภัยของไทยให้ก้าวไกล และพร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางของนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีประกันภัย หรือ “InsurTech Startup Hub” ในอนาคต 
 
สำหรับผลตอบรับของการจัดงาน “Thailand InsurTech Fair 2021” นับว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ทั้งด้านการพลิกโฉมรูปแบบการจัดงาน และจำนวนผู้เข้าชมงานจากทั่วมุมโลกทั้งในและต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 26-30 ตุลาคมที่ผ่านมา รวม 5 วัน กว่า 100,00 ราย และคลิกเข้าร่วมกิจกรรมภายในโซนต่าง ๆ กว่า 710,000 คลิก แบ่งเป็น Seminar Room งานสัมมนาวิชาการมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังสัมมนากว่า 35,000 ราย Exhibition Hall รูปแบบ Virtual Booth มีผู้สนใจเข้าชมเทคโนโลยีและซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยกว่า 62,000 ราย และ Main Stage จัดแสดงด้านผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีด้านประกันภัย มีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 45,000 ราย นอกจากนี้ ภายในโซน Business Matching การจับคู่ทางธุรกิจผ่านการพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูล และสานสัมพันธ์ทางธุรกิจ เพื่อต่อยอดการเติบโตของบริษัทในวงการประกันภัย โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมพูดคุยธุรกิจกว่า 500 ราย รวมทั้งได้รับความสนใจจากกลุ่ม Startup ทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศเข้ามานำเสนอนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดในอุตสาหกรรมประกันภัยในอนาคตได้ 
ส่วนยอดซื้อกรมธรรม์ประกันภัยภายในงาน มีเบี้ยประกันภัยสูงถึง 732 ล้านบาท รวมกว่า 15,000 กรมธรรม์ แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต มีเบี้ยประกันภัย 652 ล้านบาท 6,834 กรมธรรม์ ผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัย มีเบี้ยประกันภัย 80 ล้านบาท 8,412 กรมธรรม์ โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการนิยมและมียอดจำหน่าย ในส่วนของผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ได้แก่ ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ ประกันสุขภาพ และประกันชีวิตควบการลงทุน ในส่วนของผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัย ได้แก่ ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ประกันอัคคีภัย และประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล สำหรับปัจจัยที่ดึงดูดประชาชนให้เข้าชมงาน “Thailand InsurTech Fair 2021” ในครั้งนี้คือ รูปแบบการจัดงานที่ปรับเป็นแบบออนไลน์ Virtual 360° ซึ่งสอคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่สามารถเข้าชมได้ง่าย สะดวกและตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งทาง Smart Phone หรือคอมพิวเตอร์ นับเป็นการปรับโมเดลและยกระดับการจัดงานแบบพลิกโฉมโดยการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้อย่างแท้จริงของสำนักงาน คปภ. อีกทั้งในด้านวิชาการ ในปีนี้มีการจัดสัมมนาโดยมีวิทยากรชั้นนำระดับแนวหน้าจากทั่วโลกกว่า 30 ท่าน มาร่วมให้ความรู้ในเนื้อหาที่เข้มข้นและน่าสนใจในทุก Section นอกจากนี้ ยังมีบริษัทประกันภัยชั้นนำที่มาร่วมออกบูธด้านนวัตกรรม InsurTech และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องทั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศกว่า 100 บูธ ทั้งนี้ ประชาชนยังสามารถรับชมกิจกรรมและหัวข้อสัมมนาย้อนหลังได้ทาง www.tif2021.com จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 
ในวันนี้ นอกจากจะมีการแถลงข่าวผลการจัดงาน “Thailand InsurTech Fair 2021” แล้ว ยังมีการมอบรางวัลให้กับผู้ที่ซื้อผลิตภัณฑ์ภายในงานมากกว่า 25 รางวัล มูลค่ารวมสูงถึง 1,000,000 บาท โดยผู้โชคดีที่ได้รับรางวัลใหญ่ ทองคำหนัก 10 บาท มูลค่ากว่า 300,000 บาท คือ คุณวิรุฬห์ ภู่พันธ์ ผู้ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ จำนวน 1 ฉบับ และยังมีรางวัลทองคำหนัก 5 บาท มูลค่ากว่า 150,000 บาท ก็คือ คุณณัฐชญา หวังวัฒนกิจ
 
