ข่าว

คปภ. ลงพื้นที่เร่งช่วยเหลือด้านประกันภัยกรณีบิ๊กไบค์ชนคุณหมอกระต่ายเสียชีวิต

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
24 January 2565

คปภ. ลงพื้นที่เร่งช่วยเหลือด้านประกันภัยกรณีบิ๊กไบค์ชนคุณหมอกระต่ายเสียชีวิต

……………
 
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์เฉี่ยวชนคนเดินข้ามถนน บริเวณทางม้าลาย หน้าสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท จนเป็นเหตุให้แพทย์หญิง วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล (คุณหมอกระต่าย) แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ โดยมี ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ผบ.หมู่กองร้อยที่ 2 ตำรวจควบคุมฝูงชน (ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กองกำกับการอารักขา บก.อคฝ.) เป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ Ducati สีแดง หมายเลขทะเบียน 1กผ 9942 เชียงราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 ในเบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ฝ่ายสำนักนายทะเบียนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ ซึ่งกำกับดูแลพื้นที่เขตพญาไทด้วยนั้น เร่งช่วยเหลือและสำรวจความเสียหายอย่างเร่งด่วน 
ผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยฯ ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า รถจักรยานยนต์คันดังกล่าว ขาดต่อประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ซึ่งสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ ได้รีบลงพื้นที่อำนวยความสะดวกด้านการประกันภัยให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต 
เพื่อจะได้ใช้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
 
สำหรับการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นของผู้เสียชีวิตนั้น ทายาทโดยธรรมของผู้เสียชีวิต มีสิทธิได้รับเงินค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย จำนวนเงิน 35,000 บาท (สามหมื่นห้าพันบาทถ้วน) และกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยสามารถจ่ายได้ทันทีหากหลักฐานครบถ้วน นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ได้เร่งตรวจสอบว่าผู้เสียชีวิตทำประกันภัยประเภทอื่นๆ เช่น ประกันชีวิต ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ไว้ด้วยหรือไม่ และจากการตรวจสอบข้อมูลการทำประกันชีวิตของ แพทย์หญิง วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล ซึ่งได้ทำกรมธรรม์ประกันชีวิตกลุ่มคุ้มครองสินเชื่อกับบริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จำนวน 2 กรมธรรม์ ดังนี้ 1) กรมธรรม์ประกันชีวิตกลุ่มคุ้มครองสินเชื่อ เลขที่ GML113/5200 สัญญาหลักคุ้มครองชีวิตและทุพพลภาพ 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน) วันที่สัญญาเริ่มมีผลบังคับ 30 พฤศจิกายน 2564 วันที่สัญญาสิ้นผลบังคับ 29 พฤศจิกายน 2574 และ 2) กรมธรรม์ประกันชีวิตกลุ่มคุ้มครองสินเชื่อ เลขที่ GML113/5201 สัญญาหลักคุ้มครองชีวิตและทุพพลภาพ 130,000 บาท
(หนึ่งแสนสามหมื่นบาทถ้วน) วันที่สัญญาเริ่มมีผลบังคับ 30 พฤศจิกายน 2564 วันที่สัญญาสิ้นผลบังคับ 29 พฤศจิกายน 2574 และกรมธรรม์ประกันชีวิตกับบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 33396520 วันเริ่มสัญญาประกันภัย 15 มีนาคม 2553 วันครบกำหนดสัญญา 15 มีนาคม 2567 จำนวนเงินเอาประกันภัย 200,000 บาท (สองแสนบาทถ้วน) และยังได้ทำกรมธรรม์ประกันชีวิตประเภทสามัญกับบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) แบบ เมืองไทย สมาร์ท โพรเทคชั่น 99/20 ชนิดไม่มีเงินปันผล วันเริ่มสัญญาประกันภัย 11 มิถุนายน 2563 วันครบกำหนดสัญญาประกันภัย 11 มิถุนายน 2630 จำนวนเงินเอาประกันภัย 200,000 บาท (สองแสนบาทถ้วน) ซึ่งสำนักงาน คปภ. จะได้ประสานงานบริษัทเพื่อให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตได้รับการชดใช้เงินตามสัญญาประกันภัยโดยเร็วต่อไป
 
สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งกับครอบครัวของคุณหมอกระต่าย ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น แต่ก็เกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิดและเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็นำมาซึ่งความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง จึงฝากเตือนประชาชนให้ระมัดระวังในการขับขี่รถโดยไม่ประมาท และควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงภัย ทั้งการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ การประกันชีวิตและการประกันภัยประเภทอื่นๆ เพื่ออย่างน้อยระบบประกันภัยจะได้เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัย สอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ Add Line Official @oicconnect” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
 
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเครือข่ายผู้บริโภคประสานเสียง “ค้าน”ยกเลิกคำสั่งที่ 38/2564 หวั่นผู้บริโภคถูกลอยแพ

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
19 January 2565

คปภ. เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเครือข่ายผู้บริโภคประสานเสียง

“ค้าน”ยกเลิกคำสั่งที่ 38/2564 หวั่นผู้บริโภคถูกลอยแพ
………………..
ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เพื่อไม่ให้บริษัทประกันภัยบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยแบบเหมาเข่ง และหลังจากที่มีการออกคำสั่งดังกล่าวไปนั้น ปรากฏว่า บริษัทประกันภัยต่างๆ รวมทั้งสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ออกมาขานรับและพร้อมยืนยันจะให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันภัยจนสิ้นสุดสัญญาประกันภัย ต่อมาเมื่อช่วงปลายปี 2564 มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบต่อการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัย ปรากฏว่าสมาคมประกันวินาศภัยไทยได้ทำหนังสืออุทธรณ์การออกคำสั่งที่ 38/2564 ต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) เพื่อเปิดช่องให้บริษัทประกันภัยสามารถบอกเลิกประกันภัยโควิดแบบเจอ จ่าย จบ ได้ ซึ่งสำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกรอบระยเวลาเพื่อเสนอความเห็นบอร์ด คปภ. พิจารณาต่อไป และเพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนสำนักงาน คปภ. จึงได้เชิญตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ประกอบด้วย นายกสมาคมส่งเสริมและคุ้มครองผู้บริโภค ประธานสมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้แทนสภาองค์กรของผู้บริโภค และประธานมูลนิธิกลุ่มเส้นด้าย มาประชุมร่วมกันเพื่อระดมความเห็นและให้ข้อแนะนำว่าทิศทางการดำเนินการในเรื่องนี้ควรเป็นอย่างไร
 
