ข่าว

เลขาธิการ คปภ. นำทีม Mobile Insurance Unit ลงพื้นที่ชุมชนบ้านผาทั่ง จังหวัดอุทัยธานี ขับเคลื่อนประกันภัยพืชผลทางเกษตรเชิงรุก ประเดิมด้วย “ประกันภัยอ้อย” พร้อมให้ความรู้เรื่องประกันภัยแก่ชาวชุมชน

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
27 February 2566

เลขาธิการ คปภ. นำทีม Mobile Insurance Unit ลงพื้นที่ชุมชนบ้านผาทั่ง จังหวัดอุทัยธานี ขับเคลื่อนประกันภัยพืชผลทางเกษตรเชิงรุก ประเดิมด้วย “ประกันภัยอ้อย” พร้อมให้ความรู้เรื่องประกันภัยแก่ชาวชุมชน

 
         ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานในพิธีเปิดสัมมนาตามโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ (กรมธรรม์ประกันภัยอ้อย) โดยมี นายปรัชญา เสริฐลือชา นายอำเภอบ้านไร่ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย ผศ.ดร.ชญณา ศิริภิรมย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) นายสมิทธิ ว่องไพฑูรย์ ผู้บริหารบริษัท อุตสาหกรรม น้ำตาลบ้านไร่ จำกัด นายไพฑูรย์ ฟักเขียว ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย พนักงานโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ สมาคมชาวไร่อ้อยอำเภอบ้านไร่ และภาคเอกชนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสัมมนา จำนวน 150 คน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ณ วิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี 
 
โครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ประกันภัย เป็นนโยบายสำคัญของสำนักงาน คปภ. ที่ดำเนินการเชิงรุกเพื่อให้ประชาชนในทุกภูมิภาคสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยและมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริงสำหรับปีนี้ สำนักงาน คปภ. ภาค 2 (นครสวรรค์) ได้เสนอ “โครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ (กรมธรรม์ประกันภัยอ้อย) เนื่องจากจังหวัดอุทัยธานี เป็นจังหวัดที่ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำเกษตรกรรมหลากหลายชนิด โดยมีพื้นที่สำหรับการปลูกอ้อย รวมมากกว่า 3 แสนไร่ มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตมากเป็นอันดับที่ 4 ของพื้นที่เขตภาคกลาง อีกทั้งอ้อยเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและมีการส่งออกเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่จะนำไปแปรรูปเป็นน้ำตาล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมของประเทศที่มีผลผลิตติด 1 ใน 5 อันดับแรกของโลก การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการและความเสี่ยงของประชาชนในท้องถิ่นนั้น เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยให้กลุ่มเป้าหมายและประชาชนในท้องถิ่นให้เข้าถึงระบบประกันภัยโดยตรงกับความต้องการ และเพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้าถึงระบบประกันภัย และสามารถนำระบบประกันภัยเข้ามาใช้ในการบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม
 
เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาสำนักงาน คปภ. ได้ให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมของประเทศ     เป็นอย่างยิ่ง โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยเพื่อการเกษตรตามแผนยุทธศาสตร์สำนักงาน คปภ. ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2564-2566) ผ่านการดำเนินการเป็นรูปธรรมหลายด้าน ได้แก่ การประกันภัยข้าวนาปีและการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ในการนำระบบประกันภัยไปช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจของประชาชน โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมของประเทศ ซึ่งประกันภัยอ้อยถือว่าเป็นโมเดลใหม่ของประกันภัยพืชผลทางเกษตร โดยดึงผู้ประกอบธุรกิจผลิตน้ำตาลเข้ามามีส่วนร่วมในการทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถเข้าถึงประกันภัย
ในการเสวนาครั้งนี้มีการเสวนาเกี่ยวกับการประกันภัยอ้อย ในหัวข้อ“เกษตรกรอุ่นใจ ด้วยกรมธรรม์ประกันภัยอ้อย” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจาก 5 หน่วยงาน ได้แก่ นายประเสริฐ วณิชชากรวิวัฒน์ เกษตรจังหวัดอุทัยธานี นายบุญเลิศ มักสิก ผู้จัดการฝ่ายไร่ บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ จํากัด นางสาวทัศนวรรณ เชาว์ดำรงสกุล หัวหน้ากลุ่มกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับบุคคล สำนักงาน คปภ. นายจักรพันธุ์  รอดอ่อง เกษตรกรชาวไร่อ้อย และนางสาวอภิญญา เฮงประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายรับประกันภัย บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) ร่วมให้ความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยในประเด็นต่าง ๆ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปลูกพืชอ้อย พื้นที่การปลูกอ้อยของเกษตรกร ปัญหาของการปลูกอ้อยจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต การช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเสียหาย ความเป็นมาของการพัฒนาประกันภัยอ้อย ความคุ้มครอง รูปแบบการรับประกันภัย การเคลมประกันภัย ทิศทางและแนวทางในการพัฒนารูปแบบการดำเนินการกรมธรรม์ประกันภัยอ้อยในอนาคต โดยวิทยากรทุกคนเห็นตรงกันว่าการประกันภัยอ้อยจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยในการใช้ระบบประกันภัยในการบริหารจัดการความเสี่ยงภัยโดยเฉพาะความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติ ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้นอกจากเกษตรกรจะได้รับความรู้เกี่ยวกับการประกันภัยอ้อยแล้ว สำนักงาน คปภ. จะนำความคิดเห็นและข้อแนะนำที่ได้จากการสัมมนาไปพัฒนาแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยอ้อยให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน และส่งเสริมรูปแบบในการรับประกันภัยเพิ่มมากขึ้นต่อไป
 
จากนั้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 เลขาธิการ คปภ. ได้นำคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ผู้ไกล่เกลี่ยของสำนักงาน คปภ. ผู้แทนสมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย กองทุนประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัย พร้อมด้วยผู้บริหารของบริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย ลงพื้นที่ชุมชนบ้านผาทั่ง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี โดยมี นายอนุชา  พัสถาน ปลัดจังหวัดอุทัยธานี ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ ซึ่งเป็นการลงพื้นที่ครั้งที่ 2 ตามโครงการ คปภ. เพื่อชุมชนปี 6 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเชิงรุกให้กับประชาชนในชุมชน ในรูปแบบ Mobile Insurance Unit หรือศูนย์บริการประชาชนด้านการประกันภัยเคลื่อนที่แบบครบวงจร เผยแพร่ประชาสัมพันธ์บทบาทหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. และให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ให้ความช่วยเหลือ และรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย ผ่าน “Mobile Complaint Unit” หรือศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยเคลื่อนที่ รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรมฐานความรู้เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิต ความเสี่ยง และวัฒนธรรมของชุมชน พร้อมมีการถ่ายทำรายการ “คปภ. เพื่อชุมชน” เพื่อเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้านการประกันภัยในวงกว้าง อันจะเกิดประโยชน์ต่อการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านประกันภัย ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากชาวชุมชน
 
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า การลงพื้นที่ชุมชนบ้านผาทั่งในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีอัตลักษณ์ โดดเด่นด้วยวัฒนธรรมประเพณี ที่แสดงออกผ่านผืนผ้าของพี่น้องชาวลาวครั่ง และลาวเวียง ที่มีความสวยงาม และสะท้อนถึงภูมิปัญญาที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะเครื่องนอนก่อนวิวาห์ มีที่มาจากประเพณีก่อนเข้าวิวาห์ ที่เจ้าสาวต้องทอผ้าด้วยมือทุกขั้นตอน และได้รับรางวัลระดับโลกจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) นอกจากนั้นยังมีความโดดเด่นด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ยักษ์ หรือต้นเซียงยักษ์อายุเก่าแก่หลายร้อยปี ขนาดใหญ่ ประมาณ 40 คนโอบ ความโดดเด่นด้วยวิถีการใช้ชีวิต และการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทั้งการทำไร่อ้อย และการทำสวนเกษตร เช่น สวนผักกูด และสวนไผ่ อย่างไรก็ดีการดำเนินชีวิตของคนในชุมชนย่อมมีความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินเสมอ โดยเฉพาะบ้านเรือนในชุมชนส่วนใหญ่ปลูกสร้างด้วยไม้จำนวนมาก ซึ่งไม้เป็นวัสดุที่ติดไฟง่าย จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดอัคคีภัยในบ้านที่อยู่อาศัย อีกทั้งชุมชนบ้านผาทั่งแห่งนี้ มีผ้าทอโบราณที่เป็นงานฝีมือที่มีมูลค่ามาก ดังนั้นการทำประกันอัคคีภัยสามารถช่วยบริหารความเสี่ยง และสร้างความอุ่นใจแก่ชาวชุมชนได้เป็นอย่างดี
 
นอกจากนี้ ชาวชุมชนในพื้นที่อำเภอบ้านไร่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่อ้อยและประสบกับปัญหาภัยแล้ง
อยู่เนื่อง ๆ ดังนั้นการทำประกันภัยพืชผลอ้อยจากภัยแล้งโดยใช้ดัชนีน้ำฝนแล้ง (ตรวจวัดด้วยดาวเทียม) สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวร์รันส์) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ตาม “โครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์” ก็สามารถช่วยบริหารความเสี่ยงให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยได้ด้วย
 
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. พร้อมคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ได้เคาะประตูบ้านประชาชนเพื่อเยี่ยมและพูดคุยกับชาวชุมชน รวมทั้งรับฟังสภาพปัญหา และความต้องการด้านประกันภัย เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนได้อย่างแท้จริง รวมทั้งถอดบทเรียนจากประสบการณ์จริงของชาวชุมชน กรณีเหตุไฟไหม้ (ไฟฟ้าลัดวงจร) ภายในบ้านที่เป็นที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ทรัพย์สินภายในห้องทำงานได้รับความเสียหาย ซึ่งสำนักงาน คปภ. จังหวัดอุทัยธานี ได้ให้การช่วยเหลือในกรณีนี้เนื่องจากมีปัญหาในการตีความเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย จนเป็นผลให้ชาวชุมชนรายนี้ได้รับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างเป็นธรรม
 
“การลงพื้นที่ชุมชนของสำนักงาน คปภ. ครั้งนี้เป็นการบูรณาการโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ประกันภัย กับโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน เพื่อขับเคลื่อนประกันภัยอ้อย รวมทั้งนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้มีความเหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องเกษตรกรอย่างแท้จริง ซึ่งสามารถใช้เป็นโมเดลสร้างภูมิคุ้มกันในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร ตลอดจนช่วยยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรไทยให้มีความยั่งยืน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
 
...................................................................................
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. เอาจริงเตรียมความพร้อมบุคลากรเพื่อรองรับการประเมิน ITA ปี2566

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
22 February 2566

คปภ. เอาจริงเตรียมความพร้อมบุคลากรเพื่อรองรับการประเมิน ITA ปี2566

เดินหน้ายกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานขององค์กรเพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชนในการเข้าถึงการบริการด้านประกันภัย 

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการอบรมให้กับบุคลากรของสำนักงาน คปภ. ในหัวข้อ “การเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้านคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. ประจำปี 2566” เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ผ่านระบบ Microsoft Teams โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้ารับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA (Integrity and Transparency Assessment) ในปี 2566 ในการเสริมสร้างวัฒนธรรมด้านคุณธรรมและองค์กรด้านความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. ซึ่งการอบรมครั้งนี้มีผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 80 คน ประกอบด้วยคณะกรรมการ คณะทำงาน ITA ของสำนักงาน คปภ. และ ผู้แทนจากสายงานต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยมี นางวาธินี สุริยวรรณ ผู้อำนวยการสำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส นายอภิรักษ์ แสงทอง และนายเทอดธรรม สังขพันธานนท์ เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ในครั้งนี้
 
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า ในการประเมิน ITA ประกอบด้วย การเก็บข้อมูลผ่านเครื่องมือการวัดประเมินผล โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน หลัก ๆ คือ ส่วนแรก คือ แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน หรือ IIT ประกอบด้วย ตัวชี้วัดเรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ การใช้งบประมาณ การใช้อำนาจ การใช้ทรัพย์สินของราชการ และการแก้ปัญหาการทุจริต ส่วนที่สอง คือ แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก หรือ EIT ประกอบด้วย ตัวชี้วัดเรื่องคุณภาพการดำเนินงาน ประสิทธิภาพการสื่อสาร และการปรับปรุงระบบการทำงาน และส่วนที่สาม คือ การเปิดเผยข้อมูลบนหน้าเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. หรือ OIT ประกอบด้วย ตัวชี้วัดเรื่องการปรับปรุงระบบการทำงาน การเปิดเผยข้อมูล และการป้องกันการทุจริต
โดยในปี 2565 มีหน่วยงานภาครัฐเข้ารับการประเมินทั้งสิ้น 8,300 หน่วยงาน ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้รับผลการประเมินอยู่ที่ 96.51 คะแนน จัดอยู่ในระดับ AA และได้รับรางวัล “ประกาศเกียรติคุณเชิดชูเกียรติ” จากสำนักงาน ป.ป.ช. นับเป็นรางวัลอันทรงคุณค่ายิ่ง ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของสำนักงาน คปภ. ที่นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนพันธกิจขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมแล้ว สำนักงาน คปภ. ยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง การดำเนินงานอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ในทุกกระบวนการ และการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรด้านคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. ด้วยการมุ่งเน้นที่การมีส่วนร่วมของบุคลากรทุกระดับ รวมถึงได้มีการแต่งตั้ง ITA Agent ประจำทุกสายงาน เพื่อสื่อสารและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการส่งเสริมคุณธรรมและความโปร่งใสขององค์กรอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
 
สำหรับการเตรียมตัวเพื่อเข้ารับการประเมินในปี 2566 สำนักงาน คปภ. ยังคงให้ความสำคัญกับการทำงาน
เชิงบูรณาการอย่างต่อเนื่อง และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการเตรียมความพร้อมการประเมิน ITA โดยมีเลขาธิการ คปภ. เป็นประธาน มีรองเลขาธิการและผู้ช่วยเลขาธิการทุกท่านเป็นกรรมการ เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินการและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังได้แต่งตั้งคณะทำงานเตรียมความพร้อม ITA เพื่อขับเคลื่อนนโยบายและนำไปสู่การปฏิบัติงานประจำวันอีกด้วย
 
“การจัดอบรมและการเตรียมการเข้ารับการประเมิน ITA ของสำนักงาน คปภ. ในปีนี้ไม่ได้มุ่งหวังเพียงจะให้ได้รับผลการประเมินที่ได้คะแนนดีขึ้นเท่านั้น แต่ความตั้งใจที่แท้จริงในการเตรียมการครั้งนี้ คือความมุ่งมั่นที่จะทำให้สำนักงาน คปภ. สามารถยกระดับด้านคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาลที่ดีเพื่อที่จะเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง ในการเข้าถึงการบริการด้านประกันภัย ด้วยความรวดเร็ว เป็นธรรมและมีคุณภาพยิ่งขึ้น 
ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
 
.............................................................
หมวดหมู่ข่าว: 

เลขาธิการ คปภ. จัดปฐมนิเทศติวเข้มนักศึกษา วปส. รุ่นที่ 11 ฉายภาพและปูพื้นสร้างความเข้าใจระบบงานของ คปภ.

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
21 February 2566

เลขาธิการ คปภ. จัดปฐมนิเทศติวเข้มนักศึกษา วปส. รุ่นที่ 11 ฉายภาพและปูพื้นสร้างความเข้าใจระบบงานของ คปภ. ในภาคปฏิบัติก่อนเจาะลึกสหวิทยาการด้านประกันภัย พร้อมเปิดกว้างรับฟัง ความคิดเห็น เพื่อนำไปพัฒนาระบบประกันภัยของไทยให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนภายใต้ New Emerging Risk

 
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) โดยสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) ได้จัดปฐมนิเทศและกิจกรรมหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 11 ประจำปี 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจหลักการพื้นฐานด้านประกันภัย บทบาทหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. เชื่อมความสัมพันธ์ รวมทั้งการแนะนำการศึกษาค้นคว้าเพื่อทำรายงานวิชาการการศึกษากลุ่ม (Group Project : GP) ตลอดจนการทำกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ร่วมกัน ระหว่างวันที่ 17-19 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โรงแรมลาโค่ เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา
 
ในโอกาสนี้ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ได้เป็นประธานเปิดปฐมนิเทศหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 11 ประจำปี 2566 พร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “นโยบายของสำนักงาน คปภ. กับความท้าทายในการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยภายใต้ New Emerging Risk” โดยได้ฉายภาพบทบาทของสำนักงาน คปภ. และการดำเนินการในเชิงรุกภายใต้สถานการณ์ที่มีความเสี่ยงอุบัติใหม่ต่าง ๆ เกิดขึ้น โดยในปี 2566 จะเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านของสำนักงาน คปภ. จากเดิมที่อยู่ในสถานะของการตั้งรับ (Response) และเรียนรู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไปสู่การสร้างสมดุล (Rebuilding) ของระบบประกันภัย ด้วยการฟื้นฟูความเชื่อมั่น (Recovery) ควบคู่กับการเสริมสร้างความมั่นคงและยืดหยุ่น (Resiliency) ให้กับระบบประกันภัย เพื่อให้ภาคธุรกิจประกันภัยสามารถก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านได้อย่างราบรื่น ซึ่งจะเร่งเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ภาคธุรกิจประกันภัยมุ่งสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่เน้นในเรื่อง Principle-based มากขึ้น ยกระดับกระบวนการให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อเร่งส่งเสริมและกระตุ้นให้ธุรกิจประกันภัยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่อย่างจริงจัง ผลักดันให้ประกันภัยตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน ขับเคลื่อนการปรับปรุงกฎหมายแม่บทด้านการประกันภัย ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยด้วยเทคโนโลยี ยกระดับการกำกับดูแลเพื่อเตรียมรองรับมาตรฐานสากลที่เปลี่ยนแปลงไป การบูรณาการความร่วมมือด้านการสื่อสาร เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมประกันภัยให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนเพิ่มมากขึ้น ยกระดับสำนักงาน คปภ. มุ่งสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล หรือ SMART OIC ที่มีความยืดหยุ่น พร้อมรับความท้าทาย และชูบทบาทสถาบัน วปส. ในการเสริมสร้างความรู้และส่งเสริมงานวิจัยด้านการประกันภัย เป็นต้น
 
การปฐมนิเทศครั้งนี้ยังมีการบรรยายวิชาการในหัวข้อ “หลักการและกฎหมายประกันภัยที่ควรรู้” โดย นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกฎหมายและคดี ได้เสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับหลักการและสาระสำคัญของกฎหมายประกันภัยทั้งระบบที่จำเป็นจะต้องทราบก่อนที่จะมีการสอนเจาะลึกลงในรายละเอียดในชั่วโมงเรียนต่อ ๆ ไป รวมทั้งมีการแนะนำ “หลักเกณฑ์วิธีการทำรายงานวิชาการการศึกษากลุ่ม (Group Project : GP)” โดย ดร.นิรัตน์  ทรัพย์ทวีธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง ได้ให้คำแนะนำแนวทางการศึกษาค้นคว้าเพื่อทำรายงานวิชาการแก่นักศึกษา นอกจากนี้ ได้ร่วมทำกิจกรรม CSR สร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีต่อช้าง รวมถึงรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นต่อประชากรช้างในประเทศไทย เพาะเมล็ดมะค่าโมง ทำปุ๋ยจากมูลช้าง ให้อาหารช้าง อาบน้ำช้าง ร่วมบริจาคและสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของศูนย์เพื่อนำรายได้ไปใช้ในการดูแลช้างอีกด้วย โดยได้รับเกียรติจาก คุณวีนา อุปปัทมา กรรมการมูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา 
 
“การปฐมนิเทศ วปส.รุ่นที่ 11 ครั้งนี้ถือได้ว่าครบเครื่องและเข้มข้นในด้านวิชาการเพื่อปูพื้นฐานความรู้หลักการด้านการประกันภัยให้กับนักศึกษาก่อนเริ่มเรียนจริง รวมทั้งมีกิจกรรมการละลายพฤติกรรม เพื่อให้นักศึกษาทุกคนมีส่วนร่วม โดยการปฐมนิเทศนี้จะเน้นพัฒนาการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงและแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ร่วมกันเพื่อเตรียมความพร้อมของนักศึกษาก่อนที่จะเข้าห้องเรียนเพื่อศึกษาแบบสหวิทยาการด้านประกันภัย รวมทั้งเป็นการให้ข้อมูลพื้นฐานทั้งแนะนำการจัดทำรายงานวิชาการการศึกษากลุ่มตามหัวข้อยุทธศาสตร์ประกันภัยด้านต่าง ๆ ที่ต้องการขับเคลื่อน เพื่อระดมความคิดเห็นมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบประกันภัยของไทย” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
 
...........................................
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. ลงพื้นที่ช่วยเหลือด้านประกันภัยกรณี “รถเมล์สาย 8 ชนรถกระบะ” สี่แยกรัชดา กทม.

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
21 February 2566

คปภ. ลงพื้นที่ช่วยเหลือด้านประกันภัยกรณี “รถเมล์สาย 8 ชนรถกระบะ” สี่แยกรัชดา กทม. 

เผยรถเมล์ทำประกัน “พ.ร.บ. - ภาคสมัครใจประเภท 3” ส่วนรถกระบะทำประกันภัย พ.ร.บ. เพียงอย่างเดียว ผู้บาดเจ็บทั้ง 16 ราย ได้รับความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลทันที
 
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีรถโดยสารประจำทาง ร่วมบริการสาย 8 เส้นทาง แฮปปี้แลนด์ - สะพานพุทธ ทะเบียน 10-9776 กรุงเทพมหานคร เกิดอุบัติเหตุชนกับรถกระบะบรรทุก ทะเบียน ณษ 892 กรุงเทพมหานคร บริเวณสี่แยกรัชดา ลาดพร้าว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 16 ราย ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4 โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน และโรงพยาบาลลาดพร้าว เหตุเกิดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 นั้น เบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับ สำนักงาน คปภ. เขตบางนา และสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบการทำประกันภัยพร้อมเร่งอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัย ตลอดจนติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัยและครอบครัวอย่างเต็มที่ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
 
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ ว่า รถโดยสารประจำทาง ร่วมบริการสาย 8 ทะเบียน 10-9776 กรุงเทพมหานคร ได้ทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มความคุ้มครองวันที่ 31 ธันวาคม 2565 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000-500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน 
นอกจากนี้ รถคันดังกล่าว ทำประกันภัยภาคสมัครใจ ประเภท 3 ไว้กับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มความคุ้มครองวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 โดยกรมธรรม์ให้ความคุ้มครองต่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอกจำนวน 800,000 บาทต่อคน คุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก จำนวน 1,000,000 บาท และให้ความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพของผู้ขับขี่หรือผู้โดยสาร จำนวน 100,000 บาทต่อคน และค่ารักษาพยาบาล จำนวน 100,000 บาทต่อคน
ในส่วนของรถกระบะบรรทุก ทะเบียน ณษ 892 กรุงเทพมหานคร ได้ทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มความคุ้มครองวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 โดยไม่พบข้อมูลการทำประกันภัยภาคสมัครใจแต่อย่างใด
 
สำหรับการติดตามค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้บาดเจ็บทั้ง 16 ราย ที่ถูกนำส่งเข้ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนั้น เจ้าหน้าที่สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงาน คปภ. เขตบางนา และสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ
ได้ประสานกับบริษัทประกันภัยเข้าไปอำนวยความสะดวกและรับรองสิทธิค่ารักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลโดยตรง โดยผู้บาดเจ็บไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาแต่อย่างใด 
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. จะบูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่าผู้บาดเจ็บในอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่ หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกก็จะช่วยประสานงานให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้
 
“สำนักงาน คปภ.ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุครั้งนี้ และสำนักงาน คปภ.พร้อมจะดูแลในด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาและกับทุกคน และเพื่อความอุ่นใจ ควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยเฉพาะการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) 
การประกันภัยรถภาคสมัครใจ และการประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านประกันภัย ติดต่อสายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
 
....................................................
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. เปิดเวทีติวเข้ม “ผู้ไกล่เกลี่ย” ชุดใหม่ ถอดบทเรียนข้อพิพาทด้านประกันภัย

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
15 February 2566

คปภ. เปิดเวทีติวเข้ม “ผู้ไกล่เกลี่ย” ชุดใหม่ ถอดบทเรียนข้อพิพาทด้านประกันภัย

พร้อมเติมองค์ความรู้ก่อนรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อปรับปรุงกลไกการไกล่เกลี่ยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
 
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาผู้ไกล่เกลี่ยและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาทักษะและถอดบทเรียนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัย เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 ณ คุ้มดำเนิน รีสอร์ท จังหวัดราชบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจำนวนทั้งสิ้น 121 คน ประกอบด้วย ผู้ไกล่เกลี่ย จำนวน 70 คน ผู้บริหารและพนักงานของสำนักงาน คปภ. ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค จำนวน 51 คน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเปิดเวทีให้ผู้ไกล่เกลี่ยมีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ถ่ายทอดองค์ความรู้ และระดมความคิดเห็นจากบทเรียนที่เกิดขึ้นจริงในการปฏิบัติงานการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เพื่อนำไปพัฒนาการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการจัดสัมมนาในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายธวัชไชย สนธิวนิช อดีตตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง และอนุญาโตตุลาการ สำนักงาน คปภ. ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “แนวทางการพิจารณาประเด็นข้อพิพาทด้านการประกันภัยที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ไกล่เกลี่ย” และได้รับเกียรติจาก นายโชติช่วง ทัพวงศ์ อดีตผู้พิพากษาอาวุโส ศาลอุทธรณ์ ภาค 7 และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการความขัดแย้งและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ให้เกียรติบรรยายในหัวข้อ “แนวทางและเทคนิคการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัย” เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำกิจกรรมถอดบทเรียนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้นต่อไป และในโอกาสนี้สำนักงาน คปภ. และผู้ไกล่เกลี่ยฯ ที่เข้าร่วมสัมมนาได้ร่วมกันจัดกิจกรรม CSR ณ วัดราษฎร์เจริญธรรม (วัดสุน) โดยบำเพ็ญประโยชน์ด้วยการทำความสะอาดลานวัด และร่วมกันทำบุญถวายสังฆทานเพื่อเป็นศิริมงคลด้วย
 
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า การดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยโดยผู้ชำนาญการ นับตั้งแต่เปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยมาเป็นเวลาเกือบ 7 ปี มีเรื่องร้องเรียนที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย
โดยผู้ชำนาญการทั้งสิ้น 1,565 เรื่อง โดยไกล่เกลี่ยสำเร็จเป็นจำนวน 1,227 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 78.40 ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่ดีพอสมควร และหากได้มีการถอดบทเรียนเพื่อรับทราบประเด็นปัญหาและอุปสรรคในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในทุก ๆ ปี และได้หาแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขอย่างเป็นระบบก็จะทำให้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสัมฤทธิ์ผลและมีสถิติเรื่องร้องเรียนที่สามารถยุติประเด็นข้อพิพาทได้มากยิ่งขึ้น
ผู้ไกล่เกลี่ย ชุดที่ 4 จำนวน 80 คน ได้รับการขึ้นทะเบียนรายชื่อฯ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ประกอบด้วยกลุ่มผู้ไกล่เกลี่ยเดิมที่มีประสบการณ์การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยมาแล้ว และกลุ่มผู้ไกล่เกลี่ยใหม่ที่ยังไม่เคยเป็นผู้ไกล่เกลี่ยของสำนักงาน คปภ. มาก่อน โดยในปัจจุบันกลุ่มผู้ไกล่เกลี่ยใหม่หลายท่านได้รับเรื่องไกล่เกลี่ยจากสำนักงาน คปภ. ไปบ้างแล้ว ซึ่งผู้ไกล่เกลี่ยแต่ละท่านอาจใช้เทคนิคหรือวิธีการในการไกล่เกลี่ยที่แตกต่างกัน และอาจพบปัญหาหรืออุปสรรคในการไกล่เกลี่ยที่แตกต่างกัน ดังนั้นเวทีการสัมมนาในครั้งนี้จึงเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่ของผู้ไกล่เกลี่ยให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
 
นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลผู้ไกล่เกลี่ยฯ เกี่ยวกับทิศทางและนโยบายในการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. ในปี 2566 โดยสำนักงาน คปภ. จะปรับทิศทางในการกำกับดูแลอย่างรอบด้าน จากที่เคยอยู่ในสถานะของการตั้งรับและเรียนรู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเข้าสู่โหมดการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบประกันภัยและเดินทางไปสู่การสร้างสมดุลของระบบประกันภัย ควบคู่กับการเสริมสร้างความทนทาน มั่นคง และยืดหยุ่นให้กับระบบประกันภัย ประกอบกับในปี 2566 เป็นปีสุดท้ายของการดำเนินการขับเคลื่อนภายใต้แผนยุทธศาสตร์ สำนักงาน คปภ. ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2564 - 2566) จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์และผลลัพธ์ที่คาดหวังให้ระบบประกันภัยไทยมีความมั่นคง ยั่งยืน และแข่งขันได้ในเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากระบบประกันภัยได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ 
 
สำหรับการจัดอบรมความรู้เกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยและการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสัญจร ในปี 2566 ได้มอบหมายให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประสานการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และขยายพื้นที่ในการดำเนินการให้มากยิ่งขึ้น โดยในปีนี้จะขยายการดำเนินการไปยังสำนักงาน คปภ. ภาค ที่ไกลขึ้น หรือเป็นพื้นที่ที่เป็นสถานที่ทำการอนุญาโตตุลาการ เช่น สำนักงาน คปภ. ภาค 1 (เชียงใหม่) หรือสำนักงาน คปภ. ภาค 9 (สงขลา) เพื่อจะได้เป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับกลุ่มอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของผู้ไกล่เกลี่ยและพนักงานที่เกี่ยวข้อง
 
“การนำกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยผู้ชำนาญการมาช่วยแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนด้านการประกันภัย ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกอีกทางหนึ่งให้กับประชาชนในการระงับข้อพิพาทด้านการประกันภัย โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านการประกันภัยด้วย ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะได้นำข้อเสนอแนะที่ได้จากการถอดบทเรียนในการสัมมนาครั้งนี้ไปปรับปรุงการทำงานของศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ สำนักงาน คปภ. ให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. ผนึกพลัง กนอ. ลงนาม MoU ต้อนรับวันแห่งความรัก..!

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
14 February 2566

คปภ. ผนึกพลัง กนอ. ลงนาม MoU ต้อนรับวันแห่งความรัก..! 

นำร่องปูพรมประกันภัย พ.ร.บ. เชิงรุก ก่อนขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
 
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.)  พร้อมด้วย รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ผู้ว่าการ กนอ.) ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการบูรณาการความร่วมมือส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และสิทธิประโยชน์ ด้านการประกันภัย พ.ร.บ. ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) กับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โดยมีนายนรินทร์ กัลยาณมิตร ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบอร์ดกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย นายภาณุ จันทร์เจียวใช้ บอร์ดกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ตลอดจนคณะผู้บริหารของทั้งสองหน่วยงาน และสื่อมวลชนร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง ชั้น 2 สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ
 
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากปี 2565 สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการโครงการรณรงค์เชิงรุกการทำประกันภัย พ.ร.บ. อย่างยั่งยืน เพื่อรณรงค์และส่งเสริมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญ รับรู้ถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะได้รับจากการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. และได้มีการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการฯ โดยได้รับเกียรติจากนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นประธานเปิดโครงการฯ ณ สามย่านมิตรทาวน์ ต่อมาได้มีการขยายการดำเนินงานในทางปฏิบัติสู่ระดับภูมิภาค โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานในพื้นที่นำร่องภายในนิคมอุตสาหกรรม โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมถึงได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการและพนักงานในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
 
ด้าน รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ผู้ว่าการ กนอ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัย พ.ร.บ. เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยต่อผู้ขับขี่มาโดยตลอด เพราะเล็งเห็นว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะนํามาถึงการสูญเสียที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงคุณภาพชีวิตของผู้ประสบภัย ดังนั้น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งและพร้อมผนึกความร่วมมือกับสำนักงาน คปภ. ในการเร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์และผลักดันให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองรถทุกคันในนิคมอุตสาหกรรมมีการจัดทำ ประกันภัย พ.ร.บ. เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตต่อตนเอง ครอบครัว และส่วนรวม โดยในปีนี้กำหนดเจาะกลุ่มเป้าหมายที่นิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จังหวัดฉะเชิงเทรา นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร และนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมทั้งสามแห่งมีโรงงาน จำนวน 496 แห่ง คนงาน จำนวน 133,000 คน รถยนต์ จำนวน 13,500 คัน และรถจักรยานยนต์ จำนวน 18,000 คัน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชาชนที่ใช้รถจักรยานยนต์ในการเดินทาง
 
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมและบูรณาการผลักดันให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของรถและผู้ครอบครองรถในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมีการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. อย่างยั่งยืนในหลากหลายมิติ สำนักงาน คปภ. และ กนอ. ได้กำหนดกรอบการดำเนินงานร่วมกัน 2 แนวทางหลัก ๆ คือ แนวทางแรก ความร่วมมือด้านการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำประกันภัย พ.ร.บ. และบทบาทหน้าที่ของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยให้แก่ประชาชนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการทำประกันภัย พ.ร.บ. อาทิเช่น ประโยชน์ของการทำประกันภัย พ.ร.บ. บทลงโทษจากการฝ่าฝืนไม่จัดทำประกันภัย พ.ร.บ. นอกจากนี้จะมีการประสานงาน แลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมตระหนักถึงความปลอดภัย ให้ความร่วมมือกับรัฐในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน และตระหนักถึงความสำคัญในการบริหารความเสี่ยงโดยใช้ระบบประกันภัย พ.ร.บ. เป็นเครื่องมือ
แนวทางที่สอง ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร และประสานงานแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อสนับสนุนงานวิชาการด้านประกันภัย พ.ร.บ.
 
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้มีการดำเนินงานในการขับเคลื่อนด้านประกันภัย พ.ร.บ. ในหลากหลายมิติอย่างต่อเนื่อง เช่น การปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครองตามประกันภัย พ.ร.บ. เพื่อให้ผู้ประสบภัยจากรถได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสม โดยในปัจจุบันหากเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จะได้รับความคุ้มครองสูงสุด 504,000 บาท หรือ กรณีได้รับบาดเจ็บต่อร่างกาย จะได้รับความคุ้มครองสูงสุด 84,000 บาท การขยายช่องทางการจำหน่ายประกันภัย พ.ร.บ. ให้ประชาชนสามารถซื้อหรือต่อประกันภัย พ.ร.บ. ที่สะดวกยิ่งขึ้น ได้แก่ ช่องทางเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่นที่ได้รับการขึ้นทะเบียน และเคาน์เตอร์เซอร์วิสใน 7-11 นอกเหนือจากการซื้อผ่านตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย เป็นต้น
 
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย พ.ร.บ. สำหรับรถจักรยานยนต์ที่มีระยะเวลา ความคุ้มครองระยะยาว 3 - 5 ปี 
เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและเป็นการเพิ่มทางเลือก รวมถึงให้ส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัยกรณีซื้อประกันภัย พ.ร.บ. ระยะยาว เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนมีการทำประกันภัย พ.ร.บ. ระยะยาวสำหรับรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นประเภทรถที่มีการใช้งานเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน ตลอดจนช่วยลดจำนวนการขาดต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ และการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการขนส่งทางบก เพื่อเชื่อมโยงข้อมูล ผ่านระบบสารสนเทศในการตรวจสอบการจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับก่อนชำระภาษีรถยนต์ประจำปี เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจสอบการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. ให้กับประชาชนที่มาใช้บริการต่อภาษีรถ การบูรณาการความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประกันภัย พ.ร.บ. ผ่านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก สมาคมผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ไทย และบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เป็นต้น
 
“การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง สำนักงาน คปภ. กับ กนอ. ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการ
บูรณาการความร่วมมือในการทำงานแบบเชิงรุกอย่างเป็นระบบ โดย กนอ. ถือเป็นพื้นที่นำร่องที่สำคัญที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนภารกิจของสำนักงาน คปภ. ในการรณรงค์ให้เจ้าของรถทุกคันมีประกันภัย พ.ร.บ. มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะได้ขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ให้ครอบคลุมมากขึ้น” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
 
................................................
หมวดหมู่ข่าว: 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 11 ของสำนักงาน คปภ. ยิ่งใหญ่

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
13 February 2566

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 11 ของสำนักงาน คปภ. ยิ่งใหญ่ 

ระดมผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐ เอกชน ธุรกิจประกันภัย ให้ฟีดแบ็คเพื่อชูบทบาทธุรกิจประกันภัยให้มั่นคงและยั่งยืน
 
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ได้รับเกียรติจาก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  เป็นประธานในพิธีเปิดการศึกษาอบรมหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) รุ่นที่ 11 ประจำปี 2566 
ณ ห้อง เลอ คองคอร์ด บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมสวิสโฮเต็ล รัชดา กรุงเทพมหานคร โดยหลักสูตรนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และธุรกิจประกันภัย ให้มีองค์ความรู้ด้านการประกันภัย ทั้งการประกันชีวิต การประกันวินาศภัย การบริหารจัดการความเสี่ยงภัยในด้านต่าง ๆ และมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อคิดเห็น ตลอดจนการเป็นผู้นำที่มีคุณธรรม จริยธรรม และการบริหารจัดการเชิงสร้างสรรค์ นำองค์กรไปสู่ความสำเร็จโดยสอดคล้องกับสภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมโลก เพื่อจะได้ระดมความคิดเห็นจากประสบการณ์ที่หลากหลาย ช่วยให้ข้อเสนอแนะและพัฒนาระบบประกันภัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถทำหน้าที่เป็น Insurance Ambassador โดยเป็นผู้สื่อสารความรู้ความเข้าใจ และสร้างทัศนคติที่ถูกต้องในเรื่องของการประกันภัยให้สังคมและสาธารณชนได้ 
 
ในโอกาสนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนของประเทศกับบทบาทของการประกันภัยภายใต้ New Challenges” โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนของประเทศนับจากนี้ไปต้องมุ่งเน้นที่ 5 ประเด็นหลัก คือ ประเด็นแรก การปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digitalization for digital economy) ประเด็นที่ 2 ข้อตกลงแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate change commitment) ประเด็นที่ 3 การเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงาน (Energy Transition) ประเด็นที่ 4 ประชากรผู้สูงอายุ (Aging population) และประเด็นที่ 5 ความยั่งยืนทางการคลัง (Fiscal sustainability)
 
ในขณะเดียวกันบทบาทของการประกันภัยภายใต้ New Challenges ที่ภาคธุรกิจประกันภัยจะเข้าไปเกี่ยวข้องต่อสภาพความเป็นอยู่ของสังคม ประกอบด้วย ความเสี่ยงจากโรคอุบัติใหม่ ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีและภัยคุกคามทางไซเบอร์ ความเสี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศภัยธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม PM2.5 ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจถดถอยกระทบต่อความสามารถในการออมและรายได้ รวมถึงสภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก ซึ่งภาคการเงินยังมีความไม่แน่นอนจากผลกระทบของการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของประเทศสหรัฐอเมริกา และอีกหนึ่งความเสี่ยงที่สำคัญที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ คือ ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์และมีผู้สูงอายุหรือคนวัยหลังเกษียณเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้ภาครัฐที่ลดลง อาจนำไปสู่วิกฤติการคลังจากการที่รัฐบาลมีภาระต้องช่วยเหลือด้านสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ 
 
ดังนั้น ระบบประกันภัยจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เนื่องจากเป็นแหล่งระดมเงินออมระยะยาวที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุน รวมทั้งยังเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่ช่วยสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทุกระดับและมีส่วนแบ่งเบาภาระของรัฐด้านสวัสดิการและสงเคราะห์ประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย โดยเฉพาะการประกันภัยสุขภาพของภาคเอกชนที่เข้ามามีบทบาทในการเสริมสร้างการบริหารจัดการด้านสุขภาพ ความคุ้มครองและเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ของประชาชนที่ได้รับจากการประกันภัยสุขภาพของภาครัฐ ซึ่งการประกันภัยมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนสังคม และประชาชนให้ได้รับโอกาสและคุณภาพที่ดีขึ้น 
 
ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจประกันภัย และหน่วยงานกำกับดูแล จะต้องร่วมมือกันผลักดันให้ระบบประกันภัยมีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชน โดยธุรกิจประกันภัยจะมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศผ่านกลไกที่มีความหลากหลายและครอบคลุมความเสี่ยงในทุกประเภท ภายใต้การมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชนในการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายสำคัญต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ยั่งยืน
 
เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่าการคัดเลือกผู้เข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง วปส. รุ่นที่ 11 ประจำปี 2566 คณะกรรมการสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง ได้มีกระบวนการคัดเลือกอย่างเข้มข้นจนได้ผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคธุรกิจประกันภัย เข้าร่วมรับการอบรมจำนวนทั้งสิ้น 90 คน ประกอบด้วย ภาครัฐ จำนวน 5 คน ภาคการเงิน จำนวน 8 คน ภาคธุรกิจประกันภัย จำนวน 14 คน และภาคเอกชนอื่น ๆ จำนวน 63 คน โดยเริ่มเปิดการศึกษาอบรมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกรกฎาคม 2566 โดยมีกิจกรรมหลัก ๆ ดังนี้ การบรรยาย สัมมนาและอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยเน้นการเรียนรู้แบบกรณีศึกษาและการมีส่วนร่วม การจัดทำและนำเสนอรายงานการศึกษากลุ่ม การศึกษาดูงาน และกิจกรรมเสริมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม 
 
สำหรับกิจกรรมการศึกษาอบรมในหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 11 แบ่งออกเป็น 8 หมวด ประกอบด้วย หมวดที่ 1 ประกันภัยกับการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงรุกในระดับประเทศและในเวทีระหว่างประเทศ หมวดที่ 2 บทบาทธุรกิจประกันวินาศภัยไทยในยุค Next Normal หมวดที่ 3 การขับเคลื่อนเทคโนโลยีประกันภัย (InsurTech) หมวดที่ 4 บทบาทของธุรกิจประกันชีวิตกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก เศรษฐกิจ และสังคมไทย หมวดที่ 5 ปรัชญาในการบริหารสำหรับผู้นำในยุคดิจิทัล หมวดที่ 6 การสร้างบรรษัทภิบาลกับการดำเนินธุรกิจสู่เป้าหมายแห่งความยั่งยืน หมวดที่ 7 ประเด็นร่วมสมัย และหมวดที่ 8 กิจกรรมพิเศษ โดยแต่ละหมวดหัวข้อที่กล่าวมาข้างต้นได้มีการปรับปรุงให้มีความเข้มข้น ทันสมัย และสอดรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่มีผลต่ออุตสาหกรรมประกันภัย ตั้งแต่ด้านการบริหารความเสี่ยง การประกันภัยกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การประกันวินาศภัย การประกันชีวิต เทคโนโลยีประกันภัยในด้านต่าง ๆ บรรษัทภิบาลในการดำเนินธุรกิจ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและต่างประเทศ โดยเป็นหลักสูตรเดียวที่มีการถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์แบบเจาะลึกด้านประกันภัยในทุกมิติ
 
“เรื่องที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวปาฐกถาพิเศษฯ นับว่าน่าคิดและมีประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งนี้สำนักงาน คปภ. จะได้นำนโยบายของท่านรัฐมนตรีฯ ตลอดจนประเด็นร่วมสมัยต่าง ๆ มาเพิ่มเติมเนื้อหาของหลักสูตรให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมทั้งจะจัดให้มีการถกแถลงและระดมความคิดเห็นจากนักศึกษา วปส. รุ่นที่ 11 เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพการกำกับดูแลระบบประกันภัยของไทย” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
 
...........................................................
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. ติดตามใกล้ชิดกรณีอุบัติเหตุรถตู้เสียหลักตกร่องกลางถนนไฟลุกไหม้ที่โคราชเผยบริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต 11 ศพแล้ว

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
12 February 2566

คปภ. ติดตามใกล้ชิดกรณีอุบัติเหตุรถตู้เสียหลักตกร่องกลางถนนไฟลุกไหม้ที่โคราชเผยบริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต 11 ศพแล้ว 

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีรถตู้โดยสารไม่ประจำทางของห้างหุ้นส่วนจำกัด มนตรีทรัพย์เจริญ ทะเบียน 30-0078 อำนาจเจริญ เกิดอุบัติเหตุเสียหลักเฉี่ยวชนการ์ดเลนกลางถนน บนถนนมิตรภาพขาเข้ากรุงเทพฯ กม. 100+600 หมู่ 6 ตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ทำให้เกิดประกายไฟลุกไหม้รถตู้เสียหายทั้งคัน ผู้โดยสารรวมพนักงานขับรถเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 11 ราย และบาดเจ็บ 1 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2566 นั้น 

จากการตรวจสอบพบว่ารถตู้โดยสารไม่ประจำทาง ทะเบียน 30-0078 อำนาจเจริญ ที่เกิดอุบัติเหตุคันดังกล่าว ได้ทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 31 มีนาคม 2565 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2566 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาท ต่อคน 
กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000 - 500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน 
 
นอกจากนี้ รถตู้คันเกิดเหตุ ได้ทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประเภท 3+) ไว้กับบริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2566 โดยคุ้มครองความรับผิด         ต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย ของบุคคลภายนอก 500,000 บาทต่อคน แต่ไม่เกิน 10,000,000 บาทต่อครั้ง 
ความเสียหายต่อทรัพย์สินไม่เกิน 1,000,000 บาทต่อครั้ง และความคุ้มครองตามเอกสารแนบท้าย อุบัติเหตุส่วนบุคคล โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร ผู้ขับขี่ 1 คน 100,000 บาท ผู้โดยสาร 11 คน 100,000 บาทต่อคน ค่ารักษาพยาบาล 100,000 บาทต่อคน และการประกันตัวผู้ขับขี่ 300,000 บาทต่อครั้ง
 
ดังนั้น ครอบครัวของผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้โดยสารทั้ง 10 ราย จะได้รับค่าสินไหมทดแทน รายละ 1,100,000 บาท จากการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) รายละ 500,000 บาท การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประเภท 3+) รายละ 500,000 บาท และความคุ้มครองตามเอกสารแนบท้าย อุบัติเหตุส่วนบุคคล รายละ 100,000 บาท และกรณีของผู้ขับขี่ที่เสียชีวิตอีก 1 ราย จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจำนวน 135,000 บาท จากการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) จำนวน 35,000 บาท และการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประเภท 3+) ความคุ้มครองตามเอกสารแนบท้าย อุบัติเหตุส่วนบุคคล จำนวน 100,000 บาท 
ทั้งนี้ เนื่องจากผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดอำนาจเจริญ สำนักงาน คปภ. ภาค 4 (นครราชสีมา) 
จึงได้ประสานสำนักงาน คปภ. ภาค 5 (อุบลราชธานี) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดอำนาจเจริญ ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวก ตลอดจนติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
 
สำหรับความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิต ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. ภาค 5 (อุบลราชธานี) ว่า เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 บริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) 
ซึ่งเป็นบริษัทรับประกันภัยให้กับรถตู้คันดังกล่าว ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทของผู้เสียชีวิต ทั้ง 11 รายแล้ว โดยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับทายาทของผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้ขับขี่ จำนวน 135,000 บาท และทายาทของผู้โดยสาร 
ที่เสียชีวิตจำนวน 10 คน ๆ ละ 1,100,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,135,000 บาท โดยมีนายสรภ์ศักย์ ภิธเจริญสายทอง กรรมการบริหารและรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้มอบค่าสินไหมทดแทน โดยมี นางอันชรีย์ สีหาสาร ผู้อำนวยการสำนักงาน คปภ. จังหวัดอำนาจเจริญ และนางสาวเยาวเรศ สุขรอบ ผู้อำนวยการสำนักงาน คปภ. จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ที่ทำการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนนาดูสามัคคี จำกัด อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ และสำนักงานตัวแทนประกันวินาศภัย ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
 
“สำนักงาน คปภ.ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและหวังว่าการส่งมอบค่าสินไหมทดแทนในครั้งนี้จะช่วยเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้ไม่มากก็น้อย ทั้งนี้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาและกับทุกคน และเพื่อความอุ่นใจ ควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยเฉพาะการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) การประกันภัยรถภาคสมัครใจ และการประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านประกันภัย ติดต่อสายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
 
....................................................
หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. เปิดแนวรุกร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัยบูรณาการการบังคับใช้ประกาศใหม่การประวิงการจ่ายค่าสินไหมฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านประกันภั

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
09 February 2566

คปภ. เปิดแนวรุกร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัยบูรณาการการบังคับใช้ประกาศใหม่การประวิงการจ่ายค่าสินไหมฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านประกันภัย

 

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางในการปฏิบัติตาม “ประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาในการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย และกรณีที่ถือว่าเป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน หรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันภัย” เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566โดยประชุมผ่านจอภาพ (ระบบ Microsoft Teams) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้ภาคธุรกิจหรือบริษัทประกันภัย สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแลบริษัทประกันภัยให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ได้รับทราบข้อกำหนดตามประกาศฯ ที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขใหม่นี้ รวมทั้งเป็นโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตลอดจนได้ซักถามข้อสงสัยในทางปฏิบัติ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติตามกฎหมายไปในแนวทางเดียวกัน อันจะเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้เอาประกันภัย และประชาชน ให้ได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยอย่างถูกต้องและเป็นธรรม 

 

ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวเปิดการประชุมในครั้งนี้ โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า สำนักงาน คปภ. ได้มีการแก้ไขปรับปรุงประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย ซึ่งใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2549 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการใช้เงินหรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต ซึ่งใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2548 โดยนำมาปรับปรุงพร้อมกับประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการชดใช้เงิน หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2559 และประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตของบริษัทประกันชีวิต พ.ศ. 2559 เนื่องจากประกาศทั้ง 4 ฉบับ มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการในการพิจารณาชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ หรือผู้มีสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัย จึงเป็นการสมควรที่จะนำมาทบทวนปรับปรุงแก้ไขไปในคราวเดียวกัน เพื่อให้มีความชัดเจน ถูกต้อง และทันต่อเหตุการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลงไปของโลกปัจจุบัน 

 

โดยสำนักงาน คปภ. ได้เริ่มทำการศึกษาถึงประเด็นปัญหา และอุปสรรคในการบังคับใช้กฎหมาย และทำการปรับปรุงร่างประกาศฯ ดังกล่าว มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 และได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นอย่างถูกต้องครบถ้วน ตามกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้ร่างประกาศฯ มีความถูกต้อง สมบูรณ์ ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจาก บอร์ด คปภ. และท่านปลัดกระทรวงการคลังในฐานะประธานบอร์ด คปภ. ได้ลงนามในประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาในการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย และกรณีที่ถือว่าเป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน หรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย และของบริษัทประกันชีวิต เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ซึ่งประกาศทั้ง 2 ฉบับ มีผลถัดจากวันที่ประกาศเป็นต้นไป ดังนั้นในปัจจุบันจึงถือว่าต้องใช้ประกาศทั้ง 2 ฉบับ เป็นหลักในการปฏิบัติในการพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย หรือการชดใช้เงินตามสัญญาประกันภัย

สำหรับไฮไลท์ที่สำคัญที่ถูกแก้ไขในประกาศฯ ทั้ง 2 ฉบับ มี 5 หลักการ คือ หลักการแรก การตัดเนื้อหาที่ซ้ำซ้อนกับบทบัญญัติที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้ว หลักการที่ 2 การเพิ่มวิธีในการแจ้งผลการพิจารณา ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ นอกเหนือไปจากที่ประกาศเดิมกำหนดให้ต้องแจ้งผลการพิจารณาเป็นหนังสือเท่านั้น หลักการที่ 3 การเริ่มต้นนับระยะเวลาในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หลักการที่ 4 การกำหนดระยะเวลาให้บริษัทประกันวินาศภัยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน 15 วันนับแต่วันที่บริษัทได้รับเอกสารหลักฐานครบถ้วน หากบริษัทไม่มีการเปิดเผยขั้นตอนและระยะเวลาในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ลงในเว็บไซต์ของบริษัท และหลักการที่ 5 การแก้ไขหลักเกณฑ์ในการพิจารณาชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่บริษัทสงสัยว่าผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ หรือผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินหรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย เรียกร้องเงินหรือค่าสินไหมทดแทนโดยไม่สุจริต 

 

 

“เนื่องจากมีการปรับปรุงแก้ไขประเด็นต่าง ๆ หลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนตามประกาศทั้ง 2 ฉบับนี้ จึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทประกันภัย หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. จะต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ตรงกัน เพื่อมิให้เกิดข้อขัดข้องในการบังคับใช้ประกาศและเพื่อให้ผู้เอาประกันภัยได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย อย่างถูกต้อง และเป็นธรรมอันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้เอาประกันภัยและประชาชนต่อระบบประกันภัยและระบบการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย รวมถึงเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับอุตสาหกรรมประกันภัย” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

 

หมวดหมู่ข่าว: 

คปภ. เดินหน้าเต็มพิกัดเร่งเสริมเขี้ยวเล็บให้ระบบประกันภัยสุขภาพเอกชนพร้อมเร่งแก้ pain points เพื่อประโยชน์ของคนไทย

< >
<
>
วันที่เผยแพร่: 
30 January 2566

คปภ. เดินหน้าเต็มพิกัดเร่งเสริมเขี้ยวเล็บให้ระบบประกันภัยสุขภาพเอกชนพร้อมเร่งแก้ pain points เพื่อประโยชน์ของคนไทย

 

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษในการประชุมวิชาการประจำปี เวชศาสตร์ประกันชีวิตไทย Annual Thailand Insurance Medical Academic Conference 2023 (TIMAC 2023) เรื่องการส่งเสริมระบบประกันสุขภาพเอกชนของไทยเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 ห้องสุขุมวิท 1&2 โรงแรมเจดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่องการส่งเสริมระบบประกันสุขภาพเอกชนของไทยมีใจความตอนหนึ่งว่า จากข้อมูลสถิติเบี้ยประกันภัยสุขภาพตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2565 พบว่า ทั้งธุรกิจประกันชีวิต และธุรกิจประกันวินาศภัยมีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นเกินร้อยละ 10 ในทุกปีและเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลสถิติไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 และไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 พบว่า ธุรกิจประกันชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่วนประกันวินาศภัยเติบโตแบบชะลอตัวลง อันเนื่องมาจากได้รับผลกระทบจากการรับประกันภัยโควิด-19 อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วธุรกิจประกันภัยยังมีการเติบโต ซึ่งสวนทางกับสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลก ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากเกิดกระแสการใส่ใจสุขภาพของคนรุ่นใหม่ รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ประกอบกับปัจจัยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้คนเกิดการตื่นตัว เฝ้าระวังและป้องกัน รวมทั้งแสวงหาระบบประกันภัยสุขภาพเพื่อใช้เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง ในเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลหากต้องเจ็บป่วยในอนาคต

 

ทั้งนี้ จากการติดตามการทำประกันภัยสุขภาพ สำหรับภาคประชาชน ในปัจจุบันพบสภาพปัญหาและอุปสรรค (Pain Points) เช่น เบี้ยประกันภัยสุขภาพมีอัตราสูง บริษัทประกันภัยไม่รับต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัย ประชาชนกลุ่มอาวุโสไม่สามารถเข้าถึงระบบการประกันภัยสุขภาพ ปัญหาความมั่นคงทางการเงินของบริษัทประกันภัยสุขภาพในการรับประกันภัยสุขภาพในระยะยาว เป็นต้น ส่วนของภาคธุรกิจประกันภัย พบว่ามีความต้องการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้มีความหลากหลายรองรับวิทยาการทางการแพทย์และตอบโจทย์ของผู้เอาประกันภัยและตลอดจนความกังวลต่อความเสี่ยงโรคอุบัติใหม่ต่าง ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งขับเคลื่อนแนวทางสำหรับระบบประกันภัยสุขภาพตามแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 (.. 2564 – 2568) ในยุทธศาสตร์ที่ 3 เพื่อยกระดับการบริหารจัดการด้านสุขภาพ และส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยสุขภาพมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตอบสนองความต้องการและรองรับลักษณะการใช้ชีวิตของประชาชนในปัจจุบัน และมุ่งหมายให้ประชาชนที่สมัครใจเข้าสู่ระบบการประกันภัยสุขภาพภาคสมัครใจ (Private Health Insurance) สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการประกันภัยสุขภาพมากขึ้นในราคาที่เหมาะสม และยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการประกันภัยสุขภาพอย่างครอบคลุมและยั่งยืน โดยเฉพาะการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อรองรับสังคมสูงวัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้านสุขภาพ รวมทั้งการรองรับการดูแลรักษาสุขภาพระยะยาวเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยอย่างยั่งยืน  ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงให้ความสำคัญในการยกระดับการบริหารจัดการด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่องและเร่งด่วนเพื่อผลักดันให้มีการพัฒนากฎหมายด้านการประกันภัยสุขภาพ ซึ่งเป็นการดำเนินการในระยะยาวและสร้างมาตรฐานกระบวนการบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยของบริษัทประกันภัย ซึ่งเป็นมาตรการรองรับทางกฎหมายระยะสั้น 

ในส่วนของมาตรการระยะสั้น จะเป็นการยกระดับการบริหารจัดการด้านประกันภัยสุขภาพ และช่วยบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพ โดยได้ดำเนินการส่งเสริมระบบประกันภัยสุขภาพเอกชนของไทยใน 5 เรื่องหลัก คือ 

 

เรื่องที่ 1 กำหนดกรอบแนวทางการทำงานของคณะกรรมการผลิตภัณฑ์ (Product Governance Committee) ของบริษัทประกันภัยให้มีความชัดเจน เช่น การกำหนดกระบวนการบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยของบริษัทประกันภัย การกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการบริษัท โดยกำหนดให้ต้องมีความรู้และความเข้าใจในธุรกิจประกันภัย และผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่จะเสนอขาย การกำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อกลั่นกรองแบบและข้อความของกรมธรรม์ประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัยให้มีประสิทธิภาพเพียงพอ ก่อนนำเสนอต่อนายทะเบียนเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ การกำหนดคุณลักษณะของบริษัทที่ประสงค์จะขอแบบและข้อความกรมธรรม์ประกันภัยที่คุ้มครองความเสี่ยงภัยอุบัติใหม่ (Emerging risk) เป็นต้น 

เรื่องที่ 2 การพัฒนาและปรับปรุงสัญญาประกันภัยสุขภาพมาตรฐานใหม่ 

เรื่องที่ 3 การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพรูปแบบเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีความคืบหน้าและมีแผนจะออกคำสั่งนายทะเบียนได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้

เรื่องที่ 4 โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการ สำหรับธุรกิจประกันภัย (Insurance Regulatory Sandbox) และ โครงการทดสอบนวัตกรรมทางด้านประกันภัย และผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่สะท้อนความเสี่ยงเฉพาะราย (Product Innovation and Tailor-Made Sandbox) 

และเรื่องที่ 5 การแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาทางการแพทย์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สืบเนื่องจากคำสั่งสำนักงาน คปภ. แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์การกำหนดกลุ่มโรคป่วยเล็กน้อยทั่วไป (Simple Diseases) และหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยสุขภาพไปแล้วนั้น ยังไม่ครอบคลุมถึงภาระหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. ที่ต้องให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัย 

 

ในส่วนของมาตรการระยะยาว สำนักงาน คปภ. กำลังอยู่ในกระบวนการศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายการประกันภัยสุขภาพ เพื่อให้มีกฎหมายว่าด้วยการประกันภัยสุขภาพรองรับการพัฒนาและยกระดับระบบประกันภัยสุขภาพของประเทศไทย โดยมีประกันภัยสุขภาพภาคสมัครใจเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในหลักการจะมีการยกระดับมาตรฐานของระบบประกันภัยสุขภาพ ใน 2 มิติ คือมิติของประชาชน และมิติของอุตสาหกรรมประกันภัย

 

ในมิติของประชาชน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการประกันภัยสุขภาพครอบคลุมและยั่งยืน รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้านสุขภาพ รวมทั้งการรองรับการดูแลรักษาสุขภาพระยะยาว เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมาตรการในคุ้มครองสิทธิของประชาชนในระบบประกันภัยสุขภาพ เช่น การชำระเบี้ยประกันภัยคงที่ การการันตีการต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพ สิทธิในการได้รับตามกรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เป็นต้น  

 

ในมิติของอุตสาหกรรมประกันภัยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจประกันภัยสุขภาพมีเสถียรภาพเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการประกันภัยสุขภาพ โดยมาตรการส่งเสริมเพื่อพัฒนาประกันภัยสุขภาพ เช่น การกำหนดให้บริษัทสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเพื่อป้องกันฉ้อฉลประกันภัยสุขภาพ การลดอุปสรรคในการส่งเสริมนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการประกันภัยสุขภาพ (Sandbox) การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เอาประกันภัยสุขภาพเป็นการเฉพาะ เพื่อให้เกิดความชัดเจนโดยไม่ต้องรอการตีความจากคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น

 

 

บริบทต่าง ที่เกิดขึ้นต่อการขับเคลื่อนและส่งเสริมระบบประกันภัยสุขภาพของไทยเป็นไปในทิศทางที่น่ายินดีและนับจากนี้ไปสำนักงาน คปภ. จะดำเนินการในเชิงรุกโดยจะเร่งบูรณาการกับภาคส่วนต่าง เพื่อขับเคลื่อนภารกิจด้านประกันภัยสุขภาพให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไทยโดยรวมและอย่างยั่งยืนเลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

 

หมวดหมู่ข่าว: 

Pages

Subscribe to RSS - ข่าว