“ต้องขอบคุณภาคอุตสาหกรรมประกันภัย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่บูรณาการร่วมกันจัดงาน TIF ครั้งแรกจนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ผลการตอบรับของการจัดงานในครั้งนี้ ทั้งจากตัวเลขผู้ร่วมงานและยอดซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยภายในงาน สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจของประชาชนเกี่ยวกับการประกันภัยและนวัตกรรมเทคโนโลยีประกันภัย           จึงนับว่าเป็นปีแห่งการบุกเบิกการจัดงานแบบออนไลน์ของภาคอุตสาหกรรมประกันภัยที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และยังเป็นการประกาศว่าภาคอุตสาหกรรมประกันภัยพร้อมที่จะปรับตัวต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุค New Normal and Next Normal รวมไปถึงเรื่องของ Digital Disruption ที่บริษัทประกันภัยจำเป็นต้องมีการปรับตัวในการรับเทคโนโลยีมาใช้ โดยมั่นใจว่าในปีหน้าการจัดงาน “Thailand InsurTech Fair 2022” จะยิ่งใหญ่กว่าปีนี้แน่นอน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
 
หมวดหมู่ข่าว: 

ประกาศรายชื่อบริษัทประกันภัยที่ได้รับการผ่อนผันตามประกาศ คปภ. เรื่อง มาตรการสำหรับบริษัทประกันวินาศภัยที่มีค่าสินไหมทดแทน COVID-19 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. 2564

< >
วันที่เผยแพร่: 
04 November 2564
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. ประกาศผลรางวัลสุดยอด “ประกันภัยดีเด่นครบวงจร Prime Minister’s Insurance Awards ประจำปี 2564” พร้อมจัดพิธีมอบรางวัลฯ ยิ่งใหญ่ผ่านระบบ Virtual 360°

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
05 November 2564

คปภ. ประกาศผลรางวัลสุดยอด “ประกันภัยดีเด่นครบวงจร Prime Minister’s Insurance Awards ประจำปี 2564” พร้อมจัดพิธีมอบรางวัลฯ ยิ่งใหญ่ผ่านระบบ Virtual 360° 

 
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า วันนี้ (4 พฤศจิกายน 2564) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้รับเกียรติจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษและเป็นประธานมอบรางวัลประกันภัยดีเด่นครบวงจร Prime Minister’s Insurance Awards ประจำปี 2564 ผ่านระบบออนไลน์ Virtual 360° ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อนุญาตให้ใช้ลายมือชื่อสลักลงบนโล่เกียรติยศ เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณ และเชิดชูเกียรติองค์กร หน่วยงาน และบุคคลดีเด่นด้านการประกันภัยที่มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์คุณประโยชน์ต่อสังคม ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 17 โดยมีรางวัลรวม 13 ประเภท 55 รางวัล ภายใต้การจัดงานในรูปแบบไฮบริดออนไลน์ พร้อมจัดแสดงรางวัล Hall of Fame บนแพล็ตฟอร์มแบบ Virtual 360° ทางเว็บไซต์ www.oicinsurawards.org 
 
