ข่าว

คปภ. ผนึก 8 หน่วยงาน ลงนาม MOU บูรณาการระบบอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางทั้งไทย-ต่างชาติ

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
02 July 2565

คปภ. ผนึก 8 หน่วยงาน ลงนาม MOU บูรณาการระบบอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางทั้งไทย-ต่างชาติ

• เปิดมิติใหม่ความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบเว็บท่า (Web Portal) ภายใต้ชื่อ “Entry Thailand” (www.entrythailand.go.th) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและยกระดับความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติอย่างครบวงจร
 
  ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เห็นชอบให้ส่วนราชการขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-service) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในงานบริการ Agenda 12 งานบริการซึ่งเป็นงานบริการที่สอดคล้องตามแผนปฏิรูปประเทศ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการจัดทำระบบอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทาง (Ease of Traveling) โดยได้มีการจัดทำ
เว็บท่าและรวบรวมลิงก์ รวมถึงข้อมูลการเดินทางเข้าประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวในมิติต่าง ๆ 
 
  ในส่วนของสำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการให้ความเห็นชอบแบบ ข้อความ และอัตราเบี้ยประกันภัย โดยขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ให้กับบริษัทประกันชีวิต จำนวน 4 บริษัท และบริษัทประกันวินาศภัย จำนวน 10 บริษัท 
โดยบริษัทจะดำเนินการรับประกันภัยในรูปแบบ Pooling ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวให้ความคุ้มครองการเสียชีวิต
ที่มีสาเหตุมาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019(COVID-19) การรักษาพยาบาลจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะ สายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงจากอุบัติเหตุ (อ.บ.1) และการรักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการที่หน่วยงานภาครัฐกำหนด ในการร่วมมือครั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้นำลิงก์เว็บไซต์ https://covid19.tgia.org/ ไปใส่ไว้ในหน้าเว็บท่าที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพัฒนาขึ้น โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสามารถซื้อประกันภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้ามาตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัยของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวได้ แบบ Real-Time ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐให้มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
 
 ดังนั้น เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ณ โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง กรุงเทพฯ สำนักงาน คปภ. โดยดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. จึงร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการระบบอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทาง ร่วมกับ 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมเป็นสักขีพยาน ในการลงนาม MOU) ครั้งนี้ เพื่อบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลสู่ระบบเว็บท่า (Web Portal) ในชื่อ “Entry Thailand” (www.entrythailand.go.th) และอํานวยความสะดวกให้กับผู้เดินทางทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในการเดินทางเข้าประเทศ ตลอดจนสร้างกลไกการดำเนินงานที่เชื่อมโยงสอดรับกับแนวนโยบายรัฐบาล เพื่อให้เกิดการดำเนินงานแบบบูรณาการที่มีประสิทธิภาพ บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างยั่งยืน 
 
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อบูรณาการความร่วมมือระบบอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทาง (MOU) ในครั้ง ทั้ง 9 หน่วยงาน มีขอบเขตความร่วมมือหลัก ๆ 4 ประการ คือ ประการแรก ทั้ง 9 หน่วยงาน มีเจตนารมณ์ร่วมมือกันในการบูรณาการดำเนินงานบริการด้านการเดินทางแก่นักท่องเที่ยวโดยคำนึงถึงความสะดวกของนักท่องเที่ยว การลดขั้นตอนความยุ่งยากของนักท่องเที่ยว เพื่อให้การเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเกิดความสะดวกตั้งแต่เข้ามาถึงประเทศไทย จนกระทั่งเดินทางกลับภูมิลำเนา ด้วยการจัดทำระบบการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เดินทาง (Ease of Traveling) โดยการจัดทำเว็บท่า (Web Portal) ซึ่งจะเป็นที่รวมขั้นตอนต่าง ๆ ที่นักท่องเที่ยวต้องดำเนินการเพื่อเข้าประเทศไทยไว้ในที่เดียวแบบครบวงจร 
 
ประการที่ 2 ทั้ง 9 หน่วยงาน มีความประสงค์ในการกำหนดขอบเขตการดำเนินงานและกิจกรรมความร่วมมือ 
โดยสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นผู้ออกแบบแพลตฟอร์มข้อมูลกลาง รวบรวมลิงก์เว็บไซต์ และข้อมูลสำคัญ ซึ่งมีการเชื่อมโยงของระบบต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน ได้แก่ แอปพลิเคชัน “Thailand Pass” สำหรับกรอกข้อมูลด้านสุขภาพ (Health Declaration Form) สำหรับเดินทางท่าอากาศยาน และแอปพลิเคชัน “DDC Pass” สำหรับกรอกข้อมูลด้านสุขภาพ (Health Declaration Form) สำหรับพรมแดนและเรือ ของกรมควบคุมโรค เรื่องของการขอ e-Visa ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ของกรมการกงสุล เรื่องการอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการประกันภัย COVID-19 สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติก่อนเข้าประเทศ ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่องการค้นหาข้อมูลด้านการท่องเที่ยวในราชอาณาจักรไทยจากเว็บไซต์ Thailand Tourism Directory และ TAT News ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เรื่องตารางเที่ยวบินของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เรื่องการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยว (VAT Refund for Tourists) ของกรมสรรพากร และแอปพลิเคชัน Tourist Police I Lert U ของกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว
 
ประการที่ 3 กรณีที่บันทึกข้อตกลงนี้มีการดำเนินการเกี่ยวข้องกับข้อมูล เช่น ข้อมูลส่วนบุคคลของนักท่องเที่ยว ตลอดจนข้อมูลส่วนบุคคลของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามข้อตกลงฉบับนี้ ให้ทั้ง 9 หน่วยงาน ดำเนินการตามมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
 
และประการที่ 4 บรรดาข้อมูลที่ทั้ง 9 หน่วยงาน ได้รับจากการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดให้ถือว่าเป็นความลับร่วมกัน ซึ่งทั้ง 9 หน่วยงานจะต้องนำไปใช้ประโยชน์เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์
ตามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้เท่านั้น โดยจะไม่เปิดเผยข้อมูลแก่บุคคลอื่นหรือต่อสาธารณชนแม้ว่าบันทึกข้อตกลงฉบับนี้จะสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากอีกฝ่ายหนึ่งหรือเป็นข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณชนอยู่แล้ว หรือเป็นกรณีจำเป็นจะต้องเปิดเผยตามผลบังคับของกฎหมาย หรือจากผู้มีอำนาจรัฐ ซึ่งจะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้าก่อนการเปิดเผยข้อมูลโดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้มีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ ทั้ง 9 หน่วยงาน ลงนามร่วมกัน ทั้งนี้ ก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้สิ้นสุดลงไม่น้อยกว่า 30 วัน ทั้ง 9 หน่วยงาน อาจตกลงร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อขยายระยะเวลาความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ออกไปได้ตามความเหมาะสม ส่วนการยกเลิกความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ก่อนระยะเวลาจะสิ้นสุดลงต้องกระทำโดยความเห็นชอบทั้ง 9 หน่วยงานและจะต้องจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ กรณีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้สิ้นสุดลงไม่ว่ากรณีใด ไม่มีผลเป็นการยกเลิกโครงการหรือกิจกรรมที่ได้ดำเนินการไปแล้ว หรืออยู่ระหว่างดำเนินการภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้
ทั้งนี้สำนักงาน คปภ. มีความยินดีให้ความร่วมมือในการให้เว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. หรือแพลตฟอร์มอื่นของสำนักงาน คปภ. เป็นอีกช่องทางในการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และเป็นประโยชน์ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อนักท่องเที่ยวรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอนาคตต่อไป นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มกลาง COVID-19 Insurance Data Terminal for all ASEAN (www.asean-insur-data.org) เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รองรับแนวโน้มการเดินทางระหว่างประเทศที่กำลังเริ่มฟื้นตัว และส่งเสริมการเชื่อมโยงข้อมูลและการเข้าถึงระบบประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน โดยได้รับความเห็นชอบและการตอบรับเป็นอย่างดีในการขับเคลื่อนโครงการนี้จากที่ประชุมประจำปีนายทะเบียนประกันภัยอาเซียน เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ปัจจุบันได้พัฒนาแพลตฟอร์มต้นแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งจะเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลผลิตภัณฑ์ประกันภัย สถานการณ์ผู้ติดเชื้อแต่ละประเทศ มาตรการภาครัฐ และข้อกำหนดในการเดินทางเข้าประเทศที่มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวอาจเชื่อมกับเว็บท่านี้ เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการและอำนวยความสะดวกให้กับประชากรอาเซียนได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น 
 