นายอุฬาร จิ๋วเจริญ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีความเห็นว่า การออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เป็นการออกคำสั่งที่ถูกต้องและมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย โดยเห็นว่านายทะเบียนมีอำนาจออกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย ในส่วนของบริษัทประกันภัยที่ใช้สิทธิในการบอกเลิกสัญญา แม้ว่าในสัญญาประกันภัยจะมีข้อสัญญาให้สามารถบอกเลิกสัญญาได้ก็ตาม แต่เห็นว่ากรณีดังกล่าวต้องเป็นการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยสุจริตตามมาตรา 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยในขณะเข้าทำสัญญาประกันภัย บริษัทประกันภัยจะต้องคาดหมายได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดจะมีความรุนแรงแค่ไหน และจะมีผลกระทบทางด้านสาธารณสุขที่บริษัทประกันภัยจะสามารถรับมือได้หรือไม่ บริษัทประกันภัยจะต้องมีการวางแผนรับความเสี่ยงอยู่แล้วก่อนออกผลิตภัณฑ์ โดยไม่สามารถอ้างได้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิดมีผลต่อการบริหารความเสี่ยง ภายหลังที่มีการออกผลิตภัณฑ์แล้ว การที่บริษัทประกันภัยเข้าทำสัญญาประกันภัย จึงเป็นการตกลงรับความเสี่ยงจากผลของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ที่สามารถคาดหมายและรับมือไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว ซึ่งกรณีนี้ หากนายทะเบียนยินยอมให้บริษัทประกันภัยเลิกสัญญาได้ฝ่ายเดียว ซึ่งขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 ก็เท่ากับเป็นการยินยอมให้บริษัทประกันภัยหลอกลวงผู้เอาประกันภัย ซึ่งเป็นผู้บริโภคในการเข้าทำสัญญาเพื่อประโยชน์ฝ่ายเดียวของบริษัท ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตในการบอกเลิกกรมธรรม์ หากมีการยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว สภาองค์กรของผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้บริโภคโดยการฟ้องคดีแทนผู้บริโภค เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเชิงลงโทษให้แก่ผู้บริโภคได้ ตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551
นายคริส โปตระนันทน์ ประธานมูลนิธิกลุ่มเส้นด้าย มีความเห็นว่า กลุ่มเส้นด้ายได้มีการโพสต์ประเด็นการยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ในเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มเส้นด้าย ซึ่งมีผู้ติดตามประมาณ 500,000 ราย และได้รับทราบความคิดเห็นจากประชาชน โดยพบว่าประมาณ 99.50 เปอร์เซ็นต์ ของประชาชนที่แสดงความเห็น ไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้สำนักงาน คปภ. ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว และมีหลายความเห็นตอบกลับมาว่า ตอนนี้มีความยากลำบากมากอยู่แล้ว การที่ประกันภัยเข้ามาช่วยเหลือก็สามารถเยียวยาความเสียหายในกรณีที่มีบุคคลในครอบครัวติดเชื้อโควิด ซึ่งถือเป็น Financial Loss เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อจะไม่สามารถทำงานได้ ดังนั้นจึงเห็นว่า สำนักงาน คปภ. ควรยืนตามคำสั่งนายทะเบียนเดิม 
 
ในส่วนของข้อกฎหมายเห็นว่า แม้จะมีการระบุไว้ในข้อสัญญา แต่การบอกเลิกสัญญาในลักษณะดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หากปล่อยให้บริษัทประกันภัยยกเลิกกรมธรรม์ได้ ก็จะส่งผลให้มีคดีเข้าสู่ศาลเป็นจำนวนมาก 
โดยก่อนที่บริษัทประกันภัยจะออกผลิตภัณฑ์นี้ บริษัทประกันภัยน่าจะเห็นตัวอย่างการแพร่ระบาดของโรคโควิดจากต่างประเทศมาบ้างแล้ว กรณีนี้ประชาชนจะมองว่า บริษัทประกันภัยแสวงหาแต่ผลกำไร แต่พอบริษัทประกันภัยจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวนมากก็จะยกเลิกกรมธรรม์ ซึ่งไม่เป็นธรรมกับประชาชน 
 
อย่างไรก็ดี มีความเห็นของประชาชนส่วนหนึ่งเห็นว่า หากจะมีการเลิกกรมธรรม์และคืนเบี้ยประกันภัย การคืนเบี้ยประกันภัยไม่ควรเป็นการคืนแบบเป็นสัดส่วน (Pro Rata) แต่ควรคืนเบี้ยประกันภัยให้ผู้เอาประกันภัยเต็มจำนวนเสมือนว่าไม่เคยเกิดสัญญาขึ้นเลย เป็นกรณีการเข้าทำสัญญาโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญ ซึ่งอาจจะบวกดอกเบี้ยด้วย ในส่วนของข้อกฎหมายเห็นว่า สัญญาประกันภัยเป็นสัญญาสำเร็จรูปที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540
 