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีฯ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษและแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัล ในตอนหนึ่งว่า ขอชื่นชมคณะกรรมการ คปภ. ผู้บริหาร บุคคลากรสำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ตลอดจนผู้ที่มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์คุณประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตอย่างยั่งยืน แม้ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงและความผันผวนอย่างต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่นำพาประชาชนไปสู่วิถีปกติแบบใหม่ New normal นับเป็น   อีกความท้าทายสำคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาว มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาของภาครัฐที่ผ่านมาเป็นการลดผลกระทบในทันที แต่การพัฒนาให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มีความเข้มแข็ง และลดความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน คือโจทย์สำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบาง และกลุ่มผู้ประกอบการ รวมถึงมีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกร ผ่านการประกันภัยข้าวนาปี และการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติได้อย่างเป็นระบบและช่วยบรรเทาเยียวยาความเสียหายให้กับเกษตรกรอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม โดยหวังว่าในอนาคตจะขยายผลไปสู่การประกันภัยพืชผลอื่น และมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการรับประกันภัยมากขึ้น นอกจากนี้ เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่สำนักงาน คปภ. ได้ผลักดันให้มีการพัฒนากฎหมายแม่บทด้านการประกันภัยสุขภาพ เพื่อให้มีกฎหมายว่าด้วยการประกันภัยสุขภาพเป็นกฎหมายเฉพาะที่ส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยสุขภาพมีรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการและสอดคล้องกับลักษณะการใช้ชีวิตของประชาชน โดยมุ่งหมายให้ประชาชนที่สมัครใจเข้าสู่ระบบการประกันภัยสุขภาพภาคเอกชน (Private Health Insurance) สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการประกันภัยสุขภาพมากขึ้น อีกทั้งช่วยยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการประกันภัยสุขภาพอย่างครอบคลุมและยั่งยืน โดยเฉพาะการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อรองรับสังคมสูงวัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และส่งเสริมนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการ รวมทั้งการปรับปรุงสัญญาประกันภัยสุขภาพมาตรฐาน ให้มีความคุ้มครองที่ทันสมัยเป็นมาตรฐานเดียวกัน และมีการกำหนดเบี้ยประกันภัยที่ทำให้ประชาชนทั่วไป ผู้มีรายได้น้อย สามารถเข้าถึงและสามารถใช้ประโยชน์จากการทำประกันภัยสุขภาพได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น  
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานพิธีมอบรางวัลประกันภัยดีเด่นครบวงจร Prime Minister’s Insurance Awards ได้จัดต่อเนื่องทุกปี ในปีนี้เป็นครั้งที่ 17 โดยจัดงานในรูปแบบไฮบริดออนไลน์และจัดแสดงรางวัล Hall of Fame บนแพล็ตฟอร์มแบบ Virtual 360° เป็นครั้งแรกและได้เพิ่มรางวัลพิเศษสำหรับบริษัทประกันภัยที่มีการพัฒนาด้านความยั่งยืนในธุรกิจประกันภัย เพื่อส่งเสริมให้บริษัทยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล และรางวัลพิเศษสำหรับบริษัทประกันภัยที่สร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีประกันภัย เพื่อส่งเสริมการให้บริการที่เป็นเลิศ ซึ่งมีคณะกรรมการนโยบายและคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลประกันภัยดีเด่น ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิจารณาอย่างเป็นธรรมและเข้มข้นภายใต้กรอบกติกาที่กำหนดไว้ สำหรับรางวัลบริษัทประกันภัยเกียรติยศสูงสุด (Hall of Fame) ประจำปี 2563 ได้แก่ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสำนักงาน คปภ. และระบบประกันภัย ประจำปี 2563 จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นายสมชาย อัศวเศรณี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนเจอร์ เบสท์ฟู้ด จำกัด และนายอภิศักดิ์ ธนเศรษฐกร กรรมการบริหาร บริษัท ไทยนิวส์เน็ตเวิร์ค    (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด เป็นต้น
 
“สำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย พร้อมที่จะบูรณาการร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน ในการส่งเสริมและผลักดันให้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริหารความเสี่ยง และสร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชน เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนได้” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
 
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. ประกาศรายชื่อบริษัทที่ได้รับการผ่อนผันตามมาตรการเสริมสภาพคล่อง เพื่อจ่ายเคลมประกันโควิดให้กับประชาชน

< >
วันที่เผยแพร่: 
04 November 2564

คปภ. ประกาศรายชื่อบริษัทที่ได้รับการผ่อนผันตามมาตรการเสริมสภาพคล่อง เพื่อจ่ายเคลมประกันโควิดให้กับประชาชน   