“ผมเชื่อมั่นว่าความร่วมมือของทั้ง 9 หน่วยงานที่มีความชำนาญในด้านต่าง ๆ จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นและยกระดับความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติอย่างครบวงจร” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
หมวดหมู่ข่าว: 

เลขาธิการ คปภ. สรุปส่งท้ายโครงการ “พ.ร.บ.รุกทั่วไทย” เผยประชาชนตื่นตัวทำประกันภัย พ.ร.บ. เพิ่มขึ้น 2 ล้านฉบับ พร้อมเดินหน้าดำเนินการเชิงรุกเพื่อช่วยให้ประชาชนทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงการประกันภัย พ.ร.บ. อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
30 June 2565

เลขาธิการ คปภ. สรุปส่งท้ายโครงการ “พ.ร.บ.รุกทั่วไทย” เผยประชาชนตื่นตัวทำประกันภัย พ.ร.บ. เพิ่มขึ้น 2 ล้านฉบับ พร้อมเดินหน้าดำเนินการเชิงรุกเพื่อช่วยให้ประชาชนทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงการประกันภัย พ.ร.บ. อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 
           เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานแถลงข่าวปิดโครงการ “พ.ร.บ.รุกทั่วไทย” ณ ห้องประชุมสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเป็นอย่างมาก  ดังนั้น ระบบประกันภัยจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริหารความเสี่ยงและสามารถเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น สำนักงาน คปภ. จึงได้จัดโครงการ พ.ร.บ.รุกทั่วไทย เพื่อรณรงค์ให้เจ้าของรถและผู้ครอบครองรถตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. รวมทั้งเข้าใจถึงบทบาท หน้าที่ของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย และสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยอย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น 
 
สำนักงาน คปภ. มีภารกิจหลักในการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย รวมทั้งให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย 
นอกจากนี้ยังให้ความคุ้มครองดูแลผู้ประสบภัยจากรถให้ได้รับการช่วยเหลือและเยียวยาจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ผ่านการจ่ายเงินค่าเสียหายเบื้องต้น ในกรณีรถที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ไม่มีการประกันภัย พ.ร.บ. รวมถึง กรณีรถมีการประกันภัย พ.ร.บ. แต่ไม่อาจใช้สิทธิได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดภาระทางการเงินให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถแล้ว ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้อง เช่น ครอบครัวผู้ประสบภัย ผู้ขับขี่ สถานพยาบาล หรือแม้แต่นายจ้างของผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นการลดปัญหาสังคมที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ผู้ประสบภัยจากรถไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสมและรวดเร็ว
 
ทั้งนี้ จากสถิติการทำประกันภัย พ.ร.บ. และการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ระหว่างเดือนมกราคม ถึง เดือนพฤษภาคม ปี 2565 เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่า ในปี 2565 มีการทำประกันภัย พ.ร.บ. เพิ่มขึ้นจำนวน 2.01 ล้านฉบับ และจากตัวเลขการทำประกันภัย พ.ร.บ. ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยมีการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้กับผู้ประสบภัยจากรถที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิจากการประกันภัยลดลงถึง 12.50 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินโครงการ พ.ร.บ. รุกทั่วไทย ที่มีการประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง โดยเห็นได้จากกิจกรรมที่มีการเปิดให้ประชาชน สามารถลงทะเบียนรับกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ จำนวน 10,000 ฉบับ 
โดยเปิดรับลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 จนถึงวันที่ 18 เมษายน 2565 ปรากฏว่ามีประชาชนผู้สนใจ
เข้าร่วมลงทะเบียนกว่า 30,000 ราย ซึ่งสำนักงาน คปภ. โดยกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ได้ดำเนินการส่งมอบกรมธรรม์ ให้แก่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์ที่มีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯ รวมทั้งสิ้น 10,065 ฉบับ แบ่งเป็น ภาคเหนือ จำนวน 1,090 ฉบับ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ภาคอีสาน) จำนวน 1,302 ฉบับ ภาคกลาง จำนวน 556 ฉบับ ภาคตะวันออก จำนวน 886 ฉบับ ภาคตะวันตก จำนวน 488 ฉบับ ภาคใต้ จำนวน 1,104 ฉบับ และกรุงเทพมหานคร จำนวน 4,639 ฉบับ ซึ่งทั้งหมดได้ดำเนินการส่งกรมธรรม์ให้กับผู้ได้รับสิทธิ์ทางไปรษณีย์ครบถ้วนแล้ว 
 
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม “ส่งรักทั่วไทย อุ่นใจเมื่อมีประกันภัย พ.ร.บ.” ที่จัดขึ้นทั้ง 4 ภาค อีกทั้งมีการผลิตและเผยแพร่คลิปวีดิโอให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. รวมถึงผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบ Infographic แบบภาพเคลื่อนไหว (Motion Graphic) เพื่อย้ำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. อีกด้วย
 
          “สำนักงาน คปภ. ต้องขอขอบคุณหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน ที่มีส่วนร่วมสนับสนุนให้โครงการ พ.ร.บ. รุกทั่วไทย ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง รวมทั้งพี่น้องประชาชนทุกท่านที่ให้ความสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการฯ ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะยังคงมุ่งมั่นในการเป็นหน่วยงานที่จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัย พ.ร.บ. โดยจะดำเนินการเชิงรุกเพื่อช่วยให้ประชาชนทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงการประกันภัย พ.ร.บ. อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย    
...................................................................................
หมวดหมู่ข่าว: 

เลขาธิการ คปภ. เตือน..! อย่าหลงเชื่อกลุ่มมิจฉาชีพ แก๊ง Call Center แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ คปภ. เรียกเงินเพื่อช่วยเหลือเคลมประกันภัยโควิด สั่งการสายกฎหมายและคดี ดำเนินการตามกฎหมายในทุกกรณีความผิด

< >
วันที่เผยแพร่: 
29 June 2565

เลขาธิการ คปภ. เตือน..! อย่าหลงเชื่อกลุ่มมิจฉาชีพ แก๊ง Call Center แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ คปภ. เรียกเงินเพื่อช่วยเหลือเคลมประกันภัยโควิด สั่งการสายกฎหมายและคดี ดำเนินการตามกฎหมายในทุกกรณีความผิด

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ด้วยขณะนี้มีกลุ่มมิจฉาชีพใช้โทรศัพท์ผ่านระบบ Call Center โทรศัพท์ไปหาประชาชนแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ข่มขู่และแจ้งข้อกล่าวหาว่ามีการปลอมแปลงเอกสารในการเคลมประกันภัยโควิด เพื่อให้ผู้เสียหายเกิดความหวาดกลัว ต่อจากนั้น
แก๊ง Call Center ก็จะเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้ถูกดำเนินคดี โดยให้ผู้เสียหายโอนเงินให้เพื่อยุติเรื่องดังกล่าว
นอกจากนี้ แก๊ง Call Center ที่แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากสำนักงาน คปภ. ยังขอตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัย และขอเอกสารเกี่ยวกับการเคลมประกันภัยโควิดเพิ่มเติม โดยมุ่งเป้าไปที่ข้อมูลทางการเงิน เช่น เลขที่บัญชีธนาคารพาณิชย์ เลขที่บัตรประชาชน เพื่อให้ผู้เสียหายโอนเงินให้กับแก๊ง Call Center เพื่อแลกกับการอำนวยความสะดวกในการเคลมประกันภัยโควิดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งแก๊ง Call Center ยังมีพฤติกรรมเหิมเกริม โดยอาสาเป็นผู้ดำเนินการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหาย แต่ขอให้ผู้เสียหายจ่ายค่าดำเนินการให้ล่วงหน้าก่อน ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจทำให้ประชาชนหลงเชื่อ หรือตกเป็นเหยื่อของแก๊ง Call Center เหล่านี้ได้
 
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีบทบาทหน้าที่ในการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย รวมถึงการให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยกับประชาชน ไม่มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่สำนักงาน คปภ. โทรศัพท์ไปหาประชาชนเพื่อขอข้อมูลทางการเงินหรือให้การช่วยเหลือไม่ให้ถูกดำเนินคดีอาญา ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ได้สั่งการให้สายกฎหมายและคดี ดำเนินคดีร้องทุกข์กล่าวโทษและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อกลุ่มมิจฉาชีพในทุกกรณีความผิด โดยเฉพาะความผิดที่เข้าข่ายการฉ้อฉลประกันภัย ตามมาตรา 108/5 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ที่ระบุว่า ผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเพื่อให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
 
ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนอย่าได้หลงเชื่อ การกระทำผิดของกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าว หากได้รับการติดต่อแอบอ้างเกี่ยวกับการปลอมเอกสารหรือเพื่อช่วยเหลือในการเคลมประกันภัยโควิด โดยมีการขอข้อมูลทางการเงินหรือช่วยเหลือไม่ให้ถูกดำเนินคดีอาญา และแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน คปภ. ไม่ว่าจะเป็นทางโทรศัพท์ อีเมล์ หรือช่องทางใด ๆ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการหลอกลวงประชาชน และให้รีบแจ้งข้อมูลไปยังสำนักงาน คปภ. โดยตรง ผ่านสายด่วน คปภ. 1186 เพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัดต่อไป
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. เปิดสำนักงานแห่งใหม่ สำนักงาน คปภ. จังหวัดนครนายก ใช้เทคโนโลยีทันสมัยบริการประชาชนด้านการประกันภัยอย่างครบวงจร พร้อมดีเดย์เริ่มเปิดสอบนายหน้าประกันภัยเดือนหน้า

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
28 June 2565

คปภ. เปิดสำนักงานแห่งใหม่ สำนักงาน คปภ. จังหวัดนครนายก ใช้เทคโนโลยีทันสมัยบริการประชาชนด้านการประกันภัยอย่างครบวงจร 

พร้อมดีเดย์เริ่มเปิดสอบนายหน้าประกันภัยเดือนหน้า
 
เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารที่ทำการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยจังหวัดนครนายก (สำนักงาน คปภ. จังหวัดนครนายก) แห่งใหม่ โดยมี นายอุดมเขต  ราษฎร์นุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก กล่าวต้อนรับ พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ภาคประชาชน ตลอดจนสื่อมวลชนร่วมงานและแสดงความยินดี ณ อาคารพาณิชย์ เลขที่ 220 หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก
 
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่าจากภารกิจของสำนักงาน คปภ. จังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นหน่วยงานตัวแทน
ของสำนักงาน คปภ. ที่มีภารกิจสำคัญในการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย รวมถึงการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย เพื่อให้ผู้เอาประกันภัย ประชาชน และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่รับผิดชอบ ได้รับบริการที่ดี มีประสิทธิภาพ และทั่วถึง สำนักงาน คปภ. จังหวัดนครนายก (เดิม คือ สำนักงานประกันภัยจังหวัดนครนายก) ตั้งอยู่ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครนายก ต่อมาได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดนครนายก ชั้น 1 มีพื้นที่ใช้สอย 59.4 ตารางเมตร โดยได้รับความกรุณาจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก แต่ด้วยภารกิจของสำนักงานในทุก ๆ ด้านที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งต้องดูแลรับผิดชอบพื้นที่ 2 จังหวัด ทั้งจังหวัดนครนายกและจังหวัดปราจีนบุรี สำนักงาน คปภ. ที่ทำการเดิมจึงไม่สามารถรองรับการให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มที่และยังขาดเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน จึงได้มอบนโยบายให้ไปหาที่ทำการแห่งใหม่ จนทำให้สามารถไปเช่าอาคารที่ทำการแห่งใหม่เป็นอาคารพาณิชย์ 3 ชั้นครึ่ง มีเนื้อที่ใช้สอย 432 ตารางเมตร ซึ่งเพียงพอ และเหมาะสมสำหรับการปฏิบัติงานที่เป็นสัดส่วน มีห้องไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ห้องประชุม ห้องสอบนายหน้าประกันภัยซึ่งจะเริ่มเปิดให้บริการเป็นศูนย์สอบนายหน้าประกันภัยตั้งแต่เดือนหน้า เพื่อรองรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดนครนายก จังหวัดปราจีนบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งนี้ เพื่อรองรับภารกิจของสำนักงานและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมประกันภัย และสามารถอำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชน ผู้เอาประกันภัย และผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ที่มาติดต่อขอรับบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานในการให้บริการมากยิ่งขึ้น สำหรับในการปฏิบัติงานของสำนักงาน คปภ. จังหวัดนครนายก แห่งใหม่นี้ จะนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ มีระบบฐานข้อมูลด้านการประกันภัย โดยสำนักงาน คปภ. ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมการขนส่งทางบก สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำ อันจะเป็นประโยชน์และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายในการพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นการเพิ่มศักยภาพของพนักงาน ลดต้นทุนและลดระยะเวลาในการปฏิบัติงาน เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีความพึงพอใจมากขึ้น อันจะสร้างความเชื่อมั่นในระบบประกันภัย และภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร ในโอกาสนี้ สำนักงาน คปภ. สมาคมศิษย์เก่า วปส. และภาคธุรกิจประกันภัย ได้ร่วมกันบริจาคอุปกรณ์เครื่องวัดความดันให้แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเจดีย์ทองเพื่อใช้ในการบริการประชาชนในพื้นที่อีกด้วย
 
จากข้อมูลของธุรกิจประกันภัยที่สำคัญของจังหวัด ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน คปภ. จังหวัดนครนายก พบว่า ปัจจุบันจังหวัดนครนายก มีบริษัท/สำนักงานตัวแทน-นายหน้าประกันภัย 22 แห่ง จำนวนตัวแทน-นายหน้า 194 คน ธนาคารพาณิชย์ 26 สาขา ช่วงปี 2564 มีเบี้ยประกันภัยรับรวมกว่า 1 พันล้านบาท ส่วนจังหวัดปราจีนบุรี ปัจจุบัน มีบริษัท/สำนักงานตัวแทน-นายหน้าประกันภัย 25 แห่ง จำนวนตัวแทน-นายหน้า 256 คน ธนาคารพาณิชย์ 40 สาขา ช่วงปี 2564 มีเบี้ยประกันภัยรับรวมเกือบ 3 พันล้านบาท จะเห็นได้ว่าธุรกิจประกันภัยภาพรวมทั้งสองจังหวัดมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น  
 
นอกจากนี้ จังหวัดนครนายก ยังเป็นจังหวัดแรกที่ริเริ่มให้มีการทำประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มสำหรับกีฬานักเรียน นักศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 39 ประจำปี 2561 “ขุนด่านเกมส์” ซึ่งสำนักงาน คปภ. ร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ให้การสนับสนุนและมอบกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม มีชื่อเรียกว่า กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มสำหรับคณะนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมทีม “ขุนด่านเกมส์” ครั้งที่ 39 จำนวนเงินเอาประกันภัยรวม 836 ล้านบาท โดยได้มีพิธีมอบกรมธรรม์ดังกล่าวให้แก่จังหวัดนครนายก เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 ณ ห้องประชุมสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง ชั้น 2 สำนักงาน คปภ.
 
ต่อมาในปีเดียวกัน ก็เป็นจังหวัดแรกที่ริเริ่มให้มีการทำประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มสำหรับกีฬานักเรียนคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 19 ประจำปี 2561 “นครนายกเกมส์” ซึ่งสำนักงาน คปภ. ร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ให้การสนับสนุนและมอบกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม มีชื่อเรียกว่า กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มสำหรับคณะนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมทีม “นครนายกเกมส์” ครั้งที่ 19 จำนวนเงินเอาประกันภัยรวม 315 ล้านบาท โดยได้มีพิธีมอบกรมธรรม์ดังกล่าวให้แก่จังหวัดนครนายก เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 ณ โรงแรมชลพฤกษ์ รีสอร์ท อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก
 
และเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 สำนักงาน คปภ. ได้สนับสนุนการประกันภัยให้แก่บุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านและราษฎรที่มีจิตอาสาในการดูแลเฝ้าระวังจากการบุกรุกของช้างป่า ในตำบลสาริกา อำเภอเมือง และตำบลนาหินลาด อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ปฏิบัติภารกิจรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านและการดูแลเฝ้าระวังจากการบุกรุกของช้างป่าที่มาทำความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ โดยมอบ “กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มอาสาเฝ้าระวังช้างป่า” ให้กับผู้ปฏิบัติหน้าที่และอาสาสมัคร จำนวน 39 ราย ซึ่งได้รับเกียรติจากท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก (นายอุดมเขต ราษฎร์นุ้ย) มารับมอบกรมธรรม์ดังกล่าว ณ โรงแรมรอยัล ฮิลล์ จังหวัดนครนายก 
 
ด้านนายอุดมเขต  ราษฎร์นุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก กล่าวว่าสำนักงาน คปภ. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาท หน้าที่ที่สำคัญอย่างยิ่งในการกำกับ ส่งเสริมพัฒนาธุรกิจประกันภัยในการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ และการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยตามสัญญาประกันภัย ให้กับประชาชนชาวนครนายกและประชาชนทั้งประเทศ รวมถึงกระตุ้นเตือนให้ผู้ใช้รถใช้ถนนนำรถเข้าสู่ระบบการประกันภัย และใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงเมื่อมีอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต จึงเชื่อว่าการเปิดสำนักงาน คปภ. จังหวัดนครนายก แห่งใหม่ และเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีให้สำนักงานแห่งนี้จะช่วยให้การติดตามบริษัทประกันภัยให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนได้มากขึ้น รวมทั้งส่งผลในการพัฒนาจังหวัดนครนายกได้อย่างดียิ่ง
 
ในตอนท้าย เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวว่า “ที่ทำการใหม่ของสำนักงาน คปภ. จังหวัดนครนายก แห่งนี้ จะสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ผู้เอาประกันภัย และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ได้รับบริการที่ดี และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนผู้ใช้บริการด้านการประกันภัย รวมทั้งพนักงานผู้ปฏิบัติงานในสังกัด สำนักงาน คปภ. จังหวัดนครนายก จะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของสำนักงาน คปภ. ที่ให้ความสำคัญในเรื่องการให้บริการประชาชน ทั้งในด้านการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยที่ถูกต้อง รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและศรัทธาในระบบประกันภัยยิ่งขึ้น”  
 
..................................................................................
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัย กรณีเพลิงไหม้ “ย่านการค้าสำเพ็ง”

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
27 June 2565

คปภ. ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัย กรณีเพลิงไหม้ย่านการค้าสำเพ็ง  เผยร้านค้าอาคารพาณิชย์หลังข้างเคียงทำประกันคุ้มครองทรัพย์สิน ทุนประกันกว่า 11 ล้านบาท ส่วนร้านค้าต้นเพลิง ตรวจสอบเบื้องต้นไม่ได้ทำประกันภัยไว้แต่อย่างใด ด้านเลขาธิการ คปภ. เชิญชวนผู้ประกอบร้านค้าให้ความสำคัญทำประกันอัคคีภัยเพื่อนำระบบประกันภัยเยียวยาความสูญเสียต่าง ที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร  

 

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้บ้านเรือนประชาชนย่านการค้าสำเพ็ง บริเวณแยกคิคูยา ถนนราชวงศ์ แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น ประกอบธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์พลาสติกพีวีซีและกล่องกระดาษ และเพลิงได้ลุกไหม้ไปยังอาคารพาณิชย์ข้างเคียงอีก 5 คูหา ส่วนสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้ครั้งนี้คาดว่ามาจากหม้อแปลงไฟฟ้าริมถนนที่มีสภาพเก่าเกิดการระเบิดทำให้เกิดเปลวไฟลุกลามไปยังอาคารพาณิชย์ดังกล่าว และจากเหตุในครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 2 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 11 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2565 เบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ เร่งให้การช่วยเหลือและสำรวจความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ ได้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการประกันภัยให้กับผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ครั้งนี้อย่างใกล้ชิดแล้ว ทั้งนี้ ได้รับรายงานจาก สำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ ว่า จากการลงพื้นที่และตรวจสอบด้านการทำประกันภัย กรณีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย โดยเบื้องต้นพบว่า เหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ จำนวน 2 ราย ซึ่งเป็นลูกจ้างของร้านราชวงศ์รุ่งเรือง จำกัด โดยสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ ได้เร่งตรวจสอบว่าทั้ง 2 ราย มีการทำประกันชีวิต หรือประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลไว้กับบริษัทประกันภัยหรือไม่ ในส่วนของผู้บาดเจ็บทั้ง 11 ราย สำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ ได้ประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งตรวจสอบรายชื่อว่ามีการทำประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลไว้หรือไม่ หากมีการทำประกันภัยจะแจ้งสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยให้ผู้บาดเจ็บได้ทราบต่อไป

 

สำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สิน จากกรณีเพลิงไหม้ครั้งนี้ ตรวจสอบพบว่า มีอาคารพาณิชย์ได้รับความเสียหายจำนวน 6 อาคาร และรถยนต์ที่จอดบริเวณนั้น ได้รับความเสียหาย 2 คัน ได้แก่ 

 

1. ร้านราชวงศ์รุ่งเรือง จำกัด ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 157 ถนนราชวงศ์ แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ โดยมี นายสุรชาติ กิตติฤดีกุล เป็นผู้เช่าอาคาร และประกอบธุรกิจขายอุปกรณ์พลาสติกพีวีซีและกล่องกระดาษ ทั้งนี้ นายสุรชาติ ให้ข้อมูลเบื้องต้นแล้วว่า ร้านค้าที่ถูกเพลิงไหม้ไม่ได้ทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินแต่อย่างใด  

 

2. อาคารพาณิชย์ เลขที่ 158-159 ถนนราชวงศ์ แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ โดยมีนายอารยัน นารูลา เป็นเจ้าของ ได้ทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์ไว้กับบริษัท อยุธยา อลิอันซ์ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มความคุ้มครองวันที่ 19 มีนาคม 2565 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 19 มีนาคม 2566 โดยกรมธรรม์ให้ความคุ้มครองตัวอาคาร (ไม่รวมรากฐานของสิ่งปลูกสร้าง) รวมส่วนปรับปรุงต่อเติมอาคาร เฟอร์นิเจอร์และเครื่องตกแต่งติดตั้งตรึงตรา ทุนประกันภัย 5,200,000 บาท คุ้มครองค่าเช่าและ/หรือ คุ้มครองค่าใช้จ่ายต่าง สำหรับค่าเช่าอาคารเดือนละไม่เกิน 500,000 บาท ระยะเวลาการชดใช้ไม่เกิน 12 เดือน ทุนประกันภัยในส่วนนี้เป็นเงิน 6,000,000 บาท รวมทุนประกันภัยทั้งสิ้น 11,200,000 บาท ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ.เขตท่าพระ ได้ประสานบริษัทประกันภัยลงพื้นที่เกิดเหตุและตรวจสอบความเสียหายเป็นที่เรียบร้อย

 

3. รถยนต์ฮอนด้า แจ๊ส ทะเบียน ษษ 1179 กท ได้รับความเสียหายสิ้นเชิง ตรวจสอบพบว่ารถยนต์คันดังกล่าว ทำประกันภัยรถยนต์ไว้กับบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มความคุ้มครองวันที่ 19 เมษายน 2565 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 19 เมษายน 2566 โดยบริษัทฯ ยังคงมีหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย

 

ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ จะเร่งตรวจสอบการทำประกันภัยของอาคารพาณิชย์ที่เหลือและรถยนต์อีก 1 คัน ว่า มีการทำประกันภัยไว้กับบริษัทประกันภัยด้วยหรือไม่ หากตรวจสอบพบจะเร่งแจ้งสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยให้เจ้าของทรัพย์สินได้ทราบต่อไปสำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ รวมถึงผู้ประกอบการที่ประสบเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเช่นนี้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ จึงฝากเตือนมายังผู้ประกอบการร้านค้า ควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยอัคคีภัยหรือการประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สินภายในสถานประกอบการ รวมทั้งการทำประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักที่ให้ความคุ้มครองค่าใช้จ่ายต่าง จากกรณีที่ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ตามระยะเวลาและรายได้ที่ขาดหายไปในระหว่างที่กำลังซ่อมแซม รวมถึงการประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ที่ให้ความคุ้มครองกรณีที่ผู้ประกอบการมีความรับผิดต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลอื่น เพื่อที่ระบบประกันภัยจะได้เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยง และเยียวยาความสูญเสียต่าง ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร โดยสำนักงาน คปภ.จะเร่งรัดให้มีการเยียวยาด้านประกันภัยเพื่อบรรเทาความสูญเสียและความเดือดร้อนอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยด้านประกันภัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือLine Chatbot@Oicconnect ข้อมูลอัตโนมัติ 24 ชั่วโมงเลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

        

หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. ยกทีมลงพื้นจังหวัดกาญจนบุรีโปรโมท “ประกันภัยข้าวนาปี - ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์”

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
23 June 2565

คปภ. ยกทีมลงพื้นจังหวัดกาญจนบุรีโปรโมท “ประกันภัยข้าวนาปี - ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์”

พร้อมเปิดตัวโครงการ “Training for the Trainers” ประจำปี 2565 เติมองค์ความรู้ด้านการประกันภัยประกันภัยข้าวนาปี - ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงให้เกษตรกรสู้ภัยธรรมชาติ
 
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 เห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากปี 2564 เพื่อให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปี ได้มีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ซึ่งในปีนี้ได้กำหนดเป้าหมายรวม Tier 1 และ Tier 2 จำนวน 29 ล้านไร่ โดยภาครัฐให้การสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัย จำนวนเงินทั้งสิ้น 1,925,065,000 บาท นอกจากนี้ ครม. ได้เห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2565 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีพื้นที่เป้าหมายรวม Tier 1 และ Tier 2 จำนวน 2.12 ล้านไร่ โดยภาครัฐให้การสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยจำนวนเงินทั้งสิ้น 224,442,600 บาท
 
โดยมติครม. ดังกล่าว ได้มอบหมายให้ สำนักงาน คปภ. ปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีและกรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เป็นไปตามรูปแบบ และหลักเกณฑ์การรับประกันภัยของโครงการฯ ปีการผลิต 2565 รวมทั้งอนุมัติกรมธรรม์และอัตราเบี้ยประกันภัยให้แล้วเสร็จและสามารถเริ่มรับประกันภัยในปีการผลิต 2565 ได้ทันที ภายหลังคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบโครงการฯ และดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนประชาสัมพันธ์โครงการฯ ปีการผลิต 2565 ในภาพรวมและเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย จึงได้เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการ “Training for the Trainers” ประจำปี 2565 เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ด้านการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะไปเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ต่อให้กับเกษตรกร รวมทั้งผลักดันระบบการประกันภัยเข้าไปเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้น ต่อเกษตรกร โดยปีนี้สำนักงาน คปภ. ได้กำหนดให้จังหวัดกาญจนบุรีเป็นจังหวัดแรกในการลงพื้นที่พบปะเกษตรกร และเปิดโครงการ “Training for the Trainers” ประจำปี 2565 เนื่องจากข้อมูลสถิติปี 2564 จังหวัดกาญจนบุรี มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปี จำนวน 342,640 ไร่ และมีการทำประกันภัย จำนวน 201,438 ไร่ หรือคิดเป็นการเข้าถึงการประกันภัย (Penetration Ratio) อยู่ที่ร้อยละ 58.79 และในส่วนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จังหวัดกาญจนบุรี มีพื้นที่เพาะปลูกจำนวน 66,896 ไร่ และมีการทำประกันภัย จำนวน 5,548 ไร่ หรือคิดเป็นอัตราการเข้าถึงการประกันภัย (Penetration Ratio) อยู่ที่ร้อยละ 8.29 ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเริ่มต้นโครงการในปี 2563 ถึง 10 เท่า อันเนื่องมาจากเกษตรกร ผู้ปลูกข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ทราบถึงสิทธิประโยชน์จากการทำประกันภัย และการใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ประกอบกับได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่  จังหวัดกาญจนบุรีที่มีการส่งเสริมเกษตรกรให้ทำประกันภัยเพิ่มมากขึ้น
 
ดังนั้น เพื่อทำให้เกษตรกรเข้าใจและทราบถึงสิทธิประโยชน์จากการทำประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากยิ่งขึ้น เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 เลขาธิการ คปภ. ได้นำคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. และผู้บริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย ลงพื้นที่พบปะเกษตรกร ณ หอประชุมรวมใจภักดิ์ โรงเรียนบ่อพลอยรัชดาภิเษก อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อชี้แจงรายละเอียดของโครงการฯ และรับทราบถึงสภาพปัญหา อุปสรรค ข้อคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะของการทำประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเกษตรกรกว่า 100 ราย เข้าร่วมและมีการสะท้อนปัญหา เช่น กรณีไม่เคยมีประวัติการทำประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มาก่อน จะเข้าสู่ระบบการทำประกันภัยได้อย่างไร กรณีเช่าพื้นที่เพื่อเพาะปลูกข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สามารถเข้าสู่ระบบประกันภัยได้หรือไม่ รวมถึงกรณีการทำประกันภัยสำหรับพืชชนิดอื่น ๆ เช่น การปลูกอ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ยางพารา และสับปะรด เป็นต้น ซึ่งเลขาธิการ คปภ. และคณะฯ ได้ตอบข้อสงสัยต่าง ๆ จนเป็นที่เข้าใจ รวมทั้งจะนำข้อมูลที่ได้จากเกษตรกรไปปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการรับประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ ๆ ให้ดียิ่งขึ้นในปีต่อไป
 
จากนั้นคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. พร้อมด้วยสื่อมวลชน ได้ลงพื้นที่แปลงนาสาธิตของ นางดอกบัว  สมานทรัพย์ ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปีจำนวน 21 ไร่ ในพื้นที่ตำบลหนองกุ่ม อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี 
เพื่อศึกษากระบวนการการทำนาข้าวตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมเม็ดพันธุ์ข้าวเพื่อนำไปเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตที่ดี  และมีคุณภาพ
 
สำหรับวันที่ 22 มิถุนายน 2565 เป็นการจัดอบรมความรู้ด้านการประกันภัยให้กับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ต่อให้แก่เกษตรกรตาม “โครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประจำปี 2565” ณ ห้องประชุมโดม ออโรร่า รีสอร์ท อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ภายใต้การคุมเข้มตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ซึ่งการอบรมให้ความรู้ด้านประกันภัยในครั้งนี้ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเกษตรกรในจังหวัดกาญจนบุรี ที่จะสามารถนำระบบประกันภัยมาเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด อันจะช่วยให้ภาคเกษตรกรรมของจังหวัดมีการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
 
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า เกษตรกรที่ทำประกันภัยข้าวนาปีจะให้ความคุ้มครองกรณีต้นข้าวได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ 7 ภัย ได้แก่ 1) ภัยน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก 2) ภัยแล้ง ฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง 3) ภัยลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น 4) ลูกเห็บ 5) ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง 6) ภัยไฟไหม้ และ 7) ภัยจากช้างป่า รวมไปถึงภัยเพิ่มเติมอื่น ได้แก่ 
ภัยศัตรูพืช และโรคระบาด โดยให้ความคุ้มครอง 1,190 บาท/ไร่ และภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาดให้ความคุ้มครอง 595 บาท/ไร่
สำหรับชาวนาที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกของ ธ.ก.ส. และเพาะปลูกในทุกโซนพื้นที่ เบี้ยประกันภัย 
99 บาท/ไร่ โดยรัฐบาลกับ ธ.ก.ส. จ่ายเบี้ยประกันภัยให้ฟรี แต่ถ้าเป็นชาวนาที่ไม่ใช่ลูกค้า ธ.ก.ส. หรือลูกค้า ธ.ก.ส. 
ที่กู้เงินบางส่วน และประสงค์จะทำประกันภัยเพิ่มเติม เบี้ยประกันภัยก็จะมีอัตราที่แตกต่างกัน ตามความเสี่ยงโดยมี 3 โซน 3 สี ได้แก่ โซนสีเขียว 99 บาท/ไร่ โซนสีเหลือง 199 บาท/ไร่ และโซนสีแดง 218 บาท/ไร่ แต่รัฐบาลจะช่วยสนับสนุน โดยจ่ายเบี้ยประกันภัย 59.40 บาท/ไร่ ส่วนที่เหลือเกษตรกรจะต้องจ่ายเอง คือโซนสีเขียว 39.60 บาท/ไร่
โซนสีเหลือง 139.60 บาท/ไร่ และโซนสีแดง 158.60 บาท/ไร่ ตามลำดับ
 
ส่วนเกษตรกรรายใดที่ต้องการได้รับความคุ้มครองส่วนเพิ่มจากความคุ้มครองพื้นฐานที่ได้กล่าวไปแล้ว ทั้งในส่วนภัยธรรมชาติ 7 ภัย ซึ่งคุ้มครอง 240 บาท/ไร่ และภัยศัตรูพืชและโรคระบาด ซึ่งคุ้มครอง 120 บาท/ไร่ ก็สามารถจ่ายเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติมเองทั้งหมด ดังนี้ โซนสีเขียว จ่ายเบี้ยประกันภัย 27 บาท/ไร่ โซนสีเหลือง จ่ายเบี้ยประกันภัย 60 บาท/ไร่ และโซนสีแดง จ่ายเบี้ยประกันภัย 110 บาท/ไร่
ดังนั้น ถ้าหากปลูกข้าวนาปีและไม่ใช่ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ควรรีบไปซื้อประกันภัยก่อนวัน เวลา ตามแต่ละพื้นที่ที่กำหนดวันสิ้นสุดรับประกันภัยไว้ โดยแบ่งเป็นช่วงเวลา ตามกลุ่มจังหวัด ซึ่งจังหวัดกาญจนบุรีถือว่าพิเศษกว่าจังหวัดอื่น ๆ เพราะเป็น 1 ใน 5 ของจังหวัดภาคตะวันตก ที่สามารถซื้อประกันภัยได้ จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 (จังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือสิ้นสุดการซื้อประกันภัยไปแล้วตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา)
ในส่วนของการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นั้น จะได้รับความคุ้มครอง 7 ประเภทภัยเหมือนกัน แต่มีวงเงินความคุ้มครองสูงกว่าเล็กน้อย (เพราะต้นทุนการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงกว่าข้าวนาปี) โดยความคุ้มครองพื้นฐานภัยธรรมชาติ 7 ภัย คุ้มครอง 1,500 บาท/ไร่ และภัยศัตรูพืชและโรคระบาดคุ้มครอง 750 บาท/ไร่
 
สำหรับชาวนาที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกของ ธ.ก.ส. และเพาะปลูกในทุกโซนพื้นที่ เบี้ยประกันภัย 160 บาท/ไร่ โดยรัฐบาล กับ ธ.ก.ส. จ่ายเบี้ยเป็นลูกค้าประกันภัยให้เช่นเดียวกับประกันภัยข้าวนาปี แต่ถ้าเป็นเกษตรกรที่ไม่ใช่ลูกค้า ธ.ก.ส. หรือลูกค้า ธ.ก.ส. ที่กู้เงินบางส่วน และประสงค์จะทำประกันภัยเพิ่มเติม เบี้ยประกันภัยก็จะมีอัตราที่แตกต่างกันตามความเสี่ยงโดยมี 3 โซน 3 สี ได้แก่ โซนสีเขียว (ความเสี่ยงต่ำ) 150 บาท/ไร่ โซนสีเหลือง (ความเสี่ยงปานกลาง) 350 บาท/ไร่ และโซนสีแดง (ความเสี่ยงสูง) 550 บาท/ไร่ แต่รัฐบาลจะช่วยสนับสนุน โดยจ่ายเบี้ยประกันภัย 90 บาท/ไร่ ส่วนที่เหลือเกษตรกรจะต้องจ่ายเอง คือ โซนสีเขียว 60 บาท/ไร่ โซนสีเหลือง 260 บาท/ไร่ และโซนสีแดง 460 บาท/ไร่ ตามลำดับ
นอกจากนี้ ถ้าเกษตรกรมีความประสงค์ได้รับความคุ้มครองส่วนเพิ่ม ซึ่งจะได้รับความคุ้มครอง 240 บาท/ไร่ และภัยศัตรูพืชและโรคระบาด ซึ่งจะได้รับความคุ้มครอง 120 บาท/ไร่  เกษตรกรสามารถจ่ายเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติมเองทั้งหมด ดังนี้ โซนสีเขียว จ่ายเบี้ยประกันภัย 90 บาท/ไร่ โซนสีเหลือง เบี้ยประกันภัย 100 บาท/ไร่ และโซนสีแดง      จ่ายเบี้ยประกันภัย 110 บาท/ไร่  ซึ่งการทำประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูฝนได้สิ้นสุดการขายไปเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 
ที่ผ่านมา ดังนั้นเกษตรกรรายใดที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 2 รอบ ก็ยังสามารถซื้อประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้ง 
ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 - 15 มกราคม 2566
“เพื่อมิให้พลาดโครงการดี ๆ ที่รัฐบาลสนับสนุนและเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างยิ่ง ผมจึงขอเชิญชวนให้พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่กาญจนบุรีและจังหวัดใกล้เคียง รีบไปทำประกันภัยข้าวนาปี ก่อนวันที่ 30 มิถุนายนนี้ ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สามารถทำประกันภัยฤดูแล้งได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 - 15 มกราคม 2566 เพื่อนำระบบประกันภัยใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ภัยจากศัตรูพืชหรือโรคระบาด ทั้งนี้ หากเกษตรกรท่านใดต้องการข้อมูลความรู้ประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มเติม หรือมีข้อสงสัย สามารถโหลดแอปพลิเคชัน “กูรูประกันข้าว” ได้ฟรีผ่านโทรศัพท์มือถือของท่านทุกระบบ เพื่อที่ท่านจะสามารถสืบค้นข้อมูล ตรวจสอบพื้นที่ความเสี่ยง รวมถึงติดตามสถานะการทำประกันภัยได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
 
 
..................................................................................
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. รุดช่วยเหลือประกันภัยเหตุสลดรถกระบะชนเสาไฟฟ้า “โค้งอันตราย” พบรถกระบะคันเกิดเหตุมีแค่ประกัน พ.ร.บ. • ย้ำนำระบบประกันภัยช่วยเหลืออย่างเต็มที่

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
03 June 2565

คปภ. รุดช่วยเหลือประกันภัยเหตุสลดรถกระบะชนเสาไฟฟ้า “โค้งอันตราย” พบรถกระบะคันเกิดเหตุมีแค่ประกัน พ.ร.บ.

ย้ำนำระบบประกันภัยช่วยเหลืออย่างเต็มที่
 
  ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) 
เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดอุบัติเหตุรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน บน 3698 ปราจีนบุรี เสียหลักพุ่งชนเสาไฟฟ้า (โค้งอันตรายบริเวณฝั่งตรงข้ามศาลอาญา) ถนนรัชดาภิเษก แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุจำนวน 5 ราย และมีผู้บาดเจ็บจำนวน 2 คน ถูกนำส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเปาโลโชคชัย 4 เหตุเกิดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2565 นั้น เบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์และสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบการทำประกันภัยพร้อมเร่งอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัย ตลอดจนติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการประกันภัยให้กับผู้ประสบภัยและครอบครัว เพื่อใช้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
 
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ว่า รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บน 3698 ปราจีนบุรี ได้ทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 สิ้นสุดวันที่ 28 ธันวาคม 2565 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000 - 500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน และจากการตรวจสอบ เบื้องต้นพบว่ารถยนต์กระบะคันเกิดเหตุไม่ได้ทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจไว้แต่อย่างใด 
 
สำหรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นผู้โดยสารทั้ง 4 ราย ในเบื้องต้นครอบครัวผู้เสียชีวิต จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) รายละ 500,000 บาท ทั้งนี้ ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่เป็นชาวจังหวัดบุรีรัมย์ โดยสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ ได้ประสานงานกับสำนักงาน คปภ. จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนต่อไป
ส่วนผู้ขับขี่ที่เสียชีวิต ในเบื้องต้นครอบครัวผู้เสียชีวิตจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) จำนวน 35,000 บาท (ค่าปลงศพ) สำหรับผู้บาดเจ็บที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลเปาโลโชคชัย 4 ทางสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงาน คปภ. และสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ ได้ประสานโรงพยาบาลเพื่อแจ้งสิทธิประโยชน์ที่ผู้บาดเจ็บจะได้รับจากระบบประกันภัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
 
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. จะบูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่า ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บในอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่ หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก ก็จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้ทุกประการ 
 
“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้ และพร้อมจะดูแลในด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาและกับทุกคน โดยเฉพาะการเดินทางในช่วงฤดูฝนอาจทำให้พื้นผิวการจราจรมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ จึงขอให้ผู้ใช้รถตรวจสอบสภาพความพร้อมของรถ รวมทั้งเมาไม่ขับปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และเพื่อความอุ่นใจ ควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัยโดยเฉพาะการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) การประกันภัยรถภาคสมัครใจ และการประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัย สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
 
...............................................................................
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. ลงพื้นที่เร่งช่วยเหลือด้านประกันภัยกรณีรถกระบะเสียหลักชนต้นไม้ที่นครศรีธรรมราชทำให้มีผู้เสียชีวิต

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
30 May 2565

คปภ. ลงพื้นที่เร่งช่วยเหลือด้านประกันภัยกรณีรถกระบะเสียหลักชนต้นไม้ที่นครศรีธรรมราชทำให้มีผู้เสียชีวิต

• เผยรถกระบะทำประกัน “พ.ร.บ. - ภาคสมัครใจประเภท 1 - ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล” โดยระบบประกันภัยพร้อมเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต 5 ราย และบาดเจ็บสาหัส 1 คน อย่างเต็มที่
..........................................
 
  ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) 
เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดอุบัติเหตุรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน ผต 975 นครศรีธรรมราช เสียหลักพุ่งชนต้นไม้ร่องกลางถนนสาย 401 นครศรีธรรมราช – สุราษฎร์ธานี หมู่ 5 ตำบลสระแก้ว อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุจำนวน 5 ราย และมีผู้บาดเจ็บสาหัสจำนวน 1 คน ถูกนำส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เหตุเกิดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2565 นั้น เบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์บูรณาการร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 9 (สงขลา) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบการทำประกันภัยพร้อมเร่งอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัย ตลอดจนติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการประกันภัยให้กับผู้ประสบภัยและครอบครัว เพื่อใช้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. จังหวัดนครศรีธรรมราช ว่า รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ผต 975 นครศรีธรรมราช ได้ทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับ บริษัท คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 30 ธันวาคม 2564 สิ้นสุดวันที่ 30 ธันวาคม 2565 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000 - 500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน
 
นอกจากนี้ รถยนต์กระบะคันเกิดเหตุได้ทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประเภท 1) ไว้กับ บริษัท คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 30 ธันวาคม 2564 สิ้นสุดวันที่ 30 ธันวาคม 2565 โดยคุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก 500,000 บาท/คน แต่ไม่เกิน 10,000,000 บาทต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง และความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกไม่เกิน 1,000,000 บาท/ครั้ง รวมทั้ง ได้ทำประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลกรณีสูญเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง (ผู้ขับขี่ 1 คน/ผู้โดยสาร 2 คน) 100,000 บาท/คน ค่ารักษาพยาบาล 100,000 บาท/คน และการประกันตัวผู้ขับขี่ 200,000 บาท/ครั้ง
 
สำหรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นผู้โดยสารทั้ง 4 ราย ในเบื้องต้นครอบครัวผู้เสียชีวิต จะได้รับค่าสินไหมทดแทน รายละ 1,000,000 บาท จากการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) รายละ 500,000 บาท การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประเภท 1) รายละ 500,000 บาท และกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (เฉลี่ยจ่ายตามส่วนจากความคุ้มครอง 200,000 บาท) ส่วนผู้ขับขี่ที่เสียชีวิต ในเบื้องต้นครอบครัวผู้เสียชีวิตจะได้รับค่าสินไหมทดแทน จำนวน 135,000 บาท จากประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) จำนวน 35,000 บาท และความคุ้มครองประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล 100,000 บาท สำหรับผู้บาดเจ็บที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ทางสำนักงาน คปภ. จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ประสานโรงพยาบาลเพื่อแจ้งสิทธิประโยชน์ที่ผู้บาดเจ็บจะได้รับจากระบบประกันภัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  
 
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. จะบูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่า ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บในอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่ หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก ก็จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้ทุกประการ 
“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้ และพร้อมจะดูแลในด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาและกับทุกคน โดยเฉพาะการเดินทางในช่วงฤดูฝนอาจทำให้พื้นผิวการจราจรมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ จึงขอให้ผู้ใช้รถตรวจสอบสภาพความพร้อมของรถ รวมทั้งเมาไม่ขับ
ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และเพื่อความอุ่นใจ ควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย
 
โดยเฉพาะการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) การประกันภัยรถภาคสมัครใจ และการประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัย สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
 
...............................................................................
หมวดหมู่ข่าว: 

บอร์ด คปภ. เห็นชอบให้นายทะเบียนสั่ง “พุทธธรรมประกันภัย” หยุดรับประกันวินาศภัยชั่วคราวแล้ว

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
27 May 2565

บอร์ด คปภ. เห็นชอบให้นายทะเบียนสั่ง “พุทธธรรมประกันภัย” หยุดรับประกันวินาศภัยชั่วคราวแล้ว 

เผยปมปัญหา บริษัท พุทธธรรมประกันภัย จำกัด (มหาชน) ฝ่าฝืนกฎหมายหลายประการ ดํารงเงินกองทุนต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน ประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน นายทะเบียนจึงสั่งให้บริษัทเร่งแก้ไขฐานะการเงินภายในกำหนด ห้ามรับลูกค้ารายใหม่ ห้ามโยกย้ายทรัพย์สิน ยกเว้นเอามาจ่ายเคลม พร้อมย้ำต้องคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนอย่างเต็มที่
 
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ครั้งที่ 6/2565 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท พุทธธรรมประกันภัย จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป  
ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก บริษัท พุทธธรรมประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมายในเดือนพฤษภาคม 2564 ต่ำกว่าเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามมาตรา 27 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 นายทะเบียนจึงสั่งให้บริษัทฯ แก้ไขฐานะเงินกองทุนตามมาตรา 27/5 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และบริษัทฯ ได้เสนอโครงการเพื่อแก้ไขฐานะเงินกองทุนตามมาตรา 27/5 โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการเริ่มตั้งแต่ 1 กันยายน 2564 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และขอขยายระยะเวลาดำเนินโครงการเพื่อแก้ไขฐานะเงินกองทุนตามมาตรา 27/5 ออกไปเป็นสิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ซึ่งนายทะเบียนพิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัทฯ มีความคืบหน้าในการแก้ไขโครงการโดยมีการเพิ่มทุน จำนวน 140 ล้านบาท มีความพยายามในการแก้ไขฐานะการเงิน ไม่มีการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย ดังนั้น จึงเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการ ตามที่บริษัทฯ ร้องขอ
 
ต่อมาในช่วงเดือนมกราคม 2565 บริษัทฯ ไม่สามารถเพิ่มทุนให้เป็นไปตามโครงการเพื่อแก้ไขฐานะเงินกองทุนได้ เนื่องจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติด้วยคะแนนเสียงน้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดจึงทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถ
นำมตินั้นไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนจดทะเบียนต่อนายทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัดได้ บริษัทฯ จึงมีหนังสือขอให้
นายทะเบียนใช้อำนาจสั่งให้บริษัทฯ เพิ่มทุน จำนวน 160 ล้านบาท นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) จึงใช้อำนาจตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม 
แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สั่งให้บริษัทฯ เพิ่มทุน และต้องดำเนินการเพิ่มทุนชำระแล้วให้ครบจำนวน 160 ล้านบาท ภายในเดือนเมษายน 2565 ตามที่บริษัทฯ ร้องขอ โดยให้ถือว่าคำสั่ง
ของนายทะเบียนดังกล่าวเป็นมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น แต่เมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่นายทะเบียนสั่งให้บริษัทฯ เพิ่มทุน 
บริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการเพิ่มทุนชำระแล้วให้ครบจำนวน 160 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จ ทั้งปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียนว่า บริษัท พุทธธรรมประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีฐานะการเงินและการดำเนินการ ดังนี้ 
                   
1. มีฐานะการเงินไม่มั่นคง โดยมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน จัดสรรเงินสำรองตามมาตรา 23 และจัดสรรสินทรัพย์หนุนหลังตามมาตรา 27/4 ไม่เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด มีสินทรัพย์สภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน และปรากฏว่าอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินของบริษัทฯ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เนื่องจากไม่สามารถ
หาหลักฐานการสอบบัญชีที่เหมาะสมอย่างเพียงพอเพื่อเป็นเกณฑ์ในการแสดงความเห็นต่องบการเงินดังกล่าว และเห็นว่า บริษัทฯ มีความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญทำให้มีข้อสงสัยเกี่ยวกับความสามารถของบริษัทฯ ในการดำเนินงานต่อเนื่อง 
จึงทำให้นายทะเบียนไม่สามารถมั่นใจได้ว่าบริษัทฯ มีความสามารถในการชำระหนี้ตามภาระผูกพันที่มีต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนได้ นอกจากนี้เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 กรรมการผู้มีอำนาจผูกพันของบริษัทฯ แจ้งว่า ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ไม่ประสงค์จะเพิ่มทุนเพิ่ม บริษัทฯ จึงไม่มีแหล่งเงินทุนอื่นนอกเหนือจากการรอผลการเจรจาจากผู้สนใจในการร่วมลงทุนกับบริษัทฯ ตามที่บริษัทฯ แจ้งต่อนายทะเบียน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า 
 
2. มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมจ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้า อันเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 36 และมาตรา 37 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ประกอบกับประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย และประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการชดใช้เงิน หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2559รวมทั้ง ยังคงมีจำนวนค่าสินไหมทดแทนคงค้างจำนวนมากจนส่งผลกระทบต่อฐานะและการดำเนินการของบริษัทฯ ตลอดจนชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของธุรกิจประกันภัย ซึ่งสำนักงาน คปภ. อยู่ในระหว่างการสืบสวนข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัทฯ
จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏหลักฐานดังกล่าว นายทะเบียนจึงเห็นว่า บริษัท พุทธธรรมประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน อันเป็นไปตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ดังนั้น เพื่อให้การกำกับดูแลและติดตามการแก้ไขปัญหาฐานะและการดำเนินการของบริษัทฯ ให้เป็นไปอย่างรอบด้าน ครอบคลุมทั้งการติดตามความมั่นคงทางการเงินและธุรกรรมการดำเนินงานที่ถูกต้องโปร่งใส รวมถึงป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชนในอนาคต ประกอบกับเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ประโยชน์สาธารณะ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ประกอบกับมติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ในการประชุมครั้งที่ 6/2565 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) จึงมีคำสั่งให้บริษัท พุทธธรรมประกันภัย จำกัด (มหาชน) ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
1. หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว
2. แก้ไขฐานะการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพัน และให้มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนเพียงพอตามที่กฎหมายกำหนดภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับคำสั่ง
3. ให้บริษัทฯ เร่งดำเนินการตรวจสอบรายการรับแจ้งการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนและเร่งดำเนินการบันทึกลงสมุดทะเบียนโดยเร็วและให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
4. ให้บริษัทฯ จัดทำรายงานเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งมีรายละเอียดอย่างน้อยดังต่อไปนี้รายละเอียดกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังคงมีผลบังคับใช้เป็นรายกรมธรรม์ประกันภัย เช่น หมายเลขกรมธรรม์ประกันภัย ชื่อ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ของผู้เอาประกันภัย จำนวนเงินที่ต้องชดใช้ตามกรมธรรม์ประกันภัย และสำรองสำหรับเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ตกเป็นรายได้ของบริษัท (UPR) เป็นรายกรมธรรม์
5. ให้บันทึกรายการในสมุดทะเบียน สมุดบัญชี คำนวณและดำรงเงินสำรองประกันภัยให้ถูกต้อง ครบถ้วนตามกฎหมาย
6. ให้เร่งรัดพิจารณาและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ บุคคลผู้มีสิทธิเรียกร้องหรือผู้ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
7. ให้จัดทำรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการและนำส่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ภายในระยะเวลาดังต่อไปนี้ จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง โดยให้ดำเนินการตามข้อ 2 ทุกเจ็ดวัน และดำเนินการตามข้อ 3, 4 และ 5 ทุกวันทำการ
ทั้งนี้ ตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 เมื่อนายทะเบียนมีคำสั่งให้บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ห้ามมิให้กรรมการ พนักงาน และลูกจ้างของบริษัทฯ สั่งจ่ายเงินของบริษัทฯ หรือทำการเคลื่อนย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทฯ เว้นแต่เป็นการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างแก่พนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทฯ ตามปกติ สำหรับการจ่ายเงินอื่นให้เป็นไปตามที่นายทะเบียนกำหนด รวมถึงให้บริษัทฯ รายงานเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบถึงบรรดาเจ้าหนี้และลูกหนี้ทั้งหมดของบริษัทฯ ภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด
นอกจากนี้บอร์ด คปภ. ยังมีมติในกรณีที่บริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาฐานะการเงินและการดำเนินงานตามคำสั่งนายทะเบียนได้อย่างครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนดข้างต้น หรือปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทฯ มีการดำเนินการที่อาจเข้าข่ายการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายเพิ่มเติม หรือนายทะเบียนพิจารณาแล้วเห็นว่าหากรอให้ครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนดข้างต้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน จึงให้สำนักงาน คปภ. ดำเนินการตามมติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ครั้งที่ 6/2565 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ต่อไป
 
“การออกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวจะช่วยให้สำนักงาน คปภ. สามารถคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนได้เต็มที่และตามประกาศนายทะเบียน เรื่อง กำหนดการจ่ายเงินของบริษัทฯ ที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ทำให้สำนักงาน คปภ. สามารถเข้าไปควบคุมการจ่ายเงินต่าง ๆ ของบริษัทฯ ได้ทั้งหมด และจัดการปัญหาการจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยได้สั่งการไปยังสายตรวจสอบ สายวิเคราะห์ธุรกิจประกันภัย และสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ตลอดจนสำนักงาน คปภ. ทั่วประเทศ ตรวจสอบสาขา/สำนักงานตัวแทนของบริษัทฯ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบและให้ดำเนินการแจ้งการสั่งหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัท/ตัวแทน/นายหน้าประกันภัยขายกรมธรรม์รายใหม่ในระหว่างการหยุดรับประกันภัย พร้อมทั้ง ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะเจ้าหน้าที่เข้าไปประจำที่บริษัทฯ อย่างเต็มพิกัด เพื่อควบคุมให้บริษัทฯ ดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน หากพบว่าบริษัทฯ ไม่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน ก็จะดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายในระดับที่เข้มข้นยิ่งขึ้นต่อไป สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการและผู้บริหารของบริษัทฯ สำนักงาน คปภ. จะตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป หากพบว่ามีการกระทำความผิดจะดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ติดต่อได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ www.oic.or.th” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
.................................................
หมวดหมู่ข่าว: 

เลขาธิการ คปภ. นำคณะผู้บริหาร สำนักงาน คปภ. บันทึกเทปถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
25 May 2565

เลขาธิการ คปภ. นำคณะผู้บริหาร 

สำนักงาน คปภ. บันทึกเทปถวายพระพรชัยมงคล
สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี
 
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริม
การประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.)   นำคณะผู้บริหาร สำนักงาน คปภ. บันทึกเทปถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน 2565 เพื่อร่วมแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี ณ สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 MCOT HD เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565
 
หมวดหมู่ข่าว: 

Pages

Subscribe to RSS - ข่าว