ข่าว

คปภ. จัด “Focus Group” ผุดแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ขับเคลื่อนภารกิจคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
26 July 2565

คปภ. จัด “Focus Group” ผุดแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ขับเคลื่อนภารกิจคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ 

 
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) ของโครงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการดำเนินการตามกฎหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ระยะเวลา 5 ปี พ.ศ. 2566 – 2570) เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ณ ห้อง Ballroom 3 ชั้น 6 โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและแสดงความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนตามกฎหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถอย่างครบถ้วนในทุกด้าน และนำผลที่ได้ไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการดำเนินการตามกฎหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ระยะเวลา 5 ปี พ.ศ. 2566-2570) และแผนการปฏิบัติงานประจำปี 2566 ให้มีทิศทางที่ชัดเจนสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน มีกลยุทธ์ที่ชัดเจน สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งนำไปต่อยอดการดำเนินการตามภารกิจของฝ่ายสำนักนายทะเบียนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยกำหนดให้มีการประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) จำนวน 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ณ โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน จังหวัดเพชรบุรี และการประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) ในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 โดยมีกลุ่มเป้าหมายหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ กรมการขนส่งทางบก กรมการปกครอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  สถานพยาบาล โรงพยาบาลรัฐและเอกชน บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ บริษัทประกันภัย บริษัทลีซซิ่ง รวมทั้งผู้บริหารและพนักงานสำนักงาน คปภ. จากสายกฎหมายและคดี สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สายกลยุทธ์องค์กร สายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สายตรวจสอบ สายวิเคราะห์ธุรกิจประกันภัย และฝ่ายสำนักนายทะเบียนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ 
 
เลขาธิการ คปภ. กล่าวโดยมีใจความที่สำคัญตอนหนึ่งว่า สำนักงาน คปภ. มีภารกิจหลักในการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย ตลอดจนประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ความรู้ด้านการประกันภัย ให้ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน มีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัย โดยฝ่ายสำนักนายทะเบียนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ 
เป็นหน่วยงานหนึ่งของสำนักงาน คปภ. มีหน้าที่หลักในการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ 
พ.ศ. 2535 หรือประกันภัยรถภาคบังคับ อาทิ การกำกับ ดูแล การส่งเสริมการประกันภัยรถภาคบังคับ การกำหนดวงเงินความคุ้มครอง รวมทั้งศึกษา วิเคราะห์ พัฒนาการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ประสบภัยจากรถ การรณรงค์ส่งเสริม สร้างความรู้ความเข้าใจ และสร้างความตระหนักให้เจ้าของรถทำประกันภัยรถภาคบังคับเพิ่มขึ้น รวมทั้งให้ประชาชนรับรู้ถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการทำประกันภัยรถภาคบังคับที่จะช่วยเยียวยาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยได้ หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด รวมทั้งการกำหนดแนวทางมาตรฐานหรือหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ และอัตราเบี้ยประกันภัย รวมถึงการกำหนดอัตราเงินสมทบ การผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการประกันภัยรถภาคบังคับ รวมทั้งการประกันภัยรถภาคบังคับสำหรับรถผ่านแดน ตลอดจนการศึกษาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงมาตรฐานค่ารักษาพยาบาล และการปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ รวมถึงการกำกับ ดูแล และดำเนินงานตามภารกิจของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 
 
ทั้งนี้ จากการติดตามข้อมูลของฝ่ายสำนักนายทะเบียนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พบว่า ยังมีเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถอีกจำนวนมากที่ยังไม่ทราบว่าการประกันภัยรถภาคบังคับ หรือประกันภัย พ.ร.บ. เป็นสิ่งที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำ และมีบทลงโทษหากไม่ดำเนินการจัดทำ โดยสถิติการทำประกันภัยรถภาคบังคับ ณ เดือนมิถุนายน 2565 มีรถที่จดทะเบียนทั้งสิ้นกว่า 42 ล้านคัน ในภาพรวมมีการจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ ร้อยละ 80 ของจำนวนรถที่จดทะเบียนทั้งหมด แบ่งเป็นรถยนต์ร้อยละ 90 และรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นรถที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด แต่มีการจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับเพียงร้อยละ 65 ดังนั้น เพื่อเป็นการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ของสำนักงาน คปภ. ในการขับเคลื่อนภารกิจตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 และเพื่อเป็นการกำหนดกรอบและทิศทางในการดำเนินงานและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดกลยุทธ์และยุทธศาสตร์ เพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล   
 
ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้บูรณาการร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ เป็นที่ปรึกษาเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการดำเนินการตามกฎหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ระยะเวลา 5 ปี พ.ศ.2566-2570) และรายละเอียดแผนการปฏิบัติงาน ประจำปี 2566 โดยมุ่งเน้นให้แผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการดำเนินการตามกฎหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถมีความเหมาะสม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 แผนยุทธศาสตร์ สำนักงาน คปภ. รวมถึงสภาพเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป 
 
“การประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) ในครั้งนี้ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นกระบวนการที่จะทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการดำเนินการตามกฎหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถอย่างรอบด้าน ผ่านการแสดงความคิด ความเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ 
จากผู้เข้าร่วมประชุมที่มาจากหลากหลายหน่วยงาน หลายหลายอาชีพ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามกฎหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและผู้ประสบภัยจากรถอย่างแท้จริง” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในที่สุด
........................................................................................
หมวดหมู่ข่าว: 

เลขาธิการ คปภ. นำคณะผู้บริหาร สำนักงาน คปภ. บันทึกเทปถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
26 July 2565

เลขาธิการ คปภ. นำคณะผู้บริหาร สำนักงาน คปภ. บันทึกเทปถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.)  นำคณะผู้บริหาร สำนักงาน คปภ. บันทึกเทปถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2565 เพื่อร่วมแสดงออก ซึ่งความจงรักภักดี และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ณ สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 MCOT HD  
 
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. ติวเข้มกฎกติกาแก่ “ผู้ประเมินวินาศภัย” เพื่อให้ก้าวทันสู่ยุค Next Normal

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
23 July 2565

คปภ. ติวเข้มกฎกติกาแก่ “ผู้ประเมินวินาศภัย” เพื่อให้ก้าวทันสู่ยุค Next Normal

เร่งปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ “คนกลางประกันภัย” ให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น 
ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการดำเนินการ ตั้งเป้าพัฒนาระบบ E-Licensing 
เสร็จภายในปี 2566
 
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิด “งานสัมมนาประจำปีผู้ประเมินวินาศภัย” เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ณ ห้องประชุมสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง ชั้น 2 สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ในรูปแบบ Onsite และผ่านทางช่องทาง Online โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาพรวม แนวโน้ม และสถิติการประเมินวินาศภัยในปัจจุบัน ในการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของผู้ประเมินวินาศภัย รวมทั้ง เสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจประกันภัย ทักษะ นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้ในการประเมินวินาศภัย โดยมีการหยิบยกกรณีศึกษาจากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ เพื่อให้เกิดการพัฒนามาตรฐานของผู้ประเมินวินาศภัยแบบบูรณาการ โดยการใช้ความรู้ ทักษะในหลาย ๆ ด้าน รวมไปถึงความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีมาประกอบการดำเนินธุรกิจ และสามารถตอบสนองต่อความท้าทายกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลาในยุค Next Normal 
 
เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนหนึ่งว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนรู้จักและเข้าใจประโยชน์ของการประกันภัยมากขึ้น และให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ โดยจะเห็นได้จากประชาชนมีการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการประกันภัยและมีความคาดหวังจากระบบประกันภัยเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงมีการพัฒนาในส่วนของการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับคนกลางประกันภัย ได้แก่ ตัวแทน นายหน้าประกันภัย รวมถึงผู้ประเมินวินาศภัย โดยสำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการพัฒนาแพลทฟอร์ม ระบบการให้บริการการออกใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันภัย/ผู้ประเมินวินาศภัย ทางอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร หรือ E-Licensing ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการทำงานตั้งแต่การให้บริการข้อมูล การขอรับใบอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาต การนำส่งข้อมูลตามที่สำนักงาน คปภ. กำหนด และการปรับปรุงข้อมูลทางทะเบียนที่เกี่ยวข้อง ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับคนกลางประกันภัยให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น และเป็นการอำนวยความสะดวกแก่คนกลางประกันภัยให้สามารถยื่นคำขอเอกสารต่าง ๆ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และสามารถติดตามสถานะของการดำเนินการได้สะดวกยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการดำเนินการ โดยสำนักงาน คปภ. ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาระบบ E-Licensing ให้แล้วเสร็จภายในปี 2566
สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้จะเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของผู้ประเมินวินาศภัย เพื่อให้ผู้ประเมินวินาศภัยรับทราบข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและจำเป็นในการประกอบธุรกิจ และมีความเข้าใจแนวทางปฏิบัติที่ตรงกัน การรายงานข้อมูลสถิติที่เกี่ยวข้องกับการประเมินวินาศภัย ซึ่งแสดงถึงแนวโน้มและภาพรวมการประเมินวินาศภัยในปัจจุบัน โดยข้อมูลดังกล่าวเป็นการประมวลทั้งในส่วนของข้อมูลที่ผู้ประเมินวินาศภัยให้ความร่วมมือในการรายงาน และข้อมูลด้านสินไหมทดแทนจากระบบฐานข้อมูล IBS และสุดท้ายจะเป็นการบรรยายในเรื่องกรณีศึกษาเหตุอัคคีภัยและนวัตกรรมด้านการป้องกันความเสี่ยงด้านอัคคีภัย เพื่อให้ความรู้ที่สามารถนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานประเมินวินาศภัยและการบริหารความเสี่ยงภัยด้านการบรรเทาความเสียหายของเหตุวินาศภัยที่เกิดขึ้นได้
 
เลขาธิการ คปภ. ด้วยว่า ผู้ประเมินวินาศภัยถือเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนระบบประกันภัย เนื่องจากผู้ประเมินวินาศภัยถือเป็นคนกลางประกันภัย ที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญต่อกระบวนการชดใช้สินไหมทดแทน 
โดยมีหน้าที่ตรวจสอบ วิเคราะห์สาเหตุและประเมินความเสียหายของวินาศภัย เพื่อให้การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกิดความเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วน ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการป้องกันการฉ้อฉลด้านการประกันภัย ดังนั้น 
ผู้ประเมินวินาศภัยจึงมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบประกันภัย สำนักงาน คปภ. จึงมีความคาดหวังและมุ่งมั่นที่จะกำกับดูแลและส่งเสริมให้ผู้ประเมินวินาศภัยในตลาดให้มีมาตรฐานการดำเนินงานและศักยภาพที่สามารถตอบรับการเปลี่ยนแปลงในยุค Next Normal รวมทั้งมีนโยบายสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาความรู้ของผู้ตรวจสอบและประเมินวินาศภัยในสังกัดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ผู้ตรวจสอบและประเมินวินาศภัยมีโอกาสได้รับความรู้ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องและเป็นปัจจุบัน และส่งผลให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของผู้ประเมินวินาศภัยโดยรวม สามารถรองรับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากการขยายตัวของตลาดประกันวินาศภัย และการเปิดเสรีการบริการด้านประกันภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต 
 
“ผมเชื่อมั่นว่าเวทีงานสัมมนาประจำปีผู้ประเมินวินาศภัยในปีนี้ จะเป็นอีกหนึ่งเวทีที่เติมเต็มองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้กับผู้ตรวจสอบและประเมินวินาศภัยทุกคนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจประกันภัยในระยะยาว และจะเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้พัฒนาธุรกิจประกันภัยได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
       ............................................................................
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. รุดลงพื้นที่เร่งช่วยเหลือด้านประกันภัยกรณีเครื่องยนต์เรือสปีดโบ๊ทระเบิดกลางทะเลจังหวัดชุมพร

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
21 July 2565

คปภ. รุดลงพื้นที่เร่งช่วยเหลือด้านประกันภัยกรณีเครื่องยนต์เรือสปีดโบ๊ทระเบิดกลางทะเลจังหวัดชุมพรเผยเรือสปีดโบ๊ท ทำประกันภัยผู้โดยสารเรือสำหรับโดยสารภาคบังคับ (...) ผู้บาดเจ็บทั้ง 20 ราย ได้รับความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล เลขาธิการ คปภ. เตือนช่วงหน้าฝน คลื่นลมแรง เจ้าของเรือหรือผู้ประกอบการเดินเรือสำหรับโดยสารจะต้องจัดให้มีการประกันภัยคุ้มครองผู้โดยสารตามที่กฎหมายกำหนด

 

 

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเรือสปีดโบ๊ท ชื่อลมหลักคีรินทร์ 18” หมายเลขทะเบียน 5843-06433 เกิดอุบัติเหตุห้องเครื่องระเบิดกลางทะเล ห่างจากฝั่ง 4-5 กม. พิกัดทุ่งมะขามน้อย ตำบลหาดทรายรี อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ส่งผลทำให้พนักงานบนเรือและผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บประมาณ 20 ราย แบ่งเป็น พนักงานขับเรือ 2 ราย นักท่องเที่ยว 18 รายเหตุเกิดเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 นั้น เบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์บูรณาการร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 8 (สุราษฎร์ธานี) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดชุมพร ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบการทำประกันภัยของเรือลำดังกล่าว พร้อมเร่งอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัย ตลอดจนติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการประกันภัยให้กับผู้ประสบภัยและครอบครัว เพื่อใช้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้บาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. จังหวัดชุมพร ว่า เรือสปีดโบ๊ท ชื่อลมหลักคีรินทร์ 18” หมายเลขทะเบียน 5843-06433 เป็นของบริษัท ลมหลักคีรินทร์ ไฮสปีด เฟอร์รี่ จำกัด มีกรมธรรม์ประกันภัยผู้โดยสารเรือสำหรับโดยสารกับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 9 มีนาคม 2565 สิ้นสุดวันที่ 9 มีนาคม2566 ให้ความคุ้มครองเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ สายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จำนวน 100,000 บาท/คน และค่ารักษาพยาบาล จำนวน 15,000 บาท/คน สำหรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้บาดเจ็บนั้น สำนักงาน คปภ.จังหวัดชุมพร ได้ประสานกับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) สาขาชุมพร ให้ดำเนินการตรวจสอบสิทธิและติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยเร่งด่วน และได้ประสานโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ โรงพยาบาลปากน้ำชุมพร โรงพยาบาลวิรัชศิลป์ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหาดทรายรี รวมทั้ง ทายาท/ผู้ประสบภัย เพื่อแจ้งสิทธิการเบิกค่ารักษาพยาบาลเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. จะบูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่าผู้บาดเจ็บในอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ไว้ด้วยหรือไม่ 

หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น เพิ่มเติมอีก ก็จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้ทุกประการ 

 

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า ในช่วงนี้เป็นหน้าฝน คลื่นลมแรง อาจทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือเพื่อพานักท่องเที่ยวไปตามหมู่เกาะต่าง และมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ดังนั้นสำนักงาน คปภ. จึงขอรณรงค์ให้ผู้ประกอบการเรือและผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางเรือได้ตระหนักเห็นความสำคัญในการนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงในการประกอบกิจการและบริหารความเสี่ยงให้กับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะประเภทเรือโดยสารหรือเรือประเภทอื่นที่ได้รับอนุญาตให้ใช้บรรทุกผู้โดยสาร ซึ่งเป็นการบรรทุกผู้โดยสารตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไป และเรือโดยสารนั้นจะวิ่งในเส้นทางใด ไม่ว่าจะเป็นในคลอง แม่น้ำ หรือ ทะเล จะต้องทำประกันภัยผู้โดยสารเรือสำหรับโดยสารภาคบังคับ (...) เนื่องจากกฎกระทรวงคมนาคมฉบับที่ 73 (..2549) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย .. 2456 กำหนดให้เจ้าของเรือหรือผู้ประกอบการเดินเรือสำหรับโดยสารจะต้องจัดให้มีการประกันภัยคุ้มครองผู้โดยสารที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ทุพพลภาพ หรือได้รับบาดเจ็บจากการโดยสารเรือ โดยจะได้รับความคุ้มครอง อาทิ ในกรณีเสียชีวิต 100,000 บาท และในกรณีและค่ารักษาพยาบาล ได้รับความคุ้มครองไม่เกิน 15,000 บาท เป็นต้น

 

 

สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจต่อผู้ประสบภัยในครั้งนี้ และแม้ว่าเหตุการณ์นี้จะไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ก็มีผู้บาดเจ็บที่เป็นพนักงานขับเรือและผู้โดยสารจำนวน 20 ราย ดังนั้นการทำประกันภัยจึงเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในทุกมิติ จึงขอฝากเตือนประชาชนให้ความสำคัญและหันมาทำประกันภัยกันให้มากขึ้น เพราะหากเกิดความเสียหายจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ระบบประกันภัยจะช่วยเหลือบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ในส่วนของผู้ประกอบการเดินเรือโดยสารหรือผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสาธารณะก็จะต้องทำประกันภัยตามที่กฎหมายกำหนดและหมั่นตรวจสอบวันหมดอายุกรมธรรม์ด้วยเพื่อนักท่องเที่ยวจะได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันภัยตลอดเวลา หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

 

หมวดหมู่ข่าว: 

เริ่มแล้ว! สัญญาประกันภัยสุขภาพตามมาตรฐานใหม่ ยกระดับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัย ตั้งแต่ 1 ก.ค. 65 เป็นต้นไป

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
18 July 2565

เริ่มแล้ว! สัญญาประกันภัยสุขภาพตามมาตรฐานใหม่ ยกระดับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัย ตั้งแต่ 1 ก.ค. 65 เป็นต้นไป

คปภ. กำชับบริษัทประกันภัยทุกค่ายเสนอขายลูกค้ารายใหม่ตามกติกาใหม่อย่างเคร่งครัด
 
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงาน คปภ. ได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 14/2564 เรื่อง หลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบแบบและข้อความสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพ ประเภทสามัญ แบบมาตรฐาน สำหรับบริษัทประกันชีวิต และคำสั่งนายทะเบียนที่ 15/2564 เรื่อง หลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบแบบและข้อความกรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพส่วนบุคคล แบบมาตรฐาน สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เพื่อกำหนดแบบและข้อความสัญญาประกันภัยสุขภาพ ที่เสนอขายโดยบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย ให้มีมาตรฐานเดียวกัน และมีเงื่อนไขความคุ้มครองที่สอดคล้องกับเทคโนโลยี วิธีการรักษาทางการแพทย์และวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลงไป มีความยั่งยืน เป็นธรรม รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการปฏิรูประบบสาธารณสุข ตลอดจนมีการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมจ่าย (Copayment) เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงของระบบการประกันภัยสุขภาพให้เกิดความยั่งยืน นั้น
สำหรับสาระสำคัญของคำสั่งนายทะเบียนทั้งสองฉบับ มีดังนี้
  1. กำหนดคำนิยามให้ครอบคลุมกับวิวัฒนาการทางการแพทย์ เช่น การผ่าตัดใหญ่ การผ่าตัดเล็ก และการผ่าตัดใหญ่ที่ไม่ต้องเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน (Day Surgery) เป็นต้น
  2. กำหนดผลประโยชน์ เป็นหมวดมาตรฐาน 13 หมวด ได้แก่ ผลประโยชน์กรณีผู้ป่วยใน หมวดที่ 1 ค่าห้องและค่าอาหาร หมวดที่ 2 ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย หมวดที่ 3 ค่าผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หมวดที่ 4 ค่ารักษาพยาบาลโดยการผ่าตัดและหัตถการ หมวดที่ 5 การผ่าตัดใหญ่ที่ไม่ต้องเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน และผลประโยชน์กรณีไม่ต้องเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน หมวดที่ 6 ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยที่เกี่ยวข้องโดยตรงก่อนและหลังการพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน หมวดที่ 7 ค่ารักษาพยาบาลการบาดเจ็บ กรณีผู้ป่วยนอก ของการเกิดอุบัติเหตุ หมวดที่ 8 ค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟู หลังการเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน หมวดที่ 9 ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาโรคไตวายเรื้อรัง หมวดที่ 10 ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง โดยรังสีรักษา หมวดที่ 11 ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง โดยเคมีบำบัด หมวดที่ 12 ค่าบริการรถพยาบาลฉุกเฉิน และหมวดที่ 13 ค่ารักษาพยาบาล โดยการผ่าตัดเล็ก
3. กำหนดเงื่อนไขการต่ออายุกรณีครบรอบปีกรมธรรม์ (Renewal) ต้องต่ออายุขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 69 ปี พร้อมทั้ง อาจจะพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ให้สามารถนำเงื่อนไขมีค่าใช้จ่ายร่วม (Copayment) รวมกันสูงสุดไม่เกิน 50% และการให้ส่วนลดเบี้ยประกันภัยจากการมีค่าใช้จ่ายร่วม รวมกันสูงสุดไม่เกิน 50%
  4. กำหนดเงื่อนไขให้บริษัทไม่สามารถปฏิเสธการต่ออายุกรณีครบรอบปีกรมธรรม์ได้ ยกเว้น 3 กรณีเท่านั้น ซึ่งได้แก่ กรณีผู้เอาประกันภัยไม่แถลงข้อความจริงตามใบคำขอเอาประกันภัย กรณีผู้เอาประกันภัยเรียกร้องผลประโยชน์โดยไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และกรณีผู้เอาประกันภัยเรียกร้องผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันรวมกันทุกบริษัทเกินกว่ารายได้ที่แท้จริง
  5. กำหนดหลักเกณฑ์การปรับเบี้ยประกันภัย โดยพิจารณาจากอายุ ชั้นอาชีพของแต่ละบุคคล และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น หรือจากประสบการณ์การจ่ายค่าสินไหมทดแทนโดยรวมของพอร์ตโฟลิโอ 
  6. กำหนดให้ส่วนลดประวัติดี (ถ้ามี) กรณีไม่เรียกร้องค่าสินไหมทดแทน หรือเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเล็กน้อย สูงสุด 30%
ทั้งนี้ เหตุผลความจำเป็นที่ต้องจัดทำสัญญาประกันภัยสุขภาพ แบบมาตรฐาน ปรับปรุงใหม่ (New Health Standard) เนื่องจากเงื่อนไขสัญญาประกันภัยสุขภาพเดิมไม่ชัดเจน และไม่สอดคล้องกับวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้เกิดปัญหาการตีความและอาจส่งผลให้เกิดการปฏิเสธการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ รวมทั้งเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยของทั้งธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัยมีความแตกต่างกัน จึงทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่สามารถเปรียบเทียบความคุ้มครองสัญญาประกันภัยสุขภาพของแต่ละบริษัทได้ นอกจากนี้มีกรณีผู้เอาประกันภัยถูกปฏิเสธการต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัย โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของผู้เอาประกันภัย รวมทั้งในบางกรณีเกิดจากพฤติกรรมการฉ้อฉลและการรักษาพยาบาลเกินความจำเป็นทางการแพทย์ และบริษัทประกันภัยแต่ละบริษัทมีแนวปฏิบัติของการรับประกันภัยตลอดจนมาตรฐานการให้ความคุ้มครองที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อการได้รับความคุ้มครองและการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของผู้เอาประกันภัย
แบบสัญญาประกันภัยสุขภาพ แบบมาตรฐาน ปรับปรุงใหม่ตามคำสั่งนายทะเบียนนี้ จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้นโดยสามารถวิเคราะห์และเปรียบเทียบผลประโยชน์และเบี้ยประกันภัยก่อนตัดสินใจซื้อได้ง่าย เพราะสัญญาประกันภัยสุขภาพที่เสนอขายจะต้องมีรายการความคุ้มครองและเงื่อนไขขั้นต่ำตามที่นายทะเบียนกำหนด ภาคธุรกิจประกันภัยเกิดการแข่งขันในเรื่องเบี้ยประกันภัยและการให้บริการ ทำให้ประชาชนสามารถเลือกซื้อได้ตามความต้องการ เกิดความโปร่งใส ลดการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ซ้ำซ้อน การประกันภัยสุขภาพมีความต่อเนื่องโดยส่วนใหญ่สามารถต่ออายุได้ไม่ต่ำกว่าอายุ 80 ปี เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุให้มีหลักประกันด้านสุขภาพ อีกทั้ง สัญญาที่ปรับใหม่จะมีความชัดเจนและเป็นธรรม ลดข้อร้องเรียนเรื่องการถูกยกเลิกและการไม่ต่ออายุสัญญาประกันภัยสุขภาพ เกิดความชัดเจนในหลักเกณฑ์ของการปรับเพิ่มหรือลดเบี้ยประกันภัย มีแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกันของทั้งภาคธุรกิจประกันภัย และสอดคล้องกับวิวัฒนาการทางการแพทย์และสภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน และสัญญาประกันภัยสุขภาพ แบบมาตรฐาน ปรับปรุงใหม่ ยังได้กำหนดเงื่อนไขให้บริษัทประกันภัยไม่สามารถปฏิเสธการต่ออายุกรณีครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัยได้ ยกเว้น 3 กรณีเท่านั้น ซึ่งได้แก่ 1) กรณีผู้เอาประกันภัยไม่แถลงข้อความจริงตามใบคำขอเอาประกันภัย 2) กรณีผู้เอาประกันภัยเรียกร้องผลประโยชน์โดยไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และ 3) กรณีผู้เอาประกันภัยเรียกร้องผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันรวมกันทุกบริษัทเกินกว่ารายได้ที่แท้จริง เท่านั้น
 
  “มาตรการปรับปรุงแบบสัญญาประกันภัยสุขภาพตามคำสั่งนายทะเบียนนี้ เป็นมาตรการระยะสั้นเพื่อช่วยลดประเด็นข้อโต้แย้งของสัญญาประกันภัยสุขภาพ เนื่องจากการพัฒนากฎหมายประกันภัยสุขภาพ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องใช้ระยะเวลา โดยสำนักงาน คปภ. หวังว่าการประกันภัยสุขภาพมาตรฐานใหม่ ทั้งธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัยสำหรับการขายให้ลูกค้ารายใหม่ ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 จะเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัยให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง รวมทั้งจะช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนจากการฉ้อฉลประกันภัย อันจะส่งผลให้ระบบประกันภัยสุขภาพมีการเติบโตได้อย่างยั่งยืน และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้ โดยเฉพาะการการันตีการต่ออายุและการเปรียบเทียบผลประโยชน์ของแบบประกันภัยทำได้ง่ายขึ้น อีกทั้ง จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ได้ว่าในยามเจ็บป่วยหรือเมื่อสูงอายุก็ยังคงมีหลักประกันภัยสุขภาพที่มั่นคง” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
 
………………………………………….
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. เพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแล โดยเดินหน้าภารกิจวิเคราะห์ผลกระทบจากกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย เชิญกูรูกฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จัด Workshop ติวเข้มพนักงาน คปภ.

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
17 July 2565

คปภ. เพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแล โดยเดินหน้าภารกิจวิเคราะห์ผลกระทบจากกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย เชิญกูรูกฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จัด Workshop ติวเข้มพนักงาน คปภ.

 
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) การวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย (Regulatory Impact Analysis : RIA) และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ให้แก่พนักงานสำนักงาน คปภ. ณ ห้องประชุมชั้น 2 สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565
 
เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนหนึ่งว่า ตามแผนยุทธศาสตร์สำนักงาน คปภ. ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2564 - 2566) 
มีพันธกิจในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้มีเสถียรภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และมีธรรมาภิบาล ส่งเสริมและพัฒนาระบบประกันภัยให้ยั่งยืน สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง และสอดคล้องกับกติกาสากล รวมถึงคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน โดยเครื่องมือหนึ่งในการทำให้พันธกิจดังกล่าวบรรลุวัตถุประสงค์ คือ การออกกฎหมายหรือปรับปรุงกฎหมายที่ใช้ในการกำกับดูแลและพัฒนาธุรกิจประกันภัยให้เป็นกฎหมายที่ดี มีคุณภาพ และเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว จะต้องมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย โดยในปีนี้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติประกันชีวิตฯ พระราชบัญญัติประกันวินาศภัยฯ รวมทั้งอนุบัญญัติที่ออกตามความกฎหมายแม่บทดังกล่าวด้วย ส่วนพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ และพระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยฯ จะได้ดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์ในปี 2566
 
สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) การวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย (Regulatory Impact Analysis : RIA) และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายให้แก่พนักงานสำนักงาน คปภ. ในครั้งนี้ 
สำนักงาน คปภ. ได้รับเกียรติจากทีมวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ยกร่างพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 อันเป็นหลักการตามแนวนโยบายของมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ มาอบรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่พนักงานสำนักงาน คปภ. ในเชิงปฏิบัติการ (Workshop) พร้อมฝึกภาคปฏิบัติครอบคลุมเนื้อหา 3 หัวข้อหลัก คือ หัวข้อแรก การทำ RIA กฎหมายและกฎ เพื่อแนะนำและฝึกให้พนักงานของสำนักงาน คปภ. ทดลองทำแบบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมายตามแบบฟอร์มที่ใช้งานจริง โดยใช้โจทย์เป็นอนุบัญญัติของสำนักงาน คปภ. เพื่อให้เห็นภาพกระบวนการที่เป็นรูปธรรมของแนวคิด วิธีการ และเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูล การระบุสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ วิธีการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา การใช้หลักเหตุผลและความจำเป็นที่รัฐควรเข้าแทรกแซงโดยเลือกใช้มาตรการทางกฎหมาย ซึ่งรวมไปถึงแนวทางการกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้มีส่วนได้เสียให้ครอบคลุม และรูปแบบการเปิดรับฟังความคิดเห็นที่เหมาะสมเพื่อให้ได้รับข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนี้จะได้เรียนรู้หลักการสำคัญของการวิเคราะห์ผลกระทบที่ต้องคำนึงถึงทั้งมิติทางด้านเศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ตลอดจนการประยุกต์ใช้หลักความได้สัดส่วน (Principle of Proportionality) เช่น การใช้ Standard Cost Model วิธีการคำนวณภาระต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎหมาย มาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการชั่งน้ำหนักระหว่างผลกระทบกับความคุ้มค่าของการออกกฎหมายตามหลักคิดสากล 
 
  หัวข้อที่ 2 การประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายและกฎ ซึ่งเป็นขั้นตอนและกระบวนการควบคุมคุณภาพของกฎหมายหลังจากที่กฎหมายได้ออกมาใช้บังคับแล้วชั่วระยะเวลาหนึ่ง พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายฯ กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องประเมินผลสัมฤทธิ์กฎหมายและกฎของตัวเองทุกรอบระยะเวลา 5 ปี โดยกำหนดให้มีการประเมินรอบแรกสำหรับพระราชบัญญัติที่มีผลใช้บังคับก่อนปี 2562 ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 ซึ่งสำนักงาน คปภ. มีภารกิจที่ต้องประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายและกฎที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลรวม 5 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ประกันชีวิตฯ พ.ร.บ.ประกันวินาศภัยฯ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ พ.ร.บ.คปภ.ฯ และ พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติฯ ดังนั้น การอบรม Workshop ตามหัวข้อนี้จะทำให้พนักงานของสำนักงาน คปภ. มีองค์ความรู้ที่จำเป็นเพื่อนำมาวิเคราะห์ว่ากฎหมายที่ออกไปแล้วนั้น สามารถแก้ไขปัญหาได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้แต่แรกเพียงใด เกิดภาระหรือผลกระทบที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ มีอุปสรรคและปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายอย่างไร มีสถิติการดำเนินคดีมากน้อยเพียงใด เพื่อนำมาสู่ขั้นตอนของการประเมินผลสัมฤทธิ์ว่ากฎหมายหรือกฎดังกล่าวยังคงจำเป็นต้องดำรงอยู่ หรือควรปรับปรุง หรือควรให้ยกเลิกไป โดยต้องจัดทำข้อมูลตามแบบฟอร์มรายงานการประเมิน ผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายตามที่กำหนด
 
และหัวข้อที่ 3 การแนะนำการใช้งาน “ระบบกลางทางกฎหมาย” (Law Portal) ซึ่งเป็นระบบที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่ตาม พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายฯ เพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมกฎหมายของภาครัฐให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้จากแหล่งเดียว ตามเจตจำนงของมาตรา 77 
แห่งรัฐธรรมนูญที่มุ่งหมายให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายได้โดยสะดวก เข้าใจกฎหมายได้ง่าย และสามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง 
 
นอกจากนี้ ระบบกลางทางกฎหมายยังถูกกำหนดให้เป็นช่องทางสื่อสารหลัก ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐทุกแห่งใช้เป็น Platform ในการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับร่างกฎหมายและกฎของตนเอง คำอธิบายกฎหมาย คำแปลกฎหมาย รายงาน RIA รายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์ รวมทั้งยังเป็นเวทีเปิดเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน อันเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสะท้อนและแสดงออกซึ่งความคิดเห็นต่อกฎหมายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยสะดวกและรวดเร็ว ดังนั้น ในการปฏิบัติภารกิจด้านการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายรวมถึงอนุบัญญัติของสำนักงาน คปภ. ต่อจากนี้ จะต้องดำเนินการผ่านระบบกลางทางกฎหมายเป็นหลัก ควบคู่ไปกับวิธีการเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางเว็บไซต์ของสำนักงาน หรือจัดประชุม Focus Group หรือวิธีการอื่นดังเช่นที่ปฏิบัติอยู่เดิมซึ่งเป็นไปตามความเหมาะสม เพื่อให้บรรลุผลลัพธ์ของการได้รับข้อมูลที่มีคุณภาพอันจะนำไปสู่การตัดสินใจที่มีคุณภาพ และก่อเกิดเป็นกฎหมายที่มีคุณภาพของประเทศชาติต่อไป
 
  “การอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) การวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย (Regulatory Impact Analysis : RIA) และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ที่จัดให้กับพนักงานสำนักงาน คปภ. ในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่จำเป็นที่จะต้องเร่งเสริมความรู้ความเข้าใจ และสร้างประสบการณ์การปฏิบัติงานเสมือนจริงเพื่อพัฒนาศักยภาพของพนักงานสำนักงาน คปภ. โดยการเรียนรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่เป็น Authority ในเรื่องนี้ ซึ่งหากพนักงานของสำนักงาน คปภ. เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็จะทำให้การนำเอากฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
 
............................................................................
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. จัด “Workshop” พลิกโฉมบทบาท “กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย” ก้าวสู่ Smart Fund

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
14 July 2565

คปภ. จัด “Workshop” พลิกโฉมบทบาท “กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย” ก้าวสู่ Smart Fund

• ชูเรือธง แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ช่วยเยียวยาแบ่งเบาภาระให้กับประชาชน ตลอดจนครอบครัวของผู้ประสบภัยจากรถ ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยระบบดิจิทัล
 
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อระดมความคิดเห็นในการทบทวนและจัดทำแผนยุทธศาสตร์กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย แผนปฏิบัติการดิจิทัลกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย แผนการบริหารทรัพยากรบุคคลกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) และแผนการปฏิบัติงานประจำปี 2566 ของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ฝ่ายสำนักนายทะเบียนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ณ ห้องประชุม Shanghai ชั้น 2 โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพฯ รัชดา ซึ่งการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมจากสายงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สายกลยุทธ์องค์กร สายกฎหมายและคดี สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สายบริหาร ฝ่ายตรวจสอบกิจการภายใน ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฝ่ายสำนักนายทะเบียนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และสำนักงาน คปภ. ภาคทั้ง 9 ภาค ได้มีการแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็นในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการดิจิทัล แผนการบริหารทรัพยากรบุคคลของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย และแผนการปฏิบัติงานประจำปี 2566 ให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 4 แผนยุทธศาสตร์สำนักงาน คปภ. ระยะ 3 ปี และสภาพเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อเป็นกรอบและทิศทางในการดำเนินงานและขับเคลื่อนกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยสู่การเป็น SMART FUND ต่อไป  
 
 เลขาธิการ คปภ. กล่าวโดยมีใจความที่สำคัญตอนหนึ่งว่า สถานการณ์ปัจจุบัน ธุรกิจประกันภัยต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ทั้งเศรษฐกิจที่ผันผวน เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงโรคระบาดครั้งใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่และพฤติกรรมของผู้คนทั่วโลกไปสู่วิถีชีวิตวิถีใหม่อย่างที่ไม่อาจคาดคิดมาก่อน สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่กำกับและส่งเสริมอุตสาหกรรมประกันภัย รวมถึงการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย จึงมีภารกิจสำคัญที่จะต้องให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ และผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมประกันภัยในประเทศ สามารถปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์หรือบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงกำกับให้ธุรกิจประกันภัยไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนและได้รับความไว้วางใจจากประชาชน โดยมีกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ทำหน้าที่เป็นทุนสำหรับจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถที่ไม่ได้รับการชดใช้จากบริษัทประกันภัยหรือไม่สามารถเรียกร้องจากที่ใดได้ โดยกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยมีภารกิจหลัก ๆ คือ 1. การจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถ เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือในเบื้องต้นอย่างสะดวก รวดเร็วและทันท่วงที 2. การบริหารจัดการกองทุนตาม พ.ร.บ. การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 และ 3. ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยและประกันภัย พ.ร.บ. 
 
 ทั้งนี้จากข้อมูลในปีที่ผ่านมา พบว่า กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย มีการบริหารจัดการและมีผลการดำเนินงานที่ดีเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน โดยได้ผลคะแนนตามตัวชี้วัดของกรมบัญชีกลางถึง 4.3414 คะแนน ซึ่งมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา สามารถช่วยเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถ โดยมีจำนวนผู้ขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน 9,151 ราย คิดเป็นเงินกว่า 179 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม ภารกิจของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ต้องดำเนินการในเชิงรุก เนื่องจากจำนวนอุบัติเหตุที่เพิ่มขึ้นในทุกปี 
 
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานกองทุนฯ บรรลุผลสัมฤทธิ์สูงสุด กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย จึงต้องมีการปรับปรุงงานจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นและการไล่เบี้ยเรียกคืน ซึ่งเป็นภารกิจหลักให้มีประสิทธิภาพ โดยการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยมาใช้วางรากฐานการดำเนินงาน การจัดเก็บข้อมูล ตลอดจนการให้บริการประชาชน โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้เป็นเชิงรุกมากยิ่งขึ้น ในส่วนของบุคลากรกองทุนซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ต้องมีการกำหนดโครงสร้างและภารกิจของบุคลากรกองทุนให้ชัดเจน รวมทั้งควรพัฒนาบุคลากรทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
ให้มีทักษะความชำนาญในงานอย่างเท่าเทียมกัน และเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ มีความสามารถในการวิเคราะห์งาน และมี Digital Skill เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ควรมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานพันธมิตรหรือเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการข้อมูลและใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลสูงสุด อีกทั้งในส่วนของการส่งเสริมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัย พ.ร.บ. ซึ่งยังเป็น Pain Point ที่สำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข จะเห็นได้ว่าจากข้อมูลสถิติของกรมการขนส่งทางบก พบว่า ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2565 มีจำนวนรถทุกประเภทที่จดทะเบียนสะสมทั่วประเทศกว่า 42.79 ล้านคัน โดยเป็นรถที่จัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. เพียง 33.21 ล้านคัน หรือประมาณร้อยละ 77.61 ของรถที่จดทะเบียนทั้งหมด และโดยเฉพาะรถจักรยานยนต์มีการจดทะเบียนสะสม จำนวน 22.02 ล้านคัน แต่มีรถที่จัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. จำนวน 14.21 ล้านคัน หรือประมาณร้อยละ 64.53 และจากสถิติการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2565 พบว่า มีการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถเป็นจำนวนสูงถึง 105 ล้านบาท จากตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ายังมีรถที่อยู่นอกระบบการประกันภัย พ.ร.บ. อีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีเจ้าของรถจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีประกันภัย พ.ร.บ. เพื่อนำไปเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัย หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นจากการใช้รถใช้ถนน ทั้งนี้ เจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถทุกคันมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องจัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. หากฝ่าฝืนไม่จัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท หรือหากเป็นผู้ที่ใช้รถที่ไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท ดังนั้น หากเป็นทั้งเจ้าของรถที่ไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. และได้นำรถคันนั้นออกไปใช้เองจะมีความผิดทั้ง 2 ข้อหา โดยมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
 
ดังนั้น กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย จึงต้องเร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และส่งเสริมให้ประชาชนทำประกันภัย พ.ร.บ. เพิ่มขึ้นให้มากที่สุด ซึ่งการจัดทำแผนยุทธศาสตร์กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย แผนปฏิบัติการดิจิทัลกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย แผนการบริหารทรัพยากรบุคคลกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) และแผนการปฏิบัติงานประจำปี 2566 ของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากทีมงานผู้เชี่ยวชาญจาก บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด มาเป็นที่ปรึกษาในการศึกษาวิเคราะห์ ทบทวน ให้คำแนะนำในการกำหนดทิศทางและจัดทำแผนฯ ให้มีความชัดเจนสอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการของกองทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 
 
สำหรับขั้นตอนหลังจากประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ในครั้งนี้แล้วจะมีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการบริหารกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย เพื่อทบทวนแผนยุทธศาสตร์กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย แผนปฏิบัติการดิจิทัลกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย แผนการบริหารทรัพยากรบุคคลกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย (Board Retreat) และแผนการปฏิบัติงานประจำปี 2566 ในเดือนสิงหาคม 2565 ก่อนนำเสนอร่างแผนฯ ดังกล่าว ต่อคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการบริหารกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ซึ่งจะได้ทราบถึงวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ ประเด็นยุทธศาสตร์ กลยุทธ์การดำเนินงานกองทุนฯ ที่ชัดเจน และจะมีการประชุมเพื่อสื่อสารแผนยุทธศาสตร์กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย แผนปฏิบัติการดิจิทัลกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย แผนการบริหารทรัพยากรบุคคลกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย และแผนการปฏิบัติงานประจำปี 2566 ฉบับสมบูรณ์ ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 ต่อไป
 
“การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อระดมความคิดเห็นในการทบทวนและจัดทำแผนยุทธศาสตร์กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย แผนปฏิบัติการดิจิทัลกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย แผนการบริหารทรัพยากรบุคคลกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) และแผนการปฏิบัติงานประจำปี 2566 ในครั้งนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งเวทีที่มีความสำคัญในการพลิกโฉมบทบาทของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย เพื่อก้าวสู่การเป็น Smart Fund มีผลการดำเนินงานที่โดดเด่น และช่วยเยียวยาแบ่งเบาภาระให้กับประชาชน ตลอดจนครอบครัวของผู้ประสบภัยจากรถ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มั่นคง ยั่งยืน ด้วยระบบดิจิทัล” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
 
.....................................................................
หมวดหมู่ข่าว: 

ที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมด้านการประกันภัย เห็นด้วยกับการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคของสำนักงาน คปภ. พร้อมแนะนำให้เพิ่ม 3 มาตรการ เสริมเขี้ยวเล็บการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการประกันภัย

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
12 July 2565

ที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมด้านการประกันภัย 

เห็นด้วยกับการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคของสำนักงาน คปภ. 
พร้อมแนะนำให้เพิ่ม 3 มาตรการ เสริมเขี้ยวเล็บการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการประกันภัย
.................................
 
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมด้านการประกันภัย ครั้งที่ 1/2565 ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากหลายภาคส่วน สำนักงาน คปภ. ได้รายงานผลการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านประกันภัยในรอบครึ่งปี 2565  โดยที่ประชุมได้กล่าวชื่นชมการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการประกันภัย ว่าครอบคลุมในหลายมิติและมีผลงานเป็นรูปธรรม จากนั้นที่ประชุมได้ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย ช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน 2565 โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
ประเด็นแรก การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการประกันภัยให้เข้าถึงประชาชน เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ “กรมธรรม์ของฉัน หรือ My Policy” และ LINE Official Account คปภ. รอบรู้ (@OICConnect) ตามโครงการ OIC Gateway ควรระบุขอบเขตของการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่ใช้ในการยืนยันตัวตน
ในการสมัครเข้าใช้งานและระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น ตลอดจนควรปรับปรุงเมนู และ Feature ต่าง ๆ ให้ง่ายต่อการใช้งาน ซึ่งส่งผลทำให้สามารถเพิ่มยอดจำนวนผู้ใช้งานได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ควรพิจารณาถึงความเสี่ยงและจัดให้มีมาตรการป้องกัน 
 
นอกจากนี้ได้แนะนำให้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการทำบันทึกความร่วมมือระหว่างสำนักงาน คปภ. กับสำนักงานประกันสังคมเพื่อประสานความร่วมมือในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการประกันภัยให้แก่กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ของพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ ให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของระบบประกันภัยและสนับสนุนจัดทำประกันภัยเพิ่มเติมจากระบบประกันสังคมที่มีอยู่ รวมถึงควรมีความร่วมมือกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อให้ อสม. ซึ่งมีสมาชิกอยู่ทั่วประเทศช่วยเผยแพร่ความรู้ด้านประกันภัยให้แก่ประชาชนที่อยู่ในชุมชนทั่วประเทศ  
ตลอดจน ผลักดันและส่งเสริมความรู้ด้านการประกันภัยเข้าไปในสถาบันการศึกษา โดยในระยะยาวควรบรรจุให้เข้าไปในหลักสูตรของสถาบันการศึกษาทุกระดับ ส่วนในระยะสั้น อาจเพิ่มช่องทางการสื่อสารที่สั้น กระชับ เข้าใจง่าย และรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เผยแพร่ผ่านสื่อและเทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถศึกษา ทำความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำประกันภัยให้มากยิ่งขึ้น
 
นอกจากนี้ ควรจัดให้มีคู่มือประชาชนที่ประกอบด้วยกรณีศึกษา (Case Study) ที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเกี่ยวกับการจัดทำประกันภัย การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน สิทธิของผู้เอาประกันภัย การฉ้อฉลประกันภัย และข้อพึงระวังต่าง ๆ รวมถึงเหตุแห่งการปฏิเสธการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนจากกรณีที่เกิดขึ้นจริง เป็นต้น และเผยแพร่ให้ประชาชนได้ศึกษา ทำความเข้าใจ เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนได้ โดยอาจทำเป็น QR Code หรือผ่านสื่อในรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มเติมให้ง่ายต่อการเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น
 
ประเด็นที่สอง กรณีการบังคับใช้แบบและข้อความสัญญาเพิ่มเติมมาตรฐานการประกันภัยสุขภาพใหม่ 
สำนักงาน คปภ. ควรเพิ่มเติมการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่า ปัจจุบันได้มีการประกาศใช้คำสั่งนายทะเบียนที่ 14/2564 และคำสั่งนายทะเบียนที่ 15/2564 เรื่อง หลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบแบบและข้อความสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพ ประเภทสามัญ แบบมาตรฐาน สำหรับบริษัทประกันชีวิต และสำหรับบริษัทประกันวินาศภัยใหม่แล้ว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เอาประกันภัย โดยให้เน้นการสื่อสารด้วยข้อความที่สั้น กระชับ และเข้าใจง่าย เช่น ในรูปแบบของ Infographic เป็นต้น นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ควรมีมาตรการในการส่งเสริมเพื่อให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงการประกันภัยให้มากยิ่งขึ้น อาจจัดให้มีการหารือร่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สภาคนพิการ รวมทั้งภาคธุรกิจ และสมาคมคนพิการต่าง ๆ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์ต่อการเข้าถึงการทำประกันภัยของคนพิการอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น  
 
ประเด็นที่สาม กรณีแก๊ง Call Center แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ คปภ. เรียกเงินเพื่อช่วยเหลือเคลมประกันภัยโควิดควรประสานความร่วมมือกับบริษัทประกันภัยในการเพิ่มเติมข้อความในกรณีที่มีเอกสารไปถึงคู่สัญญา เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ขณะนี้มีแก๊ง Call Center ดำเนินการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ คปภ. เรียกเงินเพื่อช่วยเหลือเคลมประกันภัยโควิด ขออย่าให้หลงเชื่อ รวมถึงแจ้งเตือนเพื่อให้ประชาชนและผู้เอาประกันภัยระมัดระวังเกี่ยวกับพฤติกรรมความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลที่อาจถูกแก๊ง Call Center แอบอ้าง หรือนำไปใช้ประโยชน์ และเพิ่มการประชาสัมพันธ์เป็นระยะ ๆ และอย่างต่อเนื่อง  
 
“ผมเห็นว่าข้อเสนอแนะทั้ง 3 ประเด็นข้างต้น เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการคุ้มครองสิทธิประโยชน์
ด้านประกันภัย ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยและได้รับการบริการอย่างเป็นธรรม มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งสำนักงาน คปภ. ขอน้อมรับทุกข้อเสนอแนะไปปฏิบัติ และจะขับเคลื่อนภารกิจอย่างเต็มความสามารถเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคด้านประกันภัย” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. จัดประกวดสุดยอดนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย OIC InsurTech Award 2022

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
08 July 2565

คปภ. จัดประกวดสุดยอดนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย OIC InsurTech Award 2022 

เปิดโอกาสให้นักพัฒนานวัตกรรมรุ่นใหม่ที่มั่นใจในศักยภาพ เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อชิงเงินรางวัล และของรางวัลอื่น ๆ มากมาย
 
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานแถลงข่าวการประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย หรือ OIC InsurTech Award 2022 ภายใต้แนวคิด “AWAKEN THE NEW POWER OF INSURANCE - พลิกโฉมประกันภัยไร้ขีดจำกัด” ผ่านระบบ Zoom Meeting ณ ห้องประชุมชั้น 2 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ทั้งนี้เพื่อสร้างและส่งเสริมความรู้พื้นฐานด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมประกันภัยให้แก่กลุ่มนิสิต/นักศึกษา บุคลากรในวงการประกันภัย บุคลากรในบริษัทเทคโนโลยี (Tech Firm) กลุ่มนักพัฒนาเทคโนโลยี (Tech Startup) และประชาชนทั่วไป ที่มีความสนใจและนำความรู้ไปพัฒนานวัตกรรมอุตสาหกรรมประกันภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการ เข้าถึงบริการได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
 
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า “Insurance Technology” หรือ “เทคโนโลยีด้านการประกันภัย” เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมประกันภัยในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มช่องทางในการบริการธุรกิจประกันภัยได้ในหลากหลายมิติ และลดต้นทุนในการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อีกทั้งยังช่วยให้ประกันภัยเข้าถึงง่าย สะดวก และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ศูนย์ Center of InsurTech, Thailand 
ของสำนักงาน คปภ. จึงได้จัดการประกวดชิงรางวัลนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการประกันภัยขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "AWAKEN THE NEW POWER OF INSURANCE - พลิกโฉมประกันภัยไร้ขีดจำกัด" สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่ส่งผลให้ผู้คนในปัจจุบันหันมาให้ความสำคัญกับการซื้อประกันภัย โดยเฉพาะประกันสุขภาพกันมากขึ้น และหนึ่งในผลกระทบจากโควิด-19 คือการที่ผู้คนทั่วโลกต้องเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยี หรือ Digital Disruption อย่างก้าวกระโดดในทุก ๆ อุตสาหกรรมโดยไม่ทันตั้งตัว เทคโนโลยีทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม รวมทั้งทุกกลุ่มอุตสาหกรรมล้วนเร่งปรับตัวโดยนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับองค์กรของตนเอง ให้ก้าวไปข้างหน้าได้ โดยการก้าวข้ามขีดจำกัดที่เคยมี เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจประกันภัย ซึ่งนับเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะนำองค์ความรู้ที่เป็น Mega Trend อย่าง Metaverse, Digital Customer Experience, Digital Service Innovation, Artificial Intelligence (AI), Blockchains, Big Data และอื่น ๆ มาประยุกต์ใช้ เพื่อพลิกโฉมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างไม่สิ้นสุด โดยในปีนี้จึงเน้นไปที่การเฟ้นหา “NEW POWER” หรือการปลุก “พลังใหม่” ที่อยู่ในตัวของทุกคน ที่จะมาปลุกไอเดียสร้างสรรค์ในตัวทุก ๆ คน และพลังสร้างสรรค์ของทุกคน จะเป็น NEW POWER หรือพลังใหม่ที่ช่วยพลิกโฉมโลกประกันภัย
สำหรับการเข้าร่วมส่งผลงานเข้าประกวดในโครงการนี้ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทนักเรียน นิสิต/นักศึกษา และประเภทประชาชนทั่วไป โดยผู้สนใจสามารถสมัครเข้าประกวดเป็นทีม มีสมาชิกจำนวนไม่เกิน 2-4 คนต่อทีม 
สมัครได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2565 โดยผู้สมัครต้องส่งผลงานประกวดเพื่อนำเสนอในรูปแบบ Business Model Canvas สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ Link : https://bit.ly/OIC2022_Canvas และใส่รายละเอียดหรือ
แนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาธุรกิจประกันกันภัย รวมทั้งส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น โดยผู้สมัครสามารถเลือกส่งผลงานตามโจทย์การแข่งขันได้ ดังนี้ 1. นวัตกรรมเทคโนโลยี เพื่อการประกันสุขภาพ สำหรับประชากรและสังคมยุคใหม่  2. พลิกโฉมการเสนอขาย และเปิดโอกาสใหม่ของประกันภัยบน Metaverse หรือ 3. เพิ่มประสิทธิภาพการประเมินภัย ยกระดับความความพึงพอใจของลูกค้า ด้วยเทคโนโลยี AI  สามารถส่งผลงานโดยกรอกใบสมัครและอัพโหลด Business Model Canvas ได้ที่ Link : https://bit.ly/OIC2022_register 
 
ทั้งนี้ คณะกรรมการจะทำการคัดเลือกทีมที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรก เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านคอร์สออนไลน์ จากนั้นจะมีการคัดเลือกรอบที่ 2 ให้เหลือจำนวน 30 ทีม ซึ่งปีนี้งานจะมีความพิเศษกว่าปีที่ผ่านมากล่าวคือ 30 ทีมสุดท้าย จะได้เข้าร่วมกิจกรรม One-Day Workshop เป็นกิจกรรมสุดพิเศษ ติวเข้ม โดยวิทยากรมืออาชีพตัวจริง ที่จะมาให้ความรู้ด้านการวิเคราะห์ถึง Pain Point หรือปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อทำความเข้าใจถึงปัญหาและความต้องการ เฟ้นหาไอเดียที่จะสร้างสรรค์ และออกแบบนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์กับปัญหานั้นให้มากที่สุด ที่สำคัญผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้มีโอกาสในการพบปะกับวิทยากร ที่ปรึกษา และคณะกรรมการฯ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มากประสบการณ์ในวงการประกันภัย ด้านเทคโนโลยี ด้านบริหารธุรกิจ และด้านการตลาด ที่จะมาช่วยบ่มความคิดแต่ละทีม กลั่นให้ออกมาเป็นไอเดียที่มีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน สำหรับการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริงได้ ที่จะได้ร่วมเปิดโลกมุมมองที่อาจไม่เคยคาดถึงมาก่อน เพื่อเสริมให้นวัตกรรมที่แต่ละทีมสร้างกันมา ให้มีความสมบูรณ์ ครบในทุกมิติ โดยกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ จะได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญแบบเข้มข้นและเจาะลึก และเข้าร่วมกิจกรรมนำเสนองาน (Pitching Day) เพื่อคัดเลือกให้เหลือ 10 ทีมสุดท้าย ซึ่งจะมีสิทธิในการนำเสนอผลงานเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกในรอบชิงชนะเลิศ (Final Pitching) ณ วันประกาศรางวัล OIC InsurTech Award 2022 ภายในงาน Thailand InsurTech Fair 2022 ที่จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2565 
 
สำหรับรางวัลที่ผู้ชนะจะได้รับในปีนี้เพิ่มขึ้นและพิเศษกว่าปีก่อนคือ รางวัลที่ 1 เงินรางวัล 100,000 บาท รางวัลที่ 2 เงินรางวัล 70,000 บาท รางวันที่ 3 เงินรางวัล 50,000 บาท และรางวัลชมเชย เงินรางวัล 15,000 บาท จำนวน 2 รางวัล 
“โครงการ OIC InsurTech Award 2022 ปีนี้ เรามุ่งเน้นการคิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการ ให้เข้าถึงบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว พร้อมทั้งเสริมความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมประกันภัยด้วยการส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดนวัตกรรมด้านการประกันภัย (InsurTech) ด้วยแนวคิดและเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ๆ ทั้งยังเป็นการสนับสนุนรูปแบบการเข้าถึงการประกันภัยของประชาชนและการให้ความรู้ด้านการประกันภัยแก่ประชาชนผ่านเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้นอีกด้วย พร้อมทั้งยังคาดหวังว่าโครงการปีนี้จะเป็นพื้นที่สำหรับทุกภาคส่วน ที่จะได้มาร่วมแชร์ไอเดีย และต่อยอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี ไปสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยกันได้แบบไม่มีขีดจำกัด และเป็นการสร้าง Digital Ecosystem ของ InsurTech ของประเทศไทย อีกด้วย ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อที่ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย (CIT) E-mail : cit@oic.or.th โทรศัพท์ 080-900-2820” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
 
.......................................................................
หมวดหมู่ข่าว: 

ประกาศ เรื่อง รายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการสอบข้อเขียนเพื่อรับทุนการศึกษาสำหรับบุคคลภายนอก ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ประจำปี 2565

Pages

Subscribe to RSS - ข่าว