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่าตามที่ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ได้ออกประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง มาตรการสำหรับบริษัทประกันวินาศภัยที่มีค่าสินไหมทดแทน COVID-19 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. 2564 (ประกาศ คปภ.ฯ) โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2564 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ซึ่งการออกประกาศ คปภ.ฯ เพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจให้กับบริษัทประกันภัย ทำให้บริษัทประกันภัยมีสภาพคล่องทางการเงินที่จะนำมาจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยได้เพิ่มสูงขึ้น ด้วยการลดภาระด้านการดำรงเงินกองทุนของบริษัทประกันภัยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จากส่วนที่ตั้งไว้ผ่อนผันให้บริษัทถือเงินสดในมือได้มากขึ้น และยังเพิ่มทางเลือกให้กับบริษัทในการจัดหาแหล่งเงินทุนอื่นที่บริษัทสามารถเข้าถึงได้รวดเร็วกว่าการเพิ่มทุนและลดภาระค่าธรรมเนียมในการฝากเงินกับสถาบันการเงินของบริษัท นอกจากนี้ ยังทำให้บริษัทประกันภัยมีเวลามากขึ้นในการดำเนินการปรับปรุงฐานะเงินกองทุนและสภาพคล่องของบริษัทให้เป็นไปตามอัตราที่กฎหมายกำหนด
 
ในการดำเนินการตามประกาศฯ สำนักงาน คปภ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานรวม 3 ชุด เพื่อกำกับดูแล กลั่นกรองพิจารณาคำขอ โดยคณะกรรมการและคณะทำงานได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบตามคำขอและข้อมูลต่าง ๆ ประกอบแล้ว จึงมีมติเสนอให้นายทะเบียนเห็นชอบเพื่อประกาศรายชื่อบริษัทที่ได้รับการผ่อนผัน ดังนี้ 1) บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) 2) บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ 3) บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2564 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565  
การประกาศรายชื่อเป็นไปตามข้อ 7 ของประกาศ คปภ.ฯ ที่กำหนดให้ประกาศรายชื่อบริษัทที่ได้รับการผ่อนผันสำหรับขั้นตอนต่อไป สำนักงาน คปภ. จะตรวจสอบติดตามการดำเนินงานของทั้ง 3 บริษัทที่ได้รับการผ่อนผันให้ถือปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หากบริษัทใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด จะเสนอนายทะเบียนยกเลิกมาตรการผ่อนผันในทันที เนื่องจากมาตรการผ่อนผันดังกล่าวเป็นกลไกชั่วคราวที่มุ่งช่วยเหลือบริษัทประกันภัยที่ประสบปัญหาสภาพคล่องรายกรณี เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้เอาประกันภัย 
 
“ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ามาตรการผ่อนผันดังกล่าว จะช่วยเสริมความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจให้กับทั้ง 3 บริษัทที่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องจากการจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันโควิด-19 เป็นจำนวนมาก เพื่อไม่ให้ปัญหาการขาดสภาพคล่องลุกลามจนส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้เอาประกันภัยที่ยื่นเคลมประกันโควิด-19 ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ www.oic.or.th” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย 
 
หมวดหมู่ข่าว: 

ไทยประสบความสำเร็จอย่างงดงามในเวทีอาเซียน โดยที่ประชุมหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยอาเซียนประจำปี ครั้งที่ 24 มีคะแนนเสียงเอกฉันท์สนับสนุนโครงการ COVID-19 Insurance Data Terminal for All ASEAN ที่เสนอโดยสำนักงาน คปภ.

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
02 November 2564

ไทยประสบความสำเร็จอย่างงดงามในเวทีอาเซียน โดยที่ประชุมหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยอาเซียนประจำปี ครั้งที่ 24 มีคะแนนเสียงเอกฉันท์สนับสนุนโครงการ COVID-19 Insurance Data Terminal for All ASEAN ที่เสนอโดยสำนักงาน คปภ.

 
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 27-28 ตุลาคม 2564 ตนพร้อมคณะผู้แทนจากสำนักงาน คปภ. ได้เข้าร่วมการประชุมหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยอาเซียนประจำปี 2564 ครั้งที่ 24 (24th ASEAN Insurance Regulators’ Meeting หรือ AIRM) ซึ่งเป็นการประชุมระดับภูมิภาคระหว่างหัวหน้าหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ผ่านระบบออนไลน์ โดยการประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศสมาชิกแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการกำกับดูแลด้านประกันภัย และการพัฒนาการประกันภัยของแต่ละประเทศ รวมทั้งรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการต่าง ๆ ของประเทศสมาชิกในด้านการพัฒนาการกำกับดูแลประกันภัยและความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งในครั้งนี้หัวหน้าหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยของสาธารณรัฐสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore : MAS) เป็นประธานการประชุมฯ และมีเลขาธิการ คปภ. เป็นรองประธาน 
 
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งนี้ มีวาระพิเศษที่สำนักงาน คปภ. ได้นำเสนอโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มกลาง COVID-19 Insurance Data Terminal for All ASEAN ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางในการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การขออนุญาตเข้าประเทศ และผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีความคุ้มครองครอบคลุมโรค COVID-19 สำหรับผู้ที่มีความประสงค์เดินทางเข้ามาในประเทศของแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งที่ประชุมฯ มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบและพร้อมให้การสนับสนุนและผลักดันโครงการฯ ดังกล่าวให้เกิดประโยชน์ร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งทุกประเทศในอาเซียนรวมทั้งประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ด้านข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายการกำกับดูแลและบริหารความเสี่ยง และจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรอาเซียน โดยในระยะถัดไป หน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยของอาเซียนจะร่วมกันหากันถึงแนวทางในการขยายขอบเขตความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐสาขาอื่น ๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันภัย ตลอดจนการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและอำนวยความสะดวกในการเดินทางภายในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน ต่อไป 
ในการนี้ หน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยของประเทศมาเลเซีย (Bank Negara of Malaysia: BNM) ได้กล่าวชื่นชมแนวคิดริเริ่มของโครงการฯ นี้ เนื่องจากจะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศในอาเซียนและจะเป็นศูนย์รวมข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางภายในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยของประเทศอินโดนีเซีย (Otoritas Jasa Keuangan: OJK) ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า พร้อมสนับสนุนโครงการฯ เนื่องจากจะสามารถต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางที่ใช้ร่วมกันในอาเซียนและช่วยเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้มากยิ่งขึ้น  
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้หารือร่วมกันในเรื่องต่างๆ อาทิ 1) ความคืบหน้าแผนการดำเนินการภายใต้โครงการการบริหารการเงินและการประกันภัยด้านภัยพิบัติ สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN Disaster Risk Financing and Insurance: ADRFI) โดยสำนักงาน คปภ. ได้สนับสนุนให้มีการสัมมนาในหัวข้อ Public Asset Insurance ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน 2) ความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้พิธีสารฉบับที่ 5 เรื่องกรอบการประกันภัยรถขนส่งสินค้าผ่านแดนภาคบังคับของอาเซียน ซึ่งประเทศสมาชิกอยู่ในระหว่างการพัฒนาระบบ ACMI และเชื่อมโยงระบบ ACMI ภายในประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงเรื่องการใช้ระบบประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับผ่านแดนอาเซียน (ACMI MOU) เรียบร้อยแล้ว โดยสำนักงาน คปภ. ได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมการประกันภัยรถผ่านแดนภาคบังคับอาเซียนว่า ควรมีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือและสร้างความเข้าใจร่วมกันถึงการบังคับใช้การประกันภัยรถผ่านแดนภาคบังคับ 
ในโอกาสนี้ สำนักงาน คปภ. ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ในเรื่องการบรรจุแนวคิดเรื่อง Sustainability ลงในแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมความยั่งยืน การส่งเสริมการลงทุนของบริษัทประกันภัยในผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียว การส่งเสริมการการตระหนักรู้เรื่องความยั่งยืน การให้รางวัลบริษัทประกันภัยที่มีพัฒนาการด้าน ESG  อีกทั้ง สำนักงาน คปภ. ยังได้แลกเปลี่ยนแนวทางในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนาธุรกิจประกันภัยในด้านต่าง ๆ เช่น การเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-policy) โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการสำหรับธุรกิจประกันภัย (Insurance Regulatory Sandbox) การพัฒนา OIC Gateway การจัดตั้ง Center of InsurTech, Thailand (CIT) และการจัดงานมหกรรมเทคโนโลยีด้านการประกันภัยประจำปี 2564 (Thailand InsurTech Fair) และภายหลังจากการประชุม AIRM สำนักงาน คปภ. และหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยอาเซียน ได้หารือร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัยอาเซียน เพื่อร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ที่มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจประกันภัยในอาเซียน 
 