นายวิทยา แจ่มกระจ่าง ประธานสมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร มีความเห็นว่า กรณีดังกล่าวบริษัทประกันภัยอ้างว่าจะฟ้องร้องสำนักงาน คปภ. หากไม่ยอมยกเลิกคำสั่งนายทะเบียน ในมุมกลับกันหากสำนักงาน คปภ. ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว ประชาชนก็จะฟ้องร้องสำนักงาน คปภ. เช่นกัน ดังนั้นหากบริษัทประกันภัยเห็นว่า บริษัทสามารถบอกเลิกสัญญาประกันภัยได้ ประชาชนก็อาจจะบอกเลิกสัญญาประกันภัยอื่นๆ ที่ทำกับบริษัทได้เช่นกัน เช่น กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ หรือกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน เป็นต้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะเป็นผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง และอาจมีการรณรงค์ไม่ให้ประชาชนทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัยดังกล่าว เนื่องจากมีปัญหาในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยที่สำนักงาน คปภ. จะยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว หากสำนักงาน คปภ. ถูกฟ้อง ประชาชนรวมทั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค และสมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดจะยืนเคียงข้างสำนักงาน คปภ. การประกันภัยเป็นการทำสัญญารายปี เมื่อครบกำหนดสัญญาแล้ว บริษัทประกันภัยก็อาจจะไม่ขายกรมธรรม์ประเภทดังกล่าวต่อได้ ซึ่งดีกว่าการยกเลิกกรมธรรม์ ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน 
นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ ผู้แทนจากสภาองค์กรของผู้บริโภค มีความเห็นว่า สนับสนุนให้สำนักงาน คปภ. 
ไม่ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว เพราะหากสำนักงาน คปภ. ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว สำนักงาน คปภ. 
อาจถูกบริษัทประกันภัย 2 บริษัท ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปก่อนหน้านี้ฟ้องร้อง เนื่องจากไม่ได้ดำเนินการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในส่วนของทางเลือกในการคืนเงินค่าเบี้ยประกันภัย เห็นว่า ควรเสนอทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถขอคืนเบี้ยประกันภัยได้ 5-10 เท่าของจำนวนเบี้ยประกันภัย เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคยอมรับเงินค่าเบี้ยประกันภัยจำนวนดังกล่าว และดูแลตนเองไม่ให้ติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งเป็นทางเลือกในการแก้ไขปัญหาให้แก่ภาคอุตสาหกรรมได้ และหากผู้บริโภคยอมรับเงื่อนไขข้อนี้ได้ก็จะเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย 
นางสาวกรกนก ใจแกล้ว ผู้แทนสภาองค์กรของผู้บริโภค มีความเห็นว่า เห็นด้วยกับสำนักงาน คปภ. ที่ไม่ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว เพราะการยกเลิกสัญญาประกันภัยเป็นการดำเนินการที่ผิดต่อกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 ในเรื่องความสุจริตในการทำสัญญาและขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 โดยขอเสนอแนวทางเพิ่มเติมที่จะทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ว่า กรณีนี้สำนักงาน คปภ. อาจจะมีมาตรการผ่อนปรนระยะเวลาที่บริษัทจะสามารถชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่อาจจะเข้าข่ายเป็นความผิดฐานประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน โดยขยายระยะเวลาการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้มากกว่าเดิม โดยให้บริษัทประกันภัยจัดทำรายงานเกี่ยวกับจำนวนผู้เอาประกันภัยที่ทำประกันภัยโควิด-19 ทั้งหมด โดยแบ่งประเภทให้ชัดเจน และมีการแยกจำนวน ผู้เอาประกันภัยที่บริษัทประกันภัยยังค้างจ่ายค่าสินไหมทดแทน หรืออยู่ในระหว่างที่กรมธรรม์ประกันภัยยังคงมีความคุ้มครองอยู่เป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งจะทำให้บริษัทประกันภัยทราบภาระการจ่ายค่าสินไหมทดแทนทั้งหมด และสามารถวางแผนการจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้ว่า การจ่ายค่าสินไหมทดแทนในอนาคตจะจ่ายเป็นจำนวนเท่าใด และจ่ายในรูปแบบใด โดยการจ่ายค่าสินไหมทดแทนอาจจะมีลำดับคิวการจ่าย โดยมีการแจ้งระยะเวลาในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันภัยทราบอย่างชัดเจน เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทประกันภัยมักจะขอผ่อนผันระยะเวลาการจ่ายค่าสินไหมทดแทน แล้วก็ไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด 
 
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ ผู้แทนสภาองค์กรของผู้บริโภค มีความเห็นว่า ขณะนี้กรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19
เหลือระยะเวลาความคุ้มครองอยู่อีกไม่มาก และจำนวนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนก็จะมีไม่มาก เนื่องจากปัจจุบันมีระบบการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้บริษัทประกันภัยสามารถยกเลิกสัญญาประกันภัยได้ เพราะเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน และเป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้บริโภค โดยบริษัทประกันภัยจะต้องมีการประมาณการค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทจะต้องจ่ายให้แก่ผู้เอาประกันภัยไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว 
เมื่อมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น บริษัทก็ยังคงขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ต่อไป เห็นว่าบริษัทประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามข้อตกลงของสัญญา โดยเห็นว่าระยะเวลาความคุ้มครองยังคงเหลืออยู่ไม่มาก และขณะนี้ประชาชนก็ดำเนินการฟ้องร้องบริษัทประกันภัยอยู่แล้ว หากสำนักงาน คปภ. ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว บริษัทประกันภัยก็จะใช้ข้ออ้างที่สำนักงาน คปภ. ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนมาเป็นข้อต่อสู้ต่อประชาชน ซึ่งจะเป็นการสร้างภาระและสร้างปัญหาให้แก่ประชาชนเป็นอย่างยิ่ง 
นายพานิชย์ เจริญเผ่า นายกสมาคมส่งเสริมและคุ้มครองผู้บริโภค มีความเห็นว่า ปัจจุบันระยะเวลาความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 จะสิ้นสุดความคุ้มครองทั้งหมดประมาณเดือนมิถุนายน 2565 ในส่วนประเด็นข้อกฎหมายเห็นว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และเป็นการทำสัญญาด้วยความสมัครใจ ไม่ได้มีการบังคับ บริษัทประกันภัยก็เป็นคู่สัญญาด้วย เรื่องนี้จึงไม่ได้เป็นความผิดของผู้บริโภคแต่อย่างใด 
จึงเห็นว่าสำนักงาน คปภ. เป็นผู้รักษาขั้นตอนของกฎหมาย หากสำนักงาน คปภ. กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็จะถูกประชาชนฟ้องร้องเช่นกัน เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ดังนั้น สำนักงาน คปภ. ไม่ควรยกเลิกคำสั่งนายทะเบียน เนื่องจากการทำสัญญาประกันภัยเป็นความสมัครใจทั้งสองฝ่าย ในปีแรกบริษัทประกันภัยมีรายได้จากการขายกรมธรรม์ประกันภัยประเภทนี้จำนวนมาก จึงไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย 
 
(เลขาธิการ คปภ.) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยที่ประชุมทุกฝ่ายเห็นพ้องตรงกันว่า หากยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 และยินยอมให้บริษัทประกันภัยสามารถยกเลิกกรมธรรม์ต่อผู้เอาประกันภัยทุกรายโดยที่ผู้เอาประกันภัยมิได้กระทำผิดในข้อสาระสำคัญย่อมขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 จะส่งผลให้มีคดีเข้าสู่ศาลเป็นจำนวนมาก เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการประกันภัย และทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในระบบประกันภัย รวมไปถึงประชาชนก็อาจจะบอกเลิกสัญญาประกันภัยอื่นๆ ที่ทำกับบริษัทประกันภัยได้เช่นกัน ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะเป็นผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ที่ประชุมจึงมีความเห็นเป็นเอกฉัน
หมวดหมู่ข่าว: 

เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยทำประกันภัยโควิดแบบ “เจอ จ่าย จบ” 2 ฉบับ แต่ยืนยันไม่ขอรับค่าสินไหมทดแทน

< >
วันที่เผยแพร่: 
17 January 2565

เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยทำประกันภัยโควิดแบบ “เจอ จ่าย จบ” 2 ฉบับ

แต่ยืนยันไม่ขอรับค่าสินไหมทดแทน
…………………….
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย 
(เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการแจ้งข่าวการติดโควิดของตนออกไปแล้วนั้น ปรากฏว่า มีสื่อมวลชนให้ความสนใจและสอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมากว่า ตนได้ทำประกันภัยโควิดไว้หรือไม่ จึงขอชี้แจงว่าได้ทำประกันภัยดังกล่าวไว้ โดยภรรยาตนซื้อประกันภัยโควิดแบบเจอ จ่าย จบ ไว้กับบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ให้ตนทางออนไลน์ เพราะซื้อได้ง่าย และสะดวก โดยซื้อตั้งแต่ปี 2563 แล้ว เหตุที่ภรรยา
ซื้อจากสองบริษัทนี้เพราะปกติได้ทำประกันภัยรถยนต์กับบริษัทนี้อยู่แล้ว ต่อมาเมื่อครบกำหนด บริษัทก็ส่งข้อความมาเตือนว่าจะต่อประกันภัยหรือไม่ ภรรยาของตนได้ต่อประกันภัยไป โดยขณะที่ทำประกันภัย ตนคิดว่าคงไม่ติดโควิดเพราะระมัดระวังตัวเป็นอย่างดี แต่ซื้อประกันภัยไว้เพื่อบริหารความเสี่ยง 
“ตอนซื้อภรรยาผมไม่ทราบว่ามีข้อความให้บริษัทบอกเลิกสัญญาได้ ซึ่งคนทั่วไป ผมเชื่อว่าก็คงไม่ทราบเช่นกัน ภรรยาเอากรมธรรม์ประกันภัยที่บริษัทส่งมาให้ทางออนไลน์ให้ผมดูภายหลัง ปรากฏว่าข้อความที่เป็นเงื่อนไข ของกรมธรรม์ประกันภัยนั้นมีครับ แต่ถ้าอยากทราบต้องคลิกเข้าไปอ่าน ซึ่งคนส่วนใหญ่จะไม่คลิกเข้าไปดูครับ”
เนื่องจากการใช้สิทธิเคลมประกันภัยเป็นสิทธิส่วนตัวของผม ผมพิจารณาด้วยความรอบคอบแล้ว ขอประกาศให้ทราบทั่วกันถึงการยืนยันของผมว่า ผมจะไม่เคลมประกันภัยโควิดแบบเจอ จ่าย จบ ที่ภรรยาผมซื้อให้จากสองบริษัทดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังนี้
1. เวลานี้ผมยังมีสวัสดิการและเงินเดือนพอที่จะดูแลค่ารักษาพยาบาลได้ เพื่อบริษัทประกันภัยจะได้เอาเงินประกันภัยเจอ จ่าย จบ ไปจ่ายให้ผู้เอาประกันภัยคนอื่นที่เขาเดือดร้อน
2. เพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์ใจของผม และไม่ให้เกิดประเด็นที่อาจจะไปอ้างว่าที่ผมต่อสู้เรื่องไม่ให้เลิกประกันภัยเจอ จ่าย จบ เพราะผมต้องการจะป่วยเป็นโควิด แล้วเคลมประกันภัยเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ทั้งๆ ที่ไม่เป็นความจริงเลย จะได้เป็นการยืนยันด้วยว่าที่ผมต่อสู้อยู่ในขณะนี้เป็นการต่อสู้เพื่อผู้เอาประกันภัยที่เขาเดือดร้อน และเพื่อไม่ให้ความเชื่อมั่นของระบบประกันภัยไทยถูกทำลาย
 
ส่วนเรื่องเชิญ 14 บริษัทประกันภัยมาหารือเพื่อยืนยันการคุ้มครองและหาทางออกร่วมกันจะเดินหน้าต่อไป ไม่เลื่อนออกไปอย่างแน่นอน เพราะได้มอบหมายทีมงานไว้แล้ว จึงขอให้มั่นใจว่า สำนักงาน คปภ. จะทำหน้าที่ของหน่วยงานกำกับฯอย่างดีที่สุดเพื่อให้เป็นที่พึ่งด้านประกันภัยของประชาชนได้อย่างแท้จริง
 
หมวดหมู่ข่าว: 

เลขาธิการ คปภ. เปิดไทม์ไลน์หลังทราบว่าติดโควิด-19

< >
วันที่เผยแพร่: 
16 January 2565

เลขาธิการ คปภ. เปิดไทม์ไลน์หลังทราบว่าติดโควิด-19

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย 
(เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ก่อนอื่นผมต้องขอขอบคุณผู้บริหาร พนักงาน ลูกจ้างสำนักงาน คปภ. และทุกความห่วงใย ที่ได้ส่งกำลังใจมาให้ผมอย่างต่อเนื่อง และรู้สึกซาบซึ้งกับทุกความห่วงใยที่ทุกท่านมีให้ ซึ่งผมเพิ่งจะทราบว่าติดเชื้อโควิด-19 ในวันนี้ จึงขอแจ้งไทม์ไลน์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาดังนี้ วันจันทร์ที่ 10 มกราคม 2565 ประชุมที่สำนักงาน คปภ. เนื่องจากมีความจำเป็น วันอังคารที่ 11 มกราคม 2565 บันทึกเทปสัมภาษณ์รายการโทรทัศน์ที่สำนักงาน คปภ. ในช่วงบ่ายประชุมออนไลน์และเดินทางไปประชุมนอกสถานที่ (สวมหน้ากากอนามัยสองชั้นตลอด) วันพุธที่ 12 มกราคม 2565 ประชุมออนไลน์ที่สำนักงาน คปภ. (เช้า-บ่าย) (สวมหน้ากากอนามัยสองชั้นตลอด) วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม 2565 ประชุมออนไลน์ (WFH) วันศุกร์ที่ 14 มกราคม 2565 ช่วงเช้าแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนบริเวณหน้าตึกศาลปกครองกลางและเข้าชี้แจงคดีที่ห้องพิจารณาคดี ศาลปกครองกลาง (สวมหน้ากากอนามัยสองชั้นตลอด ยกเว้นช่วงรับประทานอาหารกลางวันที่ห้องอาหารศาลปกครองกลาง ซึ่งแยกมาทานโต๊ะเดี่ยว) วันเสาร์ที่ 15 มกราคม 2565 เริ่มมีอาการคล้ายๆ แพ้อากาศ คัดจมูก และมีไข้เล็กน้อย จึงตรวจ ATK (ช่วงบ่าย) ผลเป็นบวก จึงรีบไปตรวจ RT- PCR ที่โรงพยาบาล แล้วรีบกักตัวทันที และวันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม 2565 ทราบผลตรวจว่าติดเชื้อโควิด จึงเข้ารับการรักษาและกักตัวแล้ว 
 
สำหรับการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิป้องกันโควิดนั้น ได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 4 เป็น Moderna เมื่อวันศุกร์ที่ 7 มกราคม 2565
ส่วนการรับประทานอาหารส่วนใหญ่เป็นที่บ้านหรือที่ห้องทำงาน ช่วงเวลาใน Timeline ไม่ได้ไปเดินห้าง ไม่ได้ไปซื้อของข้างนอก และไม่ได้ไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารใดๆ จึงไม่ทราบว่าติดเชื้อโควิดจากที่ใด โดยผมได้ประสานแจ้งบุคคลที่ผมใกล้ชิด ได้พบและประชุมให้ทราบ พร้อมได้รายงานผู้บังคับบัญชาแล้ว สำหรับบุคลากรของสำนักงาน คปภ. ท่านใดที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มเฝ้าระวัง ขอให้ปฏิบัติตนตามมาตรการและแนวทางที่สำนักงาน คปภ.กำหนดไว้ โดยท่านที่มีโอกาสเสี่ยงสูงหรือมีอาการขอให้ทำการตรวจเพื่อหาเชื้อ และให้ท่านรีบไปพบแพทย์พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องตามสายงาน หรือผู้บังคับบัญชาทราบผลการตรวจทันที นอกจากนี้การจัดประชุมต่างๆ ขอให้ทำผ่านทางระบบ Online เพื่อลดความแออัดของผู้เข้าร่วมประชุม รวมถึงขอให้ทุกท่านยึดถือมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส
โคโรนา (โควิด-19) ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆอย่างเคร่งครัด และขอให้ทุกท่านปฏิบัติตัวและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังเพื่อความปลอดภัยของตัวท่าน เพื่อนร่วมงาน รวมไปถึงครอบครัวของท่าน 
 
  โดยคุณหมอบอกว่าอาการที่ผมเป็นไม่รุนแรงเนื่องมาจากที่ผมได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว จึงขอเชิญชวนให้
ทุกท่านแม้ว่าจะไม่ประมาท ก็ควรไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อในกรณีที่ติดเชื้อ อาการจะได้ไม่รุนแรง
  ในโอกาสนี้ผมต้องขออภัยพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ที่ทำงาน สื่อมวลชนและบุคคลที่ผมได้พบในช่วง 2-5 วันที่ผ่านมาอย่างสุดซึ้ง ที่ทำให้ท่านอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เพราะแม้ผมจะใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง แต่ก็อาจไปเจอกลุ่มเสี่ยงโดยที่ผมไม่ทราบ ทำให้ติดเชื้อโควิด โดยไม่รู้ตัว
  “ส่วนการดำเนินการกรณีบริษัทประกันภัยฟ้องให้ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ในคดีที่ศาลปกครองกลาง และบริษัทดังกล่าวยังมีหนังสือเรียกค่าทดแทนจากผมหลายพันล้านบาท อย่างไม่เป็นธรรมทั้งๆ ที่ศาลปกครองกลางยังไม่ได้มีคำพิพากษาว่าคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด แม้ผมจะป่วย แต่ผมจะสู้ไม่ถอยเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ โดยจะทำงานผ่านระบบออนไลน์เพื่อไม่ให้งานตรงนี้ได้รับผลกระทบครับ”
 
 
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. พร้อมยืนหยัดคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน ยืนยันกรมธรรม์ประกันภัยโควิด แบบเจอ จ่าย จบ ยังให้ความคุ้มครองปกติสามารถเคลมประกันภัยกับบริษัทประกันภัยได้

< >
วันที่เผยแพร่: 
16 January 2565

คปภ. พร้อมยืนหยัดคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน ยืนยันกรมธรรม์ประกันภัยโควิด แบบเจอ จ่าย จบ ยังให้ความคุ้มครองปกติสามารถเคลมประกันภัยกับบริษัทประกันภัยได้

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนคดีที่บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) กับพวกยื่นฟ้อง เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) กรณีขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัทในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 และขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย ฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี หรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น โดยได้นัดทั้งสองฝ่ายมาไต่สวนเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาว่าจะรับคำฟ้องไว้พิจารณาหรือไม่ ซึ่งในระหว่างที่ศาลฯ ยังไม่ได้รับฟ้องและมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวฯ ตามที่บริษัทประกันภัยผู้ฟ้องคดียื่นคำขอ กรมธรรม์ประกันภัยโควิด แบบเจอ จ่าย จบ ยังคงมีผลใช้บังคับและให้ความคุ้มครองตามปกติ กรณีผู้เอาประกันภัยติดเชื้อและมีหลักฐานยืนยัน ก็สามารถเคลมประกันภัยกับบริษัทประกันภัยที่ฟ้องคดีได้ต่อไป หากต่อมาศาลฯรับฟ้องและมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว บริษัทฯ จะนำคำสั่งศาลมาเป็นเครื่องมือและอ้างในการนำมายกเลิกสัญญากับผู้เอาประกันภัย และจะทำให้ผู้เอาประกันภัยโควิดทั้งหมดกว่า 10 ล้านคนถูกลอยแพแน่นอน แต่ไม่ว่าศาลจะมีคำสั่งออกมาเป็นประการใด สำนักงาน คปภ. พร้อมยืนหยัดเคียงข้างประชาชน โดยจะต่อสู้คดีจนถึงที่สุด เพื่อคุ้มครองและปกป้องสิทธิประโยชน์ของประชาชนและผู้เอาประกันภัย เพื่อไม่ให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ที่ให้บริษัทประกันภัยจะใช้เป็นเหตุในการบิดเบือนนำเหตุที่เกิดจากการบริหารความเสี่ยงที่ผิดพลาดของตนเอง และผลักภาระกลับไปให้กับประชาชนและผู้เอาประกันภัย เพราะจะเป็นการทำลายความเชื่อมั่นและความเชื่อถือที่ประชาชนมอบให้บริษัทประกันภัยในการบริหารจัดการความเสี่ยง
 
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่าในสัปดาห์หน้าจะเชิญบริษัทประกันภัยทั้ง 14 บริษัท ที่ขายประกันภัยโควิดแบบเจอ จ่าย จบ มาประชุมเพื่อทำความเข้าใจ และขอให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นและมั่นใจว่าระหว่างที่ศาลปกครองกลาง ยังไม่มีคำวินิจฉัยอะไรในเรื่องนี้ออกมา บริษัทประกันภัยทุกบริษัท จะต้องดูแลประชาชนผู้เอาประกันภัยโควิด แบบเจอ จ่าย จบ ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย เพราะถือว่าคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ยังมีผลตามกฎหมายอยู่ อีกทั้งยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน และเพื่อไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบประกันภัย นอกจากนี้ในการดำเนินการคู่ขนาน ได้ตั้งทีมเพื่อให้เดินหน้าแนวทางตามมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยเหลือบริษัทประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากประกันภัยโควิด แบบเจอ จ่าย จบ ด้วย ซึ่งมีการประชุมไปแล้ว 1 ครั้ง “ถ้าเมื่อใดที่ความเสี่ยงภัยเปลี่ยนไป แล้วบริษัทประกันภัยสามารถอ้างเหตุนี้มายกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยได้แบบเหมาเข่ง ก็ย่อมจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในระบบประกันภัยของโลก จนลุกลามกระทบต่อความเชื่อถือไว้วางใจของประชาชน แล้วเช่นนี้ประชาชนจะซื้อประกันภัยไปทำไม" เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
 
หมวดหมู่ข่าว: 

การทำประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบคือการที่ประชาชนผู้เอาประกันภัยมอบความไว้วางใจให้บริษัทประกันภัยที่อาสามาช่วยบริหารความเสี่ยงให้

< >
วันที่เผยแพร่: 
14 January 2565
“การทำประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบคือการที่ประชาชนผู้เอาประกันภัยมอบความไว้วางใจให้บริษัทประกันภัยที่อาสามาช่วยบริหารความเสี่ยงให้ ฉะนั้นการไปบอกเลิกกรมธรรม์ฯในช่วงสถานการณ์วิกฤตขณะนี้ ทั้งๆที่เคยสัญญาว่าจะคุ้มครองจนสิ้นสุดอายุการคุ้มครอง โดยโยนความเสี่ยงที่มากขึ้นกลับคืนไปให้ประชาชน ถือเป็นการทำลายความเชื่อมั่นและความไว้วางใจที่ประชาชนมอบให้บริษัทประกันภัย จึงเป็นการเอาเปรียบประชาชนอย่างยิ่ง” 
 
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ.
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. เผย 5 อันดับความเสี่ยง จากมุมมองภาคธุรกิจประกันภัยไทย

< >
วันที่เผยแพร่: 
13 January 2565

คปภ. เผย 5 อันดับความเสี่ยง จากมุมมองภาคธุรกิจประกันภัยไทย

“ชีวิต-วินาศภัย” ประสานเสียง “มั่นใจ ระยะ 3 ปี” ยังมีเสถียรภาพรับมือสถานการณ์ต่างๆได้ 
…………………………
 
  ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย ได้ดำเนินการวิเคราะห์และติดตามความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัย เพื่อลดโอกาสในการเกิดความเสี่ยง และความรุนแรงของความเสี่ยงภายในธุรกิจประกันภัย โดยได้สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงของธุรกิจประกันภัยไทย ประจำปี 2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจแนวทางและมุมมอง ประกอบการวิเคราะห์และติดตามความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพของธุรกิจประกันภัยไทยให้ครอบคลุมทุกมิติและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงนำผลสำรวจดังกล่าวมาเป็นข้อมูลความเสี่ยงประกอบการกำหนดสถานการณ์จำลอง ในการจัดทำการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ซึ่งครอบคลุมทั้งกลุ่มธุรกิจประกันชีวิต และกลุ่มธุรกิจประกันวินาศภัย 
โดยแบบสอบถามจะสำรวจถึงแหล่งที่มาของความเสี่ยง พร้อมจัดอันดับความเสี่ยงสำคัญ 5 อันดับแรก ที่หากเกิดขึ้นในอนาคต และจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของธุรกิจประกันภัยไทย รวมทั้งมีการสำรวจมุมมองต่อเสถียรภาพของธุรกิจประกันภัยไทย ในระยะข้างหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจขึ้นได้อย่างทันท่วงที
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นความเสี่ยงสำคัญ 5 อันดับแรก ทั้งจากธุรกิจประกันชีวิต และธุรกิจประกันวินาศภัย พบว่า มีความคล้ายคลึงกันส่วนใหญ่เป็นความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ซึ่งถือว่าเป็น External Factors ที่ยากต่อการควบคุม โดยผลการสำรวจความเสี่ยงสำคัญ 5 อันดับแรก ที่ธุรกิจประกันชีวิต เห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจ มีดังนี้ 1. ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย อาทิ ความเสี่ยงที่เกิดภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ 2. ความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ อาทิ การโจมตีไซเบอร์ 3. โรคระบาดหรือติดเชื้อ อาทิ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) 4. ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก/การชะงักงันทางเศรษฐกิจ โดยให้ความเห็นว่าเป็นความเสี่ยงที่บริหารจัดการยากที่สุด และ 5. ความเสี่ยงจาก Disruptive Technology อาทิ Cryptocurrency, AI และ Big Data 
 
 
สำหรับผลสำรวจความคิดเห็นของความเสี่ยงสำคัญ 5 อันดับแรก ที่ธุรกิจประกันวินาศภัย เห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกอบธุรกิจ มีดังนี้ 1. โรคระบาดหรือติดเชื้อ อาทิ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยให้ความเห็นเป็นความเสี่ยงที่บริหารจัดการยากที่สุด 2. ความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ อาทิ การโจมตีไซเบอร์ 3. การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก/การชะงักงันทางเศรษฐกิจ 4. สภาพการแข่งขันในตลาดประกันภัยที่รุนแรง และ 5. ความเสี่ยงจาก Disruptive Technology อาทิ Cryptocurrency, AI, Big Data และภัยธรรมชาติ/ภัยพิบัติ
ในส่วนของมุมมองต่อเสถียรภาพของธุรกิจประกันภัยไทยในระยะข้างหน้า ทั้งธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัย ส่วนใหญ่ประเมินว่ามีความน่าจะเป็นที่จะเกิดเหตุการณ์ที่มีผลกระทบรุนแรงต่อเสถียรภาพของธุรกิจประกันภัยไทยอยู่ในระดับ “ปานกลาง” ถึง “สูง” ทั้งในระยะสั้น 1 ปีข้างหน้า และระยะปานกลาง 1-3 ปีข้างหน้า อีกทั้ง มีความน่าจะเป็นที่จะเกิดเหตุการณ์ที่มีผลกระทบรุนแรงในระยะสั้นและระยะยาวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับ 1 ปีที่ผ่านมา 
ทั้งนี้ โดยภาพรวมทั้ง 2 ธุรกิจยังคงมีความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพของธุรกิจประกันภัยไทยในระยะ 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจากผลสำรวจพบว่า มีสัดส่วนของผู้ที่ตอบ “ค่อนข้างมั่นใจ” เกิน 50% ของจำนวนผู้ที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 
  “จากผลสำรวจ Risk Survey ที่ได้รับในครั้งนี้ จะทำให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยทราบความคิดเห็นของผู้บริหารธุรกิจประกันภัยไทย สำหรับปัจจัยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นใจได้ว่าระบบประกันภัยยังมีความพร้อมที่จะเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชนได้” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
 
 
หมวดหมู่ข่าว: 

เลขาธิการ คปภ. สั่งทีมกฎหมายตรวจสอบกรณีโพสต์ออนไลน์จ้างเด็กเอ็นติดเชื้อหวังเคลมประกันโควิด หากพบผิดจริงให้ดำเนินการทางกฎหมายเด็ดขาด เตือนอย่าเสี่ยงทำ เพราะอาจเข้าข่ายไม่สุจริต หรือเป็นการฉ้อฉลประกันภัยและอาจชวดเงินประกันภัย

< >
วันที่เผยแพร่: 
12 January 2565

เลขาธิการ คปภ. สั่งทีมกฎหมายตรวจสอบกรณีโพสต์ออนไลน์จ้างเด็กเอ็นติดเชื้อหวังเคลมประกันโควิด หากพบผิดจริงให้ดำเนินการทางกฎหมายเด็ดขาด เตือนอย่าเสี่ยงทำ เพราะอาจเข้าข่ายไม่สุจริต  หรือเป็นการฉ้อฉลประกันภัยและอาจชวดเงินประกันภัย

 

 

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ประกาศจ้างเด็กเอ็น โดยขอเป็นเด็กเอ็นที่ต้องติดเชื้อโควิดเท่านั้น และมีผลตรวจ ATK ยืนยันผล เพื่อต้องการติดเชื้อโควิดและเรียกร้องเอาเงินประกันภัยจากบริษัทประกันภัย การกระทำในลักษณะนี้อาจเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัยและอาจเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย สำนักงาน คปภ. ไม่ได้นิ่งนอนใจได้ส่งทีมสายกฎหมายและคดีเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงและพบตัวผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวแล้ว ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าผู้โพสต์ดังกล่าวได้มีการเอาประกันภัยโควิด (covid-19) กับบริษัทแห่งหนึ่งด้วย ทั้งนี้สำนักงาน คปภ. จะเร่งตรวจสอบและหากพบการกระทำความผิดจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป นอกจากผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวจะกระทำความผิดต่อกฎหมายแล้ว ยังเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ในปัจจุบัน อาจสุ่มเสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิต และเป็นเหตุให้ไม่ได้รับเงินตามกรมธรรม์ประกันภัย(โควิด-19) หากเข้ากรณีการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทั้งหากเข้าลักษณะทุจริตก็อาจถูกดำเนินคดีกรณีเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัยอีกด้วย ซึ่งการนำเข้าข้อมูลผ่านสื่อสารสนเทศ สามารถตรวจสอบหมายเลข IP Address ของผู้โพสต์ได้ และเมื่อทราบตัวผู้กระทำความผิด ก็จะสามารถทราบได้ว่าผู้กระทำจงใจกระทำความผิดเอง หรือเข้ามาพิมพ์ด้วยความคึกคะนอง หรือมีผู้ใช้ให้เข้ามาปล่อยข่าวให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัย

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับธุรกิจประกันวินาศภัยมีกลไกการป้องกันที่กำหนดให้บริษัทประกันวินาศภัยสามารถกระทำได้ คือ ตามประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการชดใช้เงิน หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย .. 2559 โดยให้บริษัทมีระบบตรวจทานความถูกต้องของการรับประกันภัยและข้อมูลเกี่ยวกับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนฯ ที่ชัดเจนและสามารถตรวจสอบได้ ส่วนในเงื่อนไขกรมธรรมประกันภัย เจอ จ่าย จบ จะมีกำหนดเงื่อนไขทั่วไปกรณีมีเหตุสงสัยว่าการเรียกร้องเป็นไปตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่ ให้บริษัทฯ มีสิทธิตรวจสอบและขยายระยะเวลาการจ่ายออกไปตามความจำเป็นไม่เกิน 90 วันซึ่งอาจจะกระทบต่อการจ่ายเคลมเพราะบริษัทมีสิทธิอ้างเป็นเหตุใช้เวลาในการตรวจสอบ

 

 

เลขาธิการ คปภ. ฝากย้ำเตือนประชาชนว่ากรณีเมื่อทำประกันภัยแล้ว และเข้าไปที่เสี่ยงเพื่อหวังผลให้ติดเชื้อแล้วเคลมประกันหรือเอาตัวเองไปเสี่ยงรับเชื้อ เพื่อหวังเงินประกันภัย บริษัทอาจจะอ้างเหตุไม่จ่ายสินไหมทดแทนได้ เนื่องจากเป็นกรณีมีการเจตนา จงใจ โดยใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หากมีหลักฐาน และถ้าเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัยจะมีความผิดทางอาญาด้วย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงไม่ต้องการให้มีพฤติการณ์ใดๆ ที่จะทำให้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวของประชาชนผู้สุจริตต้องเสียไป และจะดำเนินการอย่างเต็มที่ในการสกัดกั้นพฤติการณ์นี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยของประชาชนอย่างทุกรูปแบบ ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะติดตามและตรวจสอบสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงขอให้ประชาชนมั่นใจต่อระบบประกันภัย สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงได้ในทุกสถานการณ์ หากประชาชนพบพฤติกรรมดังกล่าวขอให้รีบแจ้งสำนักงาน คปภ. เพื่อจะดำเนินการสืบสวนสอบสวน หากพบว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิด ก็จะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด หากไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องประกันภัย หรือต้องการข้อมูลด้านประกันภัยเพิ่มเติม สอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ Add Line Official @oicconnect” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

หมวดหมู่ข่าว: 

สำนักงาน คปภ. จัดพิธีทำบุญตักบาตรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 2565 พร้อมมอบนโยบายเร่งด่วนของปี 2565

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
07 January 2565
สำนักงาน คปภ. จัดพิธีทำบุญตักบาตรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 2565 พร้อมมอบนโยบายเร่งด่วนของปี 2565
 
เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2565 ดร. สุทธิพล  ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 10 รูป และพิธีไหว้ศาลพระนารายณ์ ศาลเจ้าแม่ตะเคียน เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ ประจำปี 2565 เพื่อความเป็นสิริมงคล สร้างขวัญ และกำลังใจ โดยมีผู้บริหารระดับสูง พนักงานและลูกจ้าง เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวอย่างพร้อมเพรียง ณ บริเวณลานด้านหน้าอาคารสำนักงาน คปภ.   
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้อวยพรปีใหม่ พร้อมมอบนโยบายให้กับพนักงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ผ่านระบบ Microsoft Teams ในตอนหนึ่งว่า ในปี 2565 ถือเป็นอีกปีหนึ่งที่มีความท้าทายต่อการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย รวมถึงการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรมในการใช้บริการระบบประกันภัยเพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในมิติต่างๆ ดังนั้นสำนักงาน คปภ. จึงต้องยึดมั่นในหลักการ ความถูกต้อง และความเป็นธรรม ตลอดจนต้องช่วยเร่งกอบกู้ภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นแก่ระบบประกันภัยของไทย 
 
สำหรับภารกิจที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนให้ประสบผลเป็นรูปธรรมนับจากนี้ คือ 1. เร่งกำหนดมาตรการเพื่อช่วยเยียวยาธุรกิจประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ตลอดจนฟื้นฟูความเชื่อมั่นแก่ระบบประกันภัย 2. ขับเคลื่อนโครงการ SMART OIC ให้สำเร็จโดยเร็ว และ 3. วางระบบไอที เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของสำนักงาน คปภ. ทั้งระบบ 
นอกจากนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้อวยพรและแสดงความห่วงใย โดยให้พนักงานทุกคน มีสุขภาพที่แข็งแรงและปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 พร้อมให้มีการประสานงานเพื่อให้พนักงานของสำนักงาน คปภ. ทุกคนได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจากโรคติดเชื้อ COVID-19
............................................................................................
 
หมวดหมู่ข่าว: 

บอร์ด คปภ. เห็นชอบ นายชัยยุทธ มังศรี เป็นรองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์

< >
วันที่เผยแพร่: 
05 January 2565

บอร์ด คปภ. เห็นชอบ นายชัยยุทธ มังศรี  เป็นรองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ 

 
ในการประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ครั้งที่ 15/2564 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564 คณะกรรมการ คปภ. มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงาน คปภ. เสนอให้ นายชัยยุทธ มังศรี ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ เพื่อทดแทนตำแหน่งเดิมที่ว่างลง โดยมีคำสั่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564
 
ทั้งนี้ นายชัยยุทธ มังศรี เคยดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขาธิการ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ก่อนที่จะได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป
หมวดหมู่ข่าว: 

Pages

Subscribe to RSS - ข่าว