Attachment | Size |
---|---|
![]() | 164.42 KB |
![]() | 79.78 KB |
![]() | 362.77 KB |
คปภ. เดินหน้าเต็มพิกัดเร่งเสริมเขี้ยวเล็บให้ระบบประกันภัยสุขภาพเอกชนพร้อมเร่งแก้ pain points เพื่อประโยชน์ของคนไทย
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษในการประชุมวิชาการประจำปี เวชศาสตร์ประกันชีวิตไทย Annual Thailand Insurance Medical Academic Conference 2023 (TIMAC 2023) เรื่อง “การส่งเสริมระบบประกันสุขภาพเอกชนของไทย” เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 ณ ห้องสุขุมวิท 1&2 โรงแรมเจดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การส่งเสริมระบบประกันสุขภาพเอกชนของไทย” มีใจความตอนหนึ่งว่า จากข้อมูลสถิติเบี้ยประกันภัยสุขภาพตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2565 พบว่า ทั้งธุรกิจประกันชีวิต และธุรกิจประกันวินาศภัยมีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นเกินร้อยละ 10 ในทุกปีและเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลสถิติไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 และไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 พบว่า ธุรกิจประกันชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่วนประกันวินาศภัยเติบโตแบบชะลอตัวลง อันเนื่องมาจากได้รับผลกระทบจากการรับประกันภัยโควิด-19 อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วธุรกิจประกันภัยยังมีการเติบโต ซึ่งสวนทางกับสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลก ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากเกิดกระแสการใส่ใจสุขภาพของคนรุ่นใหม่ รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ประกอบกับปัจจัยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้คนเกิดการตื่นตัว เฝ้าระวังและป้องกัน รวมทั้งแสวงหาระบบประกันภัยสุขภาพเพื่อใช้เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง ในเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลหากต้องเจ็บป่วยในอนาคต
ทั้งนี้ จากการติดตามการทำประกันภัยสุขภาพ สำหรับภาคประชาชน ในปัจจุบันพบสภาพปัญหาและอุปสรรค (Pain Points) เช่น เบี้ยประกันภัยสุขภาพมีอัตราสูง บริษัทประกันภัยไม่รับต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัย ประชาชนกลุ่มอาวุโสไม่สามารถเข้าถึงระบบการประกันภัยสุขภาพ ปัญหาความมั่นคงทางการเงินของบริษัทประกันภัยสุขภาพในการรับประกันภัยสุขภาพในระยะยาว เป็นต้น ส่วนของภาคธุรกิจประกันภัย พบว่ามีความต้องการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้มีความหลากหลายรองรับวิทยาการทางการแพทย์และตอบโจทย์ของผู้เอาประกันภัยและตลอดจนความกังวลต่อความเสี่ยงโรคอุบัติใหม่ต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งขับเคลื่อนแนวทางสำหรับระบบประกันภัยสุขภาพตามแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2564 – 2568) ในยุทธศาสตร์ที่ 3 เพื่อยกระดับการบริหารจัดการด้านสุขภาพ และส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยสุขภาพมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตอบสนองความต้องการและรองรับลักษณะการใช้ชีวิตของประชาชนในปัจจุบัน และมุ่งหมายให้ประชาชนที่สมัครใจเข้าสู่ระบบการประกันภัยสุขภาพภาคสมัครใจ (Private Health Insurance) สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการประกันภัยสุขภาพมากขึ้นในราคาที่เหมาะสม และยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการประกันภัยสุขภาพอย่างครอบคลุมและยั่งยืน โดยเฉพาะการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อรองรับสังคมสูงวัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้านสุขภาพ รวมทั้งการรองรับการดูแลรักษาสุขภาพระยะยาวเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยอย่างยั่งยืน ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงให้ความสำคัญในการยกระดับการบริหารจัดการด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่องและเร่งด่วนเพื่อผลักดันให้มีการพัฒนากฎหมายด้านการประกันภัยสุขภาพ ซึ่งเป็นการดำเนินการในระยะยาวและสร้างมาตรฐานกระบวนการบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยของบริษัทประกันภัย ซึ่งเป็นมาตรการรองรับทางกฎหมายระยะสั้น
ในส่วนของมาตรการระยะสั้น จะเป็นการยกระดับการบริหารจัดการด้านประกันภัยสุขภาพ และช่วยบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพ โดยได้ดำเนินการส่งเสริมระบบประกันภัยสุขภาพเอกชนของไทยใน 5 เรื่องหลัก ๆ คือ
เรื่องที่ 1 กำหนดกรอบแนวทางการทำงานของคณะกรรมการผลิตภัณฑ์ (Product Governance Committee) ของบริษัทประกันภัยให้มีความชัดเจน เช่น การกำหนดกระบวนการบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยของบริษัทประกันภัย การกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการบริษัท โดยกำหนดให้ต้องมีความรู้และความเข้าใจในธุรกิจประกันภัย และผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่จะเสนอขาย การกำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อกลั่นกรองแบบและข้อความของกรมธรรม์ประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัยให้มีประสิทธิภาพเพียงพอ ก่อนนำเสนอต่อนายทะเบียนเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ การกำหนดคุณลักษณะของบริษัทที่ประสงค์จะขอแบบและข้อความกรมธรรม์ประกันภัยที่คุ้มครองความเสี่ยงภัยอุบัติใหม่ (Emerging risk) เป็นต้น
เรื่องที่ 2 การพัฒนาและปรับปรุงสัญญาประกันภัยสุขภาพมาตรฐานใหม่
เรื่องที่ 3 การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพรูปแบบเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีความคืบหน้าและมีแผนจะออกคำสั่งนายทะเบียนได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้
เรื่องที่ 4 โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการ สำหรับธุรกิจประกันภัย (Insurance Regulatory Sandbox) และ โครงการทดสอบนวัตกรรมทางด้านประกันภัย และผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่สะท้อนความเสี่ยงเฉพาะราย (Product Innovation and Tailor-Made Sandbox)
และเรื่องที่ 5 การแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาทางการแพทย์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สืบเนื่องจากคำสั่งสำนักงาน คปภ. แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์การกำหนดกลุ่มโรคป่วยเล็กน้อยทั่วไป (Simple Diseases) และหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยสุขภาพไปแล้วนั้น ยังไม่ครอบคลุมถึงภาระหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. ที่ต้องให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัย
ในส่วนของมาตรการระยะยาว สำนักงาน คปภ. กำลังอยู่ในกระบวนการศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายการประกันภัยสุขภาพ เพื่อให้มีกฎหมายว่าด้วยการประกันภัยสุขภาพรองรับการพัฒนาและยกระดับระบบประกันภัยสุขภาพของประเทศไทย โดยมีประกันภัยสุขภาพภาคสมัครใจเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในหลักการจะมีการยกระดับมาตรฐานของระบบประกันภัยสุขภาพ ใน 2 มิติ คือมิติของประชาชน และมิติของอุตสาหกรรมประกันภัย
ในมิติของประชาชน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการประกันภัยสุขภาพครอบคลุมและยั่งยืน รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้านสุขภาพ รวมทั้งการรองรับการดูแลรักษาสุขภาพระยะยาว เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมาตรการในคุ้มครองสิทธิของประชาชนในระบบประกันภัยสุขภาพ เช่น การชำระเบี้ยประกันภัยคงที่ การการันตีการต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพ สิทธิในการได้รับตามกรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เป็นต้น
ในมิติของอุตสาหกรรมประกันภัยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจประกันภัยสุขภาพมีเสถียรภาพเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการประกันภัยสุขภาพ โดยมาตรการส่งเสริมเพื่อพัฒนาประกันภัยสุขภาพ เช่น การกำหนดให้บริษัทสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเพื่อป้องกันฉ้อฉลประกันภัยสุขภาพ การลดอุปสรรคในการส่งเสริมนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการประกันภัยสุขภาพ (Sandbox) การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เอาประกันภัยสุขภาพเป็นการเฉพาะ เพื่อให้เกิดความชัดเจนโดยไม่ต้องรอการตีความจากคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น
“บริบทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นต่อการขับเคลื่อนและส่งเสริมระบบประกันภัยสุขภาพของไทยเป็นไปในทิศทางที่น่ายินดีและนับจากนี้ไปสำนักงาน คปภ. จะดำเนินการในเชิงรุกโดยจะเร่งบูรณาการกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนภารกิจด้านประกันภัยสุขภาพให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไทยโดยรวมและอย่างยั่งยืน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
คปภ. มอบกรมธรรม์ประกันภัย ทุนประกันภัยรวม 7 ล้านบาท เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิทักษ์ป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง พร้อมสนับสนุนให้มีการใช้ประกันภัยเพื่อเป็นสวัสดิการสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้พิทักษ์ป่าทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2566 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานในพิธีมอบกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม ให้แก่เจ้าหน้าที่และลูกจ้างชั่วคราว จำนวน 70 ราย ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านการลาดตระเวนเฝ้าระวังป้องกันไฟป่า เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ปฏิบัติภารกิจด้านการลาดตระเวนเฝ้าระวังป้องกันไฟป่าในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน อำเภอสามเงา จังหวัดตาก และอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ คุ้มครองการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ สายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงเนื่องจากอุบัติเหตุ รวมการถูกฆาตกรรมหรือถูกทำร้ายร่างกาย ขณะปฏิบัติหน้าที่ ในอุทยานแห่งชาติแม่ปิง โดยมีคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. และสื่อมวลชน ร่วมส่งมอบกรมธรรม์ดังกล่าวให้กับนายมัญญา นาคพน เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ณ สำนักงาน คปภ. ภาค 1 (เชียงใหม่)
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ปัญหาเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาที่ประเทศไทย และทั่วโลกให้ความสำคัญมาโดยตลอดในระยะหลายปีที่ผ่านมา อันสืบเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนที่กำลังก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้คน และระบบนิเวศ ป่าไม้ คือหนึ่งในสิ่งสำคัญที่จะช่วยต่อสู้กับภาวะโลกร้อน เพราะทำหน้าที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศโลก ดังนั้น การสูญเสียพื้นที่ป่า และต้นไม้จึงเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก ต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลก ประเทศไทยก็ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว เห็นได้จากในปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้เข้าร่วมปฏิญญากลาสโกว์ของผู้นำด้านป่าไม้ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Glasgow Leaders’ Declaration on Forests and Land Use) เพื่อแสดงถึงความตั้งใจของประเทศไทยในการยับยั้งการสูญเสียป่าไม้ เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการปล่อย และดูดกลับก๊าซเรือนกระจก และรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศ นอกจากการยับยั้งการสูญเสียป่าไม้ อันนำมาซึ่งปัญหาโลกร้อนดังกล่าวแล้ว ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ ได้สร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ซึ่งกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และควบคุมไฟป่าจึงเป็นบุคลากรที่มีภารกิจหน้าที่ที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง แต่จากรูปแบบของการปฏิบัติงาน ซึ่งต้องเดินลาดตระเวน และต้องนอนค้างพักแรมในป่า ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างมาก นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ของผู้กระทำผิดกฎหมายที่ลักลอบตัดไม้ทำลายป่าอีกด้วย
สำนักงาน คปภ. เห็นความสำคัญของบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในการปกป้องผืนป่ามาโดยตลอด จึงได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุอาสาดับไฟป่าเพื่อชาติ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ปฏิบัติภารกิจดับไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวจำนวนถึง 35,000 ราย แก่อาสาสมัครดับไฟป่าไปแล้ว ในปี 2564 ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจประกันภัยอย่างดียิ่ง ต่อมาเมื่อเดือนธันวาคมปี 2565 สำนักงาน คปภ.ได้รับการประสานจากอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ว่าอุทยานแห่งชาติแม่ปิง มีพื้นที่ความรับผิดชอบ 627,346 ไร่ ครอบคุลมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน อำเภอสามเงา จังหวัดตาก และอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ แต่บุคลากรคือเจ้าหน้าที่ป่าไม้มีสวัสดิการที่จำกัด ส่วนลูกจ้างชั่วคราวนั้นไม่มีสวัสดิการแต่อย่างใด สำนักงาน คปภ. จึงดำเนินการส่งเสริมให้มีการพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม ซึ่งรับประกันความเสี่ยงภัยจากการปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่ป่าไม้และลูกจ้างชั่วคราวของอุทยานแห่งชาติแม่ปิง โดยสำนักงาน คปภ. สนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยทั้งหมดจากงบประมาณโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน และได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)ในการรับประกันภัย
สำหรับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม ให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหน้าที่และลูกจ้างชั่วคราวของอุทยานแห่งชาติแม่ปิงที่ปฏิบัติหน้าที่การลาดตระเวนเฝ้าระวังป้องกันไฟป่า จำนวน 70 คน ระยะเวลาเอาประกันภัย 1 ปี (คุ้มครองตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2566 – 28 มกราคม 2567) ให้ความคุ้มครองการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ สายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงเนื่องจากอุบัติเหตุ รวมการถูกฆาตกรรมหรือถูกทำร้ายร่างกาย ขณะปฏิบัติหน้าที่ ในอุทยานแห่งชาติแม่ปิง โดยจะให้ความคุ้มครองจำนวนเงินเอาประกันภัยสูงสุดรายละ 100,000 บาท ทุนประกันภัยทั้งสิ้น รวม 7,000,000 บาท อาณาเขตคุ้มครอง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน อำเภอสามเงา จังหวัดตาก และอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติแม่ปิง
ด้านนายมัญญา นาคพน เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ปิง กล่าวขอบคุณสำนักงาน คปภ. ที่สนับสนุนกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม จำนวน 70 ราย ให้แก่เจ้าหน้าที่และลูกจ้างชั่วคราวที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านการลาดตระเวนเฝ้าระวังป้องกันไฟป่า เพื่อเยียวยากรณีประสบภัยในการปฏิบัติภารกิจด้านการลาดตระเวนเฝ้าระวังป้องกันไฟป่าในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน อำเภอสามเงา จังหวัดตาก และอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติแม่ปิง กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มที่ได้รับมอบในครั้งนี้ จะมีคุณค่าและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัยให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานป้องกันไฟป่า รวมทั้งเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานได้อุ่นใจในขณะปฏิบัติงานป้องกันไฟป่าด้วย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้ายว่า “ต้องขอยกย่องผู้ที่อาสาเสี่ยงชีวิตเข้าไปลาดตระเวนเฝ้าระวังป้องกันไฟป่า ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่เสียสละเป็นอย่างมาก สมควรที่จะต้องสนับสนุนและช่วยเหลือในด้านสวัสดิการอย่างเต็มที่เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานป้องกันไฟป่าเหล่านี้มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ โดยเหตุที่สำนักงาน คปภ. เข้าไปช่วยส่งเสริมให้มีการพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม เพราะประกันภัยอุบัติเหตุทั่วไปจะไม่รองรับกรณีผู้เอาประกันภัยสมัครใจเข้าไปรับความเสี่ยงเอง โดยกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มสำหรับเจ้าหน้าที่ และลูกจ้างชั่วคราวของอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ที่ปฏิบัติหน้าที่การลาดตระเวนเฝ้าระวังป้องกันไฟป่าจะช่วยสร้างความอุ่นใจแก่บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่การลาดตระเวนเฝ้าระวังป้องกันไฟป่าของอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ว่าหากประสบภัยตามเงื่อนไขที่กรมธรรม์กำหนดก็จะได้รับการเยียวยาจากระบบประกันภัย ซึ่งถ้าสามารถขยายผลไปยังภาคส่วนอื่น ๆ ที่อาจทำ CSR ในลักษณะเดียวกันก็จะสามารถขยายผลในการสร้างขวัญและกำลังใจให้ผู้ทำหน้าที่พิทักษ์ป่าในอุทยานแห่งชาติอื่น ๆ ได้อย่างยั่งยืน”
คปภ. ลงพื้นที่ช่วยเหลือด้านประกันภัยทันทีกรณีรถตู้โดยสารไม่ประจำทางเสียหลัก เฉี่ยวชนการ์ดเลนตกร่องกลางถนนเกิดประกายไฟลุกไหม้ที่โคราช
• เผยรถตู้โดยสารทำประกัน “พ.ร.บ. - ภาคสมัครใจประเภท 3+” พร้อมเยียวยาด้านประกันภัยแก่ผู้เสียชีวิต 11 ราย เจ็บ 1 ราย อย่างเต็มที่
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีรถตู้โดยสารไม่ประจำทางของห้างหุ้นส่วนจำกัด มนตรีทรัพย์เจริญ ทะเบียน 30-0078 อำนาจเจริญ เกิดอุบัติเหตุเสียหลักเฉี่ยวชนการ์ดเลนตกร่องกลางถนน บนถนนมิตรภาพขาเข้ากรุงเทพฯ กม. 100+600 หมู่ 6 ตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ทำให้เกิดประกายไฟลุกไหม้รถตู้เสียหายทั้งคัน ผู้โดยสารรวมพนักงานขับรถเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 11 ราย และบาดเจ็บ 1 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2566 นั้น เบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 4 (นครราชสีมา) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดนครราชสีมา ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบการทำประกันภัยพร้อมเร่งอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัย ตลอดจนติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัยและครอบครัวอย่างเต็มที่ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. จังหวัดนครราชสีมา ว่ารถตู้โดยสารไม่ประจำทาง ทะเบียน 30-0078 อำนาจเจริญ ได้ทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 31 มีนาคม 2565 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2566 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาท ต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000 - 500,000 บาทต่อคนกรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน
นอกจากนี้ รถตู้คันเกิดเหตุ ได้ทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประเภท 3+) ไว้กับบริษัท มิตรแท้ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2566 โดยคุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย ของบุคคลภายนอก 500,000 บาทต่อคน แต่ไม่เกิน 10,000,000 บาทต่อครั้ง
ความเสียหายต่อทรัพย์สินไม่เกิน 1,000,000 บาทต่อครั้ง และความคุ้มครองตามเอกสารแนบท้าย อุบัติเหตุส่วนบุคคล โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร ผู้ขับขี่ 1 คน 100,000 บาท ผู้โดยสาร 11 คน 100,000 บาทต่อคน ค่ารักษาพยาบาล 100,000 บาทต่อคน และการประกันตัวผู้ขับขี่ 300,000 บาทต่อครั้ง
สำหรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นผู้โดยสารทั้ง 10 ราย ในเบื้องต้นครอบครัวผู้เสียชีวิต จะได้รับค่าสินไหมทดแทน รายละ 1,100,000 บาท จากการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) รายละ 500,000 บาท
การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประเภท 3+) รายละ 500,000 บาท และความคุ้มครองตามเอกสารแนบท้าย อุบัติเหตุส่วนบุคคล รายละ 100,000 บาท และกรณีของผู้ขับขี่ ในเบื้องต้นครอบครัวผู้เสียชีวิตจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจำนวน 135,000 บาท จากการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) จำนวน 35,000 บาท และการประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ (ประเภท 3+) ความคุ้มครองตามเอกสารแนบท้าย อุบัติเหตุส่วนบุคคล จำนวน 100,000 บาท ทั้งนี้ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดอำนาจเจริญ สำนักงาน คปภ. ภาค 4 (นครราชสีมา) จึงได้ประสานสำนักงาน คปภ. ภาค 5 (อุบลราชธานี) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดอำนาจเจริญ ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกเพื่อให้การจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นไปอย่างรวดเร็ว
ในส่วนของผู้บาดเจ็บ 1 ราย ที่ถูกนำส่งเข้ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสีคิ้ว เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. จังหวัดนครราชสีมา ได้ประสานกับบริษัทประกันภัยเข้าไปอำนวยความสะดวกและรับรองสิทธิ ค่ารักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลโดยตรง โดยผู้บาดเจ็บไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาตัวแต่อย่างใด และผู้บาดเจ็บได้ออกจากโรงพยาบาลแล้วเนื่องจากมีอาการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. จะบูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่า ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บในอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่
หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก ก็จะช่วยประสานงานให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้
“สำนักงาน คปภ.ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและมีความห่วงใยต่อผู้บาดเจ็บ
จากอุบัติเหตุครั้งนี้ พร้อมจะดูแลในด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาและกับทุกคน โดยเฉพาะการเดินทางในช่วงวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ จึงขอให้ผู้ใช้รถตรวจสอบสภาพความพร้อมของรถ รวมทั้งเมาแล้วต้องไม่ขับรถ ต้องยึดกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และเพื่อความอุ่นใจ ควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยเฉพาะการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) การประกันภัยรถภาคสมัครใจ และการประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านประกันภัย ติดต่อสายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
คปภ. เปิดเกมรุกต้อนรับตรุษจีน..! ลุยส่งมอบ “ประกันภัยน่ารู้สู่ประตูบ้านประชาชน”
“คปภ. - สรพ.” ลงนาม MoU ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนด้านประกันภัย
คปภ. ลงพื้นที่เร่งช่วยเหลือด้านประกันภัยกรณีเรือบรรทุกน้ำมันระเบิดจังหวัดสมุทรสงคราม
คปภ. เผยช่วง 7 วันอันตราย ปีนี้มอเตอร์ไซค์ยังครองแชมป์เกิดอุบัติเหตุสูงสุด พบไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. ถึง 44%