“การประชุมในครั้งนี้ ได้ข้อสรุปร่วมกันที่เป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ไทยจะผลักดันโครงการ COVID-19 Insurance Data Terminal for All ASEAN และการประชุม AIRM ในปี 2565 ประเทศไทย  จะเป็นประธาน AIRM และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยอาเซียน ครั้งที่ 25 (25th ASEAN Insurance Regulators’ Meeting : 25th AIRM) โดยสำนักงาน คปภ. จะเตรียมความพร้อมในการจัดการประชุมฯ อย่างเต็มที่” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
 
หมวดหมู่ข่าว: 

ประกาศสำนักงาน คปภ. เรื่อง การรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการพิจารณาคัดเลือกและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ (ปิดรับสมัครแล้ว)

< >
วันที่เผยแพร่: 
29 October 2564
หมวดหมู่ข่าว: 

ประกาศผลการตัดสินการประกวดผลงานนักเรียนตามโครงการอัจฉริยะยุวชนประกันภัย ประจำปี 2564 ระดับกรุงเทพมหานคร (เทียบเท่าระดับภาค)

คปภ. จับมือภาคธุรกิจประกันภัย เปิดตัว Super APP ปลดล็อคประกันภัยไทย ไร้ขีดจำกัดเพื่อประชาชน เชื่อมทุกบริการผ่านปลายนิ้ว ง่าย ครบ จบในแอปเดียว

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
27 October 2564

คปภ. จับมือภาคธุรกิจประกันภัย เปิดตัว Super APP ปลดล็อคประกันภัยไทย ไร้ขีดจำกัดเพื่อประชาชน เชื่อมทุกบริการผ่านปลายนิ้ว ง่าย ครบ จบในแอปเดียว 

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564 สำนักงาน คปภ. ร่วมกับ สมาคมประกันวินาศภัยไทยและสมาคมประกันชีวิตไทย จัดพิธีแถลงข่าวเปิดโครงการ OIC Gateway และการให้บริการ Application “กรมธรรม์ของฉัน” ภายในงาน Thailand InsurTech Fair ครั้งที่ 1 โดยเปิดตัวโครงการ OIC Gateway และการให้บริการ Application “กรมธรรม์ของฉัน” หรือ MyPolicy บน LINE Official Account “คปภ. รอบรู้ (@OICConnect)”อย่างเป็นทางการ เพื่อให้ประชาชนและผู้เอาประกันภัยเข้าถึงข้อมูลกรมธรรม์ของตนเองได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และสอดคล้องกับยุคดิจิทัล       
 
เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า โครงการ OIC Gateway เป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มกลาง หรือตัวกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลด้านประกันภัยแบบ Real-Time ในรูปแบบ Application Programming Interface (API) เข้าด้วยกัน ผ่านศูนย์ข้อมูลของสำนักงาน คปภ. ที่มีมาตรฐานความมั่นคงและปลอดภัยสารสนเทศในระดับสูง ออกแบบและดำเนินการสอดคล้องกับข้อกฎหมายต่าง ๆ อาทิ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ในหลายด้าน ทั้งต่อประชาชนและบริษัทประกันภัย โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคธุรกิจประกันภัยในการออกแบบและพัฒนาระบบ OIC Gateway เพื่อให้ทำหน้าที่เสมือนทางด่วนเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสำนักงาน คปภ. และบริษัทประกันภัย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ในมิติที่หลากหลายขึ้น และได้เชื่อมต่อระบบ OIC Gateway เข้ากับ “คปภ. รอบรู้ (@OICConnect)” บน LINE Official Account ที่มีอยู่แล้ว เพื่อพัฒนาเป็น Super Application ด้านประกันภัย ช่วยลดความยุ่งยากในการตรวจสอบข้อมูลกรมธรรม์ประกันภัยของผู้เอาประกันภัย จึงเป็นที่มาของการให้บริการ “กรมธรรม์ของฉัน หรือ MyPolicy” สำหรับให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลกรมธรรม์ประกันภัยที่ตนเองถือครองทั้งหมดทุกบริษัท ครบ จบ ในที่เดียว 
สำหรับโครงการ OIC Gateway สามารถต่อยอดและให้บริการได้ในหลายมิติ โดยในระยะที่ 1 ของโครงการ จะมุ่งเน้นการให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปเป็นอันดับแรก ซึ่งจะให้บริการ “กรมธรรม์ของฉัน หรือ My Policy” และบริการเสริมอื่น ๆ บน LINE Official Account คปภ. รอบรู้ (@OICConnect) อาทิ บริการสืบค้นข้อมูลกรมธรรม์ประกันภัย     จากบริษัทประกันภัยทั่วประเทศ บริการตรวจสอบสถานะใบอนุญาตตัวแทนประกันภัยและนายหน้าประกันภัย บริการตรวจสอบตำแหน่งที่ตั้งสำนักงาน คปภ. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และบริการตรวจสอบที่ตั้งสำนักงานใหญ่บริษัทประกันภัย เป็นต้น แม้ว่าขณะนี้หลาย ๆ บริษัทประกันภัยจะมีการพัฒนาช่องทางหรือ Application ให้ผู้เอาประกันภัยสามารถตรวจสอบข้อมูลกรมธรรม์ประกันภัยของตนเองที่มีกับบริษัทได้ แต่ในทางปฏิบัติ ผู้เอาประกันภัยต้องตรวจสอบที่ละบริษัท ทำให้เกิดความยุ่งยากและเสียเวลา ดังนั้น การให้บริการ “กรมธรรม์ของฉัน หรือ MyPolicy” จึงช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลกรมธรรม์ประกันภัยที่ตนเองถือครองทั้งหมดทุกบริษัท ครบ จบ ในที่เดียว และยังเป็นการเพิ่มช่องทางให้ประชาชนคนไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านประกันภัยได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ตอบโจทย์ผู้เอาประกันภัยในยุค Digital Lifestyle และในระยะที่ 2 อยู่ระหว่างขยายขอบเขตการให้บริการเพิ่มเติม ด้วยการพัฒนาระบบให้บริการข้อมูลแก่ภาคธุรกิจ และยกระดับการป้องกันและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมด้านประกันภัยควบคู่ไปกับความปลอดภัยในการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เอาประกันภัย 
 
“สำนักงาน คปภ. ขอเชิญชวนประชาชนและผู้เอาประกันภัย แอด LINE Official Account “คปภ. รอบรู้ (@OICConnect)” และลองตรวจสอบข้อมูลกรมธรรม์ประกันภัยที่เมนู “กรมธรรม์ของฉัน หรือ MyPolicy” ได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลกรมธรรม์ประกันภัยของท่านได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ง่าย ครบ จบ       ในที่เดียว” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
 
หมวดหมู่ข่าว: 

Pages

Subscribe to RSS - ข